หลังสัญญาจัดซื้อวัคซีน “ฉบับแรก” ที่รัฐบาลไทยทำกับบริษัทแอสตร้าเซเนก้าเพื่อสั่งซื้อวัคซีนจำนวน 26 ล้านโดส ถูกเปิดเผยออกมา ทำให้พบว่า เอกสารดังกล่าวมีการขีดเส้นทีบสีดำเพื่อปกปิดข้อมูลเอาไว้ในหลายจุด โดยเนื้อหาที่ถูกปกปิดนั้นมีการคาดการณ์ว่า น่าจะเป็นข้อมูลที่อยู่ในความสนใจของประชาชน เช่น ราคาของวัคซีน ระยะเวลาการจัดส่ง ไปจนถึงบทลงโทษที่บริษัทผู้ผลิตต้องรับผิดชอบในกรณีที่ทำไม่ได้ตามสัญญา
เมื่อความจริงที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะถูกขีดฆ่า วิธีการค้นหาความจริงที่หายไปจึงต้องอาศัยข้อมูลจากการให้สัมภาษณ์หรือชี้แจงจากรัฐ หรือข้อมูลการใช้งบประมาณในการจัดซื้อวัคซีน รวมถึงการเปรียบเทียบกับสัญญาของต่างประเทศ ซึ่งจากการค้นหาความจริงดังกล่าว ทำให้พบความเป็นไปได้ในเนื้อหาของสัญญา อย่างน้อย 3 ประเด็น ได้แก่
หนึ่ง ไทยซื้อวัคซีน (ไม่รวมค่าบริหารจัดการ) โดสละ 151 บาท
ราคาวัคซีน ถือเป็นหัวใจสำคัญอย่างหนึ่งในการประเมินว่ารัฐมีการใช้จ่ายเงินงบประมาณไปอย่างสมเหตุสมผลหรือไม่ แต่ทว่า การเปิดเผยราคาของวัคซีนถือว่าเป็นเรื่องอ่อนไหวต่อบริษัทวัคซีนเป็นอย่างมาก เนื่องจากบริษัทวัคซีนมักจะต้องการให้ราคาขายของตัวเองถูกเก็บเป็นความลับ เพื่อให้บริษัทวัคซีนก็จะมีอำนาจต่อรองในการกำหนดราคาอยู่เสมอ ดังนั้น สัญญาที่ประเทศไทยทำกับบริษัทแอสตร้าเซเนก้าจึงมีการขีดเส้นดำทึบในส่วนที่มีการพูดถึงราคาวัคซีน รวมถึงค่าบริหารจัดการต่าง ๆ
แต่อย่างไรก็ดี ราคาของวัคซีนไม่สามารถที่จะเก็บเป็นความได้ เพราะท้ายที่สุดรัฐก็จำเป็นจะต้องเปิดเผยข้อมูลออกมาไม่ว่าทางใดทางหนึ่งเพื่อคลายความสงสัยของประชาชน อย่างในประเทศไทย อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ให้สัมภาษณ์เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2563 ว่า ราคาที่ไทยจัดซื้อวัคซีนจากแอสตร้าเซเนก้านั้นตั้งอยู่บนหลักการ “No Profit No Loss Principle” หรือเป็นหลักการการไม่แสวงหาผลกำไร” โดยราคาอยู่ที่โดสละประมาณ 5 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 151 บาท)
ทั้งนี้ หากนำราคานี้ไปเปรียบเทียบกับต่างประเทศจะพบว่า “ไทยจ่ายค่าวัคซีนสูงกว่าหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่เป็นฐานการผลิตวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า” ยกตัวอย่างเช่น ในสหภาพยุโรปจ่ายเงินเพียง 2.19 ดอลลาร์ต่อโดส (ประมาณ 70 บาท) ในขณะที่สหรัฐอเมริกาจ่ายที่ 4 ดอลลาร์ต่อโดส (ประมาณ 127 บาท) หรือในประเทศอินเดียที่จ่ายค่าวัคซีนอยู่ที่ 4.05 ดอลลาร์ต่อโดส (ประมาณ 121 บาท)
นอกจากนี้ หากเรานำงบประมาณที่รัฐบาลไทยอนุมัติเพื่อจัดซื้อวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าจำนวนวัคซีน 26 ล้านโดส ซึ่งคิดเป็นจำนวนเงิน 6,049.72 ล้านบาท จะพบว่า ราคาที่แท้จริงของวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าที่ไทยซื้อ อยู่ที่ 231 บาทหรือประมาณ 7.3 ดอลลาร์ต่อโดส ในขณะที่ราคาที่แท้จริงของสหภาพยุโรปนั้นอยู่ที่ประมาณ 110 บาทหรือ 2.9 ยูโรเท่านั้น โดยเงินจำนวนนี้ยังไม่รวมเงินที่รัฐบาลลงทุนให้กับสยามไบโอไซเอนส์เพื่อพัฒนาศักยภาพการผลิตอีกกว่า 600 ล้านบาท
สอง ไทยไม่ได้กำหนดเวลาจัดส่งวัคซีนที่ชัดเจน ขึ้นอยู่กับการเจรจา
กำหนดการจัดส่งวัคซีนเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายให้ความสนใจมากเป็นพิเศษในฐานะวิธีหยุดยั้งการระบาดที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ แต่การเปิดเผยสัญญาในครั้งนี้ก็ไม่ได้ช่วยตอบคำถามคาใจว่าวัคซีนจะมาเมื่อใด
ในสัญญาข้อที่ 4.1 ที่ระบุถึงปริมาณการสั่งซื้อของไทย ย่อหน้าที่สองถูกคาดดำเอาไว้ทั้งย่อหน้า ซึ่งหากเรานำสัญญาของสหภาพยุโรปข้อที่ 5.1 ในส่วนที่กล่าวถึงปริมาณการสั่งซื้อเช่นเดียวกันมาเทียบเคียง ก็อาจจะพออนุมานได้ว่าส่วนที่ถูกคาดดำไปในสัญญาของไทยนั้นเป็นกำหนดการจัดส่งวัคซีน
อย่างไรก็ดี แม้ในสัญญาจะไม่เปิดเผยกำหนดเวลาในการจัดส่งวัคซีน แต่จากแผนบริหารจัดการวัคซีนของกระทรวงสาธารณสุข เคยระบุว่า แอสตร้าเซเนก้าจะเริ่มส่งมอบในเดือน มิถุนายน ปี 2564 ก่อน 6 ล้านโดส จากนั้นในเดือน กรกฎาคมถึงพฤศจิกายน จะส่งเดือนละ 10 ล้านโดส และเดือนธันวาคมอีก 5 ล้านโดส รวมทั้งหมด 61 ล้านโดส ภายในปี 2564 และในวันที่ 17 มิถุนายน 2564 สาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข เคยตอบกระทู้ถามสดในสภาผู้แทนราษฎรว่า “ภายในสิ้นปี 2564 วัคซีนทั้ง 61 ล้านโดส จะถูกส่งมอบ”
แต่ทว่า ในความเป็นจริง ยอดการจัดส่งวัคซีนในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคมก็ยังไม่เป็นไปตามเป้า จนในท้ายที่สุด สถาบันวัคซีนแห่งชาติก็ออกมาบอกว่าในสัญญามีเพียงการระบุอย่างกว้างๆ เท่านั้นว่าจะจัดส่ง 61 ล้านโดสต่อปี ส่วนตัวเลข 10 ล้านโดสต่อเดือนนั้นเป็นเพียงแต่แผนการของไทยฝ่ายเดียว และต่อมา สาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ก็ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ยอมรับว่าสัญญา “ไม่ได้ระบุเงื่อนไขเวลา” จำนวนการส่งมอบนั้นอยู่ที่การเจรจาระหว่างรัฐบาลและแอสตร้าเซเนก้าอย่างเดียว ซึ่งในขณะนี้ กำหนดการส่งครบ 61 ล้านโดสนั้นได้ถูกเลื่อนไปเป็นเดือนพฤษภาคม 2565 แล้ว จนล่าสุดในวันที่ 21 กรกฎาคม 2564 สถาบันวัคซีนก็ออกมาให้สัมภาษณ์อีกครั้งเพื่อ “ขอโทษประชาชน” ที่จัดหาวัคซีนไม่ทัน
เมื่อสัญญาไม่ระบุเวลาจัดส่งที่แน่นอนและการจัดส่งวัคซีนไม่เป็นไปตามเป้า รัฐบาลจึงจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการสั่งวัคซีนมาเติมส่วนที่แอสตร้าเซเนก้าขาดหายไป นำไปสู่การสั่งวัคซีนซิโนแวคจำนวน 10.9 ล้านโดสมาเพิ่มช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2564 ภายใต้งบประมาณ 6,111 ล้านบาท และล่าสุดวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 กรมควบคุมโรคก็พึ่งจะเซ็นสัญญาซื้อวัคซีนไฟเซอร์เพิ่มอีก 20 ล้านโดส โดยจะได้รับวัคซีนภายในไตรมาส 4 ของปี 2564 รวมไปถึงกำลังพิจารณากลับลำเข้าร่วมโครงการ COVAX ที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลประยุทธ์เคยเพิกเฉยอีกด้วย
นอกจากนี้ เพื่อให้มีการจัดส่งวัคซีนตามเป้าที่รัฐบาลตั้งไว้ จึงมีคนเสนอให้รัฐบาลใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ ปี 2561 เพื่อจำกัดการส่งออกวัคซีนออกจากฐานการผลิตในประเทศไทย แต่การตัดสินใจใช้อำนาจดังกล่าวก็ต้องแลกมาด้วยการสร้างผลกระทบเป็นวงกว้างต่อภูมิภาคอาเซียนที่สั่งวัคซีนจากแอสตร้าเซเนก้าด้วยเช่นกัน ซึ่งผลทั้งหมดล้วนเกิดจากการทำสัญญาที่หละหลวมตั้งแต่แรกของไทย
สาม ไทยอาจจะไม่มีบทลงโทษในกรณีที่บริษัทไม่ทำตามสัญญา
การกำหนดบทลงโทษให้รัดกุมมีความสำคัญอย่างมากต่ออำนาจต่อรองที่รัฐบาลไทยมีต่อแอสตร้าเซเนก้า และจะส่งผลต่อการบังคับให้บริษัทต้องจัดส่งวัคซีนภายในเวลาที่ตกลงกันไว้แล้วด้วย แต่ทว่า จากข้อมูลเท่าที่เปิดเผยได้ในสัญญาระหว่างไทยและแอสตร้าเซเนก้ากลับไม่ปรากฎข้อมูลเรื่องบทลงโทษที่ไทยสามารถเอาผิดกับแอสตร้าเซเนก้าได้ในกรณีที่มีการส่งล่าช้าแต่อย่างใด
ในขณะเดียวกัน หากดูจากสัญญาของสหภาพยุโรปที่แม้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าหละหลวมเกินไป แต่ก็ยังมีเงื่อนไขให้หยุดจ่ายเงินได้ถ้าแอสตร้าเซเนก้าส่งมอบวัคซีนล่าช้า และจะกลับมาจ่ายเงินอีกครั้งก็ต่อเมื่อมีการส่งมอบวัคซีน หรืออย่างในสัญญาของอังกฤษกับแอสตร้าเซเนก้าที่กำหนดไว้เงื่อนไขไว้อย่างชัดเจนว่าหากแอสตร้าเซเนก้าถูกบังคับไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่งให้ไม่สามารถสามารถส่งมอบวัคซีนได้ อังกฤษก็สามารถยกเลิกสัญญาและลงโทษแอสตร้าเซเนก้าได้ทันที
ในทางกลับกัน สิ่งที่สัญญาของไทยและสัญญาของสหภาพยุโรปเหมือนกัน คือ การให้ความคุ้มครองแอสตร้าเซเนก้า ไม่ว่าจะเป็นให้บริษัทไม่ต้องรับผิดจากความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการใช้วัคซีน ไปจนถึงให้รัฐบาลต้องจ่ายค่าดำเนินการทางกฎหมายและค่าชดเชยแทนในกรณีที่เกิดคดีความขึ้น
สิ่งที่น่าสนใจจากการเปรียบเทียบสัญญาของไทยและสหภาพยุโรปคือข้อ 15.1 ซึ่งระบุกรณีที่รัฐบาลขอสละสิทธิ์ (release) ในการฟ้องร้องแอสตร้าเซเนก้า ในสัญญาของไทย ย่อหน้านี้ถูกคาดดำไปครึ่งย่อหน้า ข้อมูลที่ไม่ถูกเซ็นเซอร์ระบุว่าไทยสละสิทธิ์ในการฟ้องบริษัทในกรณีที่วัคซีนไม่ปลอดภัยและไม่มีประสิทธิภาพ โดยข้อความต่อจากนั้น 7 บรรทัดถูกคาดดำเอาไว้ อย่างไรก็ตาม หากเรานำสัญญาของสหภาพยุโรปฉบับที่ไม่ถูกเซ็นเซอร์ (ซึ่งถูกปล่อยโดยนักข่าวชาวอิตาลี) มาเทียบเคียงก็จะอาจจะทำให้พออนุมานข้อความที่ถูกเซ็นเซอร์ในสัญญาของไทยได้ ข้อ 15.1 ที่ไม่ถูกคาดดำในสัญญาของสหภาพยุโรปแสดงให้เราเห็นเพิ่มเติมว่ารัฐบาลยังสละสิทธิ์ไม่ฟ้องร้องแอสตร้าเซเนก้าในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการเก็บรักษาและการขนส่งวัคซีน การใช้หรือการผลิตภายใต้เงื่อนไขของโรคระบาด การไม่มีเทคนิคปลอดเชื้อที่ดีพอ และในกรณีที่เกิด “ความล่าช้าในการส่งมองวัคซีนภายใต้ข้อตกลงฉบับนี้”