Q&A ทุกคำถามในแคมเปญ #เขียนใหม่ทั้งฉบับเลือกตั้ง100เปอร์เซ็นต์!!!

เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2566 หลังภาคประชาชนเปิดแคมเปญ “เขียนใหม่ทั้งฉบับ เลือกตั้ง 100%” ชวนประชาชนเข้าชื่อเสนอทำประชามติต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อเป็นขั้นแรกไปสู่การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่โดยประชาชน ตามกลไกของ พระราชบัญญัติ ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564  (พ.ร.บ.ประชามติ) ที่ต้องการรายชื่อของประชาชนผู้สนใจจะมีส่วนร่วมถึง 50,000 รายชื่อ ประชาชนจำนวนอาจจะสงสัยว่า ต้องทำอย่างไร หรือมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง
ไอลอว์จึงขอรวมคำถามที่พบได้บ่อยรวมไปถึงข้อมูลพื้นฐานสำคัญสำหรับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการช่วยกันเขียนรัฐธรรมนูญใหม่เอาไว้ดังนี้

Q1: ประชาชนสามารถยื่นขอทำประชามติเองได้หรือ

A1: ประชาชนสามารถยื่นขอทำประชามติเองได้ อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ประชามติ 2564 มาตรา 9(5) ที่กำหนดให้ประชาชนอย่างน้อย 50,000 คนสามารถเข้าชื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ความเห็นชอบในการจัดทำประชามติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. กำหนดได้

Q2: แคมเปญ #เขียนใหม่ทั้งฉบับเลือกตั้ง100เปอร์เซ็นต์ ใครเป็นผู้จัด

A2: จัดโดย “กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ” ซึ่งเป็นการรวมตัวเฉพาะกิจระหว่างเครือข่ายนักกิจกรรมและภาคประชาสังคมจำนวนมาก 

Q3: ใครบ้างที่สามารถลงชื่อด้วยได้

A3: “ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง” ทุกคนสามารถเข้าชื่อในแคมเปญ #เขียนใหม่ทั้งฉบับเลือกตั้ง100เปอร์เซ็นต์ คือถ้าอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์และมีสัญชาติไทยก็ลงชื่อได้เลย!

Q4: ร่วมลงชื่อได้ในช่องทางไหนบ้าง

A4: สามารถเข้าร่วมแคมเปญนี้ได้ผ่านสามช่องทาง คือ 
1) ลงชื่อได้ ณ จุดตั้งโต๊ะลงทะเบียน ซึ่งสถานที่ตั้งโต๊ะสามารถดูได้ที่ conforall.com 
2) ดาวน์โหลดแบบฟอร์มมาพิมพ์และกรอกให้เรียบร้อย ก่อนจะส่งไปรษณีย์มาที่ “ตู้ ปณ.79 ปณศ.สามเสนใน เขตพญาไท กทม. 10400” (เน้นย้ำ ต้องส่งไปรณีย์ไทยเท่านั้น!) 
3) ดาวน์โหลดแบบฟอร์มมากรอก แล้วส่งให้เราที่อีเมลล์ [email protected]
4) ลงชื่อออนไลน์ได้ทาง conforall.com
อย่างไรก็ตาม เราอยากให้ร่วมลงชื่อกันในรูปแบบกระดาษมากกว่าช่องทางออนไลน์ เนื่องจากประกาศของ กกต. ไม่ได้ระบุเอาไว้อย่างชัดเจนว่าสามารถรวบรวมรายชื่อในรูปแบบออนไลน์ได้หรือไม่ จึงต้องการรวบรวมรายชื่อในรูปแบบของกระดาศให้ครบ 50,000 รายชื่อก่อนเป็นหลัก

Q5: ต้องใช้สำเนาบัตรประชาชนด้วยหรือไม่

A5: ไม่ต้องแล้ว อ้างอิงตาม ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการกรณีประชาชนเข้าชื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบในการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2565 ข้อ 5(2) ระบุว่า เพียงแค่มีการกรอกเลขบัตรประชาชน ลงชื่อและนามสกุล พร้อมทั้งมีลายเซ็น ก็เพียงพอในการลงชื่อแล้ว
ดังนั้น ไม่ต้องใช้บัตรประชาชนหรือสำเนาบัตรประชาชนแต่อย่างใด แค่มาลงชื่อในกระดาษแบบฟอร์มให้ถูกต้องก็เพียงพอ

Q6: มีระยะเวลาเท่าไหร่ในการเข้าร่วมแคมเปญนี้

A6: กฎหมายไม่ได้ระบุเอาไว้ว่า ขั้นตอนการรวบรวมรายชื่อต้องใช้ระยะเวลาภายในกี่วัน แต่เราหวังว่าจะรวบรวมรายชื่อทั้งหมด 50,000 รายชื่อได้ภายในเจ็ดวัน คือ ตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม ถึงวันที่ 20 สิงหาคม 2566 เพื่อให้ทันส่งรายชื่อเสนอให้รัฐบาลชุดใหม่ ภายในการประชุม ครม. นัดแรก 
ดังนั้น รายชื่อทั้งหมดจะต้องส่งถึงพวกเราภายในวันที่ 20 สิงหาคม 2566 เวลา 20.00 น. 

Q7: ลงชื่อทางออนไลน์ไปแล้ว ต้องลงชื่อที่จุดลงชื่ออีกไหม

A7: ไม่ต้อง ลงชื่อวิธีใดวิธีหนึ่งเท่านั้น เช่น ลงชื่อออนไลน์ไปแล้ว ไม่ต้องลงชื่อแบบกระดาษ
แต่เราอยากได้แบบกระดาษมากที่สุด เพราะระเบียบ กกต. ยังไม่ชัดเจนว่าลงออนไลน์ได้หรือไม่

Q8: หากต้องการจะอาสาตั้งโต๊ะเข้าชื่อบ้าง สามารถทำอย่างไรได้บ้าง

A7: ลงทะเบียนกับพวกเราได้ที่ conforall.com แล้วดาวน์โหลดแบบฟอร์มเพื่อนำไปรวบรวมรายชื่อได้ทันที ก่อนจะนำรายชื่อที่รวบรวมได้ส่งไปรษณีย์กลับมาให้เรา ณ “ตู้ ปณ.79 ปณศ.สามเสนใน เขตพญาไท กทม. 10400” (เน้นย้ำ ต้องส่งไปรณีย์ไทยเท่านั้น!) 
หรือ สแกนแล้วส่งให้เราที่อีเมลล์ [email protected] ภายในวันที่ 20 สิงหาคม 2566 ก่อนเวลา 20.00 น.

Q9: รายชื่อที่รวบรวมได้ทั้งหมด จะถูกนำไปเสนออย่างไรต่อ

A8: รายชื่อทั้งหมดจะถูกนำไปยื่นต่อ กกต. ซึ่ง กกต. มีอำนาจในการตรวจสอบความถูกต้องของการเข้าชื่อให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน หลังจากนั้น กกต. จะส่งเอกสารทั้งหมดให้แก่สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อให้คณะรัฐมนตรีตรวจสอบและพิจารณา หากรัฐบาลเห็นชอบด้วยก็จะนำไปสู่การทำประชามติต่อไป

Q10: ทำไมไม่รอให้พรรคการเมือง ที่มีนโยบายจัดทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่แล้วทำเอง 

A9: เนื่องจากในคูหามีคำตอบแค่ “เห็นชอบ” และ “ไม่เห็นชอบ” ดังนั้นหากคำถามประชามติมีลักษณะที่กว้างเกินไป และประชาชนลงคะแนนเห็นชอบ ก็อาจจะกลายเป็นการเปิดโอกาสให้รัฐสภาที่ประกอบด้วย สส. และ สว. กำหนดเงื่อนไขบางประการที่จะเข้ามาควบคุมที่มาของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) หรือเนื้อหาของรัฐธรรมนูญใหม่ได้ภายหลัง 
ขณะเดียวกัน หากคำถามประชามติของพรรคการเมืองถูกเสนอผ่านคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ไปแล้ว ก็จะไม่สามารถแก้ไขได้ ประชาชนจึงควรเป็นผู้เสนอคำถามประชามติที่มีความรัดกุมด้วยตนเอง

Q11: ลงชื่อในการเสนอชื่อครั้งนี้แล้ว ยังต้องทำอะไรอีกเพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญใหม่

A10: การลงชื่อนี้เป็นเพียงขั้นแรกเท่านั้น การร่างรัฐธรรมนูญใหม่เป็นกระบวนการที่ไม่ง่าย หากเราสามารถรวบรวมรายชื่อได้ถึง 50,000 รายชื่อเพื่อเสนอต่อ ครม. ได้แล้ว ต่อไปประชาชนจะต้อง:
ไปลงประชามติว่า เราต้องการให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยมีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เป็นผู้จัดทำ ถือเป็นการลงประชามติครั้งที่หนึ่ง
หากประชามติในข้อแรกได้รับการเห็นชอบ จะต้องมีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ในส่วนของมาตรา 256 ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เข้าสู่การลงมติร่วมกันของทั้งรัฐสภา เพื่อบรรจุให้ สสร. เข้าไปมีตัวตนและอำนาจทางกฎหมาย หากรัฐสภาผ่านร่างนี้แล้วจึงจะส่งกลับมาให้ประชาชนทำประชามติ นี่จึงเป็นการทำประชามติครั้งที่สอง
หากทั้งสองขั้นตอนแรกผ่านไปได้โดยดี ขั้นตอนที่สามของประชาชน คือ การออกไปเลือกตั้ง สสร. เพื่อหาผู้ที่เหมาะสมจะมาร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับให้ประชาชน
หลัง สสร. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ประชาชนจะออกไปทำประชามติอีกหนึ่งครั้งเพื่อรับรองรัฐธรรมนูญใหม่ ถือเป็นการทำประชามติครั้งที่สาม 
สรุปแล้ว ประชาชนจะต้องทำประชามติทั้งสิ้นสามครั้ง และเลือกตั้งทั้งสิ้นหนึ่งครั้ง เพื่อให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นของทุกคนนั่นเอง!