10 ปี พฤษภา’53: ย้อนดูคดี “มาตรา 112” ที่สืบเนื่องมาจากการชุมนุม

การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่ม “คนเสื้อแดง” ในปี 2553 และการสลายการชุมนุมด้วยอาวุธสงครามของทหารนำไปสู่การสูญเสียชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของทั้งกลุ่มผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่รัฐ และประชาชนผู้บริสุทธิ์ แต่หลังเหตุการณ์ผ่านมาสิบปีเต็มแล้ว ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นภายใต้เหตุการณ์ความรุนแรงเหล่านั้นยังไม่ถูกพูดถึงและจัดการอย่างเป็นระบบโดยภาครัฐ 

ผลกระทบอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงเวลานั้น ซึ่งต่อเนื่องมาตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 2549 คือ การเอาประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ มาใช้กันอย่างแพร่หลายกับฝ่าย “คนเสื้อแดง” และนำไปสู่กระแสการจับกุมและดำเนินคดีระลอกใหญ่ระหว่างปี 2553-2555 ก่อให้เกิดเป็นบรรยากาศความหวาดกลัวต่อกฎหมายนี้และนำไปสู่เสียงเรียกร้องให้แก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายอย่างกว้างขวาง ซึ่งยังไม่ใกล้เคียงที่จะประสบความสำเร็จ และ “ความเงียบงัน” ที่ “มาตรา 112” ได้สร้างขึ้นก็ยังส่งอิทธิพลตกทอดมาหลังเหตุการณ์นั้นอีกหลายปี

เนื่องในวาระสิบปีเต็มของเหตุการณ์การสลายการชุมนุมในปี 2553 ชวนย้อนดูตัวอย่างคดีมาตรา 112 ที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับการแสดงออกระหว่างการชุมนุมและที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม มีทั้งการดำเนินคดีกับผู้ปราศรัยบนเวที ผู้ร่วมชุมนุมที่เป็นคนไม่มีชื่อเสียง ผู้ผลิตสื่อนิตยสาร ผู้ออกแบบเว็บไซต์ กระทั่งผู้ส่งข้อความทาง SMS 

 

อากง SMS

การกระทำที่ถูกกล่าวหา: ส่ง SMS รวม 4 ข้อความ ไปที่หมายเลขของเลขาฯ นายกรัฐมนตรี ในช่วง 9-20 พฤษภาคม 2553 ที่ทหารปฏิบัติการสลายการชุมนุม

ผลคดี: ศาลให้จำคุกรวม 20 ปี

สถานะปัจจุบันของจำเลย: เสียชีวิตระหว่างอยู่ในเรือนจำ เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2555  

อำพล หรือที่เรียกกันว่า “อากง” ขณะถูกจับกุมอายุ 61 ปี ถูกตำรวจบุกไปจับกุมที่บ้านพักเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 เขาถูกกล่าวหาว่า ส่งข้อความสั้นทางโทรศัพท์มือถือไปยังหมายเลขของสมเกียรติ ครองวัฒนสุข เลขานุการของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในขณะนั้น โดยข้อความสั้น 4 ข้อความ มีเนื้อหาดูหมิ่นแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ และพระราชินี คดีนี้ได้รับความสนใจมากเนื่องจากคำพิพากษาลงโทษที่สูง จำเลยเป็นชายแก่ที่ฐานะยากจนและปฏิเสธว่าตัวเองส่งข้อความ SMS ไม่เป็น ไม่ได้ติดตามการเมืองและไม่ได้เข้าข้างการเมืองฝ่ายใด และคดีนี้มีประเด็นเรื่องการนำสืบพยานหลักฐานอิเล็กทรอนิกส์ ที่ใช้หมายเลขอีมี่ของเครื่องโทรศัพท์เป็นหลักฐานสำคัญ

อำพลถูกจับกุมและไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวทำให้ต้องถูกคุมขังในเรือนจำอยู่ 63 วัน เขาได้รับอนุญาตจากศาลอุทธรณ์ให้ประกันตัวช่วงสั้นๆ จนกระทั่งเมื่ออัยการยื่นฟ้องคดีต่อศาล ศาลก็สั่งไม่ให้ประกันตัวอีกครั้ง และเขาต้องถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำตลอดระหว่างต่อสู้คดี 

ในระหว่างการต่อสู้คดี อำพลเบิกความต่อศาลว่าเขาเคยประกอบอาชีพขับรถส่งของแต่ไม่ได้ทำงานมานานกว่าสิบปีแล้ว ได้แต่เลี้ยงหลานอยู่กับบ้าน เขากับภรรยาและหลานๆ อาศัยอยู่ในห้องเช่าขนาดเล็ก เกี่ยวกับคดีนี้ตัวเขาไม่ได้เป็นผู้ส่งข้อความและไม่เคยรู้จักหมายเลขโทรศัพท์ของสมเกียรติ ครองวัฒนาสุข เลขานุการส่วนตัวของนายกอภิสิทธิ์ สำหรับการใช้งานโทรศัพท์เครื่องที่เป็นเหตุแห่งคดี อำพลระบุว่าโทรศัพท์ของเขาไม่ได้อยู่กับตัวตลอดเวลา เวลาที่เขาไปรับส่งหลานที่โรงเรียนบางครั้งก็นำโทรศัพท์ไป บางครั้งก็ไม่ได้นำไป ส่วนเวลาที่อยู่ที่บ้านบางครั้งก็จะวางโทรศัพท์ทิ้งไว้และที่บ้านก็มีคนเข้าออกอยู่จำนวนหนึ่ง

อำพลเบิกความต่อศาลด้วยว่า เมื่อเห็นข้อความที่ถูกฟ้องแล้วรู้สึกเสียใจมาก อำพลกล่าวทั้งน้ำตาว่าเขารักในหลวงและจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ 

ทนายความของอำพล พยายามต่อสู้คดีในประเด็นการพิสูจน์ตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ว่า การใช้หมายเลขเครื่อง (อีมี่) ในการเชื่อมโยงว่าจำเลยกระทำความผิด เป็นการเชื่อมโยงที่ไม่น่าเชื่อถือ เพราะเลขอีมี่สามารถปลอมแปลงได้ และสามารถซ้ำกันได้ โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานหรือพยานเอกสารใดที่จะชี้ได้ว่า จำเลยเป็นผู้กดพิมพ์ข้อความ และส่งข้อความดังกล่าว

วันที่ 23 พฤศจิกายน 2554  ศาลชั้นต้นตัดสินว่าอำพลมีความผิดลงโทษจำคุก 20 ปี ตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ หลังจากนั้นอำพลพยายามยื่นขอประกันตัวเพื่อใช้สิทธิอุทธรณ์คดี แต่ศาลไม่ให้ประกันตัว อำพลจึงตัดสินใจถอนอุทธรณ์ให้คดีสิ้นสุดเพื่อเตรียมยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ แต่ระหว่างนั้นในวันที่ 8 พฤษภาคม 2555 อำพลเสียชีวิตระหว่างจำคุกอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ศาลมีคำสั่งไต่สวนการตายสรุปได้ว่า อำพลเสียชีวิตจากระบบไหลเวียนโลหิตและระบบหายใจล้มเหลว ซึ่งเป็นอาการสืบเนื่องจากโรคมะเร็งตับระยะสุดท้าย ระหว่างควบคุมตัวของเจ้าพนักงาน

ดูรายละเอียดคดีในฐานข้อมูลได้ที่ https://freedom.ilaw.or.th/case/21
อ่านเรื่องเล่าเกี่ยวกับคดีนี้ได้ที่ https://blogazine.pub/blogs/groomgrim/post/3310

 

ธันย์ฐวุฒิ หรือ หนุ่ม เรดนนท์

การกระทำที่ถูกกล่าวหา: เป็นผู้ดูแลเว็บไซต์ norporchorusa ที่โพสต์เนื้อหาเกี่ยวกับการชุมนุมของคนเสื้อแดงเมื่อเดือนมีนาคม 2553 

ผลคดี: ศาลให้จำคุกรวม 13 ปี

สถานะปัจจุบันของจำเลย: ได้รับพระราชทานอภัยโทษ และลี้ภัยหลังการรัฐประหาร

ธันย์ฐวุฒิ หรือ “หนุ่ม เรดนนท์” ใช้ชีวิตอยู่กับลูกชายวัย 10 ขวบ (อายุขณะพ่อของเขาถูกจับกุม) ตามลำพังที่ห้องเช่าแห่งหนึ่งในจังหวัดนนทบุรีและเปิดบริษัทของตัวเองขึ้นมาเพื่อรับงานด้านการพัฒนาเว็บไซต์ ธันย์ฐวุฒิสังเกตเห็นว่า ในจังหวัดนนทบุรีมีกลุ่มคนเสื้อแดงย่อยๆ หลายกลุ่มจึงทดลองทำเว็บไซต์ขึ้นมาด้วยตัวเองเพื่อรวบรวมมวลชนเสื้อแดงในจังหวัดนนทบุรี ชื่อว่า เรดนนท์ ดอทคอม หรือ www.rednont.com 

ธันย์ฐวุฒิ ถูกจับกุมเมื่อ 1 เมษายน 2553 ระหว่างที่การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงเพิ่งเริ่มต้นขึ้น เขาถูกกล่าวหาว่า เป็นเจ้าของหรือผู้ดูแลเว็บไซต์ norporchorusa และถูกดำเนินคดีสามกรรม ดังนี้ 1) ถูกกล่าวหาว่าเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2553 เขาเป็นผู้นำเข้าภาพและข้อความบนเว็บไซต์ ที่ปรากฏชื่อผู้โพสต์ว่า Admin 2) ถูกกล่าวหาว่าเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2553 เขาเป็นผู้นำเข้าภาพและข้อความบนเว็บไซต์ ที่ปรากฏชื่อผู้โพสต์ว่า Admin ข้อความทั้งสองเกี่ยวข้องกับประเด็นการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ทำนองปกป้องไม่ให้มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ทางการเมือง 3) ถูกกล่าวหาว่าเขาเป็นผู้ให้บริการเว็บไซต์ norporchorusa จงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีผู้อื่นนำเข้าข้อความอันมีลักษณะให้ร้ายพระมหากษัตริย์ โดยไม่ได้ลบข้อความดังกล่าวออก 

ตั้งแต่ถูกจับกุมธันย์ฐวุฒิไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว โดยเขาให้การปฏิเสธในชั้นศาล และต่อสู้คดีว่า เขาเกี่ยวข้องกับเว็บไซต์ norporchorusa เนื่องจากได้รับการว่างจ้างจากผู้ที่ใช้ชื่อว่า woodside ให้รับหน้าที่ออกแบบโลโก้และพื้นหลัง เนื่องจากตนเองมีอาชีพรับออกแบบเว็บไซต์อยู่แล้ว แต่ส่วนเนื้อหาที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย ไม่ได้เป็นผู้โพสต์ข้อความที่ถูกฟ้อง และไม่มีอำนาจในการตรวจสอบและลบเนื้อหาบนเว็บไซต์ด้วยตัวเอง

15 มีนาคม 2554 ศาลพิพากษาว่า พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักมั่นคง เชื่อได้ว่าจำเลยเป็นผู้ดูแลระบบของเว็บไซต์ตามฟ้อง จำเลยมีความผิดตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) ฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันมีลักษณะกล่าวให้ร้ายพระมหากษัตริย์ 2 กรรม ลงโทษจำคุกกรรมละ 5 ปี และมีความผิดตามมาตรา 15 ฐานเป็นผู้ดูแลเว็บไซต์จงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีผู้อื่นนำเข้าข้อความอันมีลักษณะให้ร้ายพระมหากษัตริย์ ลงโทษจำคุก 3 ปี พิพากษาให้จำคุกจำเลยรวมทั้งสิ้น 13 ปี

ต่อมาธันย์ฐวุฒิยื่นอุทธรณ์ แต่ก็เปลี่ยนใจถอนอุทธรณ์ในภายหลังเพื่อยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ เขาได้รับพระราชทานอภัยโทษและปล่อยตัวเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2556 รวมระยะเวลาจำคุก 3 ปี 3 เดือน 5 วัน หลังจากออกมาใช้ชีวิตได้ไม่ถึงหนึ่งปี ก็เกิดรัฐประหารในปี 2557 เขาถูกคณะรัฐประหารเรียกให้ไปรายงานตัวโดยไม่ได้ระบุเหตุผล เขาจึงตัดสินใจลี้ภัยออกไปนอกประเทศ


ดูรายละเอียดคดีในฐานข้อมูลได้ที่ https://freedom.ilaw.or.th/case/19

 

สมยศ บก. Voice of Taksin 

การกระทำที่ถูกกล่าวหา: เผยแพร่บทความชื่อ คมความคิด ในนิตยสาร Voice of Taksin ที่เผยแพร่เดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม 2553 

ผลคดี: ศาลให้จำคุกรวม 6 ปี

สถานะปัจจุบันของจำเลย: รับโทษครบ ปล่อยตัวแล้ว

สมยศ พฤกษาเกษมสุข เป็นประธานสหภาพพันธมิตรแรงงานประชาธิปไตย เป็นผู้นำแรงงานออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องกับรัฐบาลในหลายครั้ง ปี 2550 เขาเริ่มต้นเป็นบรรณาธิการนิตยสาร Voice of Taksin และเป็นแกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย ไม่กี่วันก่อนที่เขาจะถูกจับ เขาออกมาเคลื่อนไหวเพื่อให้ยกเลิกกฎหมายมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา ระหว่างการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงในช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2553 ซึ่งมีสื่อหลายแห่งถูกปิด สมยศถูกจับกุมด้วยอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นเวลา 19 วัน หลังจากได้รับการปล่อยตัว เขาเปลี่ยนชื่อนิตยสารจาก Voice of Taksin เป็น Red Power

นอกจากนี้ ชื่อของสมยศถูกจัดอยู่ในรายชื่อ “ผังล้มเจ้า” ของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ที่ถูกเผยแพร่ต่อสาธารณะเมื่อปี 2553 ด้วย

สมยศถูกจับกุมตัวในวันที่ 30 เมษายน 2554 และถูกคุมขังตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา แม้จะเคยยื่นประกันรวมอย่างน้อย 16 ครั้ง และเคยวางเงินประกันสูงสุด 4,762,000 บาท แต่ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว เขาถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 จากการเผยแพร่บทความชื่อ คมความคิด เขียนโดยนามปากกา “จิตร พลจันทร์” กล่าวถึงเหตุการณ์การเมืองไทยในอดีต พาดพิงถึงตัวละครที่ชื่อว่า “หลวงนฤบาล” ดีเอสไอดำเนินคดีสมยศในฐานะที่เป็นบรรณาธิการ ซึ่งเชื่อว่าจะต้องรู้เห็นกับเนื้อหาของนิตยสารและยินยอมให้เผยแพร่เนื้อหาที่เข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ

ระหว่างการพิจารณาคดี โจทก์ขอให้ส่งประเด็นไปสืบพยานที่ศาลต่างจังหวัดถึงสี่แห่ง ได้แก่ สระแก้ว เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ และสงขลา ทั้งที่พยานบางคนก็อยู่ที่กรุงเทพฯ สมยศถูกส่งตัวด้วยรถผู้ต้องขังไปพิจารณาคดีในต่างจังหวัดจึงได้รับความยากลำบากในการเดินทาง รวมทั้งต้องถูกคุมขังที่เรือนจำในจังหวัดเหล่านั้นชั่วระยะหนึ่งทำให้ญาติไม่สามารถเข้าเยี่ยมได้ ในศาลชั้นต้น สมยศต่อสู้ว่า เนื้อหาของบทความไม่ได้หมายถึงพระมหากษัตริย์ฯ แต่พาดพิงถึงกลุ่มอำมาตย์ และตัวเขาเป็นเพียงบรรณาธิการเท่านั้นไม่ได้เป็นผู้ทำเนื้อหา ซึ่ง พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ ไม่ได้กำหนดให้บรรณาธิการต้องรับผิดชอบต่อเนื้อหา

ในวันที่ 23 มกราคม 2556 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า สมยศมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 สองกรรม จากบทความสองชิ้น ลงโทษจำคุกกรรมละห้าปี รวมสิบปี ศาลให้เหตุผลว่า เนื้อหาในบทความแม้ไม่เอ่ยพระนามของพระมหากษัตริย์หรือใช้ตัวละครสมมติ แต่บริบททางประวัติศาสตร์ในบทความทำให้ผู้อ่านตีความว่าหมายถึงพระมหากษัตริย์ได้ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ศาลฎีกาพิพากษาแก้โทษจำคุกของสมยศ โดยลดโทษจำคุกต่อการกระทำหนึ่งกรรมจากห้าปีเหลือสามปี สองกรรมลงโทษจำคุกหกปี 

สมยศเป็นหนึ่งในจำเลยคดีมาตรา 112 ไม่กี่คนที่ต่อสู้คดีถึงศาลฎีกา โดยไม่รับสารภาพ และไม่ยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ เมื่อศาลพิพากษาให้มีความผิดในคดีนี้เขายังต้องรับโทษรวมกับโทษในคดีอื่นฐานหมิ่นประมาท พล.อ. สพรั่ง กัลยาณมิตร เพิ่มอีกหนึ่งปี รวมเป็นเจ็ดปี และได้รับการปล่อยตัวเมื่อ 30 เมษายน 2561 หลังอยู่ในเรือนจำครบเจ็ดปีเต็ม

ดูรายละเอียดคดีในฐานข้อมูลได้ที่ https://freedom.ilaw.or.th/case/61
อ่านเรื่องราวชีวิต ตัวตน และอุดมการณ์ของสมยศ https://freedom.ilaw.or.th/Forgottenprisoner/Somyot 
อ่านเรื่องราวของสมยศในบทความชุด 112 the series >>> https://freedom.ilaw.or.th/112theseriesSomyot 

 

เจ๋ง ดอกจิก

การกระทำที่ถูกกล่าวหา: ปราศรัยบนเวทีผ่านฟ้าของ นปช. เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2553

ผลคดี: ศาลให้จำคุก 2 ปี

สถานะปัจจุบันของจำเลย: รับโทษครบ ปล่อยตัวแล้ว

ยศวริศหรือที่รู้จักกันดีในชื่อ เจ๋ง ดอกจิก อดีตนักแสดงตลกที่มาเป็นแนวร่วมคนสำคัญของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เขาถูกดำเนินคดีจากการปราศรัยบนเวที นปช.ที่เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ถนนราชดำเนิน เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2553 โดยตอนหนึ่งของการปราศรัย ยศวริศพูดไปแล้วหยุดพูด พร้อมกับทำมือประกอบท่าทางในลักษณะที่อาจเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์

เบื้องต้น ยศวริศให้การรับสารภาพ แต่ภายหลังเปลี่ยนใจให้การปฏิเสธและขอสู้คดี การสืบพยานคดีนี้มีหกนัด ใช้เวลาตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม 2555 ในเดือนมกราคม 2556 ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกสามปี ให้เหตุผลว่าคำให้การของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามคงจำคุกสองปี หลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกเป็นเวลาสองปีโดยไม่รอลงอาญา ยศวริศอุทธรณ์คดีและได้รับการประกันตัวระหว่างสู้คดีในชั้นอุทธรณ์โดยวางเงินประกัน 500,000 บาท

วันที่ 1 พฤษภาคม 2557 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้จำคุกเจ๋งเป็นเวลา 2 ปีโดยไม่รอลงอาญา 7 มีนาคม 2560 ศาลฎีกาพิพากษายืน โดยคำพิพากษาสรุปได้ว่า แม้จำเลยจะไม่ได้เอ่ยพระนามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชในการปราศรัย แต่พยานโจทก์หลายคนเบิกความยืนยันคำพูดและท่าทางของจำเลยทำให้เข้าใจได้ว่าหมายถึงพระองค์ จึงเป็นความผิดตามกฎหมาย ที่จำเลยขอให้ศาลลงโทษสถานต่ำหรือรอลงอาญาศาลฎีกาเห็นว่า คำพิพากษาทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์กำหนดโทษจำเลยต่ำที่สุดเท่าที่กฎหมายกำหนดแล้วทั้งยังลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสามด้วย

6 กุมภาพันธ์ 2561 ยศวริศได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพหลังรับโทษจำคุกจนครบกำหนด


ดูรายละเอียดคดีในฐานข้อมูลได้ที่ https://freedom.ilaw.or.th/case/43

 

โยนธงลงน้ำ

การกระทำที่ถูกกล่าวหา: โยนธงสัญลักษณ์สีเหลืองลงไปในแม่น้ำปิง ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2553

ผลคดี: ยังไม่มี

สถานะปัจจุบันของจำเลย: ไม่ทราบสถานะ

กฤษดา พ่อค้าขายกับข้าวในจังหวัดเชียงใหม่ เข้าร่วมการชุมนุมบริเวณเชิงสะพานนวรัฐ จังหวัดเชียงใหม่ ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ซึ่งเป็นช่วงเหตุการณ์สลายการชุมนุมของคนเสื้อแดง และมีเหตุการณ์วุ่นวายในบริเวณนั้นเนื่องจากความไม่พอใจการใช้ความรุนแรงของรัฐบาล เช่น การเผายางรถยนต์ และการเผารถดับเพลิง ด้วยความไม่พอใจการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐในกรุงเทพฯ กฤษดาขว้างปาสิ่งของบริเวณนั้น และได้ขว้างธงสีเหลืองซึ่งมีตราสัญลักษณ์ประจำพระองค์ลงไปในแม่น้ำปิงด้วย 

การกระทำของเขาถูกถ่ายวิดีโอไว้และเผยแพร่ทั่วไปในสื่อสาธารณะ เขาถูกนำชื่อ นามสกุล มาเปิดเผยต่อสาธารณะ ทำให้เขาและครอบครัวถูกคุกคาม เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ออกหมายจับในข้อหาทำลายทรัพย์สินสาธารณะ ต่อมาในเดือนธันวาคม 2553 กฤษดาตัดสินใจเดินทางกลับเข้ามอบตัว และพบว่า ในเอกสารของเจ้าหน้าที่ได้แจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพิ่มเติมจากข้อหาเดิม กฤษดานำโฉนดที่ดินจำนวน 8.5 ล้านบาท เป็นหลักทรัพย์ประกัน และได้รับการประกันตัวในชั้นตำรวจ ในช่วงปี 2554-2555 อัยการเลื่อนการสั่งฟ้องเรื่อยมาโดยเขายังคงได้ประกันตัวอยู่

22 พฤษภาคม 2557 วันเดียวกับที่เกิดการรัฐประหารโดย คสช. อัยการยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อขึ้นสู่ชั้นศาล ฝ่ายจำเลยยื่นขอให้เลื่อนการพิจารณาคดีออกไป เนื่องจากปัญหาอาการป่วยเส้นเลือดในสมองแตกของจำเลย ทำให้ไม่สามารถพูดและสื่อสารได้ และไม่สามารถต่อสู้คดีได้ โดยมีแพทย์เบิกความประกอบว่า จำเลยมีอาการเป็นอัมพาตครึ่งซีกข้างขวา สมองซีกซ้ายถูกทำลายทำให้ไม่สามารถตีความเสียงต่างๆ ที่เป็นภาษา และไม่สามารถพูดเป็นถ้อยคำออกมาได้ จำเลยไม่ว่าจะสื่อสารโดยการพูดหรือเขียน การฟังและการเข้าใจความของจำเลยยังมีปัญหา ส่วนของความคิดที่จะวางแผน กะเกณฑ์ คำนวณ บวกลบเลข การตัดสินใจต่างๆ จำเลยไม่สามารถทำได้เลย 

1 ตุลาคม 2557 ศาลมีคำสั่งว่า จำเลยไม่สามารถต่อสู้คดีได้ในขณะนี้ จึงงดการพิจารณาคดีของเขาไว้ชั่วคราว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 14 ให้ส่งตัวจำเลยไปตรวจที่โรงพยาบาลสวนปรุง


ดูรายละเอียดคดีในฐานข้อมูลได้ที่ https://freedom.ilaw.or.th/case/353

 

สุรชัย แซ่ด่าน

การกระทำที่ถูกกล่าวหา: ปราศรัยหลายครั้งบนเวทีของ “คนเสื้อแดง” ตั้งแต่ปี 2551 – 2553 

ผลคดี: ศาลจำคุก 5 คดี รวม 12 ปี 6 เดือน

สถานะปัจจุบันของจำเลย: ได้รับพระราชทานอภัยโทษ ลี้ภัยหลังการรัฐประหาร และสูญหาย คาดว่าเสียชีวิตแล้ว

สุรชัย แซ่ด่าน หรือ สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ เป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมือง เคยร่วมเคลื่อนไหวกับพรรคคอมมิวนิสต์ในช่วงปี 2516 ก่อนจะเข้าสู่เวทีการเมืองสังกัดพรรคความหวังใหม่และพรรคไทยรักไทยตามลำดับในปี 2554 สุรชัยเคลื่อนไหวต่อต้านการรัฐประหารมาตั้งแต่ปี 2549 และเข้าร่วมกับกลุ่มคนเสื้อแดง แต่ต่อมาถูก นปช. ขับออกจากขบวนการ เขายังคงเคลื่อนไหวต่อในนามกลุ่ม “แดงสยาม” และจัดเวทีปราศรัยอยู่อย่างต่อเนื่อง สุรชัยถูกกล่าวหาในคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ รวมห้าคดีจากการปราศรัยบนเวทีของคนเสื้อแดง ดังนี้

  1. การปราศรัยเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2551 บนเวที นปช. ที่ท้องสนามหลวง https://freedom.ilaw.or.th/th/case/49
  2. การปราศรัยเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2553 ณ สนามกีฬาเทศบาลตำบลดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ http://freedom.ilaw.or.th/th/case/47
  3. 29 ตุลาคม 2553 สุรชัยพูดปราศรัยต่อผู้ร่วมชุมนุมที่วัดศรีบุญเรือง หมู่บ้านดงมะกรูด ตำบลหนองไฮ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี https://freedom.ilaw.or.th/th/case/48
  4. การปราศรัยเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2553 ในงานเสวนาตาสว่างกว่าเดิม ครั้งที่ 2 โดย 4 ส. ที่วัดสามัคคีธรรม https://freedom.ilaw.or.th/th/case/46
  5. การปราศรัยเมื่อวันที่ 5-6 กุมภาพันธ์ 2554 บนเวทีที่วัดสามัคคีธรรม https://freedom.ilaw.or.th/th/case/50

เนื้อหาของการปราศรัยยังไม่สามารถเปิดเผยในที่นี้ได้ แต่ภาพรวมเกี่ยวกับความขัดแย้งในการเมืองทั้งในช่วงหลายปีที่เกิดขึ้น รวมทั้งเหตุการณ์การชุมนุมของคนเสื้อแดงในปี 2553 ที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากด้วย 22 กุมภาพันธ์ 2554 สุรชัยถูกจับกุมหลังจากปราศรัยบริเวณใกล้ท้องสนามหลวง และถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพเรื่อยมา ในชั้นศาลสุรชัยรับสารภาพในทุกคดี ซึ่งศาลลงโทษตามมาตรา 112 ให้จำคุกคดีละสองปี หกเดือน รวมทั้งสิ้นสุรชัยต้องโทษฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ 12 ปี หกเดือน ก่อนได้รับพระราชทานอภัยโทษเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2556

หลัง คสช.ทำการรัฐประหารในปี 2557 สุรชัยรวมถึงนักกิจกรรมทางการเมืองจำนวนหลักร้อยตัดสินใจลี้ภัยทางการเมืองไปต่างประเทศ และยังคงเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง ต่อมาวันที่ 12 ธันวาคม 2561 ก่อนหน้าการเยือนลาวของรัฐบาล คสช. เพียงหนึ่งวัน มีรายงานว่า สุรชัย, สหายภูชนะ และสหายกาละสลองหายตัวไป ต่อมาวันที่ 27 ธันวาคม 2561 พบศพบริเวณตลิ่งตลาดนัดไทย-ลาว อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม และวันที่ 28 ธันวาคม 2561 พบศพที่สอง ที่ตำบลท่าจำปา อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม และวันที่ 29 ธันวาคม 2561 พบศพที่สามที่ตำบลอาจสามารถ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม นำไปสู่การตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอ ภายหลังการตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอพบว่า ดีเอ็นเอของสองในสามศพตรงกับสหายคนสนิทของสุรชัยสองคน

อย่างไรก็ตามยังคงมีข้อถกเถียงว่า ศพที่ลอยมาติดริมน้ำโขงมีสองหรือสามศพกันแน่ โดยทางตำรวจระบุว่า ระหว่างรอตรวจสอบศพที่สอง ศพได้หลุดตามน้ำไปจึงทำให้เชื่อว่า ศพที่พบบริเวณตำบลท่าจำปา อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม และศพที่พบบริเวณตำบลอาจสามารถ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม เป็นศพเดียวกัน ทำให้ตำรวจเชื่อว่า มีเพียงสองศพเท่านั้น ขณะที่ปราณี ภรรยาของสุรชัยเชื่อว่า มีสามศพและศพของสุรชัยถูกทำลายไปแล้ว

You May Also Like
อ่าน

นัดฟังคำพิพากษาคดีมาตรา 112 เดือนพฤษภาคม 2567

เดือนพฤษภาคม 2567 ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวมสิบคดี แบ่งเป็นคำพิพากษาศาลชั้นต้นแปดคดี ศาลอุทธรณ์และฎีกาอย่างละหนึ่งคดี
อ่าน

ย้อนเส้นทางเสรีภาพสื่อของวอยซ์ทีวี หลังประกาศปิดฉาก 15 ปี

ย้อนเส้นทางเสรีภาพสื่อมวลชนของวอยซ์ทีวี ที่เรียกว่า อายุเกือบครึ่งหนึ่งของวอยซ์ทีวีต้องเผชิญกับการคุกคามและปิดกั้นเสรีภาพ