ฐปนีย์รับหมายคดี “หมิ่น ส.ส.” ในวันเสรีภาพสื่อโลก วิทิตร้อง UN สั่งยุติคดีการเมืองต่อเด็ก

งานเสวนาวันเสรีภาพสื่อโลก ฐปนีย์เผยเพิ่งได้รับหมายเรียกฐานหมิ่นประมาท จากการรายงานข่าวว่า ส.ส. ถูกร้องเรียนให้ตรวจสอบพฤติกรรม ศ.วิทิตยืนยันต้องยุติคดีการเมืองก่อนแล้วค่อยแก้กฎหมาย ร้ององค์กร UN สั่งยุติคดีอาญาต่อเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีที่แสดงออกทางการเมือง

เนื่องในโอกาสวันที่ 3 พฤษภาคม 2566 ตรงกับวันเสรีภาพสื่อโลก (World Press Freedom Day) องค์กรการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ร่วมกับสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (The Foreign Correspondents’ Club of Thailand: FCCT) จัดงาน World Press Freedom Day: Shrinking civic space in Thailand & its impact on journalism & human rights เพื่อหาคำอธิบายของสถานการณ์เสรีภาพสื่อในบริบทการ #เลือกตั้ง66 ที่กำลังมาถึง

ตัวแทนจากยูเนสโก โจ ฮิโรนากะ (Joe Hironaka) หัวหน้าแผนกด้านการสื่อสารและสารสนเทศ ยูเนสโก สาขากรุงเทพฯ ได้กล่าวเปิดงาน โดยพูดถึงการรับรองปฏิญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน สหประชาติ มาตรา 19 ที่คุ้มครองเสรีภาพสื่อและการแสดงออก ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1948 ดังนั้น การรณรงค์ด้านเสรีภาพสื่อในไทยปัจจุบัน จึงเป็นการตอกย้ำสิ่งที่บรรพบุรุษของไทยได้รับหลักการมาตั้งแต่สมัยก่อน

ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมามีแนวโน้มฆาตกรรมสื่อมวลชนมากขึ้น ในจำนวน 267 ราย มี 7 รายที่เกิดขึ้นในทวีปเอเชีย ซึ่งจำนวน 2 ใน 3 ไม่ได้เสียชีวิตในพื้นที่ที่เกิดความขัดแย้งรุนแรง แต่เกิดขึ้นในพื้นที่สาธารณะไปจนถึงในบ้านของตัวเอง ขณะเดียวกันกว่า 3 ใน 4 ของผู้สื่อข่าวหญิงรายงานว่า เคยถูกคุกคามไม่ว่าจะทางออนไลน์หรือในชีวิตประจำวัน

เมื่อเริ่มวงเสวนา ฐปนีย์ เอียดศรีไชย จากสำนักข่าว The Reporters เปิดเผยว่าในวันนี้เพิ่งได้รับหมายเรียกจากตำรวจในข้อหาหมิ่นประมาท เนื่องจากรายงานข่าวที่เกี่ยวข้องกับการยื่นร้องเรียน ส.ส. ระดับสูงคนหนึ่ง โดย ส.ส. ผู้แจ้งข้อกล่าวหานี้ต้องการที่จะแจ้งความเอาผิดกับสำนักข่าว The Reporters ที่มีฐปนีย์เป็นบรรณาธิการ รวมถึงได้ทราบมาว่า ส.ส. คนนี้กำลังแจ้งความเอาผิดกับสำนักข่าวและผู้สื่อข่าวที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้อีกเป็นจำนวนมาก

เหตุการณ์นี้ทำให้ฐปนีย์นึกถึงการถูกแจ้งความหมิ่นประมาทครั้งแรกเมื่อสิบกว่าปีก่อน เนื่องจากการรายงานข่าวคดีฆาตกรรมผู้หญิงรายหนึ่งจนถูกผู้ต้องหาแจ้งความ สิ่งที่ฐปนีย์แปลกใจ คือ การแจ้งความครั้งนั้นไม่ได้ต้องการเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน แต่ต้องการให้ฐปนีย์หยุดทำหน้าที่เป็นเวลา 5 ปี 

ต่อมาฐปนีย์ได้เล่าย้อนไปถึงช่วงปี 2557 ที่ประเทศไทยเกิดการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฐปนีย์ถูก ‘ข่มขู่’ จาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรัฐประหาร เนื่องจากการรายงานข่าวสถานการณ์ค้ามนุษย์ชาวไทยในธุรกิจประมงที่ประเทศอินโดนีเซีย จนทำให้ประเทศไทยถูกสหภาพยุโรประบุว่าขาดการควบคุมและรายงานผลเกี่ยวกับการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU – Illegal Unreported and Unregulated Fishing) และขู่ว่าฐปนีย์จะสามารถชดใช้มูลค่าความเสียหายของประเทศได้หรือไม่

การคุกคามตามมาอีกครั้งในปี 2558 เมื่อฐปนีย์รายงานข่าวกรณีผู้อพยพชาวโรฮิงญาในน่านน้ำไทย จนถูกคอมเมนต์บนโลกออนไลน์ตราหน้าว่าเป็นนักข่าว ‘ชังชาติ’ และแทบจะล้มเลิกการทำอาชีพนี้ไป 

อย่างไรก็ตาม การคุกคามสื่อหนักที่สุดช่วงเวลาหนึ่ง ฐปนีย์ระบุว่าอยู่ในปี 2563 ระหว่างการชุมนุมทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ยื่นคำร้องต่อกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือกระทรวง DE ให้ติดตามความเคลื่อนไหวของสำนักข่าวหลายแห่ง จนเป็นที่มาให้สำนักข่าว Voice TV ถูกระงับสัญญาณ สิ่งเหล่านี้เป็นภาพสะท้อนว่า ตราบใดที่สื่อมวลชนรายงานข่าวเรื่องอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับอำนาจรัฐและความมั่นคงก็จะปลอดภัย แต่หากเริ่มหันมารายงานข่าวประเภทนี้เมื่อไหร่ จะถูกคุกคามทั้งทางกฎหมายและทางสังคมทันที

ฐปนีย์กล่าวทิ้งท้ายว่า ในระหว่างที่กำลังเรียกร้องเสรีภาพ สื่อมวลชนเองก็ต้องมีความกล้าหาญพอที่จะรายงานด้วย เพราะมีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมาย เช่น กรณีผู้อพยพชาวอุยกูร์ หรือกรณีการค้ามนุษย์ในธุรกิจประมง ที่ไม่มีใครกล้ารายงาน 

“ถ้าประชาชนกล้าส่งเสียง แต่สื่อมวลชนไม่กล้าทำหน้าที่ส่งเสียงให้ประชาชน ก็อย่าเป็นเลยสื่อมวลชน” ฐปนีย์กล่าว

ศาสตราจารย์กิตติคุณ วิทิต มันตาภรณ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงสิ่งที่ต้องทำหากต้องการที่จะพยุงเสรีภาพการแสดงออกเอาไว้ โดยแบ่งออกเป็น 3 ข้อดังต่อไปนี้:

1) ต้องเคารพผลการเลือกตั้ง ห้ามเกิดรัฐประหารขึ้นอีก

2) ต้องเคารพมาตรฐานการแสดงออกและเสรีภาพสื่อสากล โดยเฉพาะปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อที่ 19

3) ต้องยกฟ้อง หยุดดำเนินคดีการเมืองที่ปิดกั้นเสรีภาพทุกคดี เปิดทางไปสู่การพูดคุยเพื่อแก้ไขกฎหมายต่อไป 

วิทิตเน้นย้ำว่า ประเทศไทยมีกฎหมายปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกเยอะเกินไป ทว่าไม่มีกระบวนการคัดกรองกฎหมายเหล่านั้นที่ดีพอ จึงนำมาสู่ปัญหาด้านสิทธิเสรีภาพที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ

วิทิตระบุว่า หลักการสากลของโลกอนุญาตให้จำกัดเสรีภาพการแสดงออกด้วยการดำเนินคดีอาญา (criminalize freedom of expression) ได้ก็ต่อเมื่อมีเงื่อนไขตาม 4 ข้อต่อไปนี้ คือ: 

1. ลามกอนาจารเด็ก 

2. ยุยงปลุกปั่นให้เกิดความเกลียดชัง ซึ่งอาจจะนำมาสู่การใช้ความรุนแรงหรือฆาตกรรม

3. ยุยงให้เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

4. การยุยงให้เกิดการก่อการร้าย 

หากไม่ได้มีความผิดตาม 4 ข้อข้างต้น การเอาผิดเพื่อทำลายเสรีภาพในการแสดงออกไม่ควรเกิดขึ้น

นอกจากนี้ วิทิตยังเรียกร้องไปยัง OHCHR และ UNESCO ซึ่งเป็นผู้จัดงานในวันนี้ว่า ควรยกข้อร้องเรียนไปยัง UN ให้เห็นสถานการณ์การดำเนินคดีอาญาต่อผู้ชุมนุมที่เป็นเด็กและเยาวชนที่แสดงออกและร่วมชุมนุม เพื่อให้สั่งยุติการละเมิดสิทธิคนอายุต่ำกว่า 18 ปีเหล่านี้ (Global Moratorium) ทั่วทั้งโลก ไม่ใช่แค่สำหรับประเทศไทย

ต่อมา โจนาธาน เฮด (Jonathan Head) ผู้สื่อข่าวประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำนักข่าว BBC ได้เล่าถึงสถานะของสื่อมวลชนที่เปลี่ยนไป โดยในอดีตสื่อมวลชน ‘ยุคทอง’ มีความสำคัญมาก ทว่าหลังสำนักข่าวรุ่นใหม่อย่าง VICE กำลังเข้าสู่สภาวะล้มละลาย ก็ยิ่งชัดเจนว่า การทำงานข่าวควบคู่ไปกับการทำเงินจากข่าวเป็นเรื่องที่ยากมาก จนนำมาสู่ยุคที่ทุกคนต้องสนใจยอด Engagement มากขึ้น

ขณะเดียวกันการทำงานของสื่อมวลชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ไม่ได้ง่ายนัก เมื่อประเทศอย่างเวียดนามและลาวมีเสรีภาพในการแสดงออกเป็นศูนย์ มีการฆาตกรรมสื่อมวลชนเป็นจำนวนมากในฟิลิปปินส์ มีสงครามกลางเมืองในเมียนมาจนประชาชนเหลือสื่อมวลชนเพียงแค่สื่อพลเมืองที่ทำหน้าที่กลางดงกระสุนอย่างยากลำบาก วิธีการจัดการและควบคุมสื่อมวลชนตามรูปแบบของประเทศจีนและลาว กำลังกลายเป็นรูปแบบที่หลายประเทศในภูมิภาคนี้สนใจที่จะนำมาปรับใช้

ต่อจากนั้นเฮดได้กล่าวถึงกรณีที่ใกล้เคียงกับการแจ้งความเอาผิดฐปนีย์โดยระบุว่า การแจ้งความหมิ่นประมาทกลายเป็นกฎหมายที่อันตรายต่อเสรีภาพสื่อเป็นอย่างมาก เนื่องจากหลายศาลมักรับฟ้องข้อกล่าวหาดังกล่าว ขณะที่สื่อมวลชนก็ไม่สามารถรายงานข่าวโดยละเลยรายละเอียดของเหตุการณ์ได้ โดยเฉพาะข่าวที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิต่างๆ จนทำให้เกิดการแจ้งความข้อหานี้ต่อสื่อมวลชนบ่อยครั้ง

กระบวนการต่อสู้ทางคดีก็ใช้ระยะเวลาที่นานและเงินที่สูง ต่อให้คดีถูกตัดสินว่าไม่มีความผิดก็ยังไม่มีใครอยากที่จะสู้คดีเช่นนี้อยู่ดี ด้วยเหตุนี้เฮดกล่าวว่าจึงแทบไม่มีการรายงานข่าวที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ของไทยเลย

ขณะเดียวกันเฮดและฐปนีย์เห็นพ้องกันว่า การเกิดขึ้นของสื่อพลเมืองเป็นสิ่งที่น่าสนใจ โดยเฉพาะในสถานการณ์สงครามกลางเมืองในเมียนมาและการชุมนุมที่มากขึ้นของประเทศไทย เนื่องจากสำนักข่าวกระแสหลักอาจไม่นำเสนอเหตุการณ์เหล่านี้ ขณะที่สำนักข่าวออนไลน์อื่นๆ ก็ไม่สามารถสังเกตการณ์สิ่งที่เกิดขึ้นได้ทั้งหมด อย่างไรก็ตามเฮดได้ระบุว่า สื่อพลเมืองมีความพร่าเลือนระหว่างความเป็นสื่อและความเป็นนักกิจกรรมทางการเมือง แต่พวกเขาก็ส่งผลต่อพัฒนาการของระบอบประชาธิปไตยเสรีได้ดีเช่นเดียวกัน

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage
Trending post