คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ: แม่น้ำสายที่ห้าสู่รัฐธรรมนูญใหม่

ศาสตราจารย์วิษณุ เครืองาม อธิบายว่ารัฐธรรมนูญ(ชั่วคราว) ฉบับ 2557 คือต้นธารของสถาบันทางการเมือง 5 สถาบัน ที่จะนำประเทศไปสู่การเลือกตั้งและการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอีกครั้ง 
วิษณุเปรียบเทียบรัฐธรรมนูญดั่งแม่น้ำ 5 สาย แม่น้ำสายแรก คือ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แม่น้ำสายที่สอง คณะรัฐมนตรี (ครม.) แม่น้ำสายที่สาม สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) แม่น้ำสายที่สี่ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ) และสุดท้ายแม่น้ำสายที่ห้า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) (อันที่จริงแม่น้ำสายสุดท้ายของวิษณุเป็นสายที่ไหลมาเป็นอันดับแรก)
ขณะนี้รัฐธรรมนูญให้กำเนิดแม่น้ำไปทั้งหมดแล้วสี่สาย โดยแม่น้ำสายล่าสุดคือ สปช. อย่างไรก็ดียังเหลือแม่น้ำสายสุดท้าย คือ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งการประชุม สปช.นัดแรกเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2557 นับเป็นจุดเริ่มต้นของการกำเนิดแม่น้ำสายสุดท้าย 
มาตรา 32 ของรัฐธรรมนูญกำหนดว่าการตั้ง กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ต้องดำเนินการให้เสร็จภายใน 15 นับตั้งแต่วันที่มีการเรียกประชุม สปช.เป็นครั้งแรก ดังนั้นหากนับจากวันประชุมครั้งแรกไปอีก 15 วัน ก็คือวันที่ 5 พฤศจิกายน 2557 เป็นอย่างช้าเราจะได้เห็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ผู้จะมาออกแบบกติกาใหม่ของการเมืองไทย
ที่มาของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญ มาตรา 32 ระบุที่มาของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วยกรรมาธิการจำนวน 36คน ซึ่งมีที่มาจากบุคคลดังต่อไปนี้
(1) คสช.เลือกประธานกรรมาธิการ
(2) สปช. เสนอชื่อจำนวน 20 คน
(3) สนช. เสนอชื่อจำนวน 5 คน
(4) ครม. เสนอชื่อจำนวน 5 คน
(5) คสช. เสนอชื่อจำนวน 5 คน
ทั้งนี้ โดยไม่ลืมว่ากลุ่มบุคคลที่มีอำนาจเสนอชื่อ กมธ.ยกร่างฯ อย่าง สนช. ครม. และ สปช. ล้วนผ่านการแต่งตั้งโดย คสช.ด้วยเช่นกัน  
บุคคลที่ห้ามเป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ
(1) ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เว้นแต่ผู้ดำรงตำแหน่งใน คสช. สนช. และ สปช.
(2) ผู้ที่เคยเป็นสมาชิกหรือดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองภายในระยะเวลาสามปีก่อนวันที่ได้รับการแต่งตั้ง
(3) ผู้ที่เคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
(4) ผู้ที่เคยถูกไล่ออก เพราะทุจริตต่อหน้าที่หรือถือว่ากระทำการทุจริต
(5) ผู้ที่เป็นผู้พิพากษาหรือตุลาการ
(6) ผู้ที่ดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ 2550
ทั้งนี้ผู้ที่ดำรงตำแหน่ง กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองภายใน 2 ปีนับตั้งแต่พ้นจากตำแหน่ง กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ (มาตรา 33)
ขั้นตอนการร่างรัฐธรรมนูญ
ขั้นตอนที่ 1 รัฐธรรมนูญกำหนดให้ สปช.เสนอความเห็นหรือข้อเสนอแนะต่อ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันที่มีการประชุม สปช.ครั้งแรก กล่าวคือ วันที่ 22 ธันวาคม 2557 เป็นอย่างช้า สปช.จะต้องเสนอความเห็นต่อ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ (มาตรา 31)
ขั้นตอนที่ 2 เมื่อ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้รับความเห็นหรือข้อเสนอแนะจาก สปช.แล้วจะต้องจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน ดังนั้นภายในวันที่ 21 เมษายน 2558 เราจะได้เห็นร่างรัฐธรรมนูญ (มาตรา 34)
ขั้นตอนที่ 3 เมื่อ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ จัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วต้องเสนอต่อ สปช. ครม. และ คสช.ด้วย เพื่อพิจารณาในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ และ สปช.ต้องประชุมเพื่อพิจารณาเสนอแนะหรือให้ความเห็นให้แล้วเสร็จภายใน 10 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้นช้าที่สุด คือวันที่ 1 พฤษภาคม 2558 กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จ ในที่นี้เมื่อพิจารณาเสร็จรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติไว้ว่า สปช.สามารถลงมติเห็นชอบได้หรือไม่
ในกรณีที่ สปช. ครม. หรือ คสช. จะขอแก้เพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ ต้องทำภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันได้รับร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวคือต้องขอแก้ไขเพิ่มเติม ก่อนวันที่ 21 พฤษภาคม 2558 เป็นอย่างช้า ทั้งนี้คำขอแก้ไขเพิ่มเติมสำหรับ สปช.ต้องมีสมาชิกลงชื่อรับรองไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวน สปช.ทั้งหมด (มาตรา 36)
ขั้นตอนที่ 4 ให้ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ พิจารณาคำขอแก้ไขเพิ่มเติมให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับแต่วันที่ครบกำหนดยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติม ดังนั้นหาก สปช. ครม. หรือ คสช.ยื่นอย่างช้าสุดคือวันที่ 21 พฤษภาคม 2558 กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาให้เสร็จภายในวันที่ 20 กรกฎาคม 2558 เป็นอย่างช้า (มาตรา 36)
ขั้นตอนที่ 5 เมื่อ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ พิจารณาคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญเสร็จให้เสนอร่างรัฐธรรมนูญต่อ สปช.เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดย สปช.ต้องมีมติภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญ นั่นคือวันที่ 4 สิงหาคม 2558 เป็นอย่างช้า ทั้งนี้ สปช.จะแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อความของร่างมิได้ เว้นแต่เป็นข้อผิดพลาดที่มิใช่สาระสำคัญ และคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ต้องเห็นชอบด้วยกับการแก้ไขนั้น (มาตรา 37)
ขั้นตอนที่ 6 เมื่อ สปช.มีมติเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ให้ประธาน สปช.นำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภายใน 30 วันนับตั้งแต่มีมติกล่าวคือ อย่างช้า 3 กันยายน 2558 เราจะได้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ของประเทศ (มาตรา 37)
เมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วให้ สปช.และคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ยังคงปฏิบัติหน้าที่ให้มีร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นที่จำเป็น ตามคำของวิษณุ กระบวนการหลังรัฐธรรมนูญใหม่ต้องใช้เวลาอีกประมาณ 2 เดือน ดังนั้นการจัดการเลือกตั้งน่าจะเกิดขึ้นได้ ในช่วงปลายปี 2558 ถึงต้นปี 2559
กรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญตกไป
กรณีที่ 1 กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญร่างไม่เสร็จภายใน 120 วัน ในขั้นตอนที่ 2 ให้คณะกรรมาธิการยกร่างฯ เป็นอันสิ้นสุด และให้ สปช.แต่งตั้งชุดใหม่ภายใน 15 วัน การเริ่มกระบวนการใหม่จะทำให้เวลาล่าช้าไปประมาณ 4 เดือน
กรณีที่ 2 สปช.พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญไม่แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนด หรือไม่ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ให้ สปช.และกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญเป็นอันสิ้นสุดลง ทั้งนี้ สมาชิก สปช.และคณะกรรมาธิการยกร่างฯ จะกลับมาดำรงตำแหน่ง สปช.และคณะกรรมาธิการยกร่างฯ มิได้ 
กรณีที่ 3 พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วย หรือเมื่อพ้นกำหนด 90 วันมิได้พระราชทานคืนมา ให้ร่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็นอันตกไป
หากเกิดกรณี 2 และ 3 จะทำให้ต้องเริ่มกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และจะทำให้เวลาล่าช้าไปอย่างน้อย 1 ปี และทำให้การเลือกตั้งอาจจะล่าช้าออกไปถึงปี 2560 ได้