จิรศักดิ์ ชูความดี สว.จากจังหวัดระนอง เป็นหนึ่งหกในสมาชิกวุฒิสภา ที่ถูกดีเอสไอออกหมายเรียกในชุดแรกให้มารับทราบข้อกล่าวหาฐาน “โกงการเลือกสว.” ซึ่งจิรศักดิ์เป็นสว. ที่มาจากจังหวัดระนอง ก่อนหน้านี้เขาไม่ได้อยู่ในความสนใจมากนักเพราะระนองไม่ใช่จังหวัดใหญ่ ได้สว. เพียงสองคน ต่างจากจังหวัดที่ได้ผลลัพธ์โดดเด่นอย่างบุรีรัมย์ จึงไม่ค่อยมีใครสนใจว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในการเลือกสว. ของจังหวัดระนอง
หลังสว.สายระนองมีชื่อขึ้นมาโดดเด่น จึงน่าสนใจว่าในวันเลือกสว.เกิดอะไรขึ้นบ้างกับผู้สมัครจากจังหวัดนี้ ต่อไปนี้เป็นข้อมูลเท่าที่ทราบ ที่ปรากฏออกมาในวันเลือกระดับประเทศของผู้สมัครสว. ที่มาจากจังหวัดระนอง
1. จังหวัดระนอง มีผู้สมัครที่ได้รับเลือกเป็นสว. สองคน คือ
1) จิรศักดิ์ ชูความดี อดีตรองอธิบดีกรมป่าไม้ อดีตผู้ตรวจการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้สมัครกลุ่ม 8 “สิ่งแวดล้อม” ที่บ้านอยู่เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ แต่ไปสมัครสว.ที่อำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง
จากประวัติของจิรศักดิ์ ซึ่งมีเป็นข้าราชการบำนาญ และมีประวัติการทำงานเป็นข้าราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาตลอด จิรศักดิ์ควรจะลงสมัครในกลุ่ม 1 ข้าราชการ เมื่อคนที่มีประวัติอย่างจิรศักดิ์มาสมัครในกลุ่ม 8 ก็ทำให้ผลสุดท้าย สว. จากกลุ่ม 8 เป็นอดีตข้าราชการถึงครึ่งหนึ่ง เป็นข้าราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 2 คน และอดีตผู้ว่าราชการจังหวัด ทำให้กลุ่มนี้ไม่ได้มีตัวแทนคนที่ประกอบอาชีพเกี่ยวกับพลังงานและอสังหาริมทรัพย์มีโอกาสได้เป็น สว.
2) นิรุตติ สุทธินนท์ อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้รับการแต่งตั้งโดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในปี 2565 โดยขณะนั้นรัฐมนตรีคือ อนุชา นาคาศัย จากพรรคพลังประชารัฐ และยังปฏิบัติหน้าที่มาจนถึงปี 2567 ก่อนการเลือกสว. แม้นิรุตติจะเขียนอาชีพตัวเองในเอกสารสว.3 ว่า นักธุรกิจ แต่นิรุตติ ลงสมัครสว. ในกลุ่ม 17 “ประชาสังคม” โดยเขียนอธิบายประสบการณ์ทำงานว่า เป็นอดีตนายกสโมสรไลออนส์ระนอง ได้รับรางวัลบุคคลสงเคราะห์ดีเด่นแห่งปี และศิษย์เก่าดีเด่นจากสถาบันจิตวิทยาความมั่นคงแห่งประเทศไทย สถาบันป้องกันประเทศ เคยศึกษาหลักสูตรผู้นำพอเพียงเพื่อความมั่นคงคลังสมอง วปอ. เพื่อสังคมรุ่นที่ 1 ซึ่งไม่ปรากฏข้อมูลใดว่า นิรุตติเคย “ประกอบอาชีพ” ในภาคประชาสังคม ครบ 10 ปี ซึ่งเป็นคุณสมบัติของผู้สมัครในกลุ่มนี้ได้


2. ทั้งจิระศักดิ์ ชูความดี และนิรุตติ สุทธินนท์ เป็นสว. ที่ชนะการเลือกแบบได้คะแนน “ล้นกระดาน” ชนะขาดทั้งสองรอบในการเลือกระดับประเทศจิรศักดิ์ ได้คะแนนในรอบเลือกกันเอง 30 คะแนน สูงเป็นลำดับที่ 5 ของกลุ่ม และในรอบเลือกไขว้ได้ 60 คะแนน สูงเป็นลำดับที่ 1 ส่วนนิรุตติ ได้คะแนนในรอบเลือกกันเอง 34 คะแนน สูงเป็นลำดับที่ 2 ของกลุ่ม และในรอบเลือกไขว้ได้ 63 คะแนน สูงเป็นลำดับที่ 1
ซึ่งก่อนวันเลือกจริง กกต. เตรียมกระดานสำหรับนับคะแนนมาโดยมีช่องนับคะแนนสูงสุดแค่ 50 คะแนนเท่านั้น แต่ผู้สมัครสองคนนี้ได้คะแนนมากกว่ากระดานที่เตรียมไว้ ทำให้ต้องนำกระดานแผ่นที่สองมาต่อเพิ่ม และผลปรากฏว่า แทบทุกกลุ่มมีผู้สมัครที่ได้คะแนนล้นกระดาน กลุ่มละ 6 คนเท่าๆ กัน

3. ระนอง ถือเป็นจังหวัดที่มีผู้สมัครสว. น้อยเป็นลำดับที่ 20 ของประเทศ คือ มี 281 คน โดยจังหวัดระนองมีห้าอำเภอ แต่ไม่ใช่ทุกอำเภอที่มีผู้สมัครสว. เข้ารอบระดับประเทศ
4. ผู้สมัครสว.จากจังหวัดระนองเข้าสู่การเลือกระดับประเทศครบ 40 คน โดยมีตัวแทนกลุ่มละ 2 คน โดยผู้สมัครหลายคนมีลักษณะการ “แพ็คคู่” กันมา คือ ผู้สมัครกลุ่มเดียวกันมาจากอำเภอเดียวกัน เช่น กลุ่มที่ 1 ข้าราชการ ผู้สมัครทั้งสองคนมาจากอำเภอกระบุรี กลุ่มที่ 4 สาธารณสุข ผู้สมัครทั้งสองคนมาจากอำเภอกระบุรี กลุ่ม 10 ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ ผู้สมัครทั้งสองคนมาจากอำเภอกระบุรี ซึ่งทั้งสามกลุ่มนี้โดยธรรมชาติผู้สมัครน่าจะเป็นคนที่อยู่อาศัยในเขตเมือง แต่ผู้ที่เข้ารอบกลับเป็นตัวแทนของอำเภอกระบุรีที่ไม่ปรากฏชัดว่าเหตุใดผู้สมัครจากลุ่มอาชีพเหล่านี้จึงได้รับความนิยมอย่างโดดเด่น ขณะที่กลุ่ม 13 วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี กลุ่ม 15 ผู้สูงอายุ กลุ่ม 18 สื่อสารมวลชน กลุ่ม 19 อิสระ กลุ่ม 20 อื่นๆ ผู้สมัครสองคน “แพ็คคู่” กันมาจากอำเภอเมือง

5. จากจำนวนผู้สมัครสว. ของระนองที่เข้าสู่ระดับประเทศ 40 คน มีเพียงสองคนที่ผ่านรอบเลือกกันเองและเข้าสู่รอบเลือกไขว้ ก็คือ จิรศักดิ์ และนิรุตติ ซึ่งเมื่อเข้าสู่รอบเลือกไขว้ก็ชนะแบบถล่มทลายทั้งสองคน ส่วนอีก 38 คนตกรอบเลือกกันเอง ซึ่งในจำนวนนี้ 22 คน ไม่มีคะแนนเลย หรือเรียกว่า กลุ่ม “พลีชีพ” ที่มาเพื่อลงคะแนนเลือกคนอื่นไม่แม้แต่จะลงคะแนนให้ตัวเอง โดยจังหวัดระนองเป็นจังหวัดที่ผู้สมัครไม่มีคะแนนเลยสูงที่สุด
นอกจากนี้ผู้สมัครสว.จากระนองคนอื่นที่ตกรอบเลือกกันเองยังตกรอบแบบ “ไม่มีทางสู้” คือ ได้คะแนนเดียวอีก 7 คน ได้สองคะแนน 6 คน มีเพียงกรรณิกา เอี้ยวตระกูล ผู้สมัครกลุ่ม 11 ที่พอมีทางสู้ได้มา 6 คะแนนและตกรอบ
จึงพอเห็นได้ว่า ผู้สมัครสว. จากจังหวัดระนองที่เข้ารอบระดับประเทศมีเพียง “ตัวท็อป” สองคนที่ได้คะแนนถล่มทลายเข้ารอบสุดท้ายและได้เป็นสว. แบบคะแนนสบายๆ ส่วนผู้สมัครที่เหลือ คือ มาแบบไม่มีลุ้น ลงคะแนนให้คนอื่นและกลับบ้านไปก่อนตั้งแต่เช้า หากกกต. เปิดเผยผลการลงคะแนนทุกรอบตั้งแต่ระดับอำเภอ น่าจะเห็นลักษณะการลงคะแนนที่ไม่ปกติแบบนี้ในจังหวัดเช่นเดียวกัน แต่ปัจจุบันมีเพียงผลการลงคะแนนระดับประเทศที่ได้จากผู้สังเกตการณ์ในวันจริงเท่านั้น
6. เมื่อพิจารณาประวัติของผู้สมัครสว. จากจังหวัดระนองที่เข้าสู่ระดับประเทศหลายคน ก็พบว่า จากเอกสารสว.3 น่าจะขาดคุณสมบัติไม่สามารถสมัครในกลุ่มนั้นได้ ตัวอย่างเช่น พูนธวัช เล่าประวัติชัย ผู้สมัครกลุ่ม 8 “สิ่งแวดล้อม” ที่เข้าสู่ระดับประเทศมากับจิรศักดิ์ ซึ่งมีโอกาสลงคะแนนให้จิรศักดิ์ทั้งในระดับจังหวัดและระดับประเทศ พูนธวัชเขียนเอกสารแนะนำตัวว่า อาชีพเกษตรกรรม เป็นอดีตคณะกรรมการเครือข่ายสถาบันเกษตรกรสวนยางระดับประเทศ ซึ่งควรจะสมัครในกลุ่มที่ 6 กลุ่มทำสวน แต่พูนธวัชยังเขียนอธิบายว่า เขารณรงค์ปลูกไม้ป่าในสวนยางเพื่อกักเก็บก๊าซเรือนกระจก และขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งการขายคาร์บอนเครดิต คือ การรับเงินแลกกับการมีต้นไม้อยู่ในที่ดินของตัวเองเพื่อเปิดช่องให้โรงงานอุตสาหกรรมสามารถปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เพิ่มมากขึ้นโดยถูกกฎหมาย เป็นช่องทางของเกษตรกรที่มีที่ดินสามารถทำเพื่อหารายได้ ไม่ใช่งานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จึงไม่ควรสมัครในกลุ่มสิ่งแวดล้อมได้ หากมีการตรวจสอบน่าจะถูกตัดสิทธิเพราะขาดคุณสมบัติ
หรืออีกตัวอย่าง คือ ดวงพร หิสวาณิชย์ ผู้สมัครกลุ่ม 17 “ประชาสังคม” ที่เข้าสู่ระดับประเทศมากับนิรุตติ ซึ่งมีโอกาสลงคะแนนให้นิรุตติ ทั้งในระดับจังหวัดและระดับประเทศ ดวงพรเขียนเอกสารแนะนำตัวว่า อาชีพเกษตรกรรม เคยเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายและมีค่าตอบแทนจากรัฐไม่ใช่ภาคประชาสังคม และเคยเป็นประธานสภาองค์กรชุมชุน ตั้งแต่ปี 2564 ซึ่งไม่ถึง 10 ปี จึงไม่ควรสมัครในกลุ่มอาชีพประชาสังคมได้ หากมีการตรวจสอบน่าจะถูกตัดสิทธิเพราะขาดคุณสมบัติ
นอกจากนี้ผู้สมัครจากจังหวัดระนองอีกหลายคนที่อาจขาดคุณสมบัติไม่สามารถสมัครสว. และมาลงคะแนนออกเสียงได้


7. จังหวัดระนองมีสส. คนเดียว คือ คงกฤษ ฉัตรมาลีรัตน์ จากพรรคภูมิใจไทย ที่ชนะทิ้งห่างอันดับสองจากพรรครวมไทยสร้างชาติเกือบเท่าตัว ซึ่งเป็นแชมป์เก่ามาตั้งแต่ปี 2562 และก่อนหน้านั้นยังเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่ได้ประโยชน์จากการรัฐประหารจึงอยู่ในตำแหน่งยาวตั้งแต่ 2555-2561