ในเถ้าอารมณ์ ของ “อ๊อตโต้” ผู้สื่อข่าวพ่วงผู้ต้องหาคดีแจกสติ๊กเกอร์โหวตโน

อ๊อตโต้เปรยว่าเริ่มทำงานเป็นนักข่าว เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2557 ตอนเข้ามาใหม่ได้รับผิดชอบประเด็นสายสิ่งเเวดล้อม ทำข่าวชาวบ้าน ตอนนั้นหลังรัฐประหารใหม่ๆ มีเรื่องการไล่ชาวบ้านออกจากที่ดิน พอหลังจากที่มีร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับบวรศักดิ์ ทางออฟฟิศเขาขาดคนมาดูแลเรื่องนี้ เลยต้องทำสองขา แล้วเพิ่งมาทำข่าวการเมืองแบบเต็มตัวเมื่อไม่นานนี้

แรกเริ่มชีวิตในสนามข่าวตอนนั้นสถานการณ์ การขุดเจาะปิโตรเลียม ที่บ้านนามูล ดูนสาด จังหวัดขอนแก่นกำลังร้อนแรง รัฐใช้กฎอัยการศึก ไม่ให้ชาวบ้านเข้าไปในพื้นที่ของเขา ระหว่างขุดเจาะและขนส่งปิโตรเลียม เหตุการณ์ครั้งนั้นเกิดเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2558 
แต่กว่าจะได้ลงพื้นที่จริงๆ ก็ประมาณวันที่ยี่สิบกว่าๆ ตอนนั้นเขาลงไปทำสกู๊ปสัมภาษณ์ในพื้นที่

“คราวนั้นเจอแจ็กพ็อต คือ เจอทหารในพื้นที่ ตามมาถามว่า จะมาถ่ายรูปนี่ขออนุญาตหรือยัง แต่ตอนนั้นก็รอดมาได้ แต่ครั้งล่าสุดที่เผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่เราไม่รอด” อ๊อตโต้เล่า

ก่อนหน้ามาทำข่าว อ๊อตโต้บอกว่าไม่ได้เรียนจบทางด้านวารสารฯหรือนิเทศศาสตร์มา เรียนจบรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เอกปกครอง จริงๆ เขาควรควรไปเป็นปลัด อะไรอย่างนั้นมากกว่า แต่เมื่อไม่ได้ชอบงานแบบนั้น เลยมาทำด้านสื่อสารมวลชนตามความสนใจส่วนตัว ลักษณะการทำข่าวของอ๊อตโต้คือ การเล่าเรื่องให้คนฟัง เล่าเรื่องจริงตรงไปตรงมา เช่น ไปตามงานเสวนา งานแถลงข่าว ไปตามประเด็น ว่าประเด็นสำคัญคืออะไร อยากเสนอเรื่องอะไร แล้วอาจพัฒนาไปเป็นสกู๊ป คือ จับข้อมูลมาชนกันว่า เราเห็นอะไร และอยากให้ผู้อ่านได้รับสารอะไร

 

งานที่อ็อตโต้มองว่าเป็นจุดเด่นของตัวเอง คือ การติดตามกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง เนื่องจากในยุคนี้การเคลื่อนไหวทางการเมืองของ แกนนำแบบ นปช. กปปส. มันไม่มีแล้ว คนที่มาเคลื่อนไหวเกิดจากกลุ่มนักศึกษากลุ่มเล็กๆ มากกว่า เช่น กลุ่ม สนปท. กลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM)

อ๊อตโต้เล่าต่อไปว่า “เราก็จะตามประเด็นนี้อย่างใกล้ชิด เขาไปไหน ทำกิจกรรมอะไรผม ก็จะตามไปทำข่าวตลอด จึงเริ่มได้รู้จักมักคุ้นกันเรื่อยๆ แต่ตอนแรกก็ไม่ได้สนิทกัน อย่างแมน ปกรณ์ (หนึ่งในจำเลยร่วมคดีประชามติ) พอมาติดคุกด้วยกันก็สนิทกันมาก”

พูดถึงการลงพื้นที่ข่าว ปกติไปทำงาน อย่าง ที่บ้านนามูล เขาจะวางแผนกันล่วงหน้า แล้วประสานเครือข่ายฯ ชาวบ้านที่ทำงานในพื้นที่ แล้วก็นั่งรถโดยสารออกจากกรุงเทพฯ พอไปถึงจะมีคนประสานงานมารับไปลงพื้นที่ต่อ ส่วนพื้นที่อื่นๆ ก็จะต้องหาวิธีการเดินทางเองต่างๆ กันไป

“อย่างสมมติผมนัดสัมภาษณ์แหล่งข่าวคนหนึ่งที่ร้านกาแฟ ถ้าขากลับเขามีรถผมก็อาจจะติดรถเขาไปด้วย นักข่าวหลายๆ คนเขาก็ทำกัน คือบางทีก็ต้องเข้าใจว่านักข่าวในประเทศนี้ รายได้ก็ไม่ได้เยอะมากมาย จะนั่งแท๊กซี่วันละหลายรอบก็เป็นเรื่องที่ต้องหมดเยอะเหมือนกัน” อ๊อตโต้เล่า

“ไม่ใช่ปัญหาสำหรับเราที่จะติดรถใครไปทำข่าว มันขึ้นอยู่กับงานที่เรารายงานออกมา มันเพี้ยนหรือเปล่า มันบิดเบือนข้อเท็จจริงหรือเปล่า ซึ่งมันก็ไม่ได้เป็นแบบนั้น เรารายงานตามข้อเท็จจริง ฝ่ายรัฐพูดว่าอะไร ฝ่ายประชาชนพูดว่าอะไร เราก็สื่อสารไปตามนั้น ให้ถ่วงดุลกันขึ้นมา” เขากล่าวย้ำในตอนหนึ่ง

เมื่อถามว่าเคยคิดหรือไม่ ว่าอาจถูกดำเนินคดีจากการทำหน้าที่สื่อมวลชน อ๊อตโต้ตอบว่า ไม่เคย เขาบอกว่าเห็นพี่ประวิตร โรจนพฤกษ์ ที่วิพากษ์ คสช. แรงมาตลอด ถูกเรียกเข้าค่ายมาสองครั้ง ก็ไม่ได้ถูกดำเนินคดีอะไร เป็นการเรียกนักข่าวไปปรับทัศนคติ ไม่ได้คิดว่ามันจะมาถึงตัวเรา เราก็ไม่ได้เป็นคนมีติดตามหรือมีชื่อเสียงขนาดนั้น “ในเฟซบุ๊กเราก็มีแต่เรื่องชีวิตทั่วไป กินเหล้า กินเบียร์ ตามสไตล์วัยรุ่น ซึ่งมันก็คาดไม่ถึงว่าจะถูกจับกุมมาด้วย ก็แค่ติดรถมาทำข่าว ถ้าโดนจับทั้งทีควรเป็นเรืองที่ใหญ่กว่านี้ ไม่ใช่เรื่องตลกแบบนี้”

เหตุการณ์วันนั้น 10 กรกฎาคม 2559 เป็นวันเสาร์ ช่วงก่อนหน้านั้นอ๊อตโต้บอกว่า ก็ตามทำข่าวเกี่ยวกับการรณรงค์ประชามติ มาทั้งสัปดาห์ พอวันเสาร์นั้น เขาเห็นหมายข่าวที่จังหวัดราชบุรี ว่าจะมีชาวบ้านบ้านโป่งมาให้กำลังใจคนที่ถูกดำเนินคดีจากการเปิดศูนย์ปราบโกง ประชามติ หนึ่งในนั้นจะมีเหน่อ นักศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้ ที่ติดคดีไปด้วย เหน่อก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายที่เขาจะไปสัมภาษณ์ ซึ่งจริงๆ ก็ได้สัมภาษณ์ไปแล้ว แต่ก็ไม่ได้เอามาเผยแพร่ เพราะโดนจับซะก่อน

ก่อนหน้านั้นกลุ่ม NDM โดนจับที่บางพลี จังหวัดสมุทรปราการ คดีแจกเอกสารโหวตโน เขาก็เห็น อนันต์ หนึ่งในจำเลยว่า เป็นนักกิจกรรมจากรามคำแห่ง เป็นคนน่าสนใจ เลยอยากขอสัมภาษณ์เขา แต่ช่วงนั้นอนันต์บอกว่า วันเสาร์นั้น จะไปกับที่บ้านโป่งเพื่อไปให้กำลังใจชาวบ้านพอดี ก็เลยนัดกัน จะได้ไปสัมภาษณ์ด้วยทีเดียว เลยขอ แมน ปกรณ์ ติดรถไปด้วย

พอถึงที่สน.บ้านโป่งพวกเขาก็ลงรถ อ๊อตโต้ก็ไปทำหน้าที่ของตัวเอง ชาวบ้านเขาไปมอบดอกไม้ให้กำลังใจกัน เขาก็ไปถ่ายรูป แล้วไปสัมภาษณ์ แกนนำเสื้อแดงที่นั่น กระทั่งเสร็จงานขณะกำลังจะเดินทางกลับ พอเดินไปที่รถ ปรากฎว่ารถถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจล้อมอยู่ ซึ่งพวกเขาก็ งงและตกใจ แต่ก็ลองเดินเข้าไป เดินแบบปกติ เห็นตำรวจเปิดดูของท้ายกระบะแล้วหนึ่งครั้ง พอไปถึงเขาก็ขอตรวจอีกหนึ่งครั้ง ก็มีการลองเชิงกันไปว่า จะจับหรือไม่จับ ยังไง

“ผมก็ดันไปพูดกับตำรวจว่า ติดตามทำข่าว ไม่ได้ปิดบังอะไร ก็มีนามบัตรให้เขาดู แล้วอธิบายว่า เอกสารชุดนี้ เคยยื่นให้ กกต.ดูแล้ว เขาบอกว่าไม่ผิด”

“คำพูดกลับมา คือ โหวตโนหรือเปล่า แมนก็ตอบไปว่า ก็โหวตโนนะครับ ก็มันมีให้กาสองช่อง แล้วตำรวจชุดจับกุมในนั้น ก็บอกมาว่า โหวตโน มันผิดกฎหมาย คือตอนนั้นแม้เราเป็นนักข่าว แต่การพูดแบบนี้มันไม่แฟร์ รู้สึกว่าการทำประชามติที่ประเทศไหน ที่โหวตโนแล้วผิดกฎหมาย แต่ก็ไม่ได้พูดอะไรออกไป แค่แสดงออกทางสีหน้าว่าโกรธๆ”

หลังจากนั้น พวกเขาทั้ง 4 คนที่นั่งรถมาด้วยกัน (แมน ปกรณ์, อ๊อตโต้, อนันต์และอนุชา) ก็ถูกเชิญไปสถานีตำรวจ

“ผมก็แสดงออกว่าเป็นนักข่าว ยืนยันตลอด แต่จากการพูดคุยกันไปมา กลายเป็นบันทึกจับกุม กลายเป็นจำเลยที่ 2” อ็อตโต้เล่า

“ที่สถานีตำรวจ เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ยังงงๆ เพราะไม่เคยรู้จัก พ.ร.บ. ประชามติฯ ว่าคืออะไร เราก็เสือกไปช่วยเขาบอกว่า พี่ครับถ้าเขาจะเอาผิดอ่ะ ส่วนมากเขาใช้มาตรา 61 วรรค 2 นะ เขาเปิดดูกว่าจะเจอ สุดท้ายเขาก็ช่วยอะไรเราไม่ได้ เป็นคำสั่งจากผู้ใหญ่” อ๊อตโต้ระบายความในใจออกมาด้วยความขำขื่นอีกครั้งหนึ่ง

และในระหว่างสอบสวนเขาก็ถามตลอดว่าเป็นนักข่าวมาจากไหน “เราก็บอกทุกครั้งว่าประชาไท เขาก็แสดงความไม่รู้จักออกมา และพยายามโยงว่าประชาไท พิมพ์เอกสารให้ NDM ซึ่งเราเป็นสำนักออนไลน์ ไม่มีโรงพิมพ์ เขาพยายามหาว่า NDM เอาเงินจากไหนมาพิพม์ แต่ปกติแล้วนี่การจะพิมพ์เอกสารสักหนึ่งพันแผ่นไม่ใช่เรื่องยากเลย ที่จะระดมทุน”

“วันนั้นข่าวชิ้นสุดท้ายที่โพสต์ลงเฟซบุ๊กของประชาไทมีเนื้อความว่า NDM ถูกจับกุม ประมาณ 11 โมง เราก็พิมพ์ไปเองว่า มีผู้สื่อข่าวประชาไท ถูกคุมตัวไปสอบสวนด้วย ตั้งแต่เกิดมาก็ไม่ได้คิดว่า จะได้พิมพ์ข่าวตัวเองถูกจับ”

หลังประกันตัวออกมาในชั้นฝากขัง แล้วกลับมากรุงเทพฯ เขายอมรับว่าไม่ได้อยู่ห้องตัวเองราวหนึ่งสัปดาห์ เพราะความรู้สึกหวาดระแวงเกิดขึ้นตามมา ไม่รู้ว่าคนจะจำได้ไหม และคิดยังไง จะเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตบ้าง แต่ตอนนี้กลับมาอยู่ปกติแล้ว

“ต้นสังกัดเรา ที่ประชาไทก็บอกว่า มันก็เป็นการรายงานข่าว ไม่ใช่อาชญากรรม โดนอะไรแบบนี้ ยิ่งต้องสู้ ตอนแรกก็ไปยื่นหนังสือต่ออัยการสูงสุด ให้ถอนฟ้อง คือ ต่อสู้ในประเด็นของนักข่าว”

“สติ๊กเกอร์รณรงค์ 7 สิงหาคม 2559 ไม่รับกับอนาคตที่ไม่ได้เลือก มันผิดตรงไหน? มันเป็นความคิดเห็นมันจะเป็นเท็จได้ยังไง? ถ้ามีประชาชนที่เขาไม่เห็นด้วย และเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญมันขัดต่อหลักสิทธิเสรีภาพเเล้วเขามาแสดงออกว่าไม่รับร่าง มันผิดตรงไหน?” เขาตอกย้ำด้วยคำถาม

อ็อตโต้กล่าวด้วยว่า สิ่งที่เราทำไม่ได้ไปฆ่าใครตาย หรือทำให้ชีวิตใครพังทลาย เราไปรายงานข่าว ข้อเท็จจริง เรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน อย่างคนเสื้อแดง เราก็ต้องยอมรับว่าเขาเป็นมนุษย์ จริงๆไม่ควรมีแค่ประชาไทเท่านั้นที่มาพูดพูดเรื่องสื่อ เรื่องสิทธิเสรีภาพ เรื่องประชาธิปไตย มันควรจะทำทุกคนอยู่เเล้ว ถ้าคุณเป็นสื่อคุณไม่ทำไม่พูดเรื่องพวกนี้ คุณจะทำงานได้อย่างไร สิทธิเสรีภาพของสื่อ ก็คือสิทธิเสรีภาพอันเดียวกับของประชาชน

You May Also Like
อ่าน

นัดฟังคำพิพากษาคดีมาตรา 112 เดือนพฤษภาคม 2567

เดือนพฤษภาคม 2567 ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวมสิบคดี แบ่งเป็นคำพิพากษาศาลชั้นต้นแปดคดี ศาลอุทธรณ์และฎีกาอย่างละหนึ่งคดี
อ่าน

ย้อนเส้นทางเสรีภาพสื่อของวอยซ์ทีวี หลังประกาศปิดฉาก 15 ปี

ย้อนเส้นทางเสรีภาพสื่อมวลชนของวอยซ์ทีวี ที่เรียกว่า อายุเกือบครึ่งหนึ่งของวอยซ์ทีวีต้องเผชิญกับการคุกคามและปิดกั้นเสรีภาพ