เปิดชื่อ ‘กมธ.ถ่วงเวลา’ ศึกษาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ

จากการประชุมร่วมกันของรัฐสภา (ส.ว.+ส.ส.) เมื่อวันที่ 23 – 24 กันยายน 2563 เพื่อพิจารณาวาระแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 จำนวน 6 ญัตติที่ยื่นโดย ส.ส. ทั้งจากพรรคฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ผลปรากฏว่า ในท้ายที่สุด สภาไม่ได้ลงมติ “รับหลักการ” หรือไม่รับในประเด็นใดเลย แต่กลับมีการลงมติเพื่อตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) เพื่อพิจารณาญัตติแก้รัฐธรรมนูญก่อนรับหลักการ ท่ามกลางการคัดค้านของ ส.ส. พรรคฝ่ายค้าน เพราะเห็นว่าจะเป็นการ “ถ่วงเวลา” แก้รัฐธรรมนูญให้ทอดยาวออกไปโดยไม่จำเป็น

ทำให้พรรคฝ่ายค้านประกาศ “บอยคอต” ไม่เข้าร่วมใน กมธ. ชุดที่ตั้งขึ้นใหม่นี้ มีเพียง ส.ว. และ ส.ส. จากฝั่งรัฐบาลเท่านั้นที่เข้าร่วม ซึ่งล้วนแต่เป็น คนของ คสช. ทั้งสิ้น 

กมธ.ศึกษาร่างแก้รัฐธรรมนูญฯ: ส.ว. 15 คน ส.ส.รัฐบาล 16 คน ด้านฝ่ายค้านไม่ส่งตัวแทนนั่งพิจารณา 

รัฐสภาได้ลงมติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 121 วรรคสาม ตามที่ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.พรรคพลังประชารัฐเสนอต่อที่ประชุมเพื่อตั้ง กมธ.เพื่อพิจารณาญัตติแก้รัฐธรรมนูญ โดยมีกรอบระยะเวลาในการศึกษา 30 วันก่อนจะมีการลงมติอีกครั้งในการประชุมสมัยหน้าในเดือนพฤศจิกายน 

จากการลงมติ ผลที่ได้ คือ มี 431 เสียงเห็นด้วยกับการตั้ง กมธ.ศึกษาฯ โดยเป็นเสียงจาก ส.ส. จำนวน 203 เสียง และ ส.ว. 228 เสียง ไม่เห็นด้วย 225 เสียง งดออกเสียง 28 เสียง และไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง นับจากจำนวน ส.ส. และ ส.ว. ที่เข้าประชุมทั้งหมด 715 คน 

โดยที่ประชุมได้เสนอให้ตั้ง กมธ. ขึ้นจำนวน 45 คน แบ่งเป็น สมาชิกวุฒิสภา 15 คน และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 30 คน คิดเป็นสัดส่วนของพรรคพลังประชารัฐ 8 คน พรรคเพื่อไทย 8 คน พรรคภูมิใจไทย 4 คน พรรคก้าวไกล 3 คน พรรคประชาธิปัตย์ 3 คน พรรคชาติไทยพัฒนา 1 คน พรรคเสรีรวมไทย 1 คน พรรคประชาชาติ 1 คน และพรรคเศรษฐกิจใหม่ 1 คน แต่ผลปรากฏว่า ทางด้านพรรคร่วมฝ่ายค้านปฏิเสธไม่ส่งรายชื่อเข้าร่วมใน กมธ.ชุดนี้ จึงทำให้เหลือจำนวนทั้งสิ้น 31 คน 

รายชื่อกรรมาธิการชุดนี้มีดังนี้ ส.ว. จำนวน 15 คน ได้แก่ กล้านรงค์ จันทิก, ศาสตราจารย์พิเศษกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์, จเด็จ อินสว่าง, พลตำรวจเอก ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์, ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม, ถวิล เปลี่ยนศรี, มหรรณพ เดชวิทักษ์, สมชาย แสวงการ, เสรี สุวรรณภานนท์, เจตน์ ศิรธรานนท์, ตวง อันทะไชย, วรารัตน์ อติแพทย์, วีระศักดิ์ โควสุรัตน์, พลเอกสมเจตน์ บุญถนอม และสุวรรณี สิริเวชชะพันธ์

ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ 8 คน ได้แก่ บุญสิงห์ วรินทร์รักษ์, รองศาสตราจารย์รงค์ บุญสวยขวัญ, วิเชียร ชวลิต, สุรสิทธิ์ นิธิวุฒิวรรักษ์, ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์, ไพบูลย์ นิติตะวัน, สุชาติ อุสาหะ และวิรัช รัตนเศรษฐ ในฐานะประธาน กมธ.

พรรคภูมิใจไทย 4 คน ได้แก่ ศุภชัย ใจสมุทร, วิรัช พันธุมะผล, ณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ และมัลลิกา จิระพันธุ์วาณิช 

พรรคประชาธิปัตย์ 3 คน ได้แก่  ชินวรณ์ บุณยเกียรติ ,อิสสระ สมชัย และอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์

และพรรคชาติไทยพัฒนา 1 คน  คือ นิกร จำนง

ตั้ง กมธ. ในชั้นก่อนรับหลักการ ยิ่ง “ยื้อเวลา” แก้รัฐธรรมนูญ 

ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 121 วรรคแรก กำหนดว่า การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมในวาระที่หนึ่ง ให้รัฐสภาพิจารณาและลงมติว่าจะรับหลักการหรือไม่รับหลักการแห่งร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนั้น 

ซึ่งในขั้นตอนการพิจารณากฎหมายตามปกติ รวมทั้งการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อผ่านวาระที่หนึ่งแล้ว ในวาระที่สองก็จะต้องตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาในรายละเอียดอีกครั้ง ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 122 ที่ระบุว่า ในกรณีที่ที่ประชุมรัฐสภามีมติในวาระที่หนึ่งรับหลักการแห่งร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติมให้พิจารณาในลำดับต่อไปเป็นวาระที่สอง และข้อ 123 ที่ระบุว่า การพิจารณาในวาระที่สอง ให้ที่ประชุมรัฐสภาตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นคณะหนึ่ง

แต่ในข้อ 121 วรรคสาม กำหนดเพิ่มเติมว่า เพื่อประโยชน์แก่การวินิจฉัยที่ประชุมรัฐสภาจะตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาก่อนรับหลักการก็ได้ และทางฝ่ายรัฐบาลก็อาศัยช่องทางตามวรรคสามนี้เสนอให้ตั้งคณะกรรมมาธิการขึ้น ทั้งที่ญัตติที่เสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญที่เข้าสู่การพิจารณาไม่ได้มีความซับซ้อนที่เข้าใจยากจนต้องตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาศึกษา แต่เป็นข้อเรียกร้องที่มีอยู่แล้วในสังคม กลุ่มผู้ประท้วงต่างเรียกร้องไปในทิศทางเดียวกัน และสื่อมวลชนก็นำเสนอประเด็นนี้มาอย่างต่อเนื่องหลายเดือน

แม้การตั้ง กมธ.ศึกษาฯ จะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของข้อบังคับการประชุมรัฐสภา แต่ท่ามกลางกระแสการเรียกร้องจากทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นจากพรรคการเมือง หรือภาคประชาชน ต่างก็ต้องการให้มีการแก้รัฐธรรมนูญโดยเร็ว และเห็นผลเป็นรูปธรรม การตั้งคณะกรรมมาธิการขึ้นมาซึ่งไม่ใช่ขั้นตอนการปฏิบัติที่ปกติ ทำให้เห็นถึงเจตนาของเสียงข้างมากในรัฐสภาปัจจุบันที่ไม่ต้องการตอบสนองต่อข้อเรียกร้องที่มีอยู่โดยเร็ว แต่ต้องการยื้อเวลาการแก้ไขรัฐธรรมนูญออกไปให้นานขึ้นเพื่อให้รัฐบาลชุดนี้อยู่ต่อได้นานขึ้นอีกเท่านั้น

You May Also Like
อ่าน

ส่องเล่มจบป.เอก สว. สมชาย แสวงการ พบคัดลอกงานคนอื่นหลายจุด

พบว่าดุษฎีนิพนธ์ของ สว. สมชาย แสวงการ มีการคัดลอกข้อความจากหลากหลายแห่ง ซึ่งในหลายจุดเป็นการคัดลอกและวางข้อความในผลงานตัวเอง เหมือนต้นทางทุกตัวอักษร
อ่าน

เป็น สว. เงินเดือนเท่าไหร่? ได้สวัสดิการ-สิทธิประโยชน์อะไรบ้าง?

สว. 2567 แม้ไม่มีอำนาจเลือกนายกฯ เหมือน สว. ชุดพิเศษ แต่มีอำนาจอื่นๆ เต็มมือ พร้อมกับเงินเดือนหลักแสน และสวัสดิการ สิทธิประโยชน์อีกเพียบ