พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ : ขยายประเภททรัพย์สินใหม่ ให้”กิจการ” ใช้ขอสินเชื่อได้

หลักการและเหตุผล
พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ พยายามเปิดโอกาส ให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถนำทรัพย์สินที่ยังมีความจำเป็นต้องครอบครองเพื่อใช้สอยทำประโยชน์มาเป็นหลักประกันกู้ยืมได้   ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้สะดวกและมีดอกเบี้ยต่ำลง นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มความมั่นใจให้เจ้าหนี้ที่จะปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจมากยิ่งขึ้น
สาระสำคัญของ พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจมีดังนี้
การก่อให้เกิดสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ
สัญญาหลักประกันทางธุรกิจ คือ สัญญาที่'ผู้ให้หลักประกัน' จะตราทรัพย์สินไว้เพื่อประกันการชำระหนี้ แต่ไม่จำเป็นต้องส่งมอบทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน ให้แก่ 'ผู้รับหลักประกัน  
แต่ทว่า หลักประกันทางธุรกิจ จัดเป็นสัญญาประเภทหนึ่ง จึงตกอยู่ภายใต้หลักกฎหมายทั่วไปว่าด้วยสัญญา ดังนั้นจะตกลงทำข้อสัญญาอย่างไรก็ได้ ที่ไม่ขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน มิฉะนั้นจะตกเป็นโมฆะ
ทั้งนี้ผู้ให้หลักประกันจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้  แต่ผู้รับหลักประกันจะต้องเป็น “สถาบันการเงิน” อันได้แก่ สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันการเงิน บริษัทที่ได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตหรือประกันวินาศภัย หรือธนาคารหรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมายจัดตั้งโดยเฉพาะก็ได้ หรือบุคคลอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง เท่านั้น
การทำสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ
สัญญาหลักประกันทางธุรกิจกำหนดให้ทำเป็นหนังสือ มิฉะนั้นจะตกเป็นโมฆะ และหากจะให้สัญญาหลักประกันมีผลใช้ยันกับบุคคลภายนอกได้ ต้องจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานทะเบียนด้วย ถ้ายังไม่ได้จดทะเบียน ผู้รับหลักประกันจะบังคับจำหน่ายทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันเอาชำระหนี้ของตนแต่เพียงผู้เดียว ก่อนเจ้าหนี้อื่นไม่ได้
ทั้งนี้ การจดทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจต้องทำที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โดยกำหนดสิทธิ หน้าที่ของผู้ให้หลักประกัน และผู้รับหลักประกัน ไว้ชัดเจน เช่น ผู้ให้หลักประกันมีสิทธิครอบครอง ใช้สอยจำหน่าย จ่ายโอน ทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันได้ ส่วนผู้รับหลักประกันก็มีสิทธิเข้าตรวจดูทรัพย์สิน และบัญชีทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันได้
โดยผู้รับหลักประกันมีสิทธิ จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันก่อนเจ้าหนี้สามัญซึ่งคือเจ้าหนี้ทั่วๆไป  และมีบุริมสิทธิหรือสิทธิการบังคับชำระหนี้ลำดับเดียวกับผู้รับจำนำ หรือ ผู้รับจำนองแล้วแต่กรณี   ลำดับบุริมสิทธิ กำหนดให้เป็นไปตามลำดับวัน และเวลาจดทะเบียน ทั้งการจดทะเบียนจำนอง และจดทะเบียน หลักประกันตามร่างกฎหมายนี้
ทรัพย์สินที่สามารถนำมาเป็นหลักประกันได้                   
โดยทั่วไปคือ ทรัพย์สินที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ แต่ว่ากฎหมายฉบับนี้เพิ่มทรัพย์สินที่สามารถนำมาเป็นหลักประกันได้อีก ได้แก่
กิจการ ได้แก่ ทรัพย์สินทั้งหลายที่ผู้ให้หลักประกันใช้ประกอบธุรกิจ และสิทธิต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจนั้น
สิทธิเรียกร้อง หรือสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ไม่ว่าจะได้รับชำระหนี้เป็นเงิน หรือได้รับชำระหนี้เป็นทรัพย์สินอย่างอื่น
ทรัพย์ของผู้ให้หลักประกัน อันได้แก่ สังหาริมทรัพย์ที่ใช้ประกอบธุรกิจ เช่น เครื่องจักร สินค้าคงคลัง  หรืออสังหาริมทรัพย์ เช่น ที่ดิน อาคารสถานที่ แต่ต้องเป็นกรณีที่ผู้ให้หลักประกันประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์นั้นโดยตรง เช่นเป็นผู้ประกอบกิจการหมู่บ้านจัดสรร หรือจัดสรรที่ดินเปล่า เป็นต้น
ทรัพย์สินทางปัญญา อันได้แก่ ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า รวมตลอดถึง สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ความลับทางการค้า ฯลฯ และ ทรัพย์สินอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
การสิ้่นสุดสัญญาหลักประกัน
สัญญาหลักประกันจะถูกระงับสิ้นไปด้วยเหตุผล 4 อย่าง ได้แก่
– หนี้ที่ประกันระงับสิ้นไป 
– ผู้รับหลักประกันและผู้ให้หลักประกันตกลงเป็นหนังสือให้ยกเลิกสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ
– ไถ่ถอนทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน
– จำหน่ายทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน
ในการบังคับหลักประกันหรือเมื่อทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันหลุดจากสิทธิ ผู้รับหลักประกันสามารถบังคับหลักประกันแม้หนี้ขาดอายุความแล้วก็ได้ แต่บังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระตามสัญญาเกินกว่าห้าปีไม่ได้
การบังคับหลักประกัน
แบ่งออกเป็น 2 วิธี ได้แก่ บังคับหลักประกันที่เป็นทรัพย์สิน และ บังคับหลักประกันที่เป็นกิจการ
วิธีแรก "บังคับหลักประกันที่เป็นทรัพย์สิน" แบ่งออกเป็น 2 แบบคือ  จำหน่ายทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน และเอาทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันหลุดเป็นสิทธิ
– การจำหน่ายทรัพย์สิน ต้องจัดสรรเงินที่ได้รับจากการจำหน่ายทรัพย์สินและดอกผลที่เกิดขึ้นนับแต่วันที่ผู้รับหลักประกันมีสิทธิเข้าครอบครองทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน ในกรณีที่จำหน่ายทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันแล้ว และได้เงินจำนวนน้อยกว่าจำนวนหนี้ที่ค้างชำระ เงินยังขาดจำนวนอยู่เท่าใดลูกหนี้เป็นผู้รับผิดในส่วนที่ค้างชำระนั้น แต่ถ้าผู้ให้หลักประกันไม่ได้เป็นลูกหนี้จะเรียกร้องจากผู้ให้หลักประกันไม่ได้
– การบังคับหลักประกันหลุด กระทำได้ต่อเมื่อลูกหนี้ค้างชำระหนี้ เป็นต้นเงินเท่ากับหรือมากกว่ามูลค่าทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน และลูกหนี้ขาดส่งดอกเบี้ยเป็นเวลาถึงห้าปี โดยไม่มีหลักประกันรายอื่นหรือบุริมสิทธิอื่นจดทะเบียนไว้เหนือทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน  ถ้าผู้รับหลักประกันตัดสินใจบังคับหลักประกัน โดยมีหนังสือแจ้งเหตุแล้ว ห้ามผู้ให้หลักประกันจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันหรือทำการใดๆ
ในกรณีผู้ให้หลักประกันหรือผู้ยึดถือทรัพย์สินไม่ยอมส่งมอบการครอบครอง ให้ผู้รับหลักประกันยื่นคำร้องต่อศาลให้มีคำพิพากษาบังคับหลักประกัน ทั้งนี้ยังสามารถขอให้ศาลมีคำสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันไว้ชั่วคราวจนกว่าจะมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งได้ แต่ต้องวางเงินประกันหรือให้หลักประกันเพื่อป้องกันความเสียหายอันเกิดจากการยึดหรืออายัดทรัพย์สินตามจำนวนที่ศาลกำหนด   หากผู้รับหลักประกันบังคับหลักประกันโดยให้ทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันหลุดเป็นสิทธิ ให้ถือว่าหนี้ประธานและหนี้ตามสัญญาหลักประกันทางธุรกิจระงับสิ้นไป
วิธีที่สอง "การบังคับหลักประกันที่เป็นกิจการ" ต้องมีคนกลาง ซึ่งได้รับอนุญาต  โดยมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กฎหมายกำหนดไว้  เรียกว่า "ผู้บังคับหลักประกัน"   ทั้งนี้ อาจเป็นนิติบุคคลก็ได้และให้ใบอนุญาตมีอายุ 3 ปี
เมื่อมีเหตุให้บังคับหลักประกันตามสัญญา ให้ผู้รับหลักประกันมีหนังสือแจ้งไปที่ผู้บังคับหลักประกัน เมื่อผู้บังคับหลักประกันได้รับหนังสือแล้ว ให้กำหนดวัน เวลา สถานที่ และให้ไต่สวนข้อเท็จจริงโดยเร็ว ซุึ่งต้องไม่เกินเจ็ดวันเมื่อผู้บังคับหลักประกันได้รับหนังสือ รวมถึง ห้ามผู้ให้หลักประกันจำหน่ายจ่ายโอนกิจการที่เป็นหลักประกัน เว้นแต่ กิจการนั้น ทรัพย์สินมีสภาพเป็นของสดของเสียได้ หรือหากหน่วงช้าไว้จะเสี่ยงต่อความเสียหายหรือค่าใช้จ่าย หรือผู้ให้หลักประกันได้วางเงินประกันหรือให้หลักประกันเพื่อป้องกันความเสียหายที่เกิดจาก จำหน่ายจ่ายโอนกิจการ
บทกำหนดโทษ
อาจแบ่งบทกำหนดโทษกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ ได้เป็น 3 เรื่องด้วยกัน    เริ่มจากบทลงโทษจำคุกการกระทำของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับสัญญาหลักประกัน มีองค์ประกอบสำคัญคือกระทำโดยเจตนาและมีเจตนาพิเศษเท่านั้น   และบทลงโทษปรับการกระทำของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับสัญญาหลักประกันซึ่งมีหน้าที่กระทำการแต่ไม่กระทำการ  รวมถึงบทลงโทษการกระทำของบุคคลที่เป็นผู้แทนหรือผู้บริหารของนิติบุคคล ที่นิติบุคคลกระทำความผิดตามกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจนี้

 

 

ไฟล์แนบ