สปช.จังหวัด-ข้าราชการ-ทหาร-ตำรวจรวมพล โหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ

6 กันยายน 2558 สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีมติ ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญด้วยคะแนน 135 ต่อ 105 เสียง งดออกเสียง 7 คน เป็นผลให้รัฐธรรมนูญไม่ผ่านการรับรอง คณะกรรมธิการร่างรัฐธรรมนูญต้องสิ้นสุดลง หน้าที่ของสปช.สิ้นสุดลง และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติต้องตั้งคณะกรรมาธิการชุดใหม่ขึ้นมายกร่างต่อไป
ในการประชุมเพื่อลงมติ มีสมาชิกสปช.เข้าประชุมครบทั้ง 247 คน จากเดิมที่สมาชิกมี 250 คน แต่ลาออกไปสองคน คือ ทิชา ณ นคร กับ สุวิทย์ เมษินทรีย์ และโดนใบแดงหนึ่งคน คือ ศักดา ศรีวิริยะไพบูลย์
หากจำแนกสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ออกเป็น 7 กลุ่ม ได้แก่ ข้าราชการพลเรือน / นักการเมืองระดับชาติและนักการเมืองท้องถิ่น / เอ็นจีโอ-นักเคลื่อนไหวทางสังคม / นักวิชาการ-อาจารย์-ผู้บริหารมหาวิทยาลัย / กลุ่มข้าราชการทหาร-ตำรวจ / พ่อค้า-นักธุรกิจ / สื่อ+อื่นๆ เพื่อพิจารณาทิศทางการลงคะแนน จะพบว่าแต่ละกลุ่มมีทิศทางการลงมติดังนี้
"กลุ่มข้าราชการทหาร-ตำรวจ" มี 31 คน ลงมติเห็นชอบเพียง 3 คน คือ พลโทนคร สุขประเสริฐ / พลเรือเอก พะจุณณ์ ตามประทีป / พลเอกเลิศรัตน์ รัตนวานิช และลงมติไม่เห็นชอบมากถึง 28 คน
"กลุ่มนักการเมืองระดับชาติและนักการเมืองท้องถิ่น" มี 47 คน ลงมติเห็นชอบ 19 คน ลงมติไม่เห็นชอบ 28 คน
"กลุ่มเอ็นจีโอ-นักเคลื่อนไหวทางสังคม" มี 10 คน ลงมติเห็นชอบ 8 คน ลงมติไม่เห็นชอบ 2 คน
"กลุ่มนักวิชาการ-อาจารย์-ผู้บริหารมหาวิทยาลัย" มี 33 คน ลงมติเห็นชอบ 20 คน ลงมติไม่เห็นชอบ 13 คน
"กลุ่มข้าราชการพลเรือน" มี 81 คน ลงมติเห็นชอบ 33 คน ลงมติไม่เห็นชอบ 48 คน
"กลุ่มพ่อค้า-นักธุรกิจ" มี 24 คน ลงมติเห็นชอบ 14 คน ลงมติไม่เห็นชอบ 10 คน
"กลุ่มสื่อ+อื่นๆ" มี 14 คน ลงมติเห็นชอบ 8 คน ลงมติไม่เห็นชอบ 6 คน
ทั้งนี้ผู้ที่ลงมติ "งดออกเสียง" 7 คน ประกอบด้วย กูไซหม๊ะวันซาฟีหน๊ะ มนูญทวี / เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง / ทัศนา บุญทอง / เทียนฉาย กีระนันทน์ / พล.ท.นาวิน ดำริกาญจน์ / อำพล จินดาวัฒนะ / พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ
——————————————————
นอกจากนี้ หากแบ่งโดยจำแนกจาก สปช. ที่สรรหามาจากแต่ละจังหวัด กับ สปช. ที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ 11 ด้าน พบว่า สปช.จังหวัด จำนวน 76 คน ทิศทางการลงมติดังนี้
ลงมติเห็นชอบ 15 คน แบ่งเป็น ภาคกลาง 4 คน / ภาคตะวันออก 2 คน / ภาคเหนือ 4 คน / ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 คน / ภาคใต้ 2 คน / ภาคตะวันตก 1 คน
ลงมติไม่เห็นชอบ 61 คน แบ่งเป็น  ภาคกลาง 18 คน / ภาคตะวันออก 4 คน / ภาคเหนือ 5 คน / ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 18 คน / ภาคใต้ 12 คน / ภาคตะวันตก 4 คน
ส่วนสปช.ที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ ลงมติเห็นชอบ 90 คน ลงมติไม่เห็นชอบ 74 คน
————————————————————-
*ข้อสังเกต
1) กลุ่มข้าราชการ-นักการเมือง ทั้งอดีตและปัจจุบัน รวมไปถึง ข้าราชการตำรวจและทหาร เป็นเสียงส่วนใหญ่ที่ไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ
2) เสียงส่วนใหญ่ของกลุ่มนักวิชาการ-อาจารย์มหาวิทยาลัย และกลุ่มนักเคลื่อนไหว-เอ็นจีโอ เป็นผู้ลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ
3) กลุ่มพ่อค้าและกลุ่มสื่อมีสัดส่วนของการเห็นชอบกับไม่เห็นชอบใกล้เคียงกัน แต่ผู้เห็นชอบก็ยังมากกว่า
4) สปช. จังหวัด ส่วนใหญ่ไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ