กกต. เพิ่งบอก เข้าชื่อออนไลน์ไม่ได้ 4 หมื่นชื่อตกน้ำทันที ขอประชาชนเร่งระดมเซ็นในกระดาษ

22 สิงหาคม 2566 รองเลขธิการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้คำตอบตัวแทนกลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญว่า ไม่สามารถใช้ลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ในการเข้าชื่อเสนอคำถามตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ ทำให้มากกว่า 4 หมื่นชื่ออาจไม่ถูกนับ
เครือข่ายฯ เคยสอบถามไปยัง กกต. ตั้งแต่ปี 2565 และได้รับหนังสือชี้แจงหมายเลข ลต 0012/2565 เมื่อ 24 พฤศจิกายน 2565 ว่า “การเข้าชื่อเพื่อเสนอคำถามประชามติ ไม่ได้กำหนดวิธีการลงชื่อเอาไว้” เพียงต้องมีรายละเอียดเลขบัตรประจำตัวประชาชน ชื่อ-สกุล และลายเซ็น ในรูปแบบของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ และบันทึกลงบนแผ่น CD หรือแฟลชไดร์ฟมาส่งด้วยเท่านั้น 
ต่อมากมีผู้พยายามนัดหมาย กกต. เพื่อสอบถามตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 แต่ได้รับการตอบกลับมาอย่างกำกวม ไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่าลงรายชื่อออนไลน์ได้หรือไม่
ต่อมา ก่อนการเริ่มแคมเปญ “เขียนใหม่ทั้งฉบับ เลือกตั้ง 100%” กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญได้ติดต่อไปหา กกต. ทางโทรศัพท์เพื่อสอบถามว่าการลงชื่อออนไลน์สามารถทำได้หรือไม่ แต่ไม่ได้รับคำตอบ กกต. ขอให้เป็นการนัดพูดคุยแทน แต่ก็มีการเลื่อนนัดมาจนกระทั่งได้พบกันในวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ซึ่ง กกต. แจ้งว่าไม่สามารถลงชื่อผ่านช่องทางออนไลน์ได้ 
รายชื่อทั้ง 57,800 กว่ารายชื่อของประชาชนจะถูกลดหายไปมากกว่า 40,000 รายชื่อ ทำให้จำนวนรายชื่อที่ต้องใช้สำหรับการเข้าชื่อเสนอคำถามประชามติต่อรัฐบาลให้ทันการประชุม ครม. นัดแรกอาจไม่ถึง 50,000 รายชื่อที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย
กกต. ให้เหตุผลว่า การลงชื่อผ่านเว็บไซต์และพิมพ์ออกมาเป็นแบบฟอร์มนำส่ง กกต. ไม่สามารถทำได้ เนื่องจาก กกต. ไม่อยู่ภายใต้การกำกับ พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 มาตรา 4 เพราะเป็นองค์กรอิสระ แตกต่างจากการเข้าชื่อเสนอกฎหมายอื่นๆ ที่สามารถใช้ลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ได้ 
วีระยังกล่าวว่า กกต. เคยส่งหนังสือตอบข้อสอบถามจากหัวหน้าพรรคก้าวไกล ลงวันที่ 21 มีนาคม 2566 ในหัวข้อเช่นเดียวกันนี้ รวมถึงอัปโหลดเอกสารดังกล่าวลงเว็บไซต์ของ กกต. เรียบร้อยแล้ว ทว่าการสืบค้นแล้วยังไม่พบเอกสารดังกล่าว ตามที่ กกต. แจ้ง
ทั้งนี้ ตามกระบวนการที่ กกต. แจ้ง หลังประชาชนกรอกแบบฟอร์มในกระดาษพร้อมลงลายมือชื่อ ผู้เสนอจะต้องนำรายชื่อดังกล่าวมาสแกนให้เป็นไฟล์ PDF และกรอกข้อมูลทั้งหมดเป็นไฟล์ Excel นำส่ง กกต. ในรูปแบบ CD และ กกต. จะใช้เวลาตรวจสอบรายชื่ออีกไม่เกิน 30 วัน เป็นกระบวนการที่สร้างภาระเกินความจำเป็น โดยเฉพาะกับประชาชนที่ต้องการจะใช้สิทธิของตนเองตามกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม เราจะไม่ยอมแพ้ และพยายามรวบรวมรายชื่อส่ง กกต. เพื่อเสนอให้ทันการประชุม ครม. นัดแรกตามเจตนารมณ์เดิมที่เคยประกาศไว้กับประชาชน จึงขอความช่วยเหลือจากประชาชนที่เคยเข้าชื่อในรูปแบบออนไลน์ไปก่อนหน้านี้ รวมถึงผู้ที่ยังไม่ได้ลงชื่อ หรือผู้ที่ลงชื่อไปแล้วแต่ต้องการเชิญชวนคนอื่นๆมาลงชื่อให้มากยิ่งขึ้น ช่วยกันรวมรายชื่อในรูปแบบกระดาษ แล้วส่งมายังโต๊ะเข้าชื่อที่ใกล้ที่สุดอีกครั้ง ภายในวันที่ 25 สิงหาคม 2566 ก่อนเวลา 20.00 น. และร่วมลุ้นความพยายามที่จะมีรัฐธรรมนูญใหม่ที่มาจากประชาชนทุกคนร่วมกันในวันเสาร์ที่ 26 สิงหาคม 2566
จากข้อจำกัดดังกล่าว ประชาชนไทยผู้มีสิทธิเลือกตั้งเหลือเวลาอีก 3 วัน ในการเข้าชื่อในกระดาษ ขอให้ทุกคนตามหาจุดลงชื่อจากเว็บไซต์ conforall.com ส่งรายชื่อให้ทัน และช่วยกันบอกต่อ จนกว่าเราจะได้รายชื่อแบบกระดาษทะลุ 50,000 รายชื่ออีกครั้ง
“เราเชื่อว่าทุกคนมีแรงใจ ทุกคนทำได้ ช่วยกันเขียนรายชื่อใส่กระดาษแล้วส่งมา เราจะทำทุกวิถีทางให้คำถามประชามตินี้ถูกเสนอไปยัง ครม. ให้ได้” ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล ตัวแทนกลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญกล่าว
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ ย้ำว่า เราไม่ได้เห็นด้วยกับวิธีการของ กกต. แต่เราจะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อเสนอคำถามประชามตินี้ให้ได้ ถ้าทุกคนเข้าใจว่าทำไมต้องเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ได้ทั้งฉบับ และสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ต้องมาจากการเลือกตั้ง 100% เพื่อเดินหน้ารัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เราจำเป็นต้องขอแรงประชาชนสร้างปาฏิหาริย์อีกครั้ง
รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนจงเจริญ
เครือข่ายประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ