การประชุมนัดสุดท้ายของสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 25 เพื่อพิจารณาพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 พ.ศ. 2566 (พ.ร.ก. แก้ไข พ.ร.บ. ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ) ผลจบลงด้วย ส.ส. จากซีกรัฐบาลรวม 114 คน ร่วมกันเข้าชื่อเสนอต่อประธานสภาให้ส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัยว่า พ.ร.ก. เป็นไปตามเงื่อนไขที่มาตรา 172 กำหนดไว้หรือไม่
ผลลัพธ์คือทำให้สภาไม่มีโอกาสได้ลงมติเห็นชอบหรือคัดค้าน พ.ร.ก. แต่กลับต้องรอการพิจารณาไว้จนกว่าจะได้รับแจ้งคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งในระหว่างนี้บางมาตราของ พ.ร.บ. ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ ก็จะถูก “อุ้มหาย” ไปด้วย รวมถึงรัฐบาลที่จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบหาก พ.ร.ก. ไม่ได้รับความเห็นชอบก็จะหมดอายุตามสภาไปแล้ว
อำนาจสอบกฎหมายขัดลำดับชั้นของศาลรัฐธรรมนูญ
กรณีส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา พ.ร.ก. เลื่อน พ.ร.บ. ป้องกันการทรมานและอุ้มหาย ฯ เป็นการตรวจสอบเงื่อนไขในการตรา พ.ร.ก. ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 173 ที่กำหนดให้ก่อนที่สภา ส.ส. หรือ ส.ว. จะอนุมัติ พ.ร.ก. หากเห็นว่าขัดกับมาตรา 172 วรรคหนึ่ง ส.ส. หรือ ส.ว. จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของแต่ละสภา มีสิทธิเข้าชื่อเสนอต่อประธานสภาของตน เพื่อให้ประธานสภาส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และให้ชะลอ พ.ร.ก. ฉบับนั้นไว้ก่อน ซึ่งคำร้องที่จะยื่นนี้ต้องยื่นก่อนที่สภาจะมีมติอนุมัติหรือไม่อนุมัติเท่านั้น
อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญกับการวินิจฉัยปัญหาที่ว่ากฎหมายขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับลำดับชั้นของกฎหมาย โดยมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด และมีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) และพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ลดหลั่นกันมา ซึ่งกฎหมายลำดับชั้นต่ำกว่าจะขัดหรือแย้งต่อกฎหมายที่อยู่ลำดับสูงกว่าไม่ได้ ทั้งนี้ การตรวจสอบกฎหมายว่าขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น สามารถทำได้ทั้ง ‘ก่อน’ และ ‘หลัง’ ที่กฎหมายจะประกาศใช้ ทั้งนี้ก็เพื่อไม่ให้กฎหมายที่จะบังคับหรือบังคับไปแล้วนั้นไม่สร้างภาระให้แก่ประชาชน โดยศาลรัฐธรรมนูญจะมีอำนาจเฉพาะกฎหมายแม่บท หากเป็นกฎหมายที่ลำดับชั้นต่ำกว่าจะกลายเป็นอำนาจของศาลปกครองที่จะเป็นผู้วินิจฉัย
พ.ร.ก. ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ อีก 60 วันรู้ผล
การตรวจสอบเงื่อนไขในการตรา พ.ร.ก. ตามมาตรา 173 เป็นการตรวจสอบกฎหมายภายหลัง เพราะการออกพ.ร.ก. มีผลแล้วตั้งแต่ประกาศ ดังนั้น เมื่อส.ส. หรือ ส.ว. จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้า ของแต่ละสภาเข้าชื่อเสนอต่อประธานสภาของตน เพื่อให้ประธานสภาส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ขั้นตอนต่อมา คือ ประธานสภาฯ จะส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญภายใน 3 วันนับแต่วันที่ได้รับความเห็น ซึ่งระหว่างนั้นจะทำให้ พ.ร.ก. ที่ถูกส่งจะอยู่ในสภาพรอการพิจารณาจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย และยังมีผลบังคับใช้อยู่
ศาลรัฐธรรมนูญมีเวลาพิจารณา 60 วัน นับแต่ที่ได้รับเรื่องจากประธานสภาฯ หากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า พ.ร.ก. เป็นปัญหา ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่บัญญัติไว้ จะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า สองในสาม ของจำนวนตุลาการทั้งหมดที่มีอยู่ จะทำให้พ.ร.ก. ฉบับนั้นไม่มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ต้น และเมื่อพิจารณาเสร็จศาลรัฐธรรมนูญต้องส่งเรื่องกลับไปให้ประธานสภาฯ ที่ส่งความเห็นนั้นกลับมาด้วย
สำหรับข้อพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ จะพิจารณาในกรอบประเด็นของวัตถุประสงค์ในการตราเท่านั้น ซึ่งรัฐธรรมนูญระบุไว้สี่ประการ ได้แก่
- ประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ
- ความปลอดภัยสาธารณะ
- ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ
- ป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ
อย่างไรก็ดี ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่มีอำนาจวินิจฉัยในเรื่องที่ออกโดยเงื่อนไขในกรณีฉุกเฉินความจำเป็นรีบด่วนจนไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ โดยปล่อยให้เป็นดุลพินิจทางการเมืองของคณะรัฐมนตรีในการพิจารณาและตัดสิน
ฝ่ายค้านยันต้องให้สภาโหวต ด้านฝ่ายรัฐบาลล่าชื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญ
ก่อนหน้าที่สภาจะได้ส่งประเด็นให้ศาลวินิจฉัย นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมาย นำโดย ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล นักกฎหมายและรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ร่วมคัดค้าน พ.ร.ก. โดยตั้งคำถามถึงข้ออ้างดังกล่าวที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ยกขึ้นว่ายังไม่พร้อม อีกทั้ง เห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าการออก พ.ร.ก. ฉบับนี้ขัดต่อหลักการการออก พ.ร.ก.
ปริญญาเห็นว่าการร่าง พ.ร.ก. ฉบับนี้ไม่เป็นไปตามหลักรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 ที่ชี้หลักการออก พ.ร.ก. ว่าจะต้องออกในกรณีเหตุฉุกเฉินเร่งด่วน เพื่อรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติทางสาธารณะ ความไม่พร้อมของสำนักงานตำรวจแห่งชาตินั้นเป็นความบกพร่อง ไม่ใช่เหตุฉุกเฉินจำเป็นเร่งด่วนแต่ประการใด เพราะเหตุการณ์นี้ไม่ใช่เรื่องของภัยพิบัติสาธารณะ หรือภัยต่อประเทศชาติ ที่จำเป็นต้องออก พ.ร.ก. ให้อำนาจฝ่ายบริหาร แต่การเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายออกไปต่างหากที่จะทำให้เป็นภัยแก่ประชาชน
ด้านพรรคร่วมฝ่ายค้านได้ประกาศคว่ำ พ.ร.ก. เลื่อนบังคับใช้ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ก่อนการประชุม ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส. และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ย้ำจุดยืนไม่เห็นด้วยเพราะการออก พ.ร.ก. ไม่เข้าสี่เงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ แต่รัฐบาลอ้างถึงความไม่พร้อมเรื่องการใช้อุปกรณ์ ทั้งที่ในชั้นกรรมาธิการฯ หน่วยงานที่ต้องปฏิบัติยืนยันว่ามีความพร้อม และได้มีการทิ้งระยะเวลาการบังคับใช้กฎหมาย 120 วัน ประกอบกับทางฝั่งพรรคก้าวไกลโดยชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ก็ได้แถลงถึงจุดยืนของพรรคว่าเป็นไปตามมติพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่เห็นว่าพ.ร.ก. ฉบับนี้ออกโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเช่นกัน
สำหรับประเด็นเรื่องการยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ชลน่านเผยว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านจะยื่นเรื่องรวมรายชื่อในกรณีที่ ส.ส. รัฐบาลมีทีท่าจะผ่านความเห็นชอบร่าง พ.ร.ก. ฉบับนี้ ในขณะที่พรรคก้าวไกลระบุว่า พรรคไม่เห็นควรที่จะยื่นศาลรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นอำนาจเต็มของสภาผู้แทนฯ และจะเป็นการช่วยเตะถ่วงให้ พ.ร.ก. ที่ออกมาโดยมิชอบสามารถบังคับใช้ต่อไปเรื่อย ๆ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อประชาชน และคนที่จะได้ประโยชน์ที่สุดจากการยื่นศาลรัฐธรรมนูญ คือ ประยุทธ์เพราะไม่ต้องรับผิดชอบทางการเมืองใด ๆ หากสภาโหวตไม่อนุมัติ พ.ร.ก. ของรัฐบาล จึงยืนยันว่า ส.ส. ก้าวไกลจะไม่ร่วมยื่นคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ
ทางฝั่งพรรคร่วมรัฐบาล นิโรธ สุนทรเลขา ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ วิปรัฐบาล ให้สัมภาษณ์ก่อนประชุมพรรคร่วมว่าตนไม่เห็นว่าการออกพ.ร.ก.ฉบับนี้ขัดกับรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นเรื่องที่ต้องให้เวลาแก่หน่วยงานเพื่อความเรียบร้อย และไม่ได้มองว่ารัฐบาลมีเจตนาจะถ่วงให้ พ.ร.บ. ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ ถูกบังคับใช้ล่าช้า อีกทั้งยังเห็นว่าการเรียกร้องของฝ่ายค้านที่จะให้ลงมติคัดค้านพ.ร.ก ฉบับนี้ แม้สภาจะมีอำนาจ แต่หลังจากโหวตก็มักจะต้องส่งประเด็นให้ศาลรัฐธรรมนูญซึ่งทำให้สภาเสียหาย จึงเห็นควรส่งให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพื่อความรอบคอบ รวมถึงตนเห็นว่าในเรื่องนี้รัฐบาลไม่ต้องรับผิดชอบใด ๆ
ชินวรณ์ บุญยเกียรติ ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ เผยว่าแม้มติของพรรคร่วมฯ จะไม่เห็นด้วยกับการตรา พ.ร.ก. ฉบับดังกล่าว เพราะไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 แต่การให้ที่ประชุมสภาฯ ลงมตินั้นไม่เป็นประโยชน์ และเห็นว่าควรส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย หากฝ่ายค้านไม่สามารถรวมเสียงได้ก็ไม่สามารถที่จะลงมติคัดค้านได้แล้วจะทำให้จำต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกัน อีกทั้งยังเพิ่มเติมว่าหากกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้รับการอนุมัตินายกฯ ก็ต้องรับผิดชอบโดยตรง ซึ่งตนเห็นว่าไม่สวยงามที่พรรคร่วมรัฐบาลจะทิ้งกันในครานี้
“ทุกคนพูดตรงกันในพรรคร่วมรัฐบาลว่าช่วงนี้เป็นช่วงสุดท้ายแล้ว ถือเป็นช่วงวิกฤต หากกฎหมายนี้ไม่ได้รับการอนุมัติ นายกฯ ก็ต้องรับผิดชอบโดยตรง จึงเป็นเรื่องที่ไม่สวยงาม ที่พรรคร่วมรัฐบาลจะมาทิ้งพี่ ทิ้งเพื่อนในช่วงวิกฤตเช่นนี้ ดังนั้นต้องแสดงสปิริตในการร่วมมือกัน และไม่อยากเห็นนายกฯขาลอย เพราะมี ส.ส. เพียง 2 คน”
ดังนั้นเมื่อถึงการประชุมสภาฯ ในวันที่ 28 กุภาพันธ์ 2566 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของสภานี้ พ.ร.ก. แก้ไข พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ จึงไม่ได้รับการลงมติ เพราะในระหว่างที่ ส.ส. กำลังอภิปราย ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลก็ได้ล่ารายชื่อเพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา และเมื่อได้ชื่อครบแล้วประธานสภาก็สั่งปิดประชุมทันที
โดยจำนวน ส.ส. ที่เข้าชื่อยื่นส่งศาลรัฐธรรมนูญ พ.ร.ก. แก้ไข พ.ร.บ. ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ มีจำนวน 114 คน แบ่งเป็นตามพรรคดังนี้
- พรรคพลังประชารัฐ 42 คน
- พรรคประชาธิปัตย์ 29 คน
- พรรคภูมิใจไทย 30 คน
- พรรคพลังท้องถิ่นไท 5 คน
- พรรคเศรษฐกิจใหม่ 5 คน
- พรรคโอกาสไทย 1 คน
- พรรคชาติพัฒนากล้า 1 คน
- พรรครวมไทยสร้างชาติ 1 คน