13 กรกฎาคม 2564 เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group) เผยแพร่เอกสารของกรมการจัดหางาน สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว เรื่องแจ้งยกเลิกโครงการให้ความช่วยเหลือคนต่างด้าวด้านสาธารณสุขว่า เดิมทีกรมการจัดหางานขอให้สำนักงานจัดหางานจังหวัดปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการและกรุงเทพมหานคร สำรวจแรงงานข้ามชาติที่ได้รับอนุญาตการทำงานตามกฎหมายในกิจการที่มีความเสี่ยงให้ได้รับการตรวจหาเชื้อโควิด 19 เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาด เป้าหมาย 30,000 คน ใน “โครงการให้ความช่วยเหลือคนต่างด้าวด้านสาธารณสุข”
แต่สถานการณ์ปัจจุบันพบผู้ติดเชื้อรายใหม่และผู้ที่เข้ารักษาพยาบาลสูงขึ้นต่อเนื่อง บุคลาการทางการแพทย์ เตียงผู้ป่วยและอุปกรณ์ทางการแพทย์มีจำกัด จึงไม่สามารถทำตามที่กรมการจัดหางานกำหนดได้ ให้ยกเลิกโครงการดังกล่าว
ตอนหนึ่งของหนังสือยังอ้างถึงข้อกำหนดนายกรัฐมนตรีฉบับที่ 25 ที่ออกเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2564 ให้ปิดสถานที่ก่อสร้าง หยุดงานก่อสร้าง ห้ามการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานชั่วคราว มาตรการนี้มีผลในอีกสองวันถัดมา ทำให้แรงงานไม่สามารถออกจากแคมป์ได้ เบื้องต้นระบุว่า บริษัทรับเหมาจะมีหน้าที่ส่งอาหารให้แก่แรงงานทั้งชาวไทยและข้ามชาติภายในแคมป์และสำนักงานเขตอาจสนับสนุนเพิ่มเติม อย่างไรก็ตามพบว่า มีบางแคมป์ที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือที่เพียงพอออกมาเรียกร้องความช่วยเหลือ มีการสมทบทุนนำอาหารและของใช้จำเป็นส่งเข้าไปในแคมป์
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มคนดูแลกันเองออกแบบการช่วยเหลือแรงงานในแคมป์แรงงานกว่า 1,200 แห่งเพื่อสำรวจความต้องการแรงงานในแคมป์และจัดการช่วยเหลือต่อไป วิธีการทำงานคือ การพลอตแผนที่ว่า มีแคมป์แรงงานอยู่บริเวณใดบ้าง จากนั้นอาสาสมัครจะเลือกแคมป์ที่ตนเองสะดวกไปลงพื้นที่ สอบถามข้อมูลแรงงานในแคมป์ตั้งแต่จำนวนแรงงานแบ่งตามเพศ มีเด็กหรือไม่ มีการตรวจหาเชื้อโควิด 19 แล้วหรือไม่ มีแรงงานในแคมป์ติดเชื้อแล้ว รอความช่วยเหลือหรือไม่ ลักษณะของอาหารที่ต้องการเช่น อาหารสดและอาหารแห้ง
ทางกลุ่มระบุว่า เมื่อได้ข้อมูลมาแล้วจะถูกนำไปประเมินเพื่อระดมความช่วยเหลือด้านอาหาร ยา และของใช้จำเป็นต่อไป ทั้งหมดนี้ดำเนินงานผ่าน กลุ่มคนดูแลกันเอง ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมประสาน/จับคู่ระหว่างผู้ประสงค์จะช่วยเหลือกับแคมป์คนงานก่อสร้าง เพื่อให้การกระจายความช่วยเหลือเป็นไปอย่างทั่วถึง อีกทั้งเป็นศูนย์รวบรวมข้อมูลและประสานงานกับผู้ให้การช่วยเหลือและผู้รับความช่วยเหลือ
จากการทดลองลงพื้นที่แคมป์แรงงานแห่งหนึ่งพบว่า มีทหารและเจ้าหน้าที่จากสำนักงานเขตผลัดเปลี่ยนเวรกันมาเฝ้าและมีการจัดทำระเบียนของแรงงานภายในแคมป์ แรงงานได้รับการตรวจหาเชื้อบ้างแล้วประมาณร้อยละ 40 สุ่มตรวจทั้งแรงงานไทยและข้ามชาติ เมื่อสอบถามแรงงานว่า ผู้รับเหมาหรือเจ้าของบริษัทที่รับผิดชอบดูแลมีการนำอาหารมาให้เพียงพอหรือไม่ มีคนหนึ่งตอบว่า นำมาให้แต่มีบางจังหวะที่ขาดช่วงไป นอกจากนี้เพจเฟซบุ๊กของกลุ่มยังมีการรายงานแคมป์ที่ขาดแคลนอาหาร บางแคมป์มีผู้ติดเชื้อแล้วแต่ยังไม่ได้รับการรักษา