ขั้นตอน วิธีการสั่ง “บล็อคเว็บ” ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และช่องทางการคัดค้าน

20 Blockweb
เมื่อรัฐต้องการจะ “บล็อคเว็บ” หรือระงับการเผยแพร่ข้อมูลบนสื่อออนไลน์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ โซเชี่ยลมีเดีย หรือแอพพลิเคชั่นใดๆ ต้องอาศัยอำนาจและขั้นตอนตามกฎหมายที่ให้สามารถทำได้ ซึ่งกฎหมายหลักที่ใช้ในสถานการณ์ทั่วไป คือ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ) มาตรา 20 ส่วนถ้าเป็นกรณีที่มีเหตุภาวะสงคราม กฎหมายพิเศษด้านความมั่นคงอย่าง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หรือ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก ก็ให้อำนาจพิเศษเพื่อปิดกั้นการสื่อสารโดยลัดขั้นตอนได้อีกด้วย
การบล็อคเว็บโดยอำนาจตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เป็นมาตรการที่เจ้าหน้าที่รัฐไทยทำมาต่อเนื่องนานกว่าสิบปีแล้ว ตั้งแต่มีพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯในปี 2550 และมีผลงานที่ปรากฏให้เห็นชัดเจนจากคำสั่งของศาล เป็นจำนวนที่ระบุได้อย่างเป็นรูปธรรม ตัวอย่างเช่น ช่วงเวลาตั้งแต่เดือนมกราคม 2556 จนถึงเดือนธันวาคม 2557 ศาลอาญามีคำสั่งให้บล็อคเว็บทั้งสิ้น 123 ฉบับ รวมจำนวน 9,328 URLs เป็นเนื้อหาที่เกี่ยวกับการ “หมิ่นสถาบันกษัตริย์ฯ” มากที่สุดถึง 7,726 URLs รองลงมาเป็นเนื้อหาลามกอนาจาร 1,547 URLs 
สำหรับพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เป็นกฎหมายที่ออกมาบังคับใช้ครั้งแรกเมื่อปี 2550 ในยุคสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มาจากการรัฐประหาร 2549 และแก้ไขครั้งหนึ่งในปี 2560 โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติอีกชุดหนึ่งที่มาจากการรัฐประหาร 2557 ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมในประเด็นสำคัญเกี่ยวกับขั้นตอนและวิธีการสั่งบล็อคเว็บ และประเภทเนื้อหาที่จะเป็นความผิดถึงขั้นถูกสั่งบล็อคได้ เป็นดังนี้

1. เนื้อหาที่เข้าข่ายจะถูกบล็อคได้

พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 20 ที่แก้ไขในปี 2560 กำหนดให้ระงับการทำให้แพร่หลาย หรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ ในกรณีต่อไปนี้
1) ข้อมูลที่เป็นความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ได้แก่
  • ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน (ตามมาตรา 14(1))
  • ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน (ตามมาตรา 14(2))
  • ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา (ตามมาตรา 14(3))
  • ข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่มีลักษณะอันลามกที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ (ตามมาตรา 14(4))
  • ภาพของผู้อื่น ที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติม หรือดัดแปลง ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใด โดยประการที่น่าจะทําให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย (มาตรา 16)
2) ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นความผิดอาญาตามกฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา หมายถึงการละเมิดลิขสิทธิ์ ละเมิดสิทธิบัตร หรือเครื่องหมายการค้า ของบุคคลอื่น และเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายนั้นหรือตำรวจที่รับผิดชอบในคดีนั้นๆ ได้ร้องขอให้ระงับการเผยแน่
3) ข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นมีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายนั้นหรือพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้ร้องขอให้ระงับการเผยแพร่ ซึ่งข้อมูลตามข้อนี้มีลักษณะกว้างขวาง และต้องอาศัยการตีความอีกมากว่า ข้อมูลแบบใดจะถือว่าขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี จึงต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ก่อนด้วย

2. เจ้าหน้าที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

พนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มีอำนาจตั้งเรื่องที่จะบล็อคเว็บ

ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐทุกคนหรือตำรวจทุกคนสามารถเดินเรื่องเพื่อบล็อคเว็บได้ แต่จะต้องเป็นผู้ที่ได้รับแต่งตั้งเฉพาะโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) โดยแต่งตั้งจากผู้ที่มีความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ จบการศึกษาด้านคอมพิวเตอร์ นิติศาสตร์ หรือรัฐศาสตร์ ผ่านการอบรมด้านการสืบสวน สอบสวน การพิสูจน์หลักฐานทางคอมพิวเตอร์ และมีประสบการณ์การทำงานพอสมควร ซึ่งผ่านการทดสอบหรือประเมินความรู้ความสามารถตามหลักสูตรแล้ว ตามหลักเกณฑ์ในประกาศ ฉบับวันที่ 29 สิงหาคม 2550
ในทางปฏิบัติ ไม่ใช่ตำรวจทุกคนจะสามารถดำเนินการเรื่องการบล็อคเว็บได้ ตำรวจที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ส่วนใหญ่จะทำงานอยู่ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ซึ่งรับผิดชอบโดยตรงเกี่ยวกับคดีตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ หรืออาจมีบางคนประจำอยู่หน่วยงานอื่น เช่น กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) รวมถึงเจ้าหน้าที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมบางคนที่ไม่ใช่ตำรวจก็ได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่นี้ด้วย

รัฐมนตรีดีอี เป็นผู้ให้ความเห็นชอบ

รัฐมนตรีที่รับผิดชอบการบังคับใช้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เดิมเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ที่ต่อมาเปลี่ยนชื่อกระทรวงและโครงสร้างการบริหารมาเป็นกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) รัฐมนตรีกระทรวงดีอีจึงเป็นผู้รับผิดชอบที่จะพิจารณาเรื่องที่ริเริ่มมาโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และการเดินเรื่องเพื่อบล็อคเว็บทุกแห่ง และทุกเรื่องต้องผ่านความเห็นชอบของรัฐมนตรีก่อน

คณะกรรมการกลั่นกรอง พิจารณาว่าเรื่องใดขัดต่อศีลธรรมอันดี

กรณีที่จะบล็อคเว็บที่มีเนื้อหาขัดต่อพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ หรือขัดต่อกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา ก็มีหลักเกณฑ์การพิจารณาว่าเนื้อหาแบบใดจะสามารถบล็อคได้หรือไม่ ตามกฎหมายนั้นๆ แต่เนื่องจากมาตรา 20 เปิดช่องให้ระงับการเข้าถึงข้อมูลที่ “มีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน” ได้ด้วย แม้ว่าข้อมูลนั้นจะไม่ได้ผิดต่อกฎหมายใด จึงต้องให้มีคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ ทำหน้าที่พิจารณาว่าเนื้อหาใดบ้างที่ “มีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน” แต่ในทางปฏิบัติเนื่องจากเงื่อนไขการบล็อคเว็บตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(2) ก็เขียนไว้กว้างขวางพอที่จะให้บล็อคได้ค่อนข้างกว้างขวางแล้ว งานที่คณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ต้องพิจารณาจึงไม่มากนัก
คณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ คณะหนึ่งมีเก้าคน มาจากการแต่งตั้งของรัฐมนตรีกระทรวงดีอี โดยสามคนต้องเป็นผู้แทนภาคเอกชน ด้านสิทธิมนุษยชน ด้านสื่อสารมวลชน ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือด้านอื่นที่เกี่ยวข้อง วันที่ 21 กรกฎาคม 2560 มีประกาศกระทรวงกำหนดให้ปลัดกระทรวงดีอี เป็นประธานคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ โดยตำแหน่ง ให้ผู้อำนวยการกองกฎหมาย สำนักปลัดกระทรวงดีอี เป็นกรรมการและเลขานุการโดยตำแหน่ง 

ศาล เป็นผู้พิจารณาอนุมัติ

การออกคำสั่งให้บล็อคเว็บไซต์ หรือระงับการเผยแพร่ข้อมูลใดๆ จะต้องอาศัยอำนาจจากศาลเป็นผู้สั่ง ซึ่งต้องเป็น “ศาลที่มีเขตอำนาจ” หากเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นพื้นที่ของจังหวัดก็ต้องเป็นศาลที่มีเขตอำนาจในจังหวัดนั้นๆ เป็นผู้ที่ออกคำสั่ง แต่เนื่องจากการเผยแพร่ข้อมูลบนโลกออนไลน์แทบทั้งหมดสามารถเข้าถึงได้จากทุกพื้นที่ทั่วประเทศ และหน่วยงานที่รับผิดชอบเป็นหลักทั้ง ปอท. และกระทรวงดีอี ก็ตั้งอยู่ที่กรุงเทพ เมื่อต้องขออำนาจศาลให้สั่งบล็อคเว็บโดยส่วนใหญ่แล้วจึงยื่นคำร้องต่อศาลอาญา และศาลอาญาก็เป็นหน่วยงานที่ออกคำสั่งบล็อคเว็บแทบทั้งหมดในประเทศไทย

3. ขั้นตอน และวิธีการ

ถ้าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ถูกกล่าวหาว่า ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน อาจเริ่มที่การพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ ถ้าหากคณะกรรมการเห็นว่า เป็นข้อมูลที่ควรถูกระงับการเผยแพร่ก็ส่งเรื่องต่อไปให้รัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ แต่ถ้าเป็นข้อมูลลักษณะอื่น ก็เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เมื่อตรวจสอบพบเอง หรือได้รับรายงานมาจากเจ้าหน้าที่อื่นหรือประชาชนมาร้องเรียน ก็มีอำนาจส่งให้รัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ เมื่อรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบในการระงับการเผยแพร่แล้ว ก็เป็นหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่จะยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อขอคำสั่งศาลอนุมัติให้ระงับการเผยแพร่ได้
เมื่อศาลได้รับคำร้องแล้ว ตามาตรา 20 วรรคสี่ กำหนดว่าในการพิจารณาของศาล ให้นําประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งในทางปฏิบัติตลอดระยะเวลากว่าสิบปีแรกของการบังคับใช้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เมื่อได้รับคำร้องแล้วศาลอาญาจะนำคำร้องมาพิจารณาและออกคำสั่งไปฝ่ายเดียว ซึ่งไม่ปรากฏชัดเจนว่า ศาลได้ไต่สวนพยานผู้เกี่ยวข้องอย่างไรก่อนออกคำสั่ง ข้อมูลจากงานวิจัย เรื่องผลกระทบจากการบังคับใช้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พบว่า ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2550 ถึงเดือนธันวาคม 2554 มีคำสั่งศาลให้ปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ทั้งสิ้น 156 ฉบับ มีถึง 142 ฉบับที่ศาลออกคำสั่งในวันเดียวกันกับที่กระทรวงไอทีซียื่นคำร้อง โดยในปี 2552 และ2553 ศาลมีคำสั่งปิดกั้นโดยเฉลี่ยถึง 326 ยูอาร์แอลต่อวัน และ 986 ยูอาร์แอลต่อวัน
จากกรณีที่กระทรวงดีอี ขอให้ศาลสั่งระงับการเข้าถึงคลิปยูทูปเรื่อง “วัคซีนพระราชทาน ใครได้ใครเสีย?” ของคณะก้าวหน้า ในช่วงต้นปี 2564 หลังศาลสั่งตามที่กระทรวงดีอีขอมาแล้ว ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้ยื่นคำร้องคัดค้าน พร้อมกับขอให้ศาลไต่สวนพยานประกอบการออกคำสั่ง ต่อมาศาลอาญาสั่งเพิกถอนคำสั่งเดิม และระบุเหตุผลไว้ด้วยว่า การออกคำสั่งระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์อันมีลักษณะเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลโดยชัดแจ้งและถาวร การอนุโลมใช้กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่ถูกต้องแก่คำร้องเช่นนี้ สมควรที่จะรับพิจารณาเสมือนเป็นคดีอาญาคดีหนึ่งซึ่งต้องให้โอกาสคู่ความทุกฝ่ายได้ต่อสู้คดีเท่าที่จะเป็นไปได้

จึงกลายเป็นบรรทัดฐานของศาลว่า ก่อนสั่งบล็อคเว็บใดๆ ต้องเปิดโอกาสให้เจ้าของข้อมูลมีสิทธิคัดค้านหรือต่อสู้คดีด้วย

หากใครทราบว่า เว็บไซต์ หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ตัวเองเป็นเจ้าของหรือเป็นผู้ดูแลกำลังถูกยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ระงับการเผยแพร่ ก็สามารถไปยื่นคำร้องคัดค้าน เพื่อจะเข้าไปร่วมการไต่สวนของศาลได้ โดยผู้คัดค้านก็มีสิทธินำเสนอพยานหลักฐานของตัวเองให้ศาลพิจารณาก่อนออกคำสั่งได้ หรือหากเว็บไซต์หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์ของใครเข้าถึงไม่ได้ โดยปรากฏว่ามีคำสั่งจากศาลให้ระงับการเผยแพร่ไปแล้ว ทั้งที่ไม่เคยทราบหรือมีโอกาสเข้าร่วมคัดค้านในกระบวนการไต่สวนมาก่อน ก็สามารถไปยื่นคำร้องขอต่อศาลในภายหลังเพื่อคัดค้านคำสั่งที่ศาลอออกไปฝ่ายเดียวได้
หากศาลสั่งให้ระงับการเผยแพร่ข้อมูลตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่ร้องขอมาแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่จะทําการระงับการทําให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นเองก็ได้ หรือจะสั่งให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (Internet Service Provider – ISP) ระงับการทําให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นก็ได้ กรณีที่จะสั่งให้ ISP ดำเนินการ ก็เป็นไปตามประกาศกระทรวงดีอี ที่กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทำคำสั่งไปยัง ISP ประกอบด้วยสำเนาคำสั่งศาล รายละเอียดที่อยู่ของข้อมูลที่จะระงับการทำให้แพร่หลาย และกำหนดเวลาว่า ต้องดำเนินการเสร็จเมื่อใด เมื่อได้รับทราบแล้ว ประกาศดังกล่าวสั่งให้ ISP ต้องดำเนินการด้วยมาตรการทางเทคนิคใดๆ (Technical Measures) ที่ได้มาตรฐานเพื่อให้บังเกิดผลตามคำสั่งศาล
พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับแก้ไขปี 2560
              มาตรา 20 ในกรณีที่มีการทําให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ ดังต่อไปนี้ พนักงานเจ้าหน้าที่โดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีอาจยื่นคําร้องพร้อมแสดงพยานหลักฐานต่อศาลที่มีเขตอํานาจขอให้มีคําสั่งระงับการทําให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นออกจากระบบคอมพิวเตอร์ได้
              (1) ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัตินี้
              (2) ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่อาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามที่กําหนดไว้ ในภาค 2 ลักษณะ 1 หรือลักษณะ 1/1 แห่งประมวลกฎหมายอาญา
              (3) ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นความผิดอาญาตามกฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา หรือกฎหมายอื่นซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นมีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายนั้นหรือพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้ร้องขอ
              ในกรณีที่มีการทําให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์จะมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ยื่นคําร้องพร้อมแสดงพยานหลักฐานต่อศาลที่มีเขตอํานาจขอให้มีคําสั่งระงับการทําให้แพร่หลายหรือลบซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นออกจากระบบคอมพิวเตอร์ได้ ทั้งนี้ ให้นําบทบัญญัติว่าด้วยคณะกรรมการที่มีอํานาจดําเนินการพิจารณาทางปกครองตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองมาใช้บังคับกับการประชุมของคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยอนุโลม
              ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามวรรคสองขึ้นคณะหนึ่งหรือหลายคณะ แต่ละคณะให้มีกรรมการจํานวนเก้าคนซึ่งสามในเก้าคนต้องมาจากผู้แทนภาคเอกชน ด้านสิทธิมนุษยชน ด้านสื่อสารมวลชน ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือด้านอื่นที่เกี่ยวข้อง และให้กรรมการได้รับค่าตอบแทนตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีกําหนดโดยได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง
              การดําเนินการของศาลตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้นําประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับโดยอนุโลม ในกรณีที่ศาลมีคําสั่งให้ระงับการทําให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ ตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง พนักงานเจ้าหน้าที่จะทําการระงับการทําให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นเองหรือจะสั่งให้ผู้ให้บริการระงับการทําให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นก็ได้ ทั้งนี้ ให้รัฐมนตรี
ประกาศกําหนดหลักเกณฑ์ ระยะเวลา และวิธีการปฏิบัติสําหรับการระงับการทําให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ของพนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้ให้บริการให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันโดยคํานึงถึงพัฒนาการทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป เว้นแต่ศาลจะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น
              ในกรณีที่มีเหตุจําเป็นเร่งด่วน พนักงานเจ้าหน้าที่จะยื่นคําร้องตามวรรคหนึ่งไปก่อนที่จะได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรี หรือพนักงานเจ้าหน้าที่โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์จะยื่นคําร้องตามวรรคสองไปก่อนที่รัฐมนตรีจะมอบหมายก็ได้ แต่ทั้งนี้ต้องรายงานให้รัฐมนตรีทราบโดยเร็ว

ผู้ได้รับหมายนัด จะไปคัดค้านหรือไม่ก็ได้

ในปี 2564 หลังศาลอาญาได้มีแนวบรรทัดฐานว่า ต้องมีการไต่สวนคำร้องขอบล็อคเว็บ และต้องให้ผู้เกี่ยวข้องมีโอกาสคัดค้านได้ ก็ปรากฏว่า เมื่อเจ้าหน้าที่จากกระทรวงดีอียื่นคำร้องต่อศาล ศาลก็ออกหมายนัดไต่สวนคำร้องส่งไปยังผู้ที่น่าจะเป็นเจ้าของข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ถูกขอให้บล็อค และหลายกรณีเจ้าหน้าที่กระทรวงดีอียื่นคำร้องขอปิดบัญชีผู้ใช้โซเชี่ยลมีเดีย หรือปิดข้อมูลบางส่วนบนโซเชี่ยลมีเดีย โดยไม่ทราบว่า เจ้าของบัญชีที่แท้จริง คือใคร และมีที่อยู่ที่ใด จึงใช้วิธีการส่งหมายนัดไปทางช่องทางบนโลกออนไลน์ เช่น DM ของ Twitter หรือ Inbox ของ Facebook
โดยหมายนัดของศาลจะระบุที่มุมซ้ายบนว่า เป็น “หมายนัดไต่สวนคำร้อง” ตรงกลางหน้ากระดาษจะระบุว่า ออกหมายโดยศาลใด และระบุว่า หมายถึงเจ้าของหรือผู้รับผิดชอบหรือผู้ใช้บัญชีโซเชี่ยลมีเดียใด ซึ่งส่งตามช่องทางการติดต่อในช่องส่งข้อความนี้
พร้อมกับข้อความว่า ด้วยผู้ร้องได้ยื่นคำร้องต่อศาลนี้อ้างว่า มีการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความรับผิดชอบของท่าน ซึ่งข้อมูลดังกล่าวมีเนื้อหาขัดต่อกฎหมาย จึงร้องขอให้ศาลสั่งระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามสำเนาคำร้องซึ่งได้ส่งมาให้ทราบพร้อมกับหมายนี้ และศาลมีคำสั่งนัดไต่สวนคำร้องในวันใด เวลาใด พร้อมกับระบุว่า หากจะคัดค้านประการใดให้คัดค้านต่อศาลก่อนเวลานัด
กรณีเช่นนี้ ถ้าเจ้าของข้อมูลได้รับหมายนัดแล้ว เห็นว่าข้อมูลคอมพิวเตอร์ในความครอบครองของตัวเองไม่มีข้อมูลใดที่ขัดต่อมาตรา 14 ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ หรือไม่เข้าลักษณะที่จะให้ระงับการทำให้แพร่หลายได้ตามมาตรา 20 ก็มีโอกาสที่จะไปยังศาลที่ออกหมายตามวันและเวลานัด พร้อมกับเตรียมประเด็นที่จะคัดค้านไปด้วย โดยเจ้าของข้อมูลอาจจะต้องเบิกความต่อศาลถึงเหตุผลที่จะคัดค้านทั้งหมด หรือหากมีพยานคนอื่นที่เกี่ยวข้องหรือมีหลักฐานใดก็สามารถนำไปเสนอต่อศาลตามกำหนเวลาได้ โดยกระบวนการไต่สวนที่จะเกิดขึ้นจะต้องเริ่มจากการไต่สวนพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ที่ยื่นคำร้องต่อศาลก่อน และผู้คัดค้านก็มีโอกาสที่จะถามค้านพนักงานเจ้าหน้าที่ให้เห็นข้อเท็จจริงในมุมของผู้คัดค้านได้ กระบวนการเช่นนี้จะสะดวกกว่ามากหากผู้คัดค้านมีทนายความไปศาลด้วยในวันนัดไต่สวน
หากผู้ที่ได้รับหมายนัดแล้ว เห็นว่ามีเวลากระชั้นชิดไม่สามารถเตรียมหาพยานหลักฐานหรือทนายความได้ทัน ก็อาจไปศาลตามนัดเพื่อขอให้ศาลเลื่อนกำหนดวันนัดไต่สวนออกไปก่อนก็ได้ หรือจะทำคำร้องไปยื่นต่อศาลล่วงหน้าเพื่อขอให้ศาลกำหนดวันนัดใหม่ที่สะดวกก็ได้
เนื่องจากหมายนัดนี้ ไม่ใช่หมายเรียกผู้ต้องหาในคดีอาญา การไม่ไปตามนัดไม่มีผลให้ศาลออกหมายจับ และไม่มีความผิด แต่ผู้ที่เป็นเจ้าของข้อมูลและไม่ไปตามนัดก็จะเสียสิทธิในการคัดค้าน ศาลจะดำเนินการไต่สวนผู้ร้องขอให้บล็อคเว็บไซต์ไปฝ่ายเดียว ถ้าศาลเห็นว่าเนื้อหาเข้าข่ายตามมาตรา 20 ศาลก็จะสั่งให้บล็อค ซึ่งหากไม่มีผู้คัดค้านและผู้ยื่นคำร้องมีเหตุผลตามสมควรก็มีโอกาสสูงที่ศาลจะสั่งเช่นนั้น
ขณะเดียวกัน หากข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ขอให้ศาลสั่งระงับการทำให้แพร่หลายเข้าองค์ประกอบที่ศาลจะสั่งให้ระงับการทำให้แพร่หลายได้ตามมาตรา 20 อย่างชัดเจน การเข้าสู่กระบวนการไต่สวนคัดค้านก็อาจไม่มีประโยชน์ การไปแสดงตัวต่อศาลและยื่นคำร้องคัดค้านการบล็อคเว็บก็เป็นการเปิดเผยตัวว่า ผู้ใดเป็นผู้นำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์เหล่านั้น ซึ่งอาจมีการดำเนินคดีอาญาหรือถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ในข้อหาใดข้อหาหนึ่งภายหลังได้ 

ศาลแจงส่งหมายทางโปรแกรมแชทเท่านั้น ไม่มาคัดค้านไม่มีความผิด

26 กรกฎาคม 2564 สำนักงานศาลยุติธรรมออกเอกสารแจกให้สื่อมวลชน เพื่ออธิบายขั้นตอนการทำงานก่อนออกคำสั่งบล็อคเว็บ โดยมี มุขเมธิน กลั่นนุรักษ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะแผนกคดีค้ามนุษย์ ในฐานะหนึ่งในทีมบริหารราชการของศาลอาญา ซึ่งได้รับมอบหมายโดยตรงจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญารับผิดชอบคดีการใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ การปิดกั้น (บล็อค) ระงับการเข้าถึงข้อมูลบนคอมพิวเตอร์ชั่วคราวหรือถาวร หรือการลบข้อความ อันเนื่องจากกระทำความผิดกฎหมายด้านความมั่นคง สื่อลามกอนาจาร การพนัน 
มุขเมธิน กล่าวว่า การยื่นคำร้องขอพิจารณาสั่งปิดเว็บไซต์ หรือปิดกั้นการเข้าถึงข้อความถือเป็นคดีมีลักษณะเฉพาะที่ควรจะต้องกำหนดแนวทางในการดำเนินกระบวนการพิจารณาให้ชัดเจน โดยตั้งแต่รอบปี 2563 มีการยื่นคำร้องเข้าสู่ศาลจำนวนมาก นายสิทธิโชติ อินทรวิเศษ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา จึงอาศัยอำนาจตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 11 (4) ออก “คำแนะนำอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาว่าด้วยแนวทางการพิจารณาคำร้องขอให้ระงับการเผยแพร่ข้อมูลคอมพิวเตอร์ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 20” ลงนามเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 เพื่อให้ผู้พิพากษาศาลอาญามีแนวทางในการปฏิบัติและพิจารณาคำร้องอย่างมีประสิทธิภาพและชัดเจน อาทิ ผู้ร้องต้องแยกคำร้องเป็นรายข้อกล่าวหา แต่ละคำร้องควรมีฐานความผิดเดียว เช่น เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ความผิดฐานเผยแพร่สิ่งลามกอนาจาร หรือการพนัน โดยแต่ละคำร้องอาจขอให้ปิดข้อมูลคอมพิวเตอร์หลายชุด (URL) ก็ได้, ให้มีการไต่สวนโดยการส่งสำเนาให้ผู้ดูแลเว็บไซต์ที่ถูกกล่าวหาเพื่อให้โอกาสที่จะคัดค้าน หากไม่มีคำคัดค้านก็ให้ไต่สวนฝ่ายเดียว โดยพิจารณาจากเอกสารของผู้ร้องเป็นหลัก คือภาระการพิสูจน์จะอยู่ที่ฝ่าย    ผู้ร้องจะต้องนำหลักฐานมายืนยันให้ศาลเห็น
สำหรับเว็บไซต์ให้ข้อมูลข่าวสาร ศาลจะไม่ปิดช่องทางการสื่อสารของสื่อหรือบุคคล การสั่งลบหรือห้ามเผยแพร่จะทำได้เฉพาะข้อความที่ศาลเห็นว่าขัดต่อกฎหมายเป็นรายข้อความ และไม่ปิดกั้นการสื่อสารในอนาคตเนื่องจากเนื้อหารัฐธรรมนูญ มาตรา 35 วรรคสอง คุ้มครองสิทธิของสื่อมวลชนในการเสนอข่าวสาร และมาตรา 36 คุ้มครองสิทธิในการสื่อสาร
สำหรับผู้ที่มีชื่ออยู่ในหมายแจ้งไต่สวนนั้นไม่ได้ถือว่ามีสถานะทางกฎหมายเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาที่ว่าหากไม่มาศาลตามนัดแล้วจะถูกออกหมายจับ หรือมีความผิดที่ไม่มาศาลเนื่องจากการยื่นคำขอปิดเว็บไซต์นั้นไม่ใช่การขอลงโทษบุคคลทางอาญา เพียงแต่ผู้ที่มีชื่อในหมายแจ้งไต่สวนหากไม่มาศาลเพื่อจะแสดงเหตุโต้แย้งใด ๆ ศาลก็จะดำเนินกระบวนการไต่สวนไปเพียงฝ่ายเดียวได้เลย เมื่อไต่สวนแล้วแม้ว่าศาลจะมีคำสั่งปิดหรือไม่ปิดเว็บไซต์ หรือลบข้อความบนเว็บไซต์ ก็ไม่ได้แปลว่าผู้รับผิดชอบเว็บไซต์หรือเจ้าของข้อมูลนั้นจะต้องผิดหรือไม่ผิดกฎหมายอาญา-แพ่ง หรือรับโทษใดในทันที
สำหรับหมายนัดไต่สวนคำร้องขอปิดเว็บไซต์การส่งจะดำเนินการในรูปแบบหมายอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น ด้วยเหตุผลที่ว่าสามารถดำเนินการได้รวดเร็ว ขณะเดียวกันก็สอดคล้องกับสภาพของผู้เกี่ยวข้องล้วนอยู่ในระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถเข้าถึงช่องทางนั้นได้ ช่องทางการส่งหมายจึงต่างกับหมายคดีอาญา-คดีแพ่งอื่นที่จัดส่งเป็นแผ่นกระดาษเอกสารผ่านทางไปรษณีย์ตอบรับ ขณะที่การส่งหมายศาลจะให้กระทรวง DES ที่มีความพร้อมระบบอิเล็กทรอนิกส์เป็นผู้ดำเนินการจัดส่งผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เช่น E-mail, โปรแกรมแชท Messenger บน Facebook, Twitter หรือที่อยู่ตามที่ปรากฏบนสื่อนั้น ๆ ยกเว้นแอปพลิเคชั่น LINE ที่ไม่ใช้ ซึ่งตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 ระบุว่า เมื่อหมายไปถึงปลายทาง ในกล่องรับจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Inbox ไม่ต้องตอบกลับว่าเปิดตู้จดหมายหรือไม่ เพียงแต่มีหลักฐานว่ามีการส่งหมายไปตามวัน-เวลาแสดงขึ้นบน Inbox ตามกฎหมายธุรกรรมก็ถือว่าหมายนั้นไปถึงแล้ว
ขณะที่การยื่นคำคัดค้านสามารถขอขยายระยะเวลาได้ หรือจะขอเลื่อนการไต่สวนก่อนหากมีเหตุจำเป็น โดยแนวทางปฏิบัติของศาลอาญาก็มักจะพิจารณาอนุญาตขยายเวลาให้เสมอ ซึ่งจะพิจารณาจากพฤติการณ์และเหตุจำเป็น