ดูหมิ่นศาล-ละเมิดอำนาจศาล กฎหมายปกป้องศาลจากการวิจารณ์

ภายใต้บรรยากาศทางการเมืองที่ขัดแย้ง สถาบันศาลก็ยังคงต้องทำหน้าที่ตีความกฎหมาย พิจารณาและตัดสินคดีต่อไป แต่หลายครั้งเมื่อผู้มีอำนาจทางการเมืองออกกฎหมาย และบังคับใช้กฎหมายในทางที่กดขี่ผู้ที่เห็นต่าง สถาบันศาลจึงถูกดึงให้เข้ามาเกี่ยวข้องในฐานะผู้ปรับใช้กฎหมายเหล่านั้น และหลายครั้งที่ฝักฝ่ายการเมืองอ้างอิงความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันศาลเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับตัวเอง

เมื่อสถาบันศาลกลายมาเป็นผู้เล่นตัวหนึ่งในความขัดแย้งทางการเมือง ผู้ที่เสียเปรียบทางการเมืองจึงมักถูกลากให้ยืนตรงข้ามกับสถาบันศาลไปด้วย และเมื่อเกิดความรู้สึกไม่พอใจ เกิดการตั้งคำถามขึ้นในสังคมต่อการทำหน้าที่บางครั้งของสถาบันศาล ความผิดฐาน “ดูหมิ่นศาล” และความผิดฐาน “ละเมิดอำนาจศาล” จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญเพื่อปิดกั้นการเคลื่อนไหว การวิพากษ์วิจารณ์ และการว่าร้ายโจมตีการทำงานของศาล จากฝั่งของผู้ที่ถูกกดขี่ทางการเมือง

อะไร คือ ความผิดฐาน “ดูหมิ่นศาล” กับ “ละเมิดอำนาจศาล”
ความผิดฐานดูหมิ่นศาล หรือ ละเมิดอำนาจศาล เป็นความผิดที่มีองค์ประกอบคล้ายกันแต่ปัจจุบันถูกบัญญัติไว้ในกฎหมายสองฉบับต่างกัน ความผิดฐานดูหมิ่นศาล อยู่ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198 และ ส่วนความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลอยู่ใน ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30 และ 31 โดยบทบัญญัตินี้ทำหน้าที่คุ้มครองกระบวนการพิจารณาคดีของศาลแต่ละแห่ง ให้เป็นไปอย่างสงบเรียบร้อย
วัตถุประสงค์ของกฎหมายทั้งสองมาตรา ก็เพื่อจะคุ้มครองกระบวนการพิจารณาคดี ให้การดำเนินคดีของศาลไม่ถูกรบกวน มีความศักดิ์สิทธิ์ ประชาชนให้ความเคารพและปฏิบัติตาม คุ้มครองการทำหน้าที่ของบุคคลต่างๆ ทั้งเจ้าหน้าที่ศาล ฝ่ายโจทก์ ฝ่ายจำเลย รวมถึงพยาน ให้รู้สึกปลอดภัย คุ้มครองไม่ให้ผู้พิพากษาต้องถูกว่าร้าย หรือข่มขู่ หรือทำร้าย จนกระทบกับการทำหน้าที่อย่างเป็นอิสระ
สำหรับเนื้อหา ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198 บัญญัติว่า “ผู้ใดดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาหรือพิพากษาคดี หรือกระทำการขัดขวางการพิจารณาหรือพิพากษาของศาล ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
ขณะที่ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30 บัญญัติว่า “ให้ศาลมีอำนาจออกข้อกำหนดใดๆ แก่คู่ความ…หรือแก่บุคคลภายนอกที่อยู่ต่อหน้าศาลตามที่เห็นจำเป็น เพื่อความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาล และเพื่อให้กระบวนพิจารณาดำเนินไปตามเที่ยงธรรมและรวดเร็ว … ”
โดยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31 ได้ระบุฐานความผิดละเมิดอำนาจศาลว่า
          “ผู้ใดกระทำการอย่างใด ๆ ดังกล่าวต่อไปนี้ ให้ถือว่ากระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาล
          (1) ขัดขืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาลตามมาตราก่อนอันว่าด้วยการรักษาความเรียบร้อย หรือประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล
          (2) เมื่อได้มีคำร้องและได้รับอนุญาตจากศาลให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลตามมาตรา 156/1 แล้ว ปรากฏว่าได้แสดงข้อเท็จจริงหรือเสนอพยานหลักฐานอันเป็นเท็จต่อศาลในการไต่สวนคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล
          (3) เมื่อรู้ว่าจะมีการส่งคำคู่ความหรือส่งเอกสารอื่น ๆ ถึงตน แล้วจงใจไปเสียให้พ้น หรือหาทางหลีกเลี่ยงที่จะไม่รับคำคู่ความหรือเอกสารนั้นโดยสถานอื่น
          (4) ตรวจเอกสารทั้งหมด หรือฉบับใดฉบับหนึ่ง ซึ่งอยู่ในสำนวนความ หรือคัดเอาสำเนาเอกสารเหล่านั้นไป โดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติ มาตรา 54
          (5) ขัดขืนไม่มาศาล เมื่อศาลได้มีคำสั่งตามมาตรา 19 หรือมีหมายเรียกตามมาตรา 277”
และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 33 กำหนดบทลงโทษไว้ว่า
          “ถ้าคู่ความฝ่ายใดหรือบุคคลใดกระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลใด ให้ศาลนั้นมีอำนาจสั่งลงโทษโดยวิธีใดวิธีหนึ่ง หรือทั้งสองวิธีดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
          (ก) ไล่ออกจากบริเวณศาล หรือ
          (ข) ให้ลงโทษจำคุก หรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ
          การไล่ออกจากบริเวณศาลนั้นให้กระทำได้ชั่วระยะเวลาที่ศาลนั่งพิจารณาหรือภายในระยะเวลาใด ๆ ก็ได้ตามที่ศาลเห็นสมควร เมื่อจำเป็นจะเรียกให้ตำรวจช่วยจัดการก็ได้
ในกรณีกำหนดโทษจำคุกและปรับนั้นให้จำคุกได้ไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินห้าร้อยบาท”
จากบทบัญญัติของกฎหมายทั้งสองฉบับ พบว่า การดูหมิ่นศาล และการละเมิดอำนาจศาลมีองค์ประกอบความผิดที่แตกต่างกัน คือ การดูหมิ่นศาลในประมวลกฎหมายอาญา การกระทำจะเป็นความผิดก็ต่อเมื่อ การดูหมิ่นนั้นเป็นการดูหมิ่นศาลหรือตัวผู้พิพากษา อันเนื่องมาจากการพิจารณาหรือพิพากษาคดี เช่น การกล่าวหาว่า ผู้พิพากษาไปกินข้าวกับโจทก์ซึ่งเป็นคู่ความในคดี การดูหมิ่นว่า ศาลไม่ยึดหลักกฎหมายในการพิพากษา เป็นต้น แต่หากเป็นการดูหมิ่นกันในทางส่วนตัวในประเด็นส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวกับการพิจารณาหรือพิพากษาคดี แม้คนถูกดูหมิ่นจะมีตำแหน่งเป็นผู้พิพากษาก็ไม่อาจเป็นความผิดฐานดูหมิ่นศาลได้
นอกจากการพูดจาหรือแสดงออกว่า ดูหมิ่นโดยตรงแล้ว การกระทำอย่างอื่นที่เป็นไปเพื่อขัดขวางการพิจารณาคดีหรือการพิพากษาคดีของศาล ก็เป็นความผิดฐานดูหมิ่นศาลได้ เช่น การส่งเสียงเอะอะเอ็ดตะโร เป็นต้น
ส่วนความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล มีการกระทำที่จะเข้าองค์ประกอบความผิดได้หลายประการกว่า รวมทั้งการ แสดงหลักฐานเท็จเพื่อขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล (การแสดงหลักฐานเท็จในกรณีอื่นจะเป็นความผิดฐานอื่น) การจงใจเลี่ยงไม่รับเอกสารที่ส่งจากศาล การตรวจสำนวนหรือคัดสำเนาเอกสารโดยไม่ได้รับอนุญาต การไม่มาศาลตามหมายเรียก ฯลฯ ส่วนการแสดงออกที่จะเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล กฎหมายไม่ได้เขียนองค์ประกอบเอาไว้อย่างชัดเจนว่า การแสดงออกแบบใด การวิพากษ์วิจารณ์ศาลและการทำงานของผู้พิพากษาในขอบเขตเท่าใด จึงจะเป็นความผิด กฎหมายเพียงเขียนว่า การไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย และการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล อาจจะเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลได้
ตารางสรุปการกระทำที่เข้าข่ายเป็นความผิด
ดูหมิ่นศาล (ป.อาญา) ละเมิดอำนาจศาล (ป.วิ.แพ่ง)
1. ดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการ
พิจารณาคดีหรือพิพากษาคดี
2.ขัดขวางการพิจารณาหรือพิพากษาของศาล
1. ขัดขืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาล
2. ประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล
3. แสดงข้อเท็จจริง/เสนอพยานหลักฐาน
ที่เป็นเท็จต่อศาลในการไต่สวนคำร้องขอยกเว้น
ค่าธรรมเนียมศาล
4. หลีกเลี่ยงไม่รับเอกสารของศาล
5.ตรวจสำนวน/คัดสำเนาเอกสารโดยไม่ได้รับอนุญาต
6. ขัดขืนไม่มาศาลตามหมายเรียก
ดูหมิ่นศาล บทลงโทษรุนแรงกว่า ละเมิดอำนาจศาล
เมื่อพิจารณาบทลงโทษบุคคลที่กระทำความผิดฐานดูหมิ่นศาล ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198 ระบุโทษความผิดฐานหมิ่นศาล ระวางโทษจำคุก 1-7 ปี หรือปรับ 2,000-14,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ขณะที่ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 33 ระบุโทษหากบุคคลใดละเมิดอำนาจศาลใดให้ศาลนั้นมีอำนาจสั่งลงโทษ คือ ไล่ออกจากบริเวณศาลช่วงเวลาที่ศาลนั่งพิจารณา หรือ ลงโทษให้ผู้กระทำผิดจำคุกได้ไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 500 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ในส่วนของบทลงโทษจะสังเกตเห็นว่า ความผิดฐานดูหมิ่นศาลมีบทลงโทษที่รุนแรงกว่าความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลทั้งโทษจำคุกและโทษปรับ อีกทั้งโทษฐานละเมิดอำนาจศาลยังเปิดช่องให้ ศาลสามารถตักเตือน ให้โอกาส แก่ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด หรืออาจจะเพียงแค่ไล่ออกจากบริเวณศาล โดยไม่ต้องวางโทษให้เสียค่าปรับหรือจำคุก
ตารางสรุปอัตราโทษ
บทลงโทษ ดูหมิ่นศาล (ป.อาญา) ละเมิดอำนาจศาล (ป.วิ.แพ่ง)
จำคุก 1-7 ปี ไม่เกิน 6 เดือน
ปรับ  2,000-14,000 บาท ไม่เกิน 500 บาท
ทั้งจำทั้งปรับ / /
ไล่ออกจากบริเวณศาล x /
ศาลเห็นเองตัดสินได้เลย อำนาจพิเศษของกฎหมายละเมิดอำนาจศาล
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 33 ซึ่งกำหนดโทษฐานละเมิดอำนาจศาล เขียนเอาไว้ว่า “ถ้าคู่ความฝ่ายใดหรือบุคคลใดกระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลใด ให้ศาลนั้นมีอำนาจสั่งลงโทษโดยวิธีใดวิธีหนึ่ง….” การเขียนลักษณะนี้เป็นการให้อำนาจเต็มที่กับศาล เมื่อมีการกระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเกิดขึ้นต่อหน้าศาล และศาลเห็นเอง ศาลก็จะสั่งลงโทษได้เลยทันที โดยไม่ต้องมีการไต่สวน การให้โอกาสจำเลยต่อสู้คดีอีก
ลักษณะเช่นนี้เป็นอำนาจพิเศษในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลฐานเดียวเท่านั้น ความผิดที่มีโทษจำคุกฐานอื่นไม่ว่าตามกฎหมายใด การจะเอาผิดและสั่งลงโทษบุคคลใดได้ ต้องมีกระบวนการพิจารณาคดี เริ่มตั้งแต่มีผู้เสียหายเป็นผู้กล่าวหา มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาสืบสวนสอบสวนหาข้อเท็จจริง มีการสอบปากคำในชั้นตำรวจ มีการกลั่นกรองและสั่งฟ้องโดยพนักงานอัยการ และเมื่อถึงชั้นศาลก็ต้องมีการไต่สวน สืบพยาน โดยตลอดกระบวนการต้องทำต่อหน้าจำเลย และจำเลยมีสิทธิที่จะปฏิเสธและต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ จำเลยมีสิทธิมีทนายความ มีสิทธินำเสนอพยานหลักฐานของตัวเองเพื่อพิสูจน์ว่าไม่ได้กระทำความผิด หรือพิสูจน์เหตุลดโทษหรือเหตุยกเว้นโทษได้เต็มที่ สำหรับความผิดฐานดูหมิ่นศาล ถ้าจะมีการตัดสินเอาผิดผู้ใด ก็ต้องดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีตามหลักการนี้
แต่ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลมีกระบวนการอันพิเศษให้อำนาจไว้ เนื่องจากความผิดนี้เขียนอยู่ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ไม่ได้เขียนไว้เป็นความผิดฐานหนึ่งในประมวลกฎหมายอาญา มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองการพิจารณาและพิพากษาคดีให้เป็นไปโดยความสงบเรียบร้อย และเนื่องจากองค์ประกอบความผิดเป็นการกระทำต่อศาล อยู่ในความรับรู้ของศาลเอง กฎหมายจึงให้อำนาจศาลเป็นผู้สั่งลงโทษได้ทันทีเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา แต่ในทางปฏิบัติหากการกระทำใดไม่ได้เกิดขึ้นต่อหน้าผู้พิพากษาโดยตรง ผู้พิพากษาอาจเรียกผู้รู้เห็นเหตุการณ์มาไต่สวนไปเพียงฝ่ายเดียวจนได้ข้อเท็จจริงตามที่ศาลพอใจก็สามารตัดสินลงโทษได้เลย
โดยมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4617/2547 รับรองหลักการนี้ไว้ชัดเจนว่า ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเป็นความผิดต่อศาล เมื่อปรากฏต่อศาลว่าผู้ใดกระทำละเมิดอำนาจศาล จะปรากฏโดยผู้นั้นกระทำต่อหน้าศาลหรือปรากฏจากหลักฐานอื่นใด ศาลก็ย่อมสั่งลงโทษได้ทันทีโดยไม่จำต้องแจ้งข้อหาหรือส่งเรื่องให้เจ้าพนักงานตำรวจดำเนินการแต่อย่างใด เพียงแต่ศาลเรียกผู้เกี่ยวข้องมาสอบถามให้ได้ความว่าเรื่องเป็นดังที่ปรากฏในเอกสารที่นำเสนอจริงหรือไม่ ก็สามารถสั่งลงโทษได้ เพราะบทบัญญัติเรื่องละเมิดอำนาจศาลเป็นกฎหมายพิเศษที่ศาลมีอำนาจค้นหาความจริงได้โดยไม่จำต้องกระทำต่อหน้าจำเลยดังเช่นการพิจารณาคดีอาญาทั่วไป
และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 635/2559 การไต่สวนหาความจริงของศาลในกรณีที่มีการกล่าวหาว่า มีผู้ละเมิดอำนาจศาล มิใช่การดำเนินคดีอาญาทั่วไป มิอาจนำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้ในกรณีที่เป็นการดำเนินกระบวนการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งได้ ทั้งบทบัญญัติเรื่องละเมิดอำนาจศาลเป็นบทบัญญัติพิเศษ จึงไม่มีเหตุต้องสอบถามผู้ถูกกล่าวหาเรื่องการมีทนายความ และกรณีมิใช่การสืบพยาน เป็นเพียงการไต่สวนข้อเท็จจริง จึงหาจำต้องให้ผู้ถูกกล่าวหาสาบานตนก่อนไม่
ดูแนวทางคำพิพากษาศาลฎีกา ฐานดูหมิ่นศาลและละเมิดอำนาจศาล
ลองดูตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจที่วางแนวทางการตีความ และวางอัตราโทษของ ความผิดฐานดูหมิ่นศาลและฐานละเมิดอำนาจศาล ตามตาราง
คำพิพากษาของศาลฎีกา การกระทำที่เป็นความผิดฐาน “ดูหมิ่น/ขัดขวางศาล” 
การกระทำ
บทลงโทษ
ฎีกาที่ 1456/2506 ทนายความ พูดกับผู้อื่นว่า ” ไม่นึกเลยว่าสำนวนนี้จะมาตกอยู่แก่คนๆ นี้” โดยคำว่า “แก่คนๆนี้” ในที่นี้ คือ ผู้พิพากษา
พิพากษาให้ จำคุก 2 เดือน เนื่องจากรับสารภาพ ลดเหลือจำคุก 1 เดือน
ฎีกาที่ 1124/2507 ร้องเรียนต่อปลัดกระทรวงยุติธรรมว่า ผู้พิพากษาไปทานข้าวกับโจทก์หลังอ่านคำพิพากษา
พิพากษาให้ จำคุก 2 ปี
คำพิพากษาศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา คดี ‘สหรัถ’ โพสต์เฟซบุ๊กทำนองว่า “ศาลรับใช้นายทุน”   พิพากษาให้ รอการกำหนดโทษไว้ 2 ปี
คำพิพากษาของศาลฎีกา การกระทำที่เป็นความผิดฐาน “ละเมิดอำนาจศาล” 
การกระทำ บทลงโทษ
ฎีกาที่ 5714/2559 นำพวงหรีด ป้ายข้อความวางหน้าศาลแพ่ง และตะโกนว่า อยุติธรรม คดีสุดสงวน จำคุก 2 เดือน เนื่องจากรับสารภาพ ลดเหลือ 1 เดือน
ฎีกาที่ 1821/2557 ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนทำนองว่า การตัดสินคดีของศาลถูกครอบงำจากอิทธิพลของทักษิณ อดีตนายกรัฐมนตรี
พิพากษาให้จำคุก 1 เดือน และปรับ 500 บาท รอลงอาญา 3 ปี
ฎีกาที่ 8005/2551 ยื่นคำแถลงคัดค้าน ระบุว่าศาลปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้อง ไม่สุจริต เลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม พิพากษาให้ จำคุก 6 เดือน ปรับ 500 บาท
โทษจำคุกรอลงอาญา 2 ปี
ฎีกาที่ 1447/2551 ไม่ให้ผู้อื่นมาเบิกความต่อศาลตามหมายเรียก ปรับ 500 บาท
ฎีกาที่ 5100/2543 พกพาอาวุธปืนซึ่งเป็นอาวุธร้ายแรงดังกล่าวเข้าไปใน บริเวณที่ทำการศาล พิพากษาให้ จำคุก 2 เดือน
ฎีกาที่ 5615/2543 นำเมทแอมเฟตามีนเข้าไปที่หน้าห้องควบคุมผู้ต้องขัง พิพากษาให้ จำคุก 2 เดือน
ฎีกาที่ 5462/2539 เรียกเงินจากผู้กล่าวหาโดยอ้างว่าจะเอาไปให้พนักงานอัยการและผู้พิพากษา จำคุก 3 เดือน
เมื่อลองพิจารณาจากแนวทางของคำพิพากษาศาลฎีกา พบว่า คำพิพากษาศาลฎีกาฐานดูหมิ่นศาล ที่พิพากษาว่าเป็นความผิด จำนวนมากเกิดจากการกระทำที่มาจากการพูดหรือเขียนข้อความให้ศาลเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ขณะที่คำพิพากษาศาลฎีกาฐานละเมิดอำนาจศาล จำนวนมากจะเป็นการกระทำอื่นๆ ตามที่กำหนดฐานความผิดไว้กว้างๆ เช่น ก่อเหตุวุ่นวาย ขัดคำสั่งศาล ฯลฯ ดังตัวอย่างจากตาราง
แต่ไม่ได้หมายความว่า การพูดจาหรือเขียนข้อความในลักษณะการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของศาล จะไม่เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลด้วย เพราะเท่าที่ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพเก็บบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับการใช้กฎหมายเพื่อปิดกั้นเสรีภาพการแสดงออก พบคดีตัวอย่างที่น่าสนใจหลายคดีที่เกิดจากการแสดงความคิดเห็น หรือการระบายความรู้สึกที่อัดอั้นตันใจจากความเป็นไปของกระบวนการยุติธรรม และถูกลงโทษทั้งฐานดูหมิ่นศาล และฐานละเมิดอำนาจศาล ตัวอย่างเช่น
สุดสงวน ถูกกล่าวหาว่า เมื่อปี 2557 ได้นำกลุ่มมวลชนกว่าร้อยคนที่ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลแพ่ง ในคดีเพิกถอนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รวมตัวกันหน้าอาคารศาลแพ่ง วางพวงหรีดและชูป้ายข้อความ ศาลฎีกาพิพากษาว่า กรณีดังกล่าวเป็นควาผิดฐานการละเมิดอำนาจศาล  ให้จำคุกเป็นเวลาหนึ่งเดือน โดยศาลเห็นว่า สุดสงวน เป็นถึงอาจารย์ด้านกฎหมายนำประชาชนมากดดันดุลยพินิจของศาลถือเป็นบ่อนทำลายสถาบันศาลด้วยการลิดรอนความเป็นอิสระของศาลให้เป็นไปตามอารมณ์ของคู่ความ นำไปสู่ความวุ่นวาย ไม่เคารพกติกาของกฎหมาย พฤติการณ์ของสุดสงวนสะท้อนถึงความเหิมเกริมไม่หวั่นเกรงต่อกฎหมาย
ณัฐพล ถูกกล่าวหาว่า ฉีดพ่นสเปรย์สีดำเป็นตัวอักษรเอในวงกลมรวมสองจุดบนป้ายศาลอาญา สัญลักษณ์ดังกล่าว คล้ายสัญลักษณ์ที่มีความหมายเป็นการต่อต้านอำนาจรัฐ ศาลอาญา พิพากษาว่า การพ่นสีสเปรย์บริเวณป้ายศาลอาญา เข้าข่ายเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในเขตศาล และเข้าข่ายเป็นการละเมิดอำนาจศาล ให้ลงโทษจำคุกณัฐพลเป็นเวลาหนึ่งเดือน แต่ณัฐพลสำนึกผิด จึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี
กัณฐัศจ์ ถูกอัยการศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาฟ้องร้องว่า ไม่มาพบศาลตามกำหนดพิจารณา และโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก ในลักษณะว่า ศาลขาดความน่าเชื่อถือ ไม่มีความยุติธรรมในการพิจารณาดี ซึ่งเป็นความผิดฐานดูหมิ่นศาล และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดให้ รอกำหนดโทษไว้ 2 ปี และให้คุมประพฤติจำเลย