มหากาพย์คดีเหมืองทองคำพิจิตร-สมลักษณ์ นักเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อม เจ้าของห้าคดีหมิ่นประมาทฯ

สมลักษณ์ หุตานุวัตร เป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคม เป็นกรรมการเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นอดีตพยานผู้เชี่ยวชาญกรณีเหมืองทองพิจิตร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และ คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ปัญหาข้อขัดแย้งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมสุขภาพ โดยสมลักษณ์มีบทบาทอย่างมากในการเคลื่อนไหวคัดค้านการดำเนินการของเหมืองแร่ทองคำ จังหวัดพิจิตร ที่ผู้รับประทานบัตรคือ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) จนนำไปสู่การฟ้องร้องดำเนินคดีหมิ่นประมาทและพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ในปี 2559 รวมสี่คดีด้วยกัน
บริษัท อัคราฯ เจ้าของเหมืองแร่ทองคำในจังหวัดพิจิตร ฟ้องสมลักษณ์ร่วมกับธัญญารัศมิ์ ชาวบ้านจากจังหวัดพิจิตร ที่อยู่อาศัยในพื้นที่การทำเหมืองแร่และแกนนำเครือข่ายผู้ป่วยจากการทำเหมืองแร่ทองคำพิจิตรและเพชรบูรณ์ว่า กระทำความผิดตามมาตรา 14(1) และ (5) ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา จากการโพสต์เฟซบุ๊กกล่าวหาว่า บริษัท อัคราฯ ไม่จ่ายภาษีให้แก่ประเทศไทยรวม 11 ข้อความ
ในปี 2560 ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษายกฟ้อง เช่นเดียวกับตามศาลชั้นต้น โดยศาลระบุว่า จำเลยทั้งสองได้กระทำไปโดยสุจริต และเป็นการตำหนิเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเมืองเพื่อให้รักษาประโยชน์ของชาติ อันมีความชอบธรรมที่จะกระทำได้ เพื่อป้องกันส่วนได้ส่วนเสียของประเทศชาติ อยู่ในวิสัยที่จะกระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น และศาลไม่อนุญาตให้ยื่นฎีกาต่อ คดีถึงที่สุดแล้ว
บริษัท อัคราฯ เจ้าของเหมืองแร่ทองคำในจังหวัดพิจิตร ฟ้องสมลักษณ์ร่วมกับสมิทธิ์ ตุงคะสมิต อาจารย์มหาวิทยาลัยรังสิตว่า กระทำความผิดตามมาตรา 14(1) และ (5) ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา จากการโพสต์เฟซบุ๊กเผยแพร่ผลตรวจสุขภาพของประชาชนกลุ่มตัวอย่างที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงกับเหมืองแร่ทองคำ จังหวัดพิจิตร ซึ่งยังไม่ผ่านการเห็นชอบของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหา ข้อขัดแย้ง ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากการทำเหมืองแร่ทองคำ ซึ่งทั้งโจทก์และจำเลยทั้งสองเป็นคณะกรรมการอยู่ด้วย
ในปี 2561 ศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษายกฟ้อง ระบุว่า ข้อมูลที่สมลักษณ์โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวเป็นข้อเท็จจริงที่สมลักษณ์ได้จากรายงานทางการแพทย์และเพียงต้องการเปิดเผยข้อเท็จจริงที่ได้รับมา ถือไม่ได้ว่า มีเจตนาใส่ความให้โจทก์น่าจะเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง และข้อมูลที่สมลักษณ์โพสต์ไม่ใช่ความเท็จ ดังนั้นจึงไม่ใช่ความผิดฐานนำเข้าข้อมูลเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์ตามมาตรา 14(1) ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เมื่อไม่ใช้ข้อมูลเท็จ การแชร์โพสต์ดังกล่าวของสมิทธิ์จึงไม่ใช่ความผิดตามมาตรา 14(5) ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ด้วยเช่นกัน คู่ความไม่อุทธรณ์ตามระยะเวลาที่กำหนด คดีถึงที่สุดแล้ว
บริษัท อัคราฯ เจ้าของเหมืองแร่ทองคำในจังหวัดพิจิตร ฟ้องสมลักษณ์ว่า กระทำความผิดตามมาตรา 14(1),14(2) ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และมาตรา 101 วรรคหนึ่งและสองของของพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมฯ จากการโพสข้อความพาดพิงบริษัท อัคราฯ ประกอบรูปภาพทำนองว่า “อันตรายมากที่เร่งทำอย่างกอบโกย คันเขื่อนบ่อไซยาไนด์ ขนาด 1,400 ไร่ ไม่มีแกนเขื่อนเปราะบางมาก อันตรายมาก ห่างวัด ห่างโรงเรียนแค่ 400-500 เมตร”
ปี 2560 ศาลจังหวัดพิจิตรพิพากษาว่า สมลักษณ์มีความผิดฐานนำเข้าข้อมูลเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์ฯ และหมิ่นประมาท ลงโทษตามกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด คือ มาตรา 14(2) ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โทษจำคุกหนึ่งปี ปรับ 80,000 บาท แต่ให้รอลงอาญาโทษจำคุกไว้เป็นเวลาสองปี โดยศาลกำหนดเงื่อนไขการคุมประพฤติ ไม่ให้สมลักษณ์โพสต์ข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ที่อาจนำไปสู่การกระทำความผิดในลักษณะเดียวกันภายในระยะหนึ่งปี คดีนี้อยู่ในชั้นฎีกา
บริษัท อัคราฯ เจ้าของเหมืองแร่ทองคำในจังหวัดพิจิตร ฟ้องสมลักษณ์ว่า กระทำความผิดตามมาตรา 14(1) และของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา จากการแชร์ข่าวเรื่อง การแถลงข่าวของโจทก์ที่เตรียมดำเนินการยื่นขอต่อใบอนุญาตประกอบกิจการของบริษัท อัคราฯ ประกอบข้อความว่า “ความเลวร้ายของทุนสามานย์ คือ “ความไร้สำนึกชาติ ศาสน์ กษัตริย์”
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ต่อมาในปี 2561 ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเป็นว่า สมลักษณ์มีความผิด ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักสุด จำคุกสองเดือนและปรับ 20,000 บาท จำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้สองปี และให้จำเลยลงโฆษณาคำพิพากษาโดยย่อในหนังสือพิมพ์รายวันไทยรัฐเป็นเวลาสามวัน ติดต่อกันโดยจำเลยเป็นผู้ชำระค่าโฆษณาข้อหา คดีนี้อยู่ในชั้นฎีกา
ล่าสุดเดือนพฤศจิกายน 2562 สมลักษณ์ถูกบริษัท 99 ธุวานนท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ขอสัมปทานเหมืองถ่านหินในอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ฟ้องในคดีหมิ่นประมาทจากการโพสต์ข้อมูลเกี่ยวกับเหมืองแร่ดังกล่าวบนเฟซบุ๊กส่วนตัว ซึ่งนับเป็นคดีที่ห้าของเธอ โดยคดีนี้ยังอยู่ในชั้นสอบสวนของตำรวจ