เลือกตั้ง 62: เก้าข้อควรรู้ ก่อนก้าวเข้าคูหาเลือกตั้งล่วงหน้า

วันที่ 17 มีนาคม 2562 เป็นวันเลือกตั้งล่วงหน้า ซึ่งมีผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิออกเสียงถึง 2,632,935 คน โดยเฉพาะ กรุงเทพมหานครที่มีผู้ลงทะเบียนถึง 928,789 คน ไอลอว์ชวนคนที่ลงทะบียนใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้ามาเตรียมพร้อม ก่อนเข้าคูหา เพื่อสร้างความมั่นใจกันสักหน่อยหลังไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งกันนานกว่า 8 ปี และสำหรับบางคนก็เป็นการใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งแรก  

1. ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าแล้วไม่ไป ไม่สามารถใช้สิทธิวันเลือกตั้งทั่วไป

คนที่ลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าไปแล้ว ถือว่าหมดสิทธิเลือกตั้งที่หน่วยเลือกตั้งซึ่งตนมีสิทธิอยู่เดิม ในวันที่ 24 มีนาคม 2562 แต่ถ้าไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าได้จริงๆ และไม่อยากถูกจำกัดสิทธิให้แจ้งต่อนายทะเบียนอำเภอ/ท้องถิ่น ที่สำนักทะเบียนในเขตที่ตนมีสิทธิเลือกตั้งอยู่ ภายใน 7 วันก่อนหรือหลังวันเลือกตั้ง เราสามารถแจ้งสาเหตุที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้เช่น มีธุระจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเดินทางไปพื้นที่ห่างไกล เจ็บป่วย เป็นคนพิการหรือผู้สูงอายุ เดินทางออกนอกประเทศ มีถิ่นที่อยู่ห่างไกลจากที่เลือกตั้งเกินกว่า 100 กิโลเมตร 

ถ้าไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง และไม่แจ้งเหตุหรือแจ้งแต่เหตุนั้นไม่ใช่เหตุสมควร จะถูกจำกัดสิทธิ 1) ยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้ง ส.ส. 2) สมัคร ส.ส. ส.ว. และสภาท้องถิ่น 3) สมัครรับเลือกกำนันและผู้ใหญ่บ้าน 4) ไม่สามารถดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง และข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง 5) ไม่สามารถดำรงตำแหน่งบริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  

2. เช็คบัตรเลือกตั้งให้ดี เลือกผู้สมัคร ส.ส. เขต ตามที่อยู่ทะเบียนบ้าน 

ปกติ เราจะมีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่เรามีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านติดต่อกันเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 90 วัน การเลือกตั้งล่วงหน้าเป็นเพียงแค่การอำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่อาศัยอยู่นอกเขตเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิอยู่หรือต้องไปปฏิบัติหน้าที่อื่นนอกเขตเลือกตั้งในวันเลือกตั้ง เปลี่ยนสถานที่ลงคะแนนเท่านั้น แต่สิทธิของเราก็ยังอยู่ที่เขตเลือกตั้งที่เรามีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ดังนั้น บัตรเลือกตั้งและผู้สมัคร ส.ส. ที่เราต้องต้องเลือกจึงเป็นของเขตที่บ้านของเรา ไม่ใช่เขตที่เราไปใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า 

3. คูหาเปิด 8.00-17.00 น. พกบัตรประชาชนไปด้วย

คูหาเลือกตั้งเริ่มเปิดตั้งแต่เวลาแปดโมงเช้าถึงห้าโมงเย็น และอย่าลืมเตรียมบัตรประจำตัวประชาชน (บัตรประชาชนที่หมดอายุแล้วก็ใช้ได้) หรือ บัตรหรือหลักฐานอื่นใดของทางราชการที่มีรูปถ่ายและมีเลขประจำตัวประชาชนของผู้ถือบัตร เช่น ใบขับขี่ หนังสือเดินทางหรือ “พาสปอร์ต” ให้พร้อมเพื่อแสดงตนในการใช้สิทธิเลือกตั้งด้วย  

 4. คิวยาวไม่ต้องห่วง แค่ถึงคูหาก่อนห้าโมงก็ใช้สิทธิได้

บางเขตเลือกตั้งในวันเลือกตั้งล่วงหน้า มีผู้มาลงทะเบียนใช้สิทธิเป็นจำนวนมาก เช่น บางกะปิ เขต 13 มีผู้มาลงทะเบียนถึง 61,101 คน แต่ไม่ต้องกังวลเพราะทุกคนได้ใช้สิทธิแน่นอน ถ้ามาปรากฎตัวอยู่ในหน่วยเลือกตั้งก่อนเวลาปิดคูหาหรือ 17.00 น. แม้จะยังไม่ได้แสดงตนในการใช้สิทธิเลือกตั้งหรือรับบัตรเลือกตั้งก็ตาม กกต. ประจำหน่วยเลือกตั้งยังอนุญาตให้บุคคลเหล่านั้นใช้สิทธิเลือกตั้งได้ 

5. คิดให้ดี กาบัตรครั้งเดียว อาจได้คนที่รัก แต่ไม่ได้พรรคที่ชอบ 

เน้นย้ำว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มีบัตรเลือกตั้งใบเดียว และ กากบาท’ ได้ครั้งเดียวเท่านั้น เพราะใช้ระบบเลือกตั้งแบบใหม่ที่เรียกว่า ‘ระบบจัดสรรปันส่วนผสม’ (Mixed Member Apportionment System, MMA) ให้เรามีสิทธิ “กากบาท” เลือกผู้สมัครที่ประจำเขตเลือกตั้งของเรา หรือ ส.ส. แบบแบ่งเขต แล้วคะแนนเสียงที่เราเลือก ส.ส. แบบแบ่งเขตจะถูกนำไปใช้คำนวณจำนวนที่นั่ง ส.ส. จากระบบบัญชีรายชื่อหรือ ‘ปาร์ตี้ลิสต์’ ของพรรคการเมืองที่ผู้สมัครคนนั้นสังกัดอีกต่อหนึ่ง ง่ายๆ คือ เรากาครั้งเดียวเลือก ส.ส.เขต แต่ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคด้วยนั้นเอง ดังนั้น เราอาจจะต้องชั่งน้ำหนักดีๆ เพราะบางทีถ้าเราเลือก ‘คนที่รัก’ อาจไม่ได้ ‘พรรคที่ชอบ’ ก็เป็นได้  

6. ส.ส. ต่างเขต คนละเบอร์ จำโลโก้และชื่อพรรคช่วยได้ 

ระวังจำหมายเลขประจำตัว หรือ ‘เบอร์’ ของผู้สมัครแต่ละพรรคการเมืองสับสนกัน เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้ ส.ส. พรรคการเมืองเดียวกันจะไม่ได้ใช้เบอร์เดียวกันทั้งประเทศ คือ แม้จะอยู่พรรคการเมืองเดียวกันแต่เมื่ออยู่ต่างเขตเลือกตั้งกัน (แม้จะอยู่จังหวัดเดียวกัน) ก็อาจจะได้เบอร์คนละเบอร์กันก็ได้ แต่ในบัตรเลือกตั้ง นอกจากมีเบอร์ของผู้สมัครแล้ว ยังเครื่องหมาย หรือ “โลโก้” และชื่อของพรรคการเมืองด้วย ซึ่งถ้าจำไปด้วยก็จะช่วยให้เราเลือกผู้สมัครที่เราต้องการได้ถูกต้องยิ่งขึ้น

7. กาเลือก “พรรคไทยรักษาชาติ” ถือว่าบัตรเสีย

ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติในวันที่ 12 มีนาคม 2562 ซึ่ง กกต. ก็ได้ส่งพิมพ์บัตรเลือกตั้งไปแล้ว ทำให้ถ้าใครกากบาทช่องลงคะแนนเลือกผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคไทยรักษาชาติ จะถือว่าบัตรเสีย และคะแนนจะไม่ถูกนับ 

โดยปกติ การออกเสียงลงคะแนนให้ทำเครื่องหมาย “กากบาท” ลงในช่องทำเครื่องหมาย แต่จะเป็นบัตรเสียก็ต่อเมื่อเป็น บัตรปลอม บัตรที่ทำเครื่องหมายให้เป็นที่สังเกตหรือเขียนข้อความใดๆ ลงในบัตรเลือกตั้งนอกจากการ “กากบาท”  บัตรที่ไม่ได้ลงคะแนน บัตรที่ลงคะแนนให้กับผู้สมัครมากกว่าหนึ่งคน บัตรที่ไม่ทราบว่าลงคะแนนให้ใครกันแน่ และบัตรที่ลงคะแนนให้กับผู้สมัครคนหนึ่งแล้วยังกากบาทในช่อง “ไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด” อีก

8. “Vote No” มากกว่าผู้สมัคร ส.ส. ที่ชนะ ต้องเลือกตั้งใหม่ 

ถ้าเราไม่ชอบผู้สมัครใดเลยในเขตเราสักคนเดียว เราก็ยังไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ เพราะบัตรเลือกตั้งมีช่อง “ไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด” ให้กากบาทได้ด้วย แต่ถ้าคะแนนเสียง “ไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด” หรือการโหวตโนมากกว่าคะแนนเสียงของผู้สมัครที่ได้ชนะ เขตเลือกตั้งนั้นก็ต้องจัดการเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง โดยผู้สมัครรายเดิมทุกรายจะไม่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งครั้งใหม่ที่จะจัดขึ้นด้วย และคะแนนของผู้สมัครแต่ละคนที่ได้รับจากการเลือกตั้งครั้งก่อนจะไม่ถูกนำไปคำนวนหาจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ 

 9. คนแก่ คนพิการให้คนที่ไว้ใจ ช่วยกากบาทให้ได้

ในการเลือกตั้งครั้งนี้ คนพิการหรือผู้สูงอายุจะได้รับการอำนวยความสะดวกในหน่วยเลือกตั้งและการลงคะแนนเป็นพิเศษ โดย กกต. ประจำหน่วยเลือกตั้งจะต้องจัดให้มีการช่วยเหลือลงคะแนนให้คนแก่และคนพิการให้พวกเขาได้ออกเสียงลงคะแนนด้วยตนเอง และในกรณีที่ไม่สามารถ “กากบาท’ ลงในบัตรเลือกตั้งได้ ก็สามารถให้ญาติ บุคคลที่ไว้วางใจ หรือ กกต.ประจำหน่วยเลือกตั้งทำแทนให้ได้ ด้วยความยินยอมและตามเจตนาของผู้ใช้สิทธิ   

You May Also Like
อ่าน

ศาลรธน. ไม่รับคำร้อง ปมรัฐสภาถามเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทำประชามติกี่ครั้ง ทำตอนไหน

17 เมษายน 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเไม่รับคำร้องที่รัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาว่า รัฐสภาจะมีอำนาจในการพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญได้เลยหรือต้องทำประชามติก่อน
อ่าน

เศรษฐาแถลง ประชามติ 3 ครั้งสู่รัฐธรรมนูญใหม่ “ห้ามแตะหมวดทั่วไป-หมวดพระมหากษัตริย์” ย้ำพร้อมแก้ พ.ร.บ.ประชามติ

23 เมษายน 2567 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ระบุว่ารัฐบาลมีความเห็นสอดคล้องกับข้อสรุปของคณะกรรมการประชามติ ที่เห็นว่าควรมีการทำประชามติสู่รัฐธรรมนูญใหม่ทั้งสิ้นสามครั้ง ไม่แตะหมวดทั่วไปและหมวดพระมหากษัตริย์ และเน้นย้ำว่าควรมีการแก้ไข พ.ร.บ. ประชามติ ควบคู่กันไปด้วย