ภาคประชาสังคมฟ้องศาลปกครองสูงสุด ขอเพิกถอนประกาศ กกต. จำกัดเสรีภาพรณรงค์ประชามติ

วันที่ 6 กรกฎาคม 2559 โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) และสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) พร้อมกับประชาชนอีก 11 คน เข้ายื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุดเพื่อขอเพิกถอนประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการแสดงความคิดเห็นในการออกเสียงประชามติพ.ศ. 2559 ซึ่งออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีเนื้อหาที่ขัดต่อกฎหมาย ขัดต่อหลักประชาธิปไตย และพันธกรณีระหว่างประเทศ และกระทบสาระสำคัญของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน
ปัญหาสำคัญประกาศของประกาศ กกต. ฉบับดังกล่าว คือ มีเนื้อหาคลุมเครือ ไม่ชัดเจน ตัวอย่างเช่น การกำหนดลักษณะต้องห้ามในการแสดงออกโดยใช้คำว่า “บิดเบือนไปจากข้อเท็จจริง” หรือ “ลักษณะรุนแรง”  หรือ  “ก้าวร้าว”  หรือ  “หยาบคาย” หรือ “ปลุกระดม” หรือ การกำหนดว่า ผู้ที่จะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติ ต้องศึกษาค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญอย่างครบถ้วนและต้องนำเสนอหรืออ้างอิงงานวิจัยตามหลักวิชาการเพื่อประกอบการแสดงความคิดเห็น หรืออย่างการกำหนดว่า การจัดเวทีสัมมนา หรือการอภิปรายที่เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญต้องมีหน่วยงานของรัฐ หรือสถาบันการศึกษา หรือองค์กรด้านสื่อสารมวลชนเข้าร่วม รวมไปถึงการห้ามชักชวนให้ใส่เสื้อ หรือติดป้าย หรือเครื่องหมายที่แสดงสัญลักษณ์ เพื่อนำไปปสู่การปลุกระดมทางการเมือง เป็นต้น
ข้อกำหนดเช่นนี้จำกัดสิทธิขั้นพื้นฐานจนเกินสมควรไม่ได้สัดส่วนกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ กระทบต่อต่อสาระสำคัญของสิทธิที่ต้องได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557  มาตรา 4  ประกอบกับกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 19  และพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มาตรา 7 
          
ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า หากยังมีการบังคับใช้ประกาศดังกล่าวต่อไป ย่อมไม่อาจทำให้การออกเสียงประชามติครั้งนี้บรรลุตามเจตนารมณ์ที่แท้จริงของการลงประชามติได้ ซึ่งจะส่งผลให้การจัดทำประชามติสูญเสียความชอบธรรม กระทบต่อเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศในอนาคต และกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม
ขณะเดียวกัน ในช่วงเวลานี้ กกต. ได้ผลิตรายการ “7 สิงหาประชาร่วมใจ” เพื่อแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ แต่ทว่า สัดส่วนผู้รวมรายการดังกล่าวให้โอกาสกับกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญและส่วนราชการมากกว่าภาควิชาการและประชาสังคม และไม่เปิดโอกาสให้กับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยหรือมีความเห็นแย้งกับร่างรัฐธรรมนูญได้ร่วมรายการอย่างเท่าเทียม ดังนั้น การกระทำดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยระเบียบของกกต.เอง และไม่ชอบด้วยกฎหมาย 
ผู้ฟ้องคดีจึงขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาเพิกถอนประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งเรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการแสดงความคิดเห็นในการออกเสียงประชามติ และเพิกถอนมติคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ออกประกาศดังกล่าว และขอให้ศาลปกครองสั่งระงับการออกอากาศรายการดังกล่าว
คำร้องขอให้บรรเทาทุกข์ชั่วคราวโดยเร่งด่วน 
เนื่องจากจะมีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 หากล่วงเลยกำหนดระยะเวลาดังกล่าวไปโดยที่ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่หลากหลายเพื่อเป็นทางเลือกประกอบการตัดสินใจได้ ย่อมทำให้การทำประชามติไม่บรรลุผลตามกฎหมายโดยสิ้นเชิง ผู้ฟ้องคดีจึงขอให้ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาคำสั่งบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาโดยเร่งด่วน ดังนี้
1. งดการบังคับใช้ประกาศกกต. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการแสดงความคิดเห็นในการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2559 จนกว่าศาลปกครองจะมีคำพิพากษา เพื่อให้ผู้ฟ้องคดีและประชาชนทั่วไปใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและแสดงออกทางการเมือง รวมทั้งรณรงค์ได้
2. ระงับการออกอากาศรายการ “7 สิงหาประชาร่วมใจ” ที่กกต.เผยแพร่และประชาสัมพันธ์ร่างรัฐธรรมนูญ ทางสถานีวิทยุและโทรทัศน์ต่างๆ จนกว่าจะแก้ไขและเปิดโอกาสให้ฝ่ายที่มีความเห็นแย้งต่อร่างรัฐธรรมนูญเข้าร่วมมีสัดส่วนเท่าเทียมกัน