‘โรดแมป 19 เดือน’ อาจถูกขยาย ‘เลือกตั้ง’ อาจต้องเลื่อนยาวถึงปลายปี 2561

ขั้นตอนต่างๆ หลังร่างรัฐธรรมนูญผ่านจนไปถึงการเลือกตั้งนั้นอาจใช้เวลาถึง 19 เดือน แต่หลังพล.อ.ประยุทธ์ เปิดเผยว่า ร่างรัฐธรรมนูญยังต้องถูกแก้ไขอีกในหมวดพระมหากษัตริย์ ทำให้ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว เพื่อเปิดช่องให้แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญอีกครั้ง พร้อมทูลเกล้าฯ ให้พระมหากษัตริย์พิจารณาใหม่ และอาจจะใช้เวลาเพิ่มอีก 4 เดือน เท่ากับว่า โรดแมปสู่การเลือกตั้งอาจถูกขยายและการเลือกตั้งอาจเลื่อนไปไกลถึงปลายปี 2561

แม้ช่วงก่อนลง #ประชามติ #ร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 บุคคลสำคัญในรัฐบาลหลายคนจะออกมายืนยันว่า หากร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นได้ในปี 2560 แต่หากพิจารณาจากขั้นตอนต่างๆ ที่ร่างรัฐธรรมนูญเขียนไว้ รวมถึงสถานการณ์ปัจจุบันแล้ว ก็จะเห็นว่า “โรดแมป” ที่ว่านั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เสียแล้ว
ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว กำหนดเส้นทางไว้ว่า เมื่อร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ ให้ดำเนินตามขั้นตอน ดังนี้
1. หลังร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ นายกรัฐมนตรีต้องนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ภายใน 30 วัน
2. พระมหากษัตริย์อาจลงพระปรมาภิไธยหรือไม่ลงพระปรมาภิไธย ภายใน 90 วัน
ซึ่งรวมเป็นระยะเวลา 120 วัน หรือ 4 เดือน และถ้าพระมหากษัตริย์ทรงพระปรมาภิไธยแล้ว ก็ให้ดำเนินตามโรดแมปซึ่งอยู่ในบทเฉพาะกาลของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ดังนี้
1. เมื่อรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้แล้ว คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ต้องจัดทำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พรป.) ให้เสร็จภายใน 240 วัน
2. จากนั้น กรธ. จะส่งร่าง พรป. ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาให้เสร็จภายใน 60 วัน
3. จากนั้นให้ดำเนินการจัดการเลือกตั้งภายใน 150 วัน
เมื่อรวมความแล้ว ตามโรดแมปที่เขียนไว้ หากนับตั้งแต่วันลงประชามติ จะใช้เวลาอีกไม่เกิน 30+90+240+60+150 = 570 วัน หรือ 19  เดือน กว่าจะถึงวันเลือกตั้ง หากทุกอย่างเป็นไปตามกำหนดนี้ จึงควรจะได้เลือกตั้งอย่างช้าประมาณเดือนมีนาคม 2561 หรืออาจจะเร็วกว่านั้นก็ได้หากทุกคนทำงานเสร็จไว ใช้เวลาน้อยกว่าที่กำหนดไว้
แต่เนื่องจากหลังเสร็จประชามติ ยังมีกระบวนการเพิ่มเติมขึ้นมาอีก คือ การแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับคำถามพ่วง กรธ.พิจารณาแก้ไขและส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ใช้เวลาไปอีกกว่าสองเดือน เป็นเหตุครั้งแรกที่ทำให้โรดแมปต้องเลื่อนออกไป และนายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ได้ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2559 ล่าช้ากว่าโรดแมปประมาณสองเดือน
แต่ทว่า ยังมีเหตุให้คสช. ต้องเลื่อนโรดแมปอีกครั้ง เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เปิดเผยว่า พระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 รับสั่งให้แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญบางส่วนในหมวดพระมหากษัตริย์ ซึ่งอาจใช้เวลาอีกหลายเดือน เพื่อที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวเปิดช่องให้พระมหากษัตริย์พระราชทานข้อสังเกตว่าสมควรแก้ไขเพิ่มเติมข้อความในร่างรัฐธรรมนูญใหม่ได้ และให้รัฐบาลนำไปปรับปรุงแก้ไขพร้อมกับนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ใหม่อีกครั้ง
ทั้งนี้ หากพิจารณาจากร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวฯ จะพบว่า จากขั้นตอนเดิมที่ให้พระมหากษัตริย์ทรงพิจารณาลงพระปรมาภิไธย ภายใน 90 วัน ถูกเพิ่มทางเลือกให้พระมหากษัตริย์พระราชทานข้อสังเกตว่าสมควรแก้ไขเพิ่มเติมข้อความในร่างรัฐธรรมนูญใหม่เข้าไป ถ้าหากพระมหากษัตริย์มีรับสั่งให้แก้ไขก็ให้นายกรัฐมนตรีนำไปปรับปรุงแก้ไขพร้อมกับนำขึ้นทูลเกล้าฯ ใหม่ ภายใน 30 วัน จากนั้นถึงจะเป็นให้พระมหากษัตริย์ทรงพิจารณาลงพระปรมาภิไธยภายใน 90 วัน
อย่างไรก็ดี หากพระมหากษัตริย์ทรงเห็นชอบโดยไม่ได้พระราชทานประเด็นให้แก้ไข โรดแมปเดิมก็จะยังคงเดินต่อไป แต่ทว่าหากพระราชทานข้อสังเกตควรแก้ไข รัฐบาลก็จะต้องแก้ไขตามข้อสังเกตก่อน และโรดแมปก็จะถูกยืดออกไปอีกอย่างน้อย 4 เดือน เท่ากับว่า ระยะเวลาไปสู่การเลือกตั้งภายใน 19 เดือน ตามโรดแมปจึงอาจถูกขยายและระยะเวลาที่เป็นไปได้อย่างช้าที่สุด คือ จะมีการเลือกตั้ง “ปลายปี 2561”
You May Also Like
อ่าน

ส่องวาระศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ สว. 67 เคาะเลือกคนใหม่ได้เกินครึ่ง

พฤษภาคม 2567 สว. ชุดพิเศษ จะหมดอายุแล้ว แต่ สว. ชุดใหม่ ยังคงมีอำนาจสำคัญในการเห็นชอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ภายใต้วาระการดำรงตำแหน่งของ สว. ชุดใหม่ จะมีอำนาจได้ “เกินครึ่ง” ของจำนวนตำแหน่งทั้งหมด
อ่าน

กรธ. ชุดมีชัย ออกแบบระบบ สว. “แบ่งกลุ่มอาชีพ”-“เลือกกันเอง” สุดซับซ้อน!

ระบบ “เลือกกันเอง” สว. 67 ที่ให้เฉพาะผู้สมัคร ซึ่งต้องจ่ายค่าธรรมเนียม 2,500 บาท มีสิทธิโหวต คิดค้นโดยคนเขียนรัฐธรรมนูญ 2560 นำโดยมีชัย ฤชุพันธุ์