เสรีภาพการชุมนุม: ความหมายไม่ได้เขียนโดยศาล-ปัญหามาจากมหาวิทยาลัย

ปี 2556 มีคำพิพากษาที่น่าสนใจเกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการชุมนุมออกมาหลายคดี เช่น คดีปีนสภาสนช. คดีสลายการชุมนุมคัดค้านท่อก๊าซ ไทย-มาเลเซีย เป็นต้น สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ร่วมกับสมาคมนิติศาตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงจัดงาน “ก้าวต่อไปเสรีภาพในการชุมนุม มองผ่านคำพิพากษา” ขึ้นในวันที่ 26 มิถุนายน 2556 ที่ห้อง 222 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อร่วมกันวิเคราะห์คำพิพากษาและมองอนาคตของเสรีภาพการชุมนุมในสังคมไทย
รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า บทบัญญัติเรื่องเสรีภาพการชุมนุมที่รัฐธรรมนูญเขียนไว้จะถูกตีความโดยศาล แต่การให้ความหมายของเสรีภาพการชุมนุมอาจขึ้นอยู่กับทัศนคติของผู้พิพากษาแต่ละคน ซึ่งศาลก็มีความไม่คงเส้นไม่คงวา เพราะศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา ตัดสินกันคนละแบบได้ อย่างเช่น คดีของคุณจินตนา แก้วขาว (แกนนำกลุ่มอนุรักษ์บ้านกรูดถูกตัดสินข้อหาบุกรุก) ศาลชั้นต้นยกฟ้อง ศาลอุทธรณ์และฎีกาลงโทษจำคุก และต่อให้เป็นคำพิพากษาของศาลฎีกาสุดท้ายก็เปลี่ยนแปลงได้ เพราะฉะนั้น คำตอบของเสรีภาพการชุมนุมสุดท้ายไม่ได้อยู่ที่ศาล
รศ.สมชาย กล่าวว่า ในคำพิพากษาเรามักเห็นว่าศาลพิจารณาถึงรูปแบบของการชุมนุมว่าสงบหรือไม่ แต่ความสำคัญของเหตุที่นำมาซึ่งการชุมนุมกลับไม่ถูกให้ความสำคัญนัก ซึ่งความไม่ชอบธรรมที่เป็นเหตุอันนำมาซึ่งการชุมนุมเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง
รศ.สมชาย ยังกล่าวด้วยว่า เรื่องเสรีภาพการชุมนุมไม่ได้มีเฉพาะระหว่างประชาชนกับรัฐเท่านั้น แต่ยังรวมถึงระหว่างประชาชนกับประชาชนด้วย ความเข้มแข็งของเสรีภาพการชุมนุมอยู่ที่การยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างแม้จากฝ่ายที่เราไม่เห็นด้วย
“เสรีภาพในการชุมนุมเป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างหนึ่ง และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นไม่ได้มีไว้สำหรับพวกเดียวกัน แต่มีไว้สำหรับคนที่พูดไม่เหมือนกับเราคนที่คิดไม่เหมือนกับเรา การต่อสู้ทางกฎหมายอาจจำเป็นสำหรับกรณีประชาชนกับรัฐ แต่ในระหว่างประชาชนด้วยกันขันติธรรมเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองอย่างหนึ่งที่จำเป็น ต้องอดทนรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างไปจากตน” รศ.สมชายกล่าวทิ้งท้าย
           
ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ และ รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล
ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ในคดีปีนสภาสนช. ศาลยอมรับว่า การกระทำของจำเลยมีมูลเหตุจูงใจโดยชอบเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของบ้านเมืองจริง จึงไม่ถือว่าเป็นความผิดฐานยุงยงให้ประชาชนละเมิดกฎหมายแผ่นดินตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116  แต่การบุกเข้าไปในห้องโถงของอาคารรัฐสภา ทั้งที่เจ้าหน้าที่ห้าม ถือเป็นการละเมิดสิทธิครอบครองอสังหาริมทรัพย์ ไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบ เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเกินกว่าเหตุจนไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น จำเลยจึงมีความผิด
ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ ตั้งประเด็นว่า การที่สนช.ในขณะนั้นออกกฎหมายทั้งๆ ที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าองค์ประชุมไม่ครบ เป็นการกระทำที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ที่จำเลยชุมนุมคัดค้านและปีนเข้าไปในรัฐสภาจะอ้างว่าเป็นการกระทำเพื่อพิทักษ์รัฐธรรมนูญตามมาตรา 68 และ 69 ของรัฐธรรมนูญได้หรือไม่
ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับเสรีภาพในการชุมนุม ยังมีความสับสนของเจ้าหน้าที่รัฐ ว่าจะใช้อำนาจรักษาความสงบอย่างไร เนื่องจากไม่มีกฎหมายที่ให้อำนาจตำรวจจำกัดการชุมนุมได้ นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างคำพิพากษา เช่น คดีสลายการชุมนุมชาวบ้านที่ต่อต้านท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย ซึ่งพิพากษาออกมาว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจที่สลายการชุมนุมต้องจ่ายค่าเสียหาย และคดีสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อ 7 ตุลาคม 2551 ที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติถูกชี้มูลจาก ป.ป.ช.ว่าประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง
ทั้งนี้สำหรับประเด็นเสรีภาพในการชุมนุม ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ มองว่า ปัญหาทั้งหมดขมวดรวมอยู่ที่มหาวิทยาลัย เพราะศาลในวันนี้ก็เคยเป็นนักศึกษากฎหมายในวันก่อน รัฐธรรมนูญแต่ละฉบับไม่ได้แตกต่างกันมากมายแต่บ้านเรากลับไม่มีคำอธิบายรัฐธรรมนูญที่ครอบคลุม อาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่เขียนตำราเรื่องรัฐธรรมนูญก็ไม่มี แล้วศาลจะอ่านหนังสือที่ไหน จะสร้างสำนึกขึ้นมาจากที่ไหน อยู่ในวงการศาลก็มีแต่แนวคำพิพากษาให้ลอกกันตามแนวเก่าๆ ซึ่งคับแคบ ควรได้รับการวิพากษ์วิจารณ์
“ผมก็ต้องยอมรับว่า พวกผมนี่ละบกพร่องต่อหน้าที่ด้วย เพียงแต่ว่าเรามีโอกาสมาพูดในเรื่องที่เราเห็นว่าอยากให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วเวลาที่มันไม่เป็นอย่างที่เราเรียกร้องเราก็เผอิญไม่ต้องรับผิดชอบด้วย คนที่ต้องรับผิดชอบคือคนที่เชื่อเราแล้วไปต่อสู้คดี” ผศ.ดร.กิตติศักดิ์กล่าว
ผศ.ดร.กิตติศักดิ์กล่าวถึงการต่อสู้คดีของนักสิทธิมนุษยชนด้วยว่า การต่อสู้ในคดีอาญานั้นเราสามารถยกข้อต่อสู้เรื่องสิทธิตามรัฐธรรมนูญได้แน่นอน แต่เราต้องเข้าใจความคิดความเห็นของคนที่เรียนกฎหมายเมื่อสามสิบกว่าปีก่อนแล้วไม่ได้อ่านหนังสือเพิ่มเติมด้วย ต้องทำให้เขาเข้าใจให้ได้ว่าหากเป็นการกระทำที่มีอำนาจทำได้ตามกฎหมาย เช่น การพิทักษ์รัฐธรรมนูญนั้นไม่ต้องรับผิด ในเชิงโครงสร้างต้องใส่เข้าไปในช่องของกฎหมายอาญาให้ได้
ผศ.ดร.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญและหลักการสากลคุ้มครองเสรีภาพภายใต้กรอบของคำว่า โดยสงบและปราศจากอาวุธ แต่โดยสภาพของการชุมนุมต้องรบกวนเสรีภาพของคนอื่นอยู่แล้ว และในบางกรณีการชุมนุมก็อาจฝ่าฝืนกฎหมายบางอย่าง สิ่งที่สังคมไทยต้องพัฒนาคือจะชั่งน้ำหนักคุณค่าของเสรีภาพนี้ว่าจะเป็นอย่างไร [อ่านเนือหาเพิ่มเติมส่วนที่ผศ.ดร.จันทจิราอธิบาย คลิกที่นี่]
ตี๋ ตรัยรัตนแสงมณี แกนนำเครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรมหนองแซง ซึ่งถูกดำเนินคดีจากการชุมนุม กล่าวว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านมาพบว่าเวลาชุมนุมแล้วมักจะถูกตั้งข้อหาตามกฎหมายจราจร หรือกฎหมายเครื่องเสียง เมื่อไปขึ้นศาลก็ถูกวางแนวให้ต้องสู้ตามแนวทางของคดีอาญา เมื่อทนายความพยายามต่อสู้เรื่องสิทธิตามรัฐธรรมนูญศาลก็จะไม่รับฟัง แสดงให้เห็นถึงทัศนคติของศาลที่ไม่นำรัฐธรรมนูญมาปรับใช้ คำพิพากษาก็ออกมาในลักษณะว่าการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญต้องไม่ขัดกับกฎหมายอื่น ตนเองได้ฟังแล้วก็เกิดคำถามว่า ระหว่างกฎหมายแม่กับกฎหมายลูกอะไรสำคัญกว่า
จิตรา คชเดช แกนนำสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ ซึ่งถูกดำเนินคดีจากการชุมนุม กล่าวว่า คนงานอย่างเราต้องแบกรับภาระในการหาเงินมาประกันตัวทั้งชั้นตำรวจและชั้นศาล คนละ 200,000 บาท ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ควรได้รับจากการออกมาเรียกร้องเรื่องการจ้างงานที่เป็นธรรม เมื่อเข้าสู่กระบวนการศาลก็เห็นได้ชัดเจนว่า ศาลไม่เปิดโอกาสให้เราต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ ศาลขอให้เราตัดพยาน ทั้งที่เราพยายามจะนำเสนอนักวิชาการแต่ศาลบอกว่าศาลคิดเองได้ ไม่ต้องนำเสนอ การชุมนุมส่วนใหญ่ของคนงานเกิดขึ้นเมื่อมีปัญหาการจ้างงาน ซึ่งเป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ แต่กลับถูกบังคับใช้กฎหมายเรื่องขยะ เครื่องเสียง บุกรุก กักขังหน่วงเหนี่ยว หรือหมิ่นประมาท  เราควรมีเสรีภาพการชุมนุมอย่างแท้จริง เมื่อคนงานออกมาชุมนุมก็ไม่ควรมีกฎหมายอื่นๆ มาจำกัดทำให้เราแบกรับภาระต้องไปต่อสู้คดี
จิตรา กล่าวด้วยว่า การชุมนุมของคนเสื้อแดงก็ไม่มีเสรีภาพในการชุมนุมอย่างแท้จริง คนตายเกือบร้อยคนเพราะออกมาชุมนุม และโดนอาวุธสงครามที่รัฐบาลและทหารเอามาใช้ รัฐบาลไม่มีสิทธิสลายการชุมนุมด้วยกฎหมายเล็กๆ น้อยๆ และขัดกับหลักการสากล การสลายการชุมนุมที่ทำให้มีคนเจ็บและตายไม่ควรเกิดขึ้นอีกในสังคมไทย ถ้าหากอัยการเข้าใจเรื่องเสรีภาพการชุมนุมก็จะไม่โยนเรื่องไปที่ศาล และเมื่อเข้าสู่กระบวนการศาลแล้วศาลก็ควรยึดถือกฎหมายแม่คือรัฐธรรมนูญมากกว่ากฎหมายเล็กๆ น้อยๆ เช่น พ.ร.บ.จราจร
ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความ กล่าวว่า ศาลไม่นำเรื่องเสรีภาพการชุมนุมมาใช้พิจารณาคดี ถ้าขึ้นศาลแล้วบอกว่าเราใช้เสรีภาพการชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้รัฐแก้ปัญหาศาลจะบอกว่าไม่เกี่ยว ต้องดูแค่ว่าบุกรุกหรือไม่ แต่ไม่ดูเหตุว่าชาวบ้านเดือดร้อนอย่างไรถึงต้องมาชุมนุม ศาลไทยยังก้าวข้ามกฎหมายอาญาไม่พ้น ในคดีชุมนุมคัดค้านท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย แม้ศาลจะยกฟ้องชาวบ้านแต่เรากำลังดูว่าศาลจะก้าวข้ามเรื่องนี้ไปได้แค่ไหน เพราะเราฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจในคดีอาญาให้รับผิดด้วย