เลื่อนวาระแซงหน้าไม่ได้! ที่ประชุมสภามีมติไม่ให้เลื่อนวาระถกคำถามประชามติแก้รัฐธรรมนูญขึ้นมาพิจารณาก่อน

30 สิงหาคม 2566 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ปรึกษาหารือต่อที่ประชุมในการเปลี่ยนแปลงระเบียบวาระ โดยขอให้นำเรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเห็นชอบและแจ้งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ดำเนินการให้มีการออกเสียงประชามติเพื่อสอบถามความเห็นของประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ขึ้นมาพิจารณาก่อน ผลปรากฎว่าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร จำนวนผู้ลงมติ 406 คน เห็นด้วย 143 เสียง ไม่เห็นด้วย 262 เสียง งดออกเสียง 0 ไม่ลงคะแนนเสียง 1 บทสรุปมติออกมาดังนี้จึงมีผลทำให้ที่ประชุมไม่เห็นด้วยที่จะให้เลื่อนวาระดังกล่าวขึ้นมาเป็นพิจารณาก่อนหน้าวาระอื่นๆ 

พริษฐ์ ให้เหตุผลใจความว่าประเด็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ถูกพูดถึงอยู่ตลอดในวงกว้างช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาทั้งในที่ประชุมรัฐสภาหรือไม่ว่าจะเป็นบทสนทนาที่เกิดขึ้นตลอดกระบวนการจัดตั้งรัฐบาลรวมไปถึงการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนที่ได้มีการรวบรวมรายชื่อกว่าสองแสนรายชื่อเพื่อเสนอทำประชามติให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แม้ว่าในขณะนี้คณะรัฐมนตรีกำลังอยู่ในกระบวนการรวบรวมข้อมูลและความเห็นเกี่ยวกับการจัดทำประชามติ ด้วยเหตุผลนี้จึงเห็นว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนต้องมีการถกเถียงถึงเรื่องคำถามการจัดทำประชามติในที่ประชุมสภาที่มีผู้แทนหลากหลายภาคส่วนอยู่ในที่นี้อย่างเร่งด่วน อีกทั้ง ญัตติดังกล่าวไม่ได้ใช้เวลาสภานานจนเกินไป เพราะ หลายๆ พรรคเคยได้มีการอภิปรายมาก่อนหน้าแล้วปี 2565 จึงขอเสนอให้มีการเปลี่ยนญัตติจากพรรคก้าวไกลที่อยู่ในวาระ 5.33 ขึ้นมาพิจารณาก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งก็คือ ญัตติ ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเห็นชอบและแจ้งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ดำเนินการให้มีการออกเสียงประชามติเพื่อสอบถามความเห็นของประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 

ด้าน อรรถกร ศิริลัทธยากร สส.พรรคพลังประชารัฐ ลุกขึ้นมาคัดค้านข้อเสนอข้างต้น โดยกล่าวต่อที่ประชุมว่า ไม่ใช่ว่าตนไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนวาระเพราะเข้าใจถึงความประสงค์ดี แต่จำเป็นจะต้องคัดค้าน โดยขอให้ที่ประชุมคงวาระไว้ตามเดิมด้วยเหตุผลว่า ประเด็นแรก การที่จะเปลี่ยนวาระตัวแทนแต่ละพรรคจะมาคุยกันก่อน โดยเฉพาะครั้งที่แล้ว (สภาผู้แทนฯ ชุดที่ 25) ถ้าทุกพรรคเห็นตรงกันว่าเป็นวาระเร่งด่วนเราก็พร้อมที่จะเปลี่ยนระเบียบวาระซึ่งเป็นเสียงเห็นชอบของทุกคนในสภา แต่วันนี้เท่าที่คุยกันไม่ว่าจะ พรรคภูมิใจไทย พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคชาติไทยพัฒนา แม้กระทั่งพรรคพลังประชารัฐ เราไม่ได้ขัดขวาง แต่ระเบียบวาระที่อยู่บนโต๊ะนอกจากรายงานรับทราบแล้ว ยังมีญัตติที่ค้างอยู่อีก 37 เรื่อง หากอนุญาตให้ญัตตินี้ขึ้นมาพิจารณาก่อนจะเป็นการแซงหน้าญัตติที่เพื่อนสมาชิกประมาณ 30 ท่านเสนอ ประเด็นที่สอง ประเด็น ราคากุ้งตกต่ำซึ่งเป็นปัญหาการเกษตร (ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาราคากุ้งตกต่ำ อรรถกร เสนอ) ตกต่ำมาอย่างยาวนาน รัฐสภาจะต้องสะท้อนเสียงจากสมาชิกให้แก้ปัญหาพี่น้องประชาชน ที่ผ่านมามีเพื่อนสมาชิกรอเสนอญัตติมาอย่างต่อเนื่อง จึงไม่เห็นด้วยให้มีการเลื่อนวาระการจัดทำประชามติขึ้นมาแซงก่อนวาระอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ยังมีสมาชิกสภาอื่นๆ จากพรรคภูมิใจไทยและพรรคประชาธิปัตย์ ที่สนับสนุนการคัดค้านดังกล่าวด้วยเหตุว่าควรต้องเป็นไปตามระเบียบวาระที่ถูกเรียงมาก่อนเพราะเป็นญัตติที่เป็นปัญหาประชาชนเช่นกัน