รวมวาทะสว. อภิปรายขวางร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก่อนเลือกเศรษฐาเป็นนายกฯ

รวมวาทะสว. อภิปรายขวางร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก่อนเลือกเศรษฐาเป็นนายกฯ

วันที่ 22 สิงหาคม 2566 ในที่ประชุมรัฐสภามีการอภิปรายของสส.และสว. ก่อนลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 รอบที่สาม สมาชิกวุฒิสภา (สว.) หลายคนได้ลุกขึ้นอภิปรายถึงความเหมาะสมและคุณสมบัติของ “เศรษฐา ทวีสิน” แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย โดยสว.บางคนก็แสดงความเห็นสอดแทรกไปในทางที่ไม่เห็นด้วยหรือยังมีข้อสงสัยที่อยากให้พรรคเพื่อไทยแถลงข้อเท็จจริงให้ชัดเจนในประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พรรคเพื่อไทยจะผลักดันเป็นวาระแรกเมื่อจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ 

เสรี สุวรรณภานนท์ สว. 

“ผมว่าสิ่งที่ที่พรรคร่วมไปแถลงไว้ ผมก็มีคำถามอยู่ส่วนหนึ่งซึ่งน่าจะสำคัญ พวกเรายึดถืออยู่ตลอดว่าการจะแก้รัฐธรรมนูญที่ไปกระทบหมวดสถาบันพระมหากษัตริย์เราจะไม่เห็นด้วย ซึ่งท่านก็แถลงไว้ในส่วนสุดท้ายว่ายังคงไว้ในส่วนของหมวดที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ ก็นั่นหมายความว่าท่านจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อจะแก้แล้วก็คงส่วนในหมวด เพราะฉะนั้นคำว่าคงส่วนในหมวดเนี่ย ท่านจะเอาหมวดไว้แล้วสาระไปแก้หรือเปล่า ก็ขอให้พูดให้ชัดว่าถ้าจะคงหมวดไว้นั่นหมายความว่า ต้องไม่ไปแก้สาระ เนื้อหาที่บัญญัติไว้อยู่เดิมก็คือต้องยกเว้นหมวด1 และ 2 ต้องพูดให้ชัด ถ้าเขียนแบบนี้มันหลอกชาวบ้านได้นะครับ นึกว่าไม่แตะละแต่ท่านแฝงเอาไว้”

พลตำรวจโท ศานิตย์ มหถาวร สว. 

“ผมสบายใจมาได้นิดนึง ท่านบอกว่าจะไม่แก้หมวด 1 หมวด 2 แต่ท่านจะตั้งสสร. ซึ่งสสร.เนี่ย เหมือนตีเช็คเปล่าหรือเปล่า ที่จริงในหมวดของพระราชอำนาจมีมากมาย ยกตัวอย่างหมวด 8 มาตรา 151-180 ท่านก็ไปดูเอา แล้วยังมีเรื่องอื่นๆ มาตรา144 เรื่องท่านจะตัดงบประมาณไปไว้จังหวัดท่าน หรือมาตรา 145 แทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้าย ท่านให้ความมั่นใจกับผมได้ไหมว่าท่านจะไม่แก้หมวดนี้ แล้วผมจะยกมือให้ท่าน”

พลเอกเลิศรัตน์ รัตนวานิช สว.

“ประเด็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เพื่อนสว.หลายท่านพูดถึง ผมเองก็เคยเป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญอยู่หนึ่งฉบับ ก็คิดว่าความเป็นห่วงของเพื่อน สว.ต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น เป็นเรื่องที่อยากจะฝากให้พรรคร่วมรัฐบาลได้พิจารณาให้รอบคอบว่าจะต้องดำเนินการอยู่บนพื้นฐานของการรักษาไว้ซึ่งสถาบันหลักของประเทศยิ่งการที่จะรักษาไว้และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ให้อยู่ในสถานะเช่นเดียวกันกับรัฐธรรมนูญปัจจุบันได้มีบัญญัติไว้ ไม่ใช่เฉพาะหมวดหนึ่งหมวดสองเท่านั้น กับอีก 38 มาตราในอีกหมวดต่างๆก็สำคัญเช่นกัน 

กระผมเห็นด้วยว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ถ้าจะมานั่งแก้ทีละมาตราทีละหมวดทำไม่ได้ เพราะล็อคที่ใส่ไว้กุญแจสามสี่ชั้นในมาตรา 256 แต่ละมาตราที่เราจะไปแก้บางครั้งก็ต้องไปทำประชามติก่อน เช่นการแก้ไขคุณสมบัติของผู้ดำรงค์ตำแหน่งในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทุกคนเลย ทุกประเภทเลย ต้องไปถามประชามตินั้น

จึงเห็นด้วยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยการแก้ไขทั้งฉบับนั้นเป็นสิ่งที่สามารถดำเนินการได้ และถ้ามีการดำเนินการอย่างรัดกุม ให้ผู้ร่างที่มีความรู้และมีความหวังดีต่อประเทศ เราก็จะได้รัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น” 

พลเอก สมเจตน์ บุญถนอม สว.

“แม้กระผมจะไม่มีความเชื่อมั่นในพรรคเพื่อไทยเลยว่าจะมีอิสระในการบริหารประเทศ ดำเนินนโยบายพรรคการเมืองของตนเองหรือเปล่า แต่กระผมไม่มีทางเลือกที่จะมีความเห็นเป็นอย่างอื่นกระผมจึงคิดว่านี่เป็นเหตุผลที่สมเหตุสมผลที่กระผมจะสามารถชี้แจงต่อสังคมได้ว่าเหตุใดผมจึงเลือกนายกรัฐมนตรีจากเพื่อไทย 

ทันทีที่พรรคเพื่อไทยได้เสียงสนับสนุนจากพรรคภูมิใจไทย พรรคเพื่อไทยแถลงทันทีว่าจะเสนอให้ทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.)ในการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งแรกโดยอ้างว่าเป็นวิกฤตรัฐธรรมนูญ ทั้งๆที่พรรคภูมิใจไทยไม่มีเงื่อนไขนี้แต่ประการใด จึงเกิดคำถามขึ้นว่า ทำไมพรรคเพื่อไทยจึงให้ความสำคัญต่อการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นวาระเร่งด่วนมากกว่าการรีบเร่งจัดตั้งรัฐบาลเข้าไปแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจซึ่งเป็นปัญหาปากท้องสร้างความอยู่ดีกินดีอันเป็นปัญหาเร่งด่วนของประชาชน ทำไมพรรคเพื่อไทยจึงกล่าวอ้างว่าวิกฤตรัฐธรรมนูญเกิดจากประชาชนไม่มีเสรีในการออกเสียงประชามติ หากรัฐบาลในขณะนั้นใช้อำนาจไม่เป็นธรรมทำให้ประชาชนไม่มีเสรีออกเสียงได้จริง ทำไมจึงปล่อยให้พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งภายใต้กติกาของรัฐธรรมนูญ 2560 มาแล้วถึงสองครั้ง ดังนั้น คำกล่าวอ้าวการออกเสียงประชามติไม่เป็นธรรม ประชาชนไม่มีเสรีออกเสียงประชามติ จึงไม่เป็นความจริง เป็นเพียงวาทกรรมที่จะสร้างความชอบธรรมในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เท่านั้น และเกิดคำถามต่อไปอีกว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 2560 เป็นปัญหาอุปสรรคอะไรของพรรคเพื่อไทยหรือ จึงจำเป็นจะต้องรีบเร่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นการเร่งด่วนเช่นนี้ จากประสบการณ์ทางการเมืองของผม ผมพบว่ารัฐธรรมนูญ 2560 มีกลไกสำคัญๆ อย่างน้อยสามกลไก ที่นักการเมืองทุจริตคดโกงไม่ต้องการและเห็นว่าเป็นอุปสรรคในการขวางการปฏิบัติหน้าที่อันไม่สุจริตของเขา 


  • กลไกแรกคือการให้สมาชิกวุฒิสภามีหน้าที่และอำนาจในการเห็นชอบนายกรัฐมนตรี ประเด็นนี้กระผมไม่ติดใจเพราะอำนาจนี้จะหมดสิ้นภายในระยะเวลาอันใกล้ ตามวาระการดำรงตำแหน่งของสมาชิกวุฒิสภาในเดือนพฤษภาคม 2567 ที่จะมาถึง

  • กลไกที่สองคือการให้ศาลและองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐให้ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพสุจริตและเที่ยงธรรม 

  • กลไกที่สาม กลไกนี้มีความสำคัญเกี่ยวข้องกับนักการเมืองที่ทุจริตคดโกงโดยตรง มีกลไกที่จะป้องกันตรวจสอบและขจัดการทุจริตประพฤติมิชอบที่เข้มงวดเด็ดขาดไม่ให้นักการเมืองที่ทุจริตคดโกง เข้าไปมีอำนาจบริหารบ้านเมือง นักการเมืองที่ทุจริตคดโกงจะถูกลงโทษอย่างรุนแรงเด็ดขาด โดยตัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ไม่ให้นักการเมืองเหล่านั้นดำรงตำแหน่งทางการเมืองตลอดชีวิต นอกจากนี้คดีต่างๆ ยังไม่มีอายุความสำหรับนักการเมืองที่ทุจิตคดโกงหลบหนีคดีอาญาไปเสวยสุขยันต่างประเทศ 

จะเป็นด้วยกลไกสองประการนี้ของรัฐธรรมนูญนี้หรือเปล่า คือศาลองค์กรอิสระและมาตรการป้องกันนักการเมืองทุจริตคดโกงที่เข้มงวดเด็ดขาด กลไกนี้หรือเปล่า ที่พรรคเพื่อไทยไม่ต้องการ ทำไมกระผมจึงคิดเช่นนั้น เพราะการบริหารประเทศของพรรคเพื่อไทยที่ผ่านมา มีเรื่องกล่าวหาการทุจริตคดโกงเกิดขึ้นมาอย่างมากมาย จนปรากฎเป็นข้อเท็จจริงว่านักการเมืองจากเพื่อไทยหลายคนต้องถูกศาลพิจารณาลงโทษจำคุกตัดสิทธิทางการเมืองหลายคนอยู่ระหว่างการหลบหนีคดี และบางคนที่เป็นคนสำคัญของพรรคเพื่อไทยก็ยังหลบหนีคดีอยู่ ซึ่งไม่มีอายุความด้วยเหตุของการไม่มีอายุความจึงทำให้บุคคลสำคัญบางคนของพรรคเพื่อไทยที่จะต้องเดินทางกลับประเทศไทยเพื่อรับโทษตามกระบวนการยุติธรรม 

มิเช่นนั้น เขาจะต้องหนีออกจากประเทศไทยที่เป็นแหล่งที่มีความสงบสุข เป็นความสุขที่สุดของคนไทย ไม่สามารถมาใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทยได้ หากมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กลไกที่ขจัดนักการเมืองทุจริตคดโกงจะหายไป จะเปิดโอกาสให้นักการเมืองที่ทุจริตคดโกงเข้ามามีบทบาทในการบริหารประเทศได้อีกครั้งหนึ่ง หากเป็นเช่นนั้นจริงเท่ากับว่าพรรคเพื่อไทยต้องการเป็นรัฐบาลมีภารกิจเร่งด่วนสำคัญที่จะต้องร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาให้นักการเมืองทุจริตมากกว่าเป็นรัฐบาลเพื่อบริหารประเทศ เพื่อเข้าไปแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชน 

นอกจากนี้การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังไปสอดคล้องกับความต้องการของพรรคการเมืองพรรคหนึ่งที่ต้องการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทุกหมวดทุกมาตราไม่เว้นแม้แต่การแก้ไขความเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวของประเทศไทยที่จะแบ่งแยกมิได้ ไม่เว้นแม้แต่หมวดคุ้มครองสถานะขององค์พระมหากษัตริย์ให้ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ ปัจจุบันสถานการณ์การเมืองของไทยสังคมไม่ไว้วางใจกัน ประชาชนมีความขัดแย้งแตกแยกทางความคิดอย่างรุนแรง การแตกแยกทางความคิดเหล่านี้ลุกลามเข้าไปถึงครอบครัวซึ่งเป็นสังคมขนาดเล็กด้วยการปลุกปั่นของนักการเมืองผู้สูญเสียอำนาจทุกวิถีทาง ไม่ว่าฝ่ายไหน ผมไม่ได้ตำหนิทุกฝ่ายโดยเฉพาะการใช้สื่อออนไลน์ที่เข้าไปถึงความคิดของเยาวชนผู้เยาว์วัยได้ง่าย สิ่งนี้เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของชาติเป็นอย่างยิ่ง

เมื่อการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จึงจะเป็นการเพิ่มประเด็นความขัดแย้งของสังคมใหม่ให้มากยิ่งขึ้น ผมเชื่อว่าทุกรัฐบาลไม่ว่ารัฐบาลใดก็ตามหลักการสำคัญในการบริหารประเทศที่รัฐบาลจะต้องดำรงเสมอ ประเทศมั่นคง ประชาชนมั่งคั่ง ผมเชื่อว่า ไม่มีรัฐบาลใดต้องการบริหารประเทศท่ามกลางความขัดแย้งของประชาชน ปัจจุบันตามที่ได้เรียนแล้วว่าปัญหาความขัดแย้งของประชาชนมีอยู่มากมาย เหตุใดรัฐบาลเพื่อไทยจึงราดน้ำมันเข้าไปในกองไฟแห่งความขัดแย้งให้ลุกโชนมากขึ้น

โดยการทำประชามติเพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นการเพิ่มความขัดแย้งมากขึ้นแล้วเช่นนี้รัฐบาลเพื่อไทยจะมีเวลาพลังความคิดไปแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่รอคอยอยู่ข้างหน้าได้อย่างไร การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่ผมเชื่อว่าเป็นช่องทางของการล้มล้างอำนาจของศาลและองค์กรอิสระต่างๆให้ไม่สามารถตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐของนักการเมืองที่ไม่สุจริตและเป็นการลบล้างให้นักการเมืองที่ทุจริตคดโกง นอกจากนี้ ยังเป็นการเพิ่มประเด็นความขัดแย้งเข้าไปในสังคมของไทยที่มีอยู่แล้วให้มากยิ่งขึ้น 

ผมจึงมีความเห็นว่าการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติอย่างร้ายแรง ร้ายแรงกว่าการแก้ไขมาตรา 112 อีก เมื่อผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติอย่างร้ายแรงเช่นนี้ผมที่ยึดหลักการสองประการที่กล่าวไว้เบื้องต้น จะให้การสนับสนุนนายกรัฐมนตรีจากเพื่อไทยได้อย่างไร 

แต่ยังไม่ถึงทางตัน ยังไม่สิ้นหนทาง เพราะตัวผมเองก็มีความต้องการให้มีการจัดตั้งรัฐบาลโดยเร็วเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ประชาชนรอคอยอยู่ ผมจึงขออนุญาตกราบเรียนผ่านประธานรัฐสภาไปยังแกนนำของพรรคเพื่อไทยว่า ท่านได้เสียสัตย์เพื่อประเทศชาติมาแล้วหลายครั้ง เพื่อต้องการให้การจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้สำเร็จ โดยอ้างเหตุของการเข้าไปแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ผมเข้าใจและเห็นใจ หากท่านจะได้เสียสัตย์เพื่อความสงบสุขของประเทศชาติและประชาชนอีกครั้งหนึ่ง ด้วยการยืนยันต่อรัฐสภาแห่งนี้ว่า ท่านจะไม่เสนอร่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญในทันที แต่จะไปเสนอในห้วงเวลาที่เหมาะสม เมื่อสังคมเกิดความสงบสุขไม่มีความขัดแย้ง ไม่มีความแตกแยกและไว้วางใจกัน

การเสียสัตย์ของท่านครั้งนี้ ผมเชื่อว่าจะได้รับคำสรรเสริญว่าเป็นการเสียสัตย์เพื่อความสงบสุขของประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง มิใช่เป็นการเสียสัตย์เพื่อรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์ของพรรคการเมืองของท่าน หากท่านยืนยันต่อรัฐสภาเช่นนี้ผมในฐานะสมาชิกรัฐสภาจะเป็นผู้หนึ่งที่จะสนับสนุนนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย แม้ว่ากระผมจะมีเครื่องหมายคำถามติดใจเกี่ยวกับคุณสมบัติ จริยธรรม คุณธรรม ของนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยซึ่งผมคิดว่าประเทศชาติรอคอยไม่ได้ ประเด็นนี้เป็นปัญหาของพรรคเพื่อไทยที่พรรคเพื่อไทยจะต้องไปแก้ไขเองในข้างหน้า” 

คำนูณ สิทธิสมาน สว. 

“อย่างไรก็ดีครับท่านประธาน จะมีการอภิปรายหรือแม้กระทั่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในทางสาธารณะขึ้นมาว่าถ้าอย่างนั้นนโยบายที่จะให้คณะรัฐมนตรีมีมติในการประชุมครั้งแรก ให้มีการออกเสียงประชามติสอบถามประชาชนว่าเห็นควรให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่นั้น ถือเป็นภยันตรายต่อรัฐธรรมนูญและต่อระบอบการปกครองหรือไม่

มีเสียงบางท่านบอกว่าอันนี้ร้ายแรงกว่าการแก้ไขมาตรา 112 เสียอีก กระผมได้นำมาใคร่ครวญและขออนุญาตอภิปรายบันทึกไว้ ณ ที่นี้ว่ากระผมเห็นต่างครับ 

เพราะไม่ว่าพวกเราทุกคนจะเห็นด้วยหรือเห็นต่างกับการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ กระผมโดยส่วนตัวก็ไม่เห็นด้วย เห็นว่าการแก้ไขรายมาตรานั้นสามารถจะกระทำได้แต่อย่างไรก็ตามแต่ นโยบายเรื่องนี้เป็นนโยบายของทุกพรรคการเมืองเกือบทุกพรรคการเมืองที่เราต้องยอมรับตั้งแต่ปี 2562 แล้ว และก็ได้มีการศึกษามีการตั้งกรรมาธิการ และที่สุดก็ได้มีร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 เพิ่มเติมหมวดใหม่ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสนอเข้าสู่ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาแห่งนี้เมื่อปี 2563 จากพรรคการเมืองสองกลุ่ม สองขั้ว เกือบทั้งสภาผู้แทนราษฎรและแม้จะมีการตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาก่อนลงมติในวาระที่หนึ่ง แต่เมื่อถึงการลงมติในวาระที่หนึ่ง ก็ผ่านวาระที่หนึ่ง สมาชิกวุฒิสภาพวกกระผมนี้ก็ลงมติเห็นชอบด้วยเกินหนึ่งในสาม เกินเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญมาตรา 256 กำหนดไว้ ร่างนั้นก็ผ่านการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการผ่านวาระที่สองรอลงมติในวาระที่สาม เผอิญมีผู้ไปร้องศาลรัฐธรรมนูญตามาตรา 210 (2) ในที่สุดศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 4/2564 เดือนมีนาคม 2564 

คำวินิจฉัยที่เป็นกุญแจคำสำคัญนั้นก็คือท่านบอกว่ารัฐสภามีอำนาจและหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้วต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง เพราะฉะนั้นที่ท่านจะให้คณะรัฐมนตรีมีมติให้จัดทำประชามติในวาระแรกของการประชุมครม.นั้นกระผมเห็นว่าทำได้ครับ

แต่อย่างไรก็ตามแต่เราจะต้องยอมรับความเป็นจริงว่ากระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น แม้จะผ่านการออกเสียงประชามติครั้งแรกนั้นยังต้องใช้ขั้นตอนและระยะเวลากว่าสองปี ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาแห่งนี้อีกหนึ่งถึงสองครั้ง ผ่านเงื่อนไขเดิมๆทุกอย่างและผ่านการออกเสียงประชามติรวมทั้งสิ้นสามครั้ง

ถ้าเราเคารพผลการประชามติครั้งที่ 7 สิงหาคม 2559 ผมก็ไม่มีเหตุผลใดที่เราจะบอกว่าไม่เคารพผลการลงประชามติในอีกอีกสามครั้งข้างหน้า แต่อย่างไรก็ตามครับ เพื่อความสบายใจของสมาชิกรัฐสภาแห่งนี้ เพื่อความสบายใจของพี่น้องประชาชนที่พรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมดโดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย หากจะได้กรุณาชี้แจงให้ชัดเจนและที่ผมจะขออนุญาตตั้งเป็นข้อสังเกตไว้ว่าในเมื่อประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ภูมิรัฐศาสตร์ทางการเมืองใหม่ที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นหนึ่งในขั้วสำคัญ ท่านก็ควรจะใช้โอกาศนี้สร้างความสบายใจให้เกิดขึ้น 

  • หนึ่งหากจะมีคำถามประชามติคำถามประชามตินั้นควรจะต้องตรงและไม่เกินไปจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 
  • สอง ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 ที่คณะรัฐมนตรีจะเสนอเข้าสู่สภาควรจะรับฟังความคิดเห็นจากทุกพรรคการเมือง จากสมาชิกวุฒิสภา ผ่านการพูดคุยให้มากที่สุด
  • สาม ควรจะคำนึงถึงสารัตถะสำคัญในร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 นั้น ก็คือรูปแบบของ สสร. ที่จะเกิดขึ้นและเมื่อ สสร. ร่างเสร็จแล้วจำเป็นจะต้องผ่านการพิจารณาของรัฐสภาก่อนเป็นครั้งสุดท้าย และสุดท้าย หากเป็นไปได้ถ้าท่านจะกรุณาทบทวนระยะเวลาของการจัดทำประชามติ ก็จะเป็นประโยชน์ด้วย” 

ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม สว.

 

 

“ในเรื่องนโยบายที่ท่านหาเสียงรณรงค์ทั้งประเทศแล้วก็มีประชาชนเลือกท่านมาเป็นจำนวนมากเป็นพรรคเสียงข้างมาก เพื่อไทยได้เป็นอันดับสอง ตรงนี้ผมไม่ติดใจในเรื่องนโยบายส่วนใหญ่ที่ประชาชนเลือกมา ท่านต้องขับเคลื่อนเพราะว่าเป็นพันธะกรณี เป็นพันธะสัญญาที่มีต่อประชาชน อย่างไรก็ดีผมมีเรื่องหนึ่งที่ต้องอภิปรายเพิ่มเติมเพื่อขอความชัดเจน นั่นคือสิ่งที่ท่านไม่ได้ประกาศเป็นนโยบายแต่แรก เมื่อมีการให้สัมภาษณ์ คุณเศรษฐา ทวีสิน ท่านบอกว่าถ้าท่านเป็นนายกฯ ประชุมครม. ครั้งแรกท่านจะให้มีการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ คำนี้แปลว่าอะไร แปลว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ดีทั้งหมดเลย เพราะว่าถ้าไม่ดีบางส่วนท่านก็ขอแก้บางส่วนได้ แต่เพราะว่ามันไม่ดีทั้งฉบับ ท่านเลยต้องเขียนใหม่ทั้งฉบับ แล้วก็ประเด็นก็คือว่าผู้ที่จะให้มาเขียนเท่ากับว่าต้องให้มีสสร. เป็นองค์กรเฉพาะกิจขึ้นมาทำเฉพาะเรื่องเอาอำนาจรัฐสภาที่มีหน้าที่แก้ไข เพิ่มเติม รัฐธรรมนูญเพิ่มเติมได้เนี่ย มอบอำนาจให้มีสสร.ไปร่างขึ้นมาใหม่ ตรงนี้นะครับ มันเป็นปัญหา ทั้งในเรื่องเนื้อหาและวิธีการผมมีข้อกังวลและเพื่อนสมาชิกวุฒิสภากังวลหลายท่าน ไม่ว่าจะเป็นท่านคำนูณ สิทธิสมาน ท่านก็ให้เหตุผลรายละเอียดไปบ้างแล้ว พลเอกสมเจตน์ บุญถนอมได้ให้ข้อห่วงใยและได้เสนอแนะเอาไว้แล้ว ผมเองก็อยากขยายความตรงนี้ครับ เมื่อท่านได้เป็นนายกรัฐมนตรีแล้วหรือไม่ก็ตาม เมื่อได้เป็นก็ต้องน่าจะทำเรื่องเหล่านี้ให้ชัดเจน

ประการแรกครับ การที่จะเสนอให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้สสร.มายกร่างเนี่ย มีคำถามที่ต้องช่วยกันตอบให้ชัดเจนอยู่หกข้อ 

ข้อหนึ่งทำไมต้องมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ครับ ท่านจะต้องแก้เรื่องอะไรที่มันสำคัญ แก้เรื่องเหล่านั้นได้เพื่อให้ใครได้ประโยชน์อะไร เรื่องนี้ต้องชัดเจนนะครับ ท่านต้องเขียนให้ชัดในเชิงหา เนื้อหาในรายละเอียดที่จะต้องแก้นั้นเนี่ยมันมีมากแค่ไหน มันมีมากที่จะต้องทำทั้งฉบับหรือไม่ บางมาตราเนี่ยคนที่อยู่ในแวดวงการเมือง คนที่มีประสบการณ์ในรัฐสภา สว. หลายท่าน ท่านก็บอกไว้ว่าอันตราย

นอกจากเรื่องสถาบันหลักของชาติแล้ว ก็ยังมีเรื่องอื่นๆ บางคนยกขึ้นมาว่า มาตรา 144 เรื่องแทรกแซงงบประมาณโดย สส. สว. เรื่องของมาตรา 235 เรื่องจริยธรรม ประพฤติไม่ชอบ ทุจริต ที่ให้เกิดคดีนักการเมืองทุจริตแล้วต้องขึ้นศาลอาญา แผนกคดีอาญานักการเมือง ตรงนี้เนี่ย ท่านจะเอาอย่างไร แล้วก็ความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายนิติบัญญัติโดยสภา จะมีสองสภา สภาเดียว ฝ่ายบริหาร มีขอบเขตอะไรอย่างไร นโยบายจะกว้างขวางแค่ไหน เลือกอะไรมาทำก็ได้ใช่หรือไม่ การปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์แห่งชาติไม่ดีไม่จำเป็นต้องยกเลิกใช่หรือไม่อย่างไร เรื่องเหล่านี้จำเป็นจะต้องขยายความ 

อันต่อไปก็คือว่าวิธีการที่จะทำตามรัฐธรรมนูญมันจะทำได้อย่างไรในเมื่อมาตรา 256 ที่ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำได้เฉพาะการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญก็มีคำวินิจฉัยแล้วในคราวที่แล้วที่มีคณะสส.ได้เสนอมา เรื่องนี้ก็เป็นประเด็นปัญหา เพราะฉะนั้นการที่จะให้ทำประชามติ ท่านต้องมีรายละเอียดที่ชัดเจน ไม่อย่างนั้นท่านจะเอาคำถามอะไรไปถามประชาชน

การที่มีมติครม.ท่านจะให้ทำประชามติเพื่อปรึกษาหารือประชาชนทั้งประเทศใช่ไหมครับ ว่าควรจะทำอย่างไรกับรัฐธรรมนูญอย่างกว้างๆ หรือต้องมีรายละเอียด ผมคิดว่าทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ

สุดท้ายในเรื่องรัฐธรรมนูญเนี่ยเราจะต้องเปรียบเทียบนะครับ สิ่งที่เราจะได้มาจากการแก้แบบของท่าน ที่ท่านเสนอเนี่ย กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยวิธีการอื่น อะไรจะต้องเสียเวลาเสียค่าใช้จ่ายมากกว่ากัน และอะไรที่จะเกิดประโยชน์ต่อประชาชน ผมคิดว่าเรื่องนี้ต้องพูดให้ชัด และก็เรื่องนี้ทั้งเรื่องคุณสมบัติความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ความสามารถในการนำพาประเทศแล้ว เรื่องรัฐธรรมนูญก็เป็นเรื่องสำคัญ สองเรื่องนี้ถ้าอธิบายไม่ได้ชัดเจน ท่านก็จะได้รับเสียงสนับสนุนที่น้อยลง”  

You May Also Like
อ่าน

รวมตารางกิจกรรม ทำเดินสายอธิบายกติกา ชวนมาร่วมเปลี่ยนสว.

พร้อมแล้ว!! เดินสายทั่วประเทศ ชวนทุกคนมาทำความรู้จักระบบการเลือกสว. ชุดใหม่ จากการ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” อันซับซ้อน มาทำความเข้าใจขั้นตอน วิธีการเลือก ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร รวมถึงช่องทางการมีส่วนร่วมที่ประชาชนสามารถทำได้ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น มาร่วมเปลี่ยนสว. กันเถอะ
อ่าน

อยากสมัคร สว. 67 ดูด่วน กกต. ออกระเบียบ สร้างเงื่อนไขการแนะนำตัวผู้สมัคร

กกต. ออกระเบียบการแนะนำตัวผู้สมัคร สว. 67 วางเงื่อนไขในการแนะนำตัวของผู้สมัครอย่างเข้มข้น โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 27 เมษายน 2567 เป็นต้นไป