ฮานาน คาชอกกี (Hanan Khashoggi) เป็นภรรยาหม้ายของจามาล คาชอกกี (Jamal Khashoggi) นักเขียนและนักกิจกรรมที่มีชื่อเสียงจากการแสดงความคิดเห็นในเรื่องสิทธิสตรีและการเรียกร้องการปฏิรูปรัฐบาลซาอุดิอาระเบียและตะวันออกกลาง ต่อมาวันที่ 2 ตุลาคม 2561 จามาลเข้าไปที่สถานกงสุลซาอุดิอาระเบียในอิสตันบูล ตุรเคีย โดยฮานานรออยู่ที่ด้านนอกสถานกงสุลและนั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่เธอมีโอกาสได้พบหน้าสามีเนื่องจากจามาลถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยมภายในสถานกงสุล หน่วยข่าวกรองสหรัฐฯระบุว่า โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน (Mohammed bin Salman) มกุฎราชกุมารของซาอุดิอาระเบียเป็นผู้อนุมัติปฏิบัติการดังกล่าว ทั้งนี้ช่วงเวลาก่อนหน้าการเสียชีวิตของจามาลเกือบหนึ่งปี โทรศัพท์ของฮานานถูกโจมตีจากสปายแวร์เพกาซัส เชื่อได้ว่า มีการนำข้อมูลที่ได้จากการสอดส่องไปใช้ในการติดตามและสังหารสามีของเธอ นำไปสู่การฟ้องคดีที่มีบริษัท เอ็นเอสโอ กรุ๊ป (NSO) ผู้ผลิตสปายแวร์เป็นจำเลยในศาลสหรัฐฯ
ตามติดสามีผ่านโทรศัพท์ภรรยาก่อนก่อเหตุสังหารโหดกลางกรุงอิสตันบูล
หลังเหตุการณ์การสังหารจามาลผ่านไปเกือบสามปี ฮานานเพิ่งทราบว่า เธอตกเป็นเหยื่อของสปายแวร์เพกาซัสในฐานะเป้าหมายทางอ้อมเพื่อเข้าถึงตัวจามาลผู้ซึ่งเป็นเป้าหมายทางตรงที่รู้ดีว่า ตนเองมีความเสี่ยงจนระแวดระวังตัวในเรื่องความปลอดภัยเป็นอย่างมาก
ในการสืบสวนทางนิติวิทยาศาสตร์โดย Citizen Lab พบหลักฐานว่า โทรศัพท์แอนดรอยด์ทั้งสองเครื่องของฮานานถูกโจมตีด้วยเพกาซัสในช่วงเดือนเมษายน 2561 ทั้งนี้ Citizen Lab พบหลักฐานว่า มีความเป็นไปได้ที่เพกาซัสในโทรศัพท์ของฮานานจะถูกติดตั้งทางกายภาพ (ผู้ติดตั้งมีโทรศัพท์ของเหยื่อในมือและติดตั้ง) และระยะไกล เริ่มในเดือนพฤศจิกายน 2560 มีความพยายามในการติดตั้งสปายแวร์ในอุปกรณ์ของฮานานเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นช่วงที่ฮานานกำลังริเริ่มความสัมพันธ์กับจามาล เป็นการใช้เทคนิคการส่งข้อความที่ถูกออกแบบมาชักจูงให้เธอไปติดกับลิงก์อันตรายที่นำสู่การติดตั้งสปายแวร์เพกาซัสในโทรศัพท์ของเธอ วันที่ 26 พฤศจิกายน 2560 ฮานานได้รับข้อความซึ่งระบุไว้ว่า มีช่อดอกไม้ส่งไปให้เธอ หลังจากนั้นเธอจึงคลิกไปตามลิงก์ดังกล่าวและอาจนำสู่การติดตั้งสปายแวร์เพกาซัส โดย Citizen Lab ระบุในภายหลังว่า ลิงก์ดังกล่าวมีความเชื่อมโยงกับหน่วยงานในสาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์ วิธีการในการส่งลิงก์เพื่อหลอกล่อให้เป้าหมายกดลิงก์มีอีกชื่อเรียกว่า “ฟิชชิ่ง” (Phishing)
ต่อมาในเดือนเมษายน 2561 ระหว่างที่ฮานานทำงานเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินฮานานเดินทางมายังสนามบินนานาชาติดูไบ เธอถูกเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองของสาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์คุมตัวปิดตาและใส่กุญแจมือ ก่อนพาตัวไปยังห้องขังเพื่อไต่สวนสอบปากคำ มีการตั้งคำถามเกี่ยวกับจามาลและกิจกรรมของเขา โดยเจ้าหน้าที่ใช้เวลาสอบปากคำมากกว่า 17 ชั่วโมง ระหว่างนั้นเธอถูกยึดโทรศัพท์สองเครื่องที่เธอเคยใช้สื่อสารกับจามาล Citizen Lab วิเคราะห์ว่า มีความเป็นไปได้อย่างสูงว่า เพกาซัสถูกติดตั้งบนโทรศัพท์ของฮานานในเวลานี้ รายงานข่าวระบุว่า บิล มาร์แซค (Bill Marczak) นักคอมพิวเตอร์อาวุโสของ Citizen Lab ตรวจสอบพบว่า คนที่นำโทรศัพท์ของฮานานไปนั้นพยายามพิมพ์ชื่อเว็บไซต์ที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของ NSO แต่พิมพ์ผิดอยู่หลายครั้ง ต่อมาฮานานถูกคุมขังในบ้านเป็นเวลาสองเดือนและหลังได้รับการปล่อยตัวจึงกลับไปหาจามาลที่สหรัฐฯ
ฟ้อง NSO ฐานมีส่วนรู้เห็นการใช้งานสปายแวร์เพกาซัส
วันที่ 15 มิถุนายน 2564 ฮานานยื่นฟ้อง NSO บริษัทผู้ผลิตสปายแวร์เพกาซัสต่อศาลแขวงตะวันออก รัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา จากคำสั่งที่สืบเนื่องจากคำขอของจำเลยให้จำหน่ายคดี (Defendants’ motion to dismiss) ระบุข้อกล่าวหาเช่น การละเมิดกฎหมายเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ การบุกรุกทรัพย์สินและการสร้างความทรมานทางจิตใจทั้งโดยเจตนาและประมาท ฮานานระบุว่า NSO สร้าง พัฒนา จำหน่ายและช่วยเหลือการใช้เทคโนโลยีสปายแวร์ที่ล้ำสมัยแก่ลูกค้าทั่วโลก
วิธีการทางเทคนิคของลูกค้า NSO ในการนำมาซึ่งการควบคุมอุปกรณ์ที่ใช้เพกาซัสอย่างเบ็ดเสร็จมีทั้งหมดสามวิธีคือ
1. ทางไกลด้วยวิธี Zero-click
2. การติดตั้งลงบนอุปกรณ์ด้วยวิธีทางกายภาพ
3. การชักจูงเป้าหมายให้ติดตั้งสปายแวร์บนอุปกรณ์ผ่านข้อความที่มีลิงก์อันตราย (Phishing)
ในการเพิ่มโอกาสความสำเร็จของการติดตั้งสปายแวร์นี้ กลุ่มลูกค้าดังกล่าวจะสามารถเลือกวิธีใดวิธีหนึ่งหรือมากกว่านั้นในการดำเนินการแทรกซึม ตามคำฟ้องกล่าวด้วยว่า NSO ดำเนินการขายซอฟต์แวร์หรือสปายแวร์อื่น ๆ ให้กับรัฐบาลเช่น กานา รวันดา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และซาอุดีอาระเบีย และดำเนินการวิเคราะห์ข้อมูลในนามของลูกค้า สร้างรายงานโดยอ้างอิงจากข้อมูลที่ได้รับมาจากอุปกรณ์ของเป้าหมาย กำหนดค่าและรักษาโครงสร้างพื้นฐานในการสนับสนุนการทำงานของสปายแวร์เพกาซัส ฝึกอบรมเกี่ยวกับการใช้งาน และช่วยเหลือลูกค้าในทุกกระบวนขั้นตอนของการใช้และดำเนินงานของสปายแวร์ เชื่อได้ว่า NSO สามารถเข้าถึงบทสนทนาทั้งหมดของฮานานและจามาล ไม่ว่าจะเป็นบทสนทนาทางโทรศัพท์ ข้อความ หรือระหว่างที่อยู่ด้วยกันและถ่ายทอดให้ซาอุดีอาระเบียผ่านทางสาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ต่อมาวันที่ 26 ตุลาคม 2566 การดำเนินคดีต้องยุติลงเนื่องจากประเด็นเรื่องเขตอำนาจศาล อย่างไรก็ตามศาลยังมองว่า พยานหลักฐานของโจทก์ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่าง NSO และการเสียชีวิตของจามาลมีความน่าเชื่อถือ ตามคำสั่งระบุว่า ศาลมีความรับผิดชอบต้องวินิจฉัยประเด็นเขตอำนาจศาล ก่อนจะพิจารณาเนื้อหาของคำร้อง แม้ว่าโจทก์จะนำเสนอหลักฐานที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับความสูญเสียอันเป็นผลมาจากการกระทำของจำเลย อย่างไรก็ดีศาลต้องประเมินในประเด็นเกี่ยวกับเขตอำนาจศาลซึ่งเป็นไปตามหลักการของกฎหมาย อันเป็นเหตุให้ศาลได้ข้อสรุปว่า ศาลไม่มีเขตอำนาจในการพิจารณาคดีต่อจำเลย ทั้งนี้ฮานานอุทธรณ์คำสั่งศาล คดียังไม่ถึงที่สุด
“The Court has a responsibility to decide preliminary issues, such as jurisdiction, before reaching the merits of a claim. Although the plaintiff presents a compelling description of her loss from the alleged conduct of defendants, the Court must nevertheless evaluate the issue of jurisdiction under established legal principles, which lead the Court to conclude that it does not have personal jurisdiction over defendants…”
“ศาลมีหน้าที่ต้องวินิจฉัยถึงประเด็นถึงประเด็นเบื้องต้น เช่น เขตอำนาจศาล ก่อนที่จะพิจารณาถึงเนื้อหาของคำร้อง แม้ว่าโจทก์จะนำเสนอหลักฐานที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับความสูญเสียอันเป็นผลมาจากการกระทำของจำเลย อย่างไรก็ดีศาลต้องประเมินในประเด็นเกี่ยวกับเขตอำนาจศาลซึ่งเป็นไปตามหลักการของกฎหมาย อันเป็นเหตุให้ศาลได้ข้อสรุปว่า ศาลไม่มีเขตอำนาจในการพิจารณาคดีต่อจำเลย…”