2 เงื่อนไข รัฐบาลใหม่ต้องทำเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่สภาวะปกติ

ความรู้สึกอึมครึมหลังการเลือกตั้งคือสัญญาณรอบล่าสุดของความไม่ปกติในการเมืองไทย กลไกต่าง ๆ ที่ถูกวางไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 โดยคณะรัฐประหารเมื่อเก้าปีที่แล้ว ออกมาทำงานกันอย่างพร้อมเพรียงเพื่อขัดขวางการจัดตั้งรัฐบาลของกลุ่มพรรคการเมืองที่สามารถรวบรวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร และมีแนวโน้มว่าความอึดอัดภายใต้ความบิดเบี้ยวของระบอบการเมืองในปัจจุบันจะถูกแปรเปลี่ยนให้กลายเป็นส่วนผสมของรัฐบาลที่เบี้ยวบิด ซึ่งตั้งอยู่ได้ด้วยอิทธิพลของคณะบุคคลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

ไม่ว่าจะหน้าตาเป็นอย่างไร แต่สิ่งที่รัฐบาลใหม่สามารถทำได้ในสภาวะไม่ปกติคือการเริ่มกระบวนการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่และคืนอำนาจให้ประชาชนทันทีที่เงื่อนไขของ สว. หายไปจากสมการ เพื่อให้ประชาชนได้แสดงเจตจำนงอีกครั้งในสนามที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย

ทำได้ทันที: เดินหน้าเขียนรัฐธรรมนูญใหม่

ต้นธารของความไม่ปกติของการเมืองไทยตลอดหกปีที่ผ่านมาคือรัฐธรรมนูญ 2560 อำนาจหน้าที่ของ ส.ว. และที่มาขององค์กรอิสระ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญหรือคณะกรรมการการเลือกตั้ง รวมตัวเป็นเหล่าองค์กรที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่มีอำนาจกว้างขวางในการกำหนดทิศทางของการเมืองไทย จนทำให้ไปสู่ทางตันดังที่เห็นในการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง 2566 การจะแก้ปัญหาใดจึงต้องลงไปจัดการที่ราก

แม้รัฐธรรมนูญ 2560 จะวางกลไกการแก้ไขไว้ซับซ้อนและยากลำบาก แต่ก็ใช่ว่าจะไม่สามารถแก้หรือร่างฉบับใหม่ได้หากรัฐบาลและพรรคการเมืองมีความจริงใจ ในภาคบังคับ การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องผ่าน “ประชามติสองครั้ง เลือกตั้ง สสร. หนึ่งครั้ง” คือ ให้รัฐสภาผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญสามวาระเพื่อเปิดทางไปสู่การร่างฉบับใหม่เสียก่อน จากนั้นก็จะต้องทำประชามติว่าประชาชนเห็นด้วยหรือไม่กับการแก้ไขนั้น หากมติมหาชนเห็นด้วย ถัดมาก็จะเป็นเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เพื่อให้เป็นกลไกหลักในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก่อนจะปิดท้ายด้วยการทำประชามติอีกครั้งเพื่อรับรองรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตาม ในคราวการแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2564 มีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่ารัฐสภามีอำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ เมื่อตุลาการข้างมากมีมติว่า “รัฐสภามีอำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญ แต่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องมีการทำประชามติก่อน” ก็มี สส. และ สว. บางส่วนที่ตีความว่าต้องทำประชามติก่อนสภาพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเสียก่อน และได้นำเหตุผลนี้มาอ้างเพื่อคว่ำการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ในวาระสาม เท่ากับว่าต้องทำ “ประชามติสามครั้ง เลือกตั้ง สสร. หนึ่งครั้ง”

การเพิ่มประชามติก่อนสภาพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงเป็นอีก “ทางเลือก” หนึ่งให้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่สามารถไปได้อย่างราบรื่นขึ้น ผู้ที่ตีความคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญไปอีกทางหนึ่งก็จะคลายกังวลและไม่มีเหตุใดมาอ้างเพื่อหยุดยั้งกระบวนการผ่านร่างแก่ไขรัฐธรรมนูญที่จะเกิดขึ้นในสภาอีก โดยเฉพาะหากประชาชนส่วนใหญ่ได้ออกเสียงในประชามติแล้วว่าต้องการให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยการริเริ่มประชามติครั้งแรกสามารถทำได้สามวิธีตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564 คือผ่านมติคณะรัฐมนตรี ผ่านมติของสภาโดยการเสนอของ ส.ส. หรือผ่านมติรัฐมนตรีโดยการเข้าชื่อของประชาชนอย่างน้อย 50,000 ชื่อ

โดยสรุป กระบวนการจึงเป็นดังนี้

  1. (ทางเลือก) ประชามติต้องการให้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ผ่านมติคณะรัฐมนตรี มติของสภาโดยการเสนอของ ส.ส. หรือมติรัฐมนตรีโดยการเข้าชื่อของประชาชนอย่างน้อย 50,000 ชื่อ
  2. ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญสามวาระ กำหนดวิธีการเลือก สสร. เพื่อเปิดทางไปสู่การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่
  3. ประชามติรับรองการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256
  4. เลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) โดยประชาชน เพื่อเป็นสภาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
  5. ประชามติรับรองร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อประกาศใช้อย่างเป็นทางการ
หากรัฐบาลใหม่เร่งเริ่มกระบวนการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ เช่น ในการประชุมครั้งแรก ครม. มีมติให้จัดทำประชามติทันที ประชาชนไทยก็อาจจะได้เดินเข้าคูหาเพื่อแสดงเจตจำนงต้องการร่างรัฐธรรมนูญใหม่อย่างเร็วภายในสิ้นปี 2566 นี้ หลังจากนั้นก็ให้ที่ประชุมรัฐสภาเดินหน้าพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดทางไปสู่การร่างฉบับใหม่ตามเจตจำนงของประชาชนในประชามติ ต่อด้วยการเลือก สสร. ซึ่งอาจจะทำได้อย่างเร็วประมาณกลางปี 2567 และประชามติอีกครั้งเป็นอันจบกระบวนการพร้อมประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยประชาชน
เนื่องการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นกระบวนการที่ยาวนานและมีหลายขั้นตอน สิ่งที่สำคัญที่สุดจึงต้องเริ่มกระบวนการให้เร็ว และให้ประชาชนมีโอกาสให้แสดงความต้องการของตนเอง ซึ่งรัฐบาลใหม่มีอำนาจในมือพร้อมที่จะทำให้เกิดขึ้นจริง

หลัง สว. หมดอายุ: นายกฯลาออกจับขั้วใหม่ หรือ คืนอำนาจให้ประชาชน

หลังการเลือกตั้ง สว. แต่งตั้งชุดพิเศษ กลายเป็นตำบลกระสุนตกที่ดึงดูดความสนใจของมหาชนทั่วทั้งประเทศ เนื่องจากยังมีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 272 โดย สว. ทั้ง 250 คนจะหมดวาระห้าปีในเดือนพฤษภาคม 2567 หรืออีกประมาณ 10 เดือน หลังจากนั้นก็จะรักษาการไปจนกว่าจะเลือก สว. ชุดใหม่แล้วเสร็จ ซึ่งคงกินเวลาไม่กี่เดือน แต่การเลือกนายกรัฐมนตรีในรอบนี้หมายความว่าพวกเขาอาจจะสามารถร่วมกำหนดอนาคตของประเทศไปได้อีกสี่ปีข้างหน้า
หากไม่มี สว. หรือไม่มีอำนาจพิเศษให้สภาแต่งตั้งร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี ประเทศไทยก็จะได้รัฐบาลใหม่ตั้งแต่การลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 เมื่อพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จากพรรคก้าวไกลได้เสียงเห็นชอบจาก ส.ส. เกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรจากคะแนนเสียงของแปดพรรคการเมืองรวมกัน แต่กลับไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีเพราะ สว. ส่วนใหญ่พร้อมใจกันไม่ลงคะแนนเสียงให้ โดยอ้างเหตุผลเรื่องข้อเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล
เมื่อพรรคอันดับหนึ่งไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ในสถานการณ์ไม่ปกติเช่นนี้ จึงกลายเป็นพรรคอันดับสอง พรรคเพื่อไทย ที่ได้กลายเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแทน แต่ก็ประสบปัญหาไม่ต่างกันจากเหล่า สว. แต่งตั้งที่ยังใช้อำนาจในมือของตนเองเพื่อต่อรองกำหนดหน้าตานายกรัฐมนตรีคนต่อไป โดยตั้งเงื่อนไขว่าจะไม่ยอมสนับสนุนแคนดิเดตคนคนใดก็ตามตราบใดที่ในพรรคร่วมรัฐบาลมีพรรคก้าวไกลอยู่ด้วย จนทำให้พรรคเพื่อไทยต้องไปหาเสียง สส. จากพรรคการเมืองอื่น ๆ เพิ่มเติม


แต่ไม่ว่าผลสุดท้ายหน้าตาของรัฐบาลจะออกมาเป็นอย่างไร รัฐบาลใหม่ก็จะเป็นส่วนผสมที่แปลกประหลาด ถูกตัดแต่งพันธุกรรมจนผิดเพี้ยนเพียงเพื่อให้ สว. รับได้ ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติเช่นนี้ รัฐบาลใหม่จึงอาจมาโดยถูกต้องตามกฎหมาย แต่ก็มีความชอบธรรมไม่เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ และเมื่อถึงช่วงกลางปี 2567 เมื่อ สว. แต่งตั้งหมดอำนาจและมี สว. สรรหาชุดใหม่ที่ไม่มีอำนาจพิเศษเข้ามาแทนที่ ส่วนผสมของรัฐบาลที่กระอักกระอ่วนนี้ก็ไม่ควรต้องอยู่ด้วยกันอีกต่อไป คำถามของประชาชนถึงส่วนผสมรัฐบาลที่พวกเขาฝันเห็นก่อนวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ก็จะเริ่มดังขั้นอีกครั้ง

รัฐบาลจากระบบไม่ปกติจึงควรมีอายุตราบเท่าที่เงื่อนไขพิเศษยังคงอยู่เท่านั้น โดยมีการเดินหน้ากระบวนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่เป็นภารกิจสำคัญ เมื่อ สว. แต่งตั้งพ้นจากอำนาจ สถานการณ์จะเริ่มกลับมาเป็นปกติในระดับหนึ่ง และรัฐสภาผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เปิดทางไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว รัฐบาลที่ไม่มีเหตุผลจะต้องอยู่ด้วยกันแล้วก็ควรจะต้องแยกทาง โดยสามารถทำได้สองทาง คือ นายกรัฐมนตรีลาออกและเปิดให้มีการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่โดย ส.ส. เท่านั้น ซึ่งจะนำไปสู่การจับขั้วทางการเมืองใหม่ในสภาวะปกติ หรืออาจจะเลือกคืนอำนาจให้ประชาชนด้วยการยุบสภา เพื่อล้างกระดานและให้พรรคการเมืองได้ลงสนามเลือกตั้งแข่งกันใหม่อีกครั้งในสมรภูมิที่เป็นธรรม โดยที่ประชาชนสามารถตัดสินใจได้ โดยไม่ต้องกังวลอีกต่อไปว่า สว. จะลงคะแนนให้กับพรรคการเมืองที่ตนเองเลือกหรือไม่