สนช.มาเงียบๆ! ผ่านร่าง พ.ร.บ.กสทช. รื้อองค์กรจัดสรรคลื่นส่อให้ทหารคุมยาว 12 ปี

 

สนช.ผ่านร่างแก้ไข พ.ร.บ. กสทช. โดยที่ประชาชนแทบไม่ได้รับรู้ด้วย การแก้ไขครั้งนี้จะลดความเป็นอิสระให้ กสทช. ทำงานภายใต้แผนระดับชาติของกระทรวงดิจิทัล เปลี่ยนหลักการเรื่องคลื่นความถี่เป็นสมบัติสาธารณะ ให้จ่ายค่าชดเชยการเรียกคืนคลื่น และเปลี่ยนวิธีสรรหากรรมการ กสทช. ให้ศาลกับองค์กรอิสระคัดเลือกทั้งหมด สุดท้ายตัดสินใจโดยวุฒิสภา ที่มาจาก คสช.
31 มีนาคม 2560 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณาผ่านร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 2) หรือร่างแก้ไข พ.ร.บ.กสทช. เรียบร้อยแล้วด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ คือ มีสมาชิกเห็นชอบ 197 คน ไม่เห็นชอบ 0 คน และงดออกเสียง 2 คน 
จากปัญหาเรื่องบทบาทของกรรมการ กสทช. ตามกฎหมายเดิมที่เป็นที่ถกเถียงกันมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณฟุ่มเฟือย การจัดการประมูลคลื่นความถี่ไม่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการไม่สามารถเรียกคืนคลื่นความถี่กลับมาใช้ประโยชน์ได้จริง หลังจากเป็นที่ถกเถียงกันมานาน ร่างแก้ไข พ.ร.บ.กสทช. ก็ถูกเสนอขึ้น ร่างนี้ไม่เพียงมุ่งแก้ปัญหาเดิมเท่านั้นแต่ก็กำลังจัดวางระบบขององค์กรกำกับดูแลคลื่นความถี่เสียใหม่ ลดความเป็นอิสระลงให้อยู่ภายใต้ความเป็นราชการมากขึ้น ที่สำคัญ คือ ระหว่างกระบวนการที่ร่างพ.ร.บ.กสทช. กำลังถูกพิจารณาแก้ไข ประชาชนที่เป็นผู้บริโภคแทบไม่รู้เรื่องเลย
สำหรับเหตุผลของการแก้ไข พ.ร.บ. กสทช. ฉบับนี้ คือ เนื่องจากมีการจัดตั้งคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติขึ้น และต้องจัดทำแผนระดับชาติว่าด้วยดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมให้หน่วยงานของรัฐดำเนินนโยบายตาม จึงต้องแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับแผนระดับชาติ และเนื่องจากเทคโนโลยีเจริญก้าวหน้าไปมาก จึงต้องปรับปรุงโครงสร้างของ กสทช. ใหม่
ลองดูประเด็นหลักๆ ในการแก้ไขครั้งนี้กัน ว่าจะสอดคล้องกับเหตุผลที่ระบุไว้หรือไม่ 
ลดความเป็นอิสระของ กสทช. ให้อยู่ใต้กระทรวงดิจิทัลฯ
จากเดิมที่ กสทช. ถูกออกแบบให้เป็นองค์กรอิสระ เพื่อให้มีอำนาจในการจัดสรรคลื่นความถี่ได้โดยไม่ต้องอยู่ภายใต้อำนาจของใคร ที่สำคัญคือต้องปราศจากอิทธิพลจากอำนาจรัฐ หรืออำนาจทางการเมือง แต่เนื่องจากมีการตั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กระทรวงดิจิทัลฯ) ขึ้นมาใหม่เพื่อมาเป็นหน่วยงานกลางมีอำนาจวางแผนระดับชาติเกี่ยวกับการพัฒนาดิจิทัล ตามร่างแก้ไข พ.ร.บ.กสทช. จึงกำหนดให้กสทช.ต้องจัดทำแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ ให้สอดคล้องกับนโยบายและแผ่นระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของกระทรวงดีอีใหม่ด้วย
นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มมาตรา 27/1 คือ ให้คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นผู้วินิจฉัยเรื่องการดำเนินการของ กสทช.นั้นขัดกับนโยบายและแผนระดับชาติหรือไม่ ซึ่งเท่ากับตัดโอกาสของกสทช. ในการกำหนดนโยบายและการวางแผนแม่บทของตัวเองออกไปให้ต้องอยู่ภายใต้กระทรวงดิจิทัล ซึ่งมีฐานะเป็นหน่วยราชการ และยังไม่มีความชัดเจนว่าแผนระดับชาติเกี่ยวกับการพัฒนาดิจิทัลจะมีเนื้อหาอย่างไร หากแผนดังกล่าวกำหนดให้รัฐยังคงเป็นเจ้าของคลื่นความถี่จำนวนมากต่อไป ก็ยากที่องค์กรอย่าง กสทช. จะทำงานจัดสรรการใช้งานคลื่นความถี่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ร่างกฎหมายใหม่ยังแก้ไขมาตรา 57 วรรคสอง กำหนดให้ กสทช. ต้องเสนอร่างงบประมาณรายจ่ายให้คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นก่อนด้วย
คลื่นความถี่ใครเป็นเจ้าของ? จะเรียกคืนได้อย่างไร?
จากหลักการเดิมของการเกิดขึ้นของ กสทช. ที่ชัดเจนว่า "คลื่นความถี่เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ" ทำให้ กสทช. มีหน้าที่ต้องจัดสรรทรัพยากรคลื่นความถี่ให้ถูกนำมาใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ และเรียกให้หน่วยงานต่างๆ เช่น หน่วยงานทหาร กรมประชาสัมพันธ์ ฯลฯ ที่ครอบครองคลื่นความถี่อยู่เป็นจำนวนมากคืนคลื่นให้เพื่อจัดสรรนำไปใช้ประโยชน์กันใหม่ แต่ร่างแก้ไข พ.ร.บ. กสทช. ใหม่ แก้ไขหลักการเดิมในมาตรา 41 เป็นว่า "คลื่นความถี่เป็นสมบัติของชาติ เพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน"
การแก้ไขหลักการครั้งนี้ ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่อาจจะยังไม่เห็นผลลัพธ์ชัดเจนว่าจะทำให้นโยบายการจัดสรรคลื่นความถี่เปลี่ยนแปลงไปมากน้อยเพียงใด แต่อาจจะเปิดช่องให้หน่วยงานทหาร ซึ่งครอบครองคลื่นความถี่อยู่จำนวนมากอ้างได้ว่า กิจกรรมของหน่วยงานทหารนั้นเป็นไปเพื่อ "ประโยชน์แก่ประเทศชาติ" อยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องคืนคลื่นเพื่อจัดสรรใหม่
การแก้ไข พ.ร.บ. กสทช. ครั้งนี้ยังมีหลายมาตราที่อาจทำให้การเรียกคืนคลื่นความถี่จากหน่วยงานต่างๆ ทำได้ยากขึ้น เช่น เพิ่มมาตรา 12/1 กำหนดว่า การเรียกคืนคลื่นความถี่ต้องคำนึงถึงสิทธิของผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกเรียกคืนด้วย หรือ แก้ไขมาตรา 52(6) เพื่อเปิดช่องให้นำเงินกองทุนไปจ่ายเป็นค่าทดแทนการถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ด้วย
ประเด็นเรื่องการจ่ายค่าทดแทน วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง คณะทำงานติดตามนโยบายและสื่อโทรคมนาคม (NBTC Policy Watch) เคยกล่าวไว้ว่า กสทช. มีอำนาจและหน้าที่ตามกฎหมายอยู่แล้วที่จะเรียกคลื่นความถี่ที่อยู่ในมือหน่วยงานรัฐและหน่วยงานความมั่นคง โดยไม่ต้องเอาเงินไปชดเชยอะไรเลย หากจะให้มีการจ่ายเงินชดเชยก็เรียกได้ว่าเป็นการ "เสียค่าโง่" เพราะคลื่นความถี่เป็นของสาธารณะไม่ใช่ของหน่วยงานรัฐและต้องเอาคืนอยู่แล้วตามกฎหมาย 
นอกจากนี้ ยังแก้ไขมาตรา 45 ให้ชัดเจนว่า คลื่นความถี่ที่เพียงพอต่อการใช้งาน เช่น คลื่นไวไฟ หรือคลื่นความถี่บางประเภทที่ไม่ได้ใช้เพื่อแสวงหากำไร ไม่ต้องขออนุญาตก่อนนำไปใช้
เปลี่ยนที่มา กสทช. ให้ทหารเข้าคุมยาว ภาคประชาชนไม่ต้องมีส่วนร่วมแล้ว
ตามพ.ร.บ. กสทช. ฉบับปี 2553 คณะกรรมการ กสทช. มีอยู่ 11 คน มีที่มาค่อนข้างซับซ้อน โดยมีวิธีการคัดเลือกสองแนวทาง คือ วิธีการคัดเลือกกันเองขององค์กรภาคประชาสังคม และวิธีการสรรหาโดยคณะกรรมการ
วิธีการคัดเลือกกันเอง เริ่มจากให้สมาคมวิชาชีพด้านวิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคม, มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนด้านการสื่อสาร การโทรคมนาคม นิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และ เอ็นจีโอด้านผู้บริโภค สิทธิเสรีภาพ การศึกษา วัฒนธรรม ฯลฯ ที่ทำงานมาไม่น้อยกว่า 5 ปี มีสิทธิเสนอชื่อผู้ที่สมควรเป็นกรรมการ กสทช. ในด้านที่เกี่ยวข้องกับงานของตัวเอง เสนอได้องค์กรละ 2 คน และให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาจัดประชุมเพื่อให้ผู้ถูกเสนอชื่อทั้งหมดคัดเลือกกันเอง ให้เหลือสองเท่าของจำนวนกรรมการที่จะต้องเลือก
วิธีการสรรหา เริ่มจากสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาเปิดรับสมัครให้ผู้ที่มีคุณสมบัติมาเสนอตัวเอง และให้มีคณะกรรมการสรรหา ทำหน้าที่คัดเลือกให้เหลือสองเท่าของจำนวนกรรมการที่จะต้องเลือก คณะกรรมการสรรหาชุดนี้มีตัวแทนจากหลายภาคส่วนทั้งรัฐ และองค์กรวิชาชีพต่างๆ 15 คน ประกอบไปด้วย 
(1) ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
(2) ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
(3) ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
(4) ปลัดกระทรวงกลาโหม
(5) ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
(6) ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ
(7) นายกสภาวิศวกร
(8) ประธานสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย
(9) นายกสมาคมวิชาการนิเทศศาสตร์และการสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย
(10) นายกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์
(11) ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน
(12) ประธานกรรมการสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย
(13) ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
(14) ประธานสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ
(15) ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค
และเมื่อได้รายชื่อจากทั้งการคัดเลือกกันเอง และการสรรหา แล้ว ก็วุฒิสภาเป็นผู้ตัดสินใจขั้นสุดท้าย คัดเลือกรายชื่อทั้งหมดให้เหลือ 11 คน คือ ผู้ที่จะเป็นกรรมการ กสทช. จริงๆ 
ตามร่างแก้ไข พ.ร.บ.กสทช. รื้อโครงสร้างการสรรหากรรมการทั้งหมด เปลี่ยนให้กรรมการมี 7 คน เปลี่ยนคุณสมบัติเรื่องอายุจากเดิม 35 – 70 ปี เป็น 40-70 ปี เพิ่มคุณสมบัติของกรรมการ ต้องเป็นหรือเคยเป็นข้าราชการตำแหน่งรองหัวหน้าส่วนราชการตั้งแต่ระดับกรมขึ้นไป หรือ เป็นทหารหรือตำรวจยศพันเอกขึ้นไป หรือ มีตำแหน่งรองศาสตราจารย์ขึ้นไป หรือ เป็นผู้บริหารตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองกรรมการผู้จัดการในบริษัทมหาชนที่มีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่าห้าร้อยล้านบาท หรือมีประสบการณ์ด้านคุ้มครองผู้บริโภคหรือกิจการสื่อสารไม่น้อยกว่าสิบปี
ร่างแก้ไข พ.ร.บ.กสทช. ยกเลิกวิธีการคัดเลือกกันเองขององค์กรภาคประชาสังคม ทั้งหมด เหลือเพียงวิธีการสรรหาโดยคณะกรรมการเท่านั้น ซึ่งคณะกรรมการสรรหา กสทช. ชุดใหม่ เป็นคนจากภาครัฐทั้งหมด ประกอบไปด้วย
(1) ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 
(2) ผู้พิพากษาศาลฎีกา 
(3) ตุลาการศาลปกครองสูงสุด 
(4) กรรมการป.ป.ช. 
(5) กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน 
(5) ผู้ตรวจการแผ่นดิน 
(6) ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
ขั้นตอนการสรรหา คือ เปิดรับสมัครให้ผู้ที่มีคุณสมบัติมาเสนอตัวเอง และให้คณะกรรมการสรรหาคัดผู้สมัครเหลือ 14 คน สุดท้ายจะส่งให้วุฒิสภาเป็นผู้คัดเลือกเหลือ 7 คน 
เนื่องจาก กรรมการ กสทช. มีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี กรรมการชุดปัจจุบันจะหมดวาระในเดือน ตุลาคม 2560 การแต่งตั้ง กรรมการกสทช. ชุดใหม่หลังจากนี้ผู้ที่จะทำหน้าที่คัดเลือกสุดท้ายจึงเป็น สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. และทำหน้าที่แทนวุฒิสภาอยู่ในปัจจุบัน และหากการจัดการเลือกตั้งเกิดขึ้นช้า การแต่งตั้งกรรมการ กสทช. ชุดถัดไปอีกชุดหนึ่งอาจจะถูกคัดเลือกโดยวุฒิสภาชุดที่จะเข้ามาทำหน้าที่ต่อจากนี้ ซึ่งมาจากการแต่งตั้งโดย คสช. ทั้งหมด เท่ากับว่า ทหารจะยังมีอำนาจเหนือองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ไปอีกอย่างน้อย 12 ปี
สร้างธรรมาภิบาล? เปิดโอกาสถอดถอน กสทช. ง่ายขึ้น
กรรมการ กสทช. ชุดเดิมถูกข้อครหามากว่าใช้จ่ายเงินงบประมาณฟุ่มเฟือย เพราะกสทช. ได้งบประมาณมาจำนวนมากและมีอิสระในการบริหาร ดังนั้น ร่างแก้ไข พ.ร.บ.กสทช. จึงเพิ่มมาตรการที่ควบคุมการใช้จ่ายเงินของ กสทช. ไว้ด้วย เช่น เพิ่มมาตรา 69 วรรคสี่ กำหนดว่า หาก สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) พบว่า การใช้จ่ายเงินของกสทช. ไม่เกิดประสิทธิผลหรือฟุ่มเฟือยเกินสมควร ให้แจ้งให้กสทช.ปรับปรุงแก้ไขภายในระยะเวลาที่กำหนด หาก กสทช. ไม่ปฏิบัติตามอาจรายงานวุฒิสภาเพื่อดำเนินการถอดถอนต่อไปได้ 
นอกจากนี้ ยังแก้ไขมาตรา 22 วรรคสอง เรื่องมติของวุฒิสภาที่จะถอดถอนกรรมการกสทช. จากเดิมที่ต้องใช้มติ 2 ใน 3 แก้เป็น มติ 3 ใน 5 และยังมีการเพิ่มมาตรา 22/1 ห้ามกรรมการ กสทช. ที่พ้นจากตำแหน่งแล้วไปดำรงตำแหน่งหรือเป็นผู้ถือหุ้น ในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ หรือกิจการโทรคมนาคม เว้นแต่จะพ้นจากตำแหน่งแล้วเกิน 2 ปี และกำหนดโทษปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท
สุดท้าย จะเห็นได้ว่า การแก้ไขร่างพ.ร.บ.กสทช. ครั้งนี้ เป็นไปตามเหตุผลที่ระบุไว้เพียงบางส่วน การแก้ไขเป็นไปเพื่อรองรับกับอำนาจใหม่ของกระทรวงดิจิทัลฯ จริง แต่เป็นการกำหนดให้ชัดเจนว่าให้กระทรวงดิจิทัลฯ มีอำนาจเหนือกว่ากสทช. เพื่อไม่ให้มีปัญหาอำนาจทับซ้อนในอนาคต ส่วนเหตุผลที่ว่าเนื่องจากเทคโนโลยีก้าวหน้าไปมาก ยังไม่เห็นชัดเจนว่า การเปลี่ยนระบบการสรรหากรรมการ กสทช. หรือการให้จ่ายเงินทดแทนการเรียกคืนคลื่นความถี่ จะนำไปสู่การรองรับเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้อย่างไร
ไฟล์แนบ