เสวนา 3 ปี 112 ฟังเสียงจากผู้อยู่หลังม่าน ในวันที่คนและคดียังเดินหน้ารอวันพิพากษา

12 พฤศจิกายน 2566 ที่อาคาร All Rise โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) จัดงานเสวนา “3 ปี 112: คนและคดียังเดินหน้ารอวันพิพากษา” โดยเป็นส่วนหนึ่งของงานนิทรรศการผู้ใดหมิ่นประมาท ซึ่งจัดแสดงวันนี้เป็นวันแรก ไปจนถึงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2566 ในงานเสวนา มีการเชิญผู้ที่อยู่หลังในคดีมาตรา 112 ทั้งผู้ที่ทำงานเก็บข้อมูล เกี่ยวข้องกับกระบวนการต่อสู้คดี ไปจนถึงญาติของผู้ที่ต้องอยู่ในเรือนจำ มาร่วมพูดคุยและแบ่งปันประสบการณ์ในวันที่คำพิพากษาชี้ชะตากำลังใกล้เข้ามา

รัฐบาลใหม่แต่คดี 112 ยังไม่ลด

วิทยากรคนแรก ณัฐฐา อัชฌานุเคราะห์ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เริ่มต้นด้วยการเล่าว่าแม้จะมีการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลเป็นพลเรือน แต่ตัวเลขของคดีมาตรา 112 ก็ยังไม่หยุด จนถึงตอนนี้มี 285 คดี และคาดการณ์ว่าภายในธันวาคมอาจจะทะลุถึง 300 คดี ในจำนวนนี้มีคดียกฟ้องเพียง 16 คดี คดีที่สิ้นสุดแล้ว 32 คดี เราอาจจะเข้าใจกันว่าความผิดส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในการชุมนุมหรือการแสดงออกในที่สาธารณะ แต่ส่วนใหญ่แล้วมูลเหตุแห่งคดีมาจากการโพสต์หรือแชร์ข้อความในโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นคดีที่กำลังอยู่ในชั้นศาล โดยที่ผ่านมาอัยการสั่งฟ้องทุกคดี อาจจะเรียกได้ว่าเป็นคดีทางการเมือง

เจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนกล่าวต่อว่า ในส่วนคดีที่มีคำพิพากษาแล้วประมาณ 105 คดี แนวโน้มของคำพิพากษาน่าเป็นห่วงเพราะอัตราการยกฟ้องต่ำมาก คดีจำนวนหนึ่งที่ศาลชั้นต้นให้รอลงอาญาและประกัน แต่เมื่อถึงในชั้นอุธรณ์แล้ว ศาลกลับไม่ให้ประกัน ตัวอย่างที่ดีในช่วงนี้คือในคดีหนังสือปกแดงที่เพิ่งจะมีคำพิพากษายกฟ้องไป ศาลถามพยานพนักงานสอบสวนว่าทำไมถึงฟ้องคนที่นั่งหน้ารถบรรทุก แต่ไม่ฟ้องคนที่นั่งอยู่ในรถบรรทุกด้วย ซึ่งพยานก็ตอบไม่ได้ อีกทั้งคนที่ปราษรัยในหนังสือก็ไม่ได้ถูกฟ้อง 112 แต่ใช้ 116 แทน เรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงความไม่แน่นอนของกฎหมายที้แม้แต่เจ้าหน้าที่รัฐเองก็ยังตีความไม่เหมือนกัน นอกจากนี้ ในปีนี้มีการให้รอลงอาญาหรือกำหนดโทษมากขึ้น แต่จะเกิดขึ้นกับจำเลยที่ยอมรับสารภาพเท่านั้น

มากไปกว่านั้น ช่วงที่ผ่านมา ศูนย์ทนายยังได้รับทราบข้อมูลว่ามีผู้ต้องหาบางคนที่ไม่เคยทราบมาก่อนและอยู่ในเรือนจำ มีคนหนึ่งถูกฟ้องมาตรา 112 ถึง 18 กรรม และศาลให้ฝากขัง โดยตอนนี้ศูนย์ทนายได้ส่งคนไปช่วยแล้ว จนถึงธันวาคมมีอีกอย่างน้อย 10 คดีที่จะมีคำพิพากษา จึงอยากชวนให้ประชาชนร่วมติดตามและให้กำลังใจผู้ต้องหา

หน้าที่ของนายประกันต้องประกันความรู้สึกของญาติ

ต่อมา ชุติมน กฤษณปาณี เจ้าหน้าที่คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) เล่าที่มาของการก้าวมาเป็นนายประกัน โดยเริ่มจากช่วงประมาณกันยายน 2564 ตนได้รับการเชิญชวนให้เป็นนายประกันให้กับผู้ต้องหามาตรา 112 ซึ่งต่อมาก็กลายเป็นกองทุนราษฎรประสงค์ โดยมีการแบ่งพื้นที่กันในองค์กรตามที่อยู่ของแต่ละคน แต่คดีส่วนใหญ่มักจะอยู่ที่ศาลอาญา ตนจึงได้เป็นนายประกันหลัก จนถึงตอนนี้ตนรับหน้าที่เป็นนายประกันเกิน 200 คดี ในบางวันก็ต้องเป็นนายประกันมากกว่าหนึ่งคดีด้วย

คดีหนึ่งที่จำได้คือคดีของอานนท์ นำภา เพราะมีผู้มาให้กำลังใจมากจนศาลต้องเปิดห้องเพิ่มและถ่ายทอดสดให้คนสามารถรับชมได้ ในช่วงแรกที่เป็นนายประกัน สองสามคดีแรกได้ประกัน แต่มีคดีหนึ่งที่ศาลอาญาเป็นคดีแรกที่ไม่ได้ประกัน ตนก็ต้องอธิบายให้กับญาติให้ฟังว่าทำไมถึงไม่ได้กลับบ้าน หน้าที่ของนายประกันไม่ใช่แค่การนำจำเลยไปศาลตามนัดเท่านั้น แต่ต้องคอยประกันความรู้สึกของญาติให้เขารู้สึกว่าไม่ถูกทอดทิ้ง เราจะยื่นประกันใหม่อีกครั้งอย่างแน่นอน

ก่อนที่จะไปประกันก็จะต้องดูข้อมูลเบื้องต้นก่อนว่าผู้ต้องหาเป็นใคร และเตรียมเอกสารไปให้พร้อมเพราะการถ่ายเอกสารที่ศาลนั้นราคาสูงมาก ในหลายครั้งศาลก็ขอเอกสารที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดี เช่น ศาลขอใบเปลี่ยนชื่อของพ่อของจำเลยซึ่งเปลี่ยนมากว่า 20 ปีแล้ว หมายความว่าพ่อจะต้องเดินทางมาศาลอีกครั้งหนึ่ง ปกติตนก็จะถ่ายเอกสารที่สำคัญและเซ็นพร้อมไว้เลย ในคดีที่มีคำพิพากษาลงโทษจำเลย ก็จะต้องเตรียมเงินให้พร้อม สำหรับศาลอาญาหนึ่งปีจะเท่ากับ 50,000 บาท และเศษของปีนับเป็นหนึ่งทั้งหมด ในบางคดีศาลลงโทษจำคุกเพียงหลักเดือนแต่ก็ปัดเศษจนทำให้ค่าประกันตัวแพง มันเป็นกระบวนการที่ปัดเศษและเราต่อรองอะไรไม่ได้

นายประกันมาตรา 112 เล่าต่อว่าเรื่องที่ตนไม่เข้าใจคือหากเราต้องการจะซื้ออาหารให้กับจำเลยที่อยู่ใต้ถุนศาล สำหรับผู้หญิงคือห้ามซื้อเครื่องดื่มที่มีน้ำแข็ง หรือการซื้ออาหารประเภทแกงก็ทำไม่ได้ ในแต่ละศาลก็มีวิธีปฏิบัติต่างกัน นอกจากนี้ เมื่อไปซื้ออาหารกับร้านก็มักจะถามว่าเป็นคดีประเภทไหน เมื่อตนบอกไปว่ามาตรา 112 เจ้าหน้าที่ก็มักจะไม่รู้จัก แต่เมื่ออธิบายไปก็จะตกใจว่าทำไมการแชร์โพสต์ถึงโดนคดีด้วย

“คุณเปลี่ยนชีวิตลูกผม คุณก็เปลี่ยนชีวิตผมด้วย” เสียงจากพ่อถึงลูกจำเลย 112

วิทยากรคนต่อมาคือ คุณไก่ พ่อของเก็ท-โสภณ จำเลยคดี 112 ที่ยังอยู่ในเรือนจำ หลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษจำคุก ข้อหามาตรา 112 และพ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ จำคุกสามปีหกเดือน ฝั่งทนายจำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์

คุณไก่เล่าว่าลูกชายเป็นคนเรียนเก่งอยู่แล้ว โดยเฉพาะในวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ที่ตนทึ่งมากคือตอนอยู่ ป.2 เก็ทเขียนความใฝ่ฝันของตนเองว่าอยากเป็นแพทย์ เมื่อสอบได้สาขารังสีเทคนิคจึงตัดสินใจเรียนต่อมาตามความหวังความตั้งใจ เท่าที่ตนสังเกตคือเดิมลูกชายก็ไม่ได้สนใจการเมืองมากนัก จนเมื่อเข้ามหาวิทยาลัยได้ทำงานในสภามหาวิทยาลัย ต้องเป็นผู้นำพัฒนาระบบต่าง ๆ จึงเริ่มสนใจ เมื่อกลับมาบ้านก็มักจะมาเล่าให้ฟังเรื่องของความเป็นธรรมที่มีการถกเถียงกันภายในมหาวิทยาลัย ตนก็มักจะเตือนลูกว่าให้อยู่ห่างไว้เพราะพวกเขามีผู้ใหญ่หนุนหลัง

เมื่อกระแสการเมืองพุ่งขึ้นมา การเมืองก็เข้าไปสู่ในสังคมมหาวิทยาลัยด้วย ลูกชายก็เลยหันมาสนใจการเมือง พ่อแม่ก็ยอมรับว่ารู้สึกไม่สบายใจ เพราะเวทีการเมืองเป็นเรื่องน่ากลัว แต่เก็ทเป็นคนที่ตั้งใจในการปรับปรุงหรือพัฒนาประชาธิปไตยอย่างเต็มที่ หลังจากที่ลูกถูกดำเนินคดีก็กังวลมาก เมื่อลูกเริ่มอดข้าวและอดนอนก็ยิ่งทำให้เครียดจนนอนไม่หลับ

“ลูกผมไม่ได้ขโมยหรือฆ่าใครตาย ทุกคนก็ยังมีความสุขกันดี ใช้วาทกรรมเรื่องความมั่นคงมาโจมตีกัน มาตรา 112 ไม่ได้ทำผมช็อกอย่างเดียว แต่ทำให้ผมผิดหวังในระบบและไม่เข้าใจว่าทำไมประเทศเราถึงมีเรื่องขนาดนี้ด้วย ส่วนตัวผมไม่ได้สนใจการเมือง แต่เมื่อมีการใช้การเมืองมาเล่นงานคนที่อยากพัฒนาประเทศ ก็รู้สึกว่าสิ่งนี้ไม่ถูกต้อง คุณเปลี่ยนชีวิตลูกผม คุณก็เปลี่ยนชีวิตผมด้วย เหมือนคุณเอาหัวใจผมไป”

โทษทางอาญาที่ไม่ได้สัดส่วนคือการละเมิดสิทธิมนุษยชน

วิทยากรคนสุดท้ายคือ ผศ.รณกรณ์ บุญมี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ พยานผู้เชี่ยวชาญคดีมาตรา 112 หลายคดี โดย รณกรณ์ กล่าวว่า การกระทำที่เกี่ยวข้องกับ 112 ไม่ได้มีแค่อาญาในชั้นศาลเท่านั้น แต่ยังอีกจำนวนมากที่อยู่ในชั้นพนักงานสอบสวน ส่วนตัวที่ถูกได้รับการเชิญให้เป็นผู้ให้ความเห็น ส่วนใหญ่คือในชั้นสอบสวนซึ่งก็สามารถยุติไปได้ มีทั้งนักเรียนที่แปลงเพลง ไปจนถึง สส. ทั้งหมดนี้คดีก็จบไปก่อนที่จะฟ้อง อีกประเภทหนึ่งที่เป็นคดีการเมืองโดยตรงอย่างเช่นคดีในศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการแก้ไขมาตรา 112 เป็นการล้มล้างการปกครองหรือไม่

สำหรับอาจารย์คณะนิติศาสตร์ หัวใจของปัญหามาตรา 112 มีสองส่วน ในส่วนแรกคือตัวบท อีกเรื่องหนึ่งคือทัศนคติในการบังคับใช้ การตีความของผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้อง ไม่ต้องพูดถึงอัยการหรือตำรวจ คนที่ควรจะปกป้องสิทธิอย่างผู้พิพากษาก็ตีความอย่างน่าสงสัย มาตรา 112 ให้ความคุ้มครองสี่บุคคล คือพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการ แทนที่ศาลไทยจะตีความอย่างเคร่งครัด แต่กลับตีความไปถึงรัชกาลก่อน ๆ ตนเห็นว่ามีปัญหามาก กฎหมายอาญาต้องตีความอย่างเคร่งครัด อย่าลืมว่ากฎหมายไทยคุ้มครองผู้นำประเทศอื่นมากกว่าที่กฎหมายในประเทศนั้นจะคุ้มครองผู้นำของตนเองเสียอีก ในประเทศอังกฤษก็มีการล้อเลียนกันได้เป็นเรื่องปกติ แต่ถ้ามากระทำที่ไทยจะกลายเป็นความผิด

อีกประการหนึ่งก็คือเรื่องของโทษ ในบางประเทศอาจจะมีกฎหมายเช่นเดียวกัน แต่ไม่มีที่ใดที่โทษรุนแรงเท่านี้ การกำหนดโทษทางอาญาที่ไม่ได้สัดส่วนหรือ “เชือดไก่ให้ลิงดู” ผิดหลักสิทธิมนุษยชน ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ประเด็นต่อมาคือการกระทำ มาตรา 112 ความผิดคือการดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายเท่านั้น ดังนั้นการพูดจาไม่สุภาพไม่ใช่การดูหมิ่น แต่เมื่อศาลนำคำเหล่านี้ไม่ใช้ แต่ตีความให้รวมถึงการไม่แสดงความเคารพด้วย การล้อเลียนไม่ใช่การลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เลย ประเด็นที่สี่ สามการกระทำข้างต้นนั้นจริง ๆ แล้วโทษต่างกันเพราะความรุนแรงของการกระทำต่างกัน แต่ตัวบทของมาตรา 112 กลับให้เท่ากันหมด 

ประเด็นที่สำคัญที่สุดคือเราวิพากษ์วิจารณ์คนสาธารณะ เราสามารถทำได้ ในเยอรมนี มีคำพิพากษาว่าการตามถ่ายรูปบุคคลสาธารณะสามารถทำได้ ในสเปน ศาลตัดสินว่าการเผารูปเพื่อแสดงออกก็สามารถทำได้เช่นกัน ตนอยากจะบอกว่าประเทศไทยเรามีมาตรา 329 ที่สามารถใช้ได้ แต่ศาลตัดระบบนี้ออกไป มาตรา 112 กลายเป็นเรื่องของความมั่นคงแทน พรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตยก็ควรจะนำเรื่องนี้มาคุยกันเพื่อหาทางออก ถ้าศาลตีความจนเลยตัวบท นิติบัญญัติก็ต้องออกกฎหมายมาตอบโต้ฝ่ายตุลาการ

อาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ปิดท้ายด้วยการฝากถึงบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมว่าท้ายที่สุดแล้วเราจะต้องอยู่กับมโนสำนึกของตนเอง ตนจึงอยากขอให้ใช้กฎหมายอย่างกล้าหาญ

นิทรรศการผู้ใดหมิ่นประมาทจัดแสดงวันที่ 12 – 19 พฤศจิกายน 2566 เวลา 11.00 – 20.00 น. ที่อาคาร All Rise (สำนักงานไอลอว์) บ้านกลางเมืองรัชดา ดูเส้นทางและที่ตั้ง

https://maps.app.goo.gl/pwSekYp4wdnECnuTA?g_st=i

You May Also Like
อ่าน

รวมตารางกิจกรรม ทำเดินสายอธิบายกติกา ชวนมาร่วมเปลี่ยนสว.

พร้อมแล้ว!! เดินสายทั่วประเทศ ชวนทุกคนมาทำความรู้จักระบบการเลือกสว. ชุดใหม่ จากการ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” อันซับซ้อน มาทำความเข้าใจขั้นตอน วิธีการเลือก ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร รวมถึงช่องทางการมีส่วนร่วมที่ประชาชนสามารถทำได้ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น มาร่วมเปลี่ยนสว. กันเถอะ
อ่าน

นัดฟังคำพิพากษาคดีมาตรา 112 เดือนพฤษภาคม 2567

เดือนพฤษภาคม 2567 ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวมสิบคดี แบ่งเป็นคำพิพากษาศาลชั้นต้นแปดคดี ศาลอุทธรณ์และฎีกาอย่างละหนึ่งคดี