เมื่อ 6 กรกฎาคม 2565 ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา (ส.ส. และ ส.ว.) มีนัดพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ร่างพ.ร.ป.การเลือกตั้งส.ส.) ซึ่งผ่านการพิจารณาของกรรมาธิการวิสามัญมาแล้ว โดย เป็นการพิจารณาลงมติรายมาตราไล่ทีละมาตราในวาระสอง
เหตุของการแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเรื่องการเลือกตั้งส.ส. สืบเนื่องมาจากการแก้รัฐธรรมนูญยกสอง ที่ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งเสนอโดย ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ แก้ไขเรื่องระบบเลือกตั้งจากเดิมที่รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม (Mixed Member Proportional: MMP) มีบัตรเลือกตั้งใบเดียว เป็นระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม (Mixed Member Apportionment: MMA) ร่างแก้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ผ่านการพิจารณาโดยรัฐสภาทั้งสามวาระ จนประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะมีผลต่อการกำหนดระบบเลือกตั้งครั้งถัดไป รัฐสภาจึงต้องแก้ไขกฎหมายลูกที่จะกำหนดรายละเอียดของการเลือกตั้ง
ในการพิจารณาร่างพ.ร.ป.การเลือกตั้งส.ส. วาระหนึ่งเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2565 รัฐสภารับหลักการร่างทั้งสี่ฉบับ ได้แก่ ร่างรัฐบาล, ร่างส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ร่างส.ส.พรรคเพื่อไทย และร่างส.ส.พรรคก้าวไกล ซึ่งร่างทั้งสี่ฉบับต่างกำหนดแก้ไขสูตรคำนวณส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ (Party-List) แบบ “หาร 100” ทว่า ในการพิจารณาวาระสอง มาตรา 23 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 128 ของพ.ร.ป.การเลือกตั้งส.ส. พ.ศ. 2561 ที่กำหนดสูตรคำนวณที่นั่งส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ เสียงข้างมากของรัฐสภากลับโหวต “พลิกล็อค” เทคะแนนให้สูตรคำนวณส.ส. แบบ “หาร 500” โดยมีส.ว.ชุดพิเศษ เป็นตัวแปรสำคัญทำให้สูตรคำนวณที่นั่งส.ส. เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ
โหวตสองรอบ พลิกสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อจากหาร 100 เป็นหาร 500
หลังรัฐสภารับหลักการร่างพ.ร.ป.การเลือกตั้งส.ส. ทั้งสี่ฉบับ เมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2565 ก็ได้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.) ซึ่งประกอบไปด้วยกมธ. ที่เป็น ส.ส. ส.ว. และกมธ. คนนอกที่ไม่ได้เป็นสมาชิกรัฐสภา เพื่อพิจารณารายละเอียดของร่างกฎหมายดังกล่าว ว่าแต่ละมาตราจะเขียนถ้อยคำอย่างไร ปรับแต่งเสริมเติมเนื้อหาร่างเพิ่มเติมจากร่างที่ผ่านการพิจารณาวาระหนึ่งมาแล้ว แต่ต้องไม่เกินกว่าหลักการใหญ่ที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ ตามระบอบประชาธิปไตยที่เคารพพื้นที่ของความหลากหลาย แม้กมธ. ข้างมากจะมีความเห็นว่าแต่ละมาตราควรเขียนด้วยข้อความอย่างหนึ่ง แต่กมธ. ข้างน้อย ก็สามารถเสนอ (สงวนความเห็น) ให้กำหนดเนื้อหามาตรานั้นๆ ต่างจากที่กมธ. ข้างมากเสนอก็ได้ ทำนองเดียวกัน บรรดาส.ส. หรือส.ว. ที่ไม่ได้เป็นกมธ. ก็สามารถเสนอ (แปรญัตติ) ให้กำหนดเนื้อหามาตรานั้นๆ ต่างจากที่กมธ. ข้างมากเสนอ ซึ่งสิ่งที่จะชี้วัดว่าเนื้อหาแต่ละมาตราของร่างกฎหมายควรจะเขียนถ้อยคำไว้อย่างไรจะอยู่ที่การลงมติรายมาตราในวาระสอง ว่าเสียงข้างมากของที่ประชุมรัฐสภาจะเห็นด้วยให้เขียนข้อความในแต่ละมาตราไว้อย่างไร
ในการพิจารณาร่าง พ.ร.ป.การเลือกตั้งส.ส. ชั้นกมธ. มาตรา 23 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.ป.การเลือกตั้งส.ส. มาตรา 128 กมธ. ข้างมากเคาะสูตรการคำนวณส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ “หาร 100” แต่ก็มีกมธ. ข้างน้อยขอสงวนความเห็น และมีผู้แปรญัตติ (ส.ส. หรือส.ว. ที่ไม่ได้เป็นกมธ.) ขอเสนอคำแปรญัตติหลายราย โดยสรุปได้ ดังนี้
ข้อเสนอ กมธ.ข้างมาก | ข้อเสนออื่นๆ | |
สูตรคำนวณส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ “หาร 100” | สูตรคำนวณส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ “หาร 100” (เขียนรายละเอียดต่างจากกมธ.ข้างมาก) | สูตรคำนวณส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ “หาร 500” |
ผู้เสนอ | ||
ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล (ส.ส.พรรคก้าวไกล) | ระวี มาศฉมาดล (กมธ. – ส.ส.พรรคพลังธรรมใหม่) | |
รังสิมันต์ โรม (ส.ส.พรรคก้าวไกล) | กิตติ วะสีนนท์, พลเอก อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ และพลอากาศตรี เฉลิมชัย เครืองาม (กมธ. – ส.ว.) | |
รศ. สมชัย ศรีสุทธิยากร (กมธ.) และอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ (กมธ. – ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์) | ||
พลตำรวจโท วิศณุ ม่วงแพรสี (ส.ส.พรรคเสรีรวมไทย) และมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ (ส.ส.พรรคไทยศรีวิไลย์) | ||
ปรีดา บุญเพลิง (ส.ส.พรรคครูไทยเพื่อประชาชน) | ||
ศาสตราจารย์โกวิทย์ พวงงาม (ส.ส.พรรคพลังท้องถิ่นไท) |
หลังจากพิจารณาในชั้นกมธ. แล้วเสร็จ ร่างกฎหมายก็จะถูกส่งกลับมาที่รัฐสภาเพื่อพิจารณาโหวตรายมาตราในวาระสองต่อไป ในส่วนของไฮไลท์สำคัญ ในร่างมาตรา 23 ซึ่งแก้ไขพ.ร.ป.การเลือกตั้งส.ส. มาตรา 128 กมธ. ข้างมากไม่ได้แก้ไขเนื้อหาร่างจากวาระหนึ่ง ยังคงยึดสูตรหาร 100 จากนั้นหลังจากที่ส.ส. และ ส.ว. อภิปรายมาตรา 23 แล้วเสร็จ ลำดับถัดมาก็จะเป็นการโหวต ซึ่งแบ่งออกเป็นสองครั้ง
รอบแรก เป็นการโหวตว่า ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา เห็นด้วยกับกมธ. ที่ไม่ได้แก้ไขเนื้อหาร่างมาตรา 23 จากร่างเดิมในวาระหนึ่ง หรือเห็นด้วยกับกมธ.ข้างน้อย และส.ส. ส.ว. ที่เสนอเนื้อหาอย่างอื่น โดยที่ประชุมรัฐสภามีมติเห็นด้วยกับกมธ.ข้างน้อย ส.ส. ส.ว. ที่เสนอเนื้อหาเป็นอย่างอื่น (ผู้สงวนความเห็นและผู้สงวนคำแปรญัตติ) ด้วยคะแนนเสียง 392 เสียง ขณะที่เสียงเห็นด้วยกับสูตรหาร 100 เวอร์ชั่นกมธ. ข้างมากมี 160 เสียง งดออกเสียง 23 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 2 เสียง เป็นผลให้สูตรหาร 100 เวอร์ชั่นกมธ. ตกไป แต่ก็ยังมีสูตรหาร 100 เวอร์ชั่นที่เสนอโดยส.ส.พรรคก้าวไกลอยู่ ซึ่งต้องไปวัดต่อในการโหวตรอบสอง
รอบสอง หลังจากโหวตรอบแรกจบ เพื่อให้ง่ายต่อการโหวตในรอบสอง บรรดาส.ส. ส.ว. หลายคนก็ทยอยถอดข้อเสนอของตัวเองเพื่อให้เหลือข้อเสนอของเพื่อนสมาชิกที่เสนอเนื้อหาคล้ายๆ กัน จนได้ออกมาเป็นสองข้อเสนอที่วัดโหวตกัน คือ
1. สูตรหาร 500 ตามข้อเสนอของ ระวี มาศฉมาดล กมธ. และส.ส.พรรคพลังธรรมใหม่
2. สูตรหาร 100 ตามข้อเสนอของปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.พรรคก้าวไกล ซึ่งเขียนรายละเอียดของมาตราแตกต่างจากสูตรหาร 100 แบบกมธ. ข้างมาก
โดยที่ประชุมรัฐสภา เห็นด้วยกับสูตรหาร 500 ตามข้อเสนอของระวี ด้วยคะแนนเสียง 354 เสียง ขณะที่เสียงเห็นด้วยกับสูตรหาร 100 ตามข้อเสนอของปกรณ์วุฒิ มี 162 เสียง งดออกเสียง 37 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 4 เสียง ส่งผลให้สูตรคำนวณที่นั่งส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ เปลี่ยนจากร่างเดิมจากที่กำหนดหาร 100 กลายเป็นหาร 500
ส.ว. ชุดพิเศษ ตัวแปรสำคัญดันสูตรหาร 500 พลิกเกมส์เลือกตั้งครั้งหน้า
ในการลงมติรอบแรก ว่าที่ประชุมรัฐสภาเห็นด้วยกับข้อเสนอของกมธ. ข้างมาก หรือเห็นด้วยกับผู้สงวนความเห็นและผู้สงวนคำแปรญัตติที่เสนอข้อเสนออื่นๆ ข้อเสนอสูตรหาร 100 ของกมธ. ข้างมากแพ้โหวต เนื่องจากคะแนนเสียงเทไปที่ข้อเสนออื่นๆ โดยคะแนนเสียงที่เทให้กับกมธ. ข้างมากที่เสนอสูตรหาร 100 ส่วนมากมาจากเสียงจากส.ส. พรรคเพื่อไทยถึง 112 เสียง มีเพียงเจ็ดเสียงจาก ส.ส.พรรคเพื่อไทยเท่านั้นที่เห็นด้วยกับข้อเสนออื่นๆ ซึ่งเป็นส.ส.เจ็ดคนที่เคยโหวตสวนมติพรรคในการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 และมีข่าวย้ายพรรค อาทิ สุชาติ ภิญโญ, ผ่องศรี แซ่จึง และจักรพรรดิ ไชยสาส์น
ด้านพรรคอื่นๆ มีเสียงที่เห็นด้วยกับสูตรหาร 100 ของกมธ. ข้างมากอยู่บ้างประปราย อาทิ พรรคเศรษฐกิจไทย เก้าเสียง พรรคประชาชาติ เสียงไม่แตก เห็นด้วย หกเสียง พรรคเพื่อชาติ เห็นด้วย ห้าเสียง พรรคจิ๋วที่มีส.ส. หนึ่งที่นั่ง มีสองเสียงที่เห็นด้วย คือ พรรคไทรักธรรม และพรรคพลังปวงชนไทย ส่วนพรรคฝ่ายค้านอย่างพรรคก้าวไกลนั้น ไม่โหวตเห็นด้วยกับสูตรหาร 100 ของกมธ. ข้างมาก แต่เทเสียงโหวตเห็นด้วยกับผู้สงวนความเห็นและผู้สงวนคำแปรญัตติยกพรรค
ขณะที่ฟากฝั่งพรรคใหญ่ในกลุ่มพรรคร่วมรัฐบาล ส่วนใหญ่เทเสียงเห็นด้วยกับผู้สงวนความเห็นและผู้สงวนคำแปรญัตติ โดยพรรคพลังประชารัฐ มีเพียง สองเสียงเท่านั้นที่เห็นด้วยกับสูตรหาร 100 ของกมธ. ข้างมาก ได้แก่ กฤษณ์ แก้วอยู่ และไพบูลย์ นิติตะวัน ซึ่งทั้งสองคนเป็นกมธ. ด้วย พรรคประชาธิปัตย์มี 11 เสียงที่เห็นด้วย เช่น จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์, ชินวรณ์ บุญยเกียรติ, สาธิต ปิตุเตชะ และ อันวาร์ สาและ ด้าน ส.ว. ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เล่นสำคัญที่มีส่วนทำให้เกิดการพลิกล็อคเป็นสูตรหาร 500 นั้น มีเพียงเจ็ดเสียงที่เห็นด้วยกับสูตรหาร 100 ของกมธ. ข้างมาก ได้แก่ 1) ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ 2) คำนูณ สิทธิสมาน 3) เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ 4) พลเดช ปิ่นประทีป 5) วันชัย สอนศิริ 6) สถิต ลิ่มพงศ์พันธุ์ และ 7) เสรี สุวรรณภานนท์
โหวตรอบแรก เห็นด้วยกับกมธ. ข้างมากที่ไม่มีการแก้ไข หรือเห็นด้วยกับผู้สงวนความเห็นและผู้สงวนคำแปรญัตติ | ||||
พรรค | เห็นด้วย (เห็นด้วยกับกมธ.ข้างมาก) | ไม่เห็นด้วย (เห็นด้วยกับข้อเสนออื่น) | งดออกเสียง | ไม่ลงคะแนนเสียง |
วุฒิสภา | 7 | 154 | 14 | 1 |
เพื่อไทย | 112 | 7 | 0 | 0 |
พลังประชารัฐ | 2 | 59 | 5 | 1 |
ภูมิใจไทย | 0 | 59 | 0 | 0 |
ประชาธิปัตย์ | 11 | 34 | 1 | 0 |
ก้าวไกล | 0 | 47 | 0 | 0 |
เศรษฐกิจไทย | 9 | 2 | 0 | 0 |
ชาติไทยพัฒนา | 1 | 5 | 0 | 0 |
เสรีรวมไทย | 1 | 5 | 1 | 0 |
ประชาชาติ | 6 | 0 | 0 | 0 |
เพื่อชาติ | 5 | 0 | 1 | 0 |
เศรษฐกิจใหม่ | 1 | 4 | 0 | 0 |
พลังท้องถิ่นไท | 0 | 4 | 0 | 0 |
รวมพลังประชาชาติไทย | 0 | 5 | 0 | 0 |
ชาติพัฒนา | 3 | 0 | 0 | 0 |
ครูไทยเพื่อประชาชน | 0 | 1 | 0 | 0 |
ไทยศรีวิไลย์ | 0 | 0 | 1 | 0 |
ไทรักธรรม | 1 | 0 | 0 | 0 |
ประชาธิปไตยใหม่ | 0 | 1 | 0 | 0 |
ประชาภิวัฒน์ | 0 | 1 | 0 | 0 |
พลเมืองไทย | 0 | 1 | 0 | 0 |
พลังชาติไทย | 0 | 1 | 0 | 0 |
พลังธรรมใหม่ | 0 | 1 | 0 | 0 |
พลังปวงชนไทย | 1 | 0 | 0 | 0 |
เพื่อชาติไทย | 0 | 1 | 0 | 0 |
หลังจากโหวตรอบแรกแล้วเสร็จ ลำดับถัดมาจึงเป็นการโหวตรอบสองซึ่งวัดระหว่างสูตรหาร 500 ที่เสนอโดยระวี และสูตรหาร 100 ที่เสนอโดยปกรณ์วุฒิ แต่เขียนข้อความรายละเอียดแตกต่างจากกมธ. ข้างมาก โดยสูตรหาร 100 แพ้โหวต เสียงที่โหวตเห็นด้วยกับสูตรหาร 100 มาจากพรรคเพื่อไทย 96 เสียง พรรคก้าวไกล 42 เสียง พรรคประชาชาติ หกเสียง พรรคเพื่อชาติ ห้าเสียง พรรคชาติพัฒนา สามเสียง เสรีรวมไทย หนึ่งเสียง และพรรคขนาดจิ๋วที่มีส.ส. หนึ่งที่นั่งสองเสียง คือ พรรคไทรักธรรม และพรรคพลังปวงชนไทย
ฟากพรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคประชาธิปัตย์ มีสี่เสียงที่เห็นด้วยกับสูตรหาร 100 ที่ถูกเสนอโดยส.ส.พรรคฝ่ายค้าน ซึ่งส.ส. กลุ่มนี้ก็โหวตเห็นด้วยให้กับสูตรหาร 100 ของกมธ. ข้างมากเช่นกัน โดยสี่เสียงนั้น มาจาก 1) กนก วงษ์ตระหง่าน 2) บัญญัติ บรรทัดฐาน 3) สุทัศน์ เงินหมื่น และ 4) อันวาร์ สาและ ส่วนส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ที่เหลือซึ่งโหวตเห็นด้วยกับสูตรหาร 100 ของกมธ. ข้างมาก เมื่อโหวตรอบสอง ส่วนใหญ่เลือกลงมติ “งดออกเสียง”
ผู้เล่นสำคัญในการลงมติร่างพ.ร.ป.การเลือกตั้งส.ส. อย่างวุฒิสภา มีส.ว. เพียงสามเสียงเท่านั้นที่ยังยืนกรานว่าเห็นด้วยกับสูตรหาร 100 ได้แก่ วันชัย สอนศิริ, สถิต ลิ่มพงษ์พันธุ์ และเสรี สุวรรณ์ภานนท์ ซึ่งทั้งสามคนก็โหวตเห็นด้วยกับสูตรหาร 100 ของกมธ. ข้างมากเช่นกัน
ฝั่งสูตรหาร 500 โดยข้อเสนอของระวี ได้รับคะแนนเสียงท่วมท้นจากส.ว. ถึง 150 เสียง จากพรรคพลังประชารัฐ 63 เสียง ไพบูลย์ นิติตะวัน ซึ่งโหวตเห็นด้วยกับสูตรหาร 100 ของกมธ. ข้างมากในรอบแรก ไม่ได้ลงมติในการโหวตรอบสอง พรรคภูมิใจไทยเสียงไม่แตก เทโหวตเห็นด้วยกับสูตรหาร 500 ถึง 59 เสียง พรรคประชาธิปัตย์ 37 เสียง และงูเห่าจากพรรคก้าวไกล ห้าเสียง ด้านพรรคเสรีรวมไทยก็ลงมติเห็นด้วยกับสูตรหาร 500 จำนวน ห้าเสียง ขณะที่พรรคขนาดจิ๋วที่มีส.ส. หนึ่งที่นั่ง มี ห้าเสียงที่โหวตเห็นด้วยกับสูตรหาร 500 ได้แก่ พรรคครูไทยเพื่อประชาชน พรรคไทยศรีวิไลย์ พรรคประชาธิปไตยใหม่ พรรคประชาภิวัฒน์ พรรคพลเมืองไทย พรรคพลังชาติไทย พรรคพลังธรรมใหม่ และพรรคเพื่อชาติไทย
โหวตรอบสอง เห็นด้วยกับสูตรหาร 500 (ระวี) หรือเห็นด้วยกับสูตรหาร 100 (ปกรณ์วุฒิ) | ||||
พรรค | เห็นด้วย (เห็นด้วยกับสูตรหาร 500) | ไม่เห็นด้วย (เห็นด้วยกับสูตรหาร 100) | งดออกเสียง | ไม่ลงคะแนนเสียง |
วุฒิสภา | 150 | 3 | 15 | 0 |
เพื่อไทย | 7 | 96 | 4 | 2 |
พลังประชารัฐ | 63 | 0 | 1 | 1 |
ภูมิใจไทย | 59 | 0 | 0 | 0 |
ประชาธิปัตย์ | 37 | 4 | 6 | 0 |
ก้าวไกล | 5 | 42 | 0 | 0 |
เศรษฐกิจไทย | 2 | 0 | 9 | 0 |
ชาติไทยพัฒนา | 5 | 0 | 1 | 0 |
เสรีรวมไทย | 5 | 1 | 0 | 0 |
ประชาชาติ | 0 | 6 | 0 | 0 |
เพื่อชาติ | 0 | 5 | 0 | 0 |
เศรษฐกิจใหม่ | 4 | 0 | 0 | 1 |
พลังท้องถิ่นไท | 4 | 0 | 0 | 0 |
รวมพลังประชาชาติไทย | 5 | 0 | 0 | 0 |
ชาติพัฒนา | 0 | 3 | 0 | 0 |
ครูไทยเพื่อประชาชน | 1 | 0 | 0 | 0 |
ไทยศรีวิไลย์ | 1 | 0 | 0 | 0 |
ไทรักธรรม | 0 | 1 | 0 | 0 |
ประชาธิปไตยใหม่ | 1 | 0 | 0 | 0 |
ประชาภิวัฒน์ | 1 | 0 | 0 | 0 |
พลเมืองไทย | 1 | 0 | 0 | 0 |
พลังชาติไทย | 1 | 0 | 0 | 0 |
พลังธรรมใหม่ | 1 | 0 | 0 | 0 |
พลังปวงชนไทย | 0 | 1 | 0 | 0 |
เพื่อชาติไทย | 1 | 0 | 0 | 0 |
ใจคนเปลี่ยนได้ ส่องส.ส. ส.ว. กลับใจ เปลี่ยนแนวการลงมติ
จากผลการลงมติสองรอบ พบว่ามีส.ส. และส.ว. บางส่วนที่เปลี่ยนแนวทางการโหวตในรอบที่สอง โดยมีทั้งโหวตพลิกขั้วสูตรคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อเป็นคนละสูตรในแต่ละรอบ และมีทั้งเลือกโหวต “งดออกเสียง” ในรอบที่สองแทน บางรายโหวตงดออกเสียงในรอบแรก และเลือกโหวตเห็นด้วยกับสูตรหาร 500 ในรอบสอง โดยส.ส. และส.ว. ที่เปลี่ยนแนวการลงมติ เช่น
กลุ่มโหวตพลิกขั้ว : กฤษณ์ แก้วอยู่ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ และกมธ. และเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ส.ว. รอบแรกโหวตเห็นด้วยกับสูตรหาร 100 ของกมธ. ข้างมาก แต่รอบสองโหวตเห็นด้วยกับสูตรหาร 500 ที่เสนอโดยระวี
กลุ่มซุ่มงดออกเสียงรอบแรก รอบสองโหวตสูตรหาร 500 : มงคลกิตต์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.พรรคไทยศรีวิไลย์
กลุ่มเห็นด้วยกับสูตรหาร 100 ของกมธ. ข้างมาก รอบสองงดออกเสียง ได้แก่
๐ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์, ชินวรณ์ บุญยเกียรติ, เทอดพงษ์ ไชยนันทน์ และสินิตย์ เลิศไกร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์
๐ นิกร จำนง ส.ส.พรรคชาติไทยพัฒนา
๐ โอชิษฐ์ เกียรติก้องชูชัย, เลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล, ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์, จิรวัฒน์ ศิริพาณิชย์ และคุณากร ปรีชาชนะชัย ส.ส.พรรคเพื่อไทย
๐ ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์, คำนูณ สิทธิสมาน และพลเดช ปิ่นประทีป ส.ว.
กลุ่มเปลี่ยนใจไม่ลงคะแนนเสียงรอบสอง : นิยม วิวรรธนดิฐกุล ส.ส.พรรคเศรษฐกิจใหม่ โหวตเห็นด้วยกับสูตรหาร 100 ของกมธ. ข้างมาก รอบสองโหวตไม่ลงคะแนนเสียง