เป็นเวลากว่า 3 เดือนแล้วตั้งแต่มีการยื่นขอให้รัฐบาลเปิดเผยรายละเอียดของสัญญาการจัดซื้อวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด 19 ที่รัฐบาลไทยทำกับบริษัทแอสตร้าเซเนก้า และ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ซึ่งเป็นข้อมูลของรัฐที่ต้องเปิดเผยตาม พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 แต่จนถึงวันนี้สถานการณ์ระบาดกำลังเลวร้ายลงเรื่อย ๆ ก็ยังไม่มีการนำเอกสารมาเปิดเผยให้กับคนไทยได้รู้กำหนดเวลาการจัดส่งวัคซีนที่จำเป็นอย่างมากปัจจุบันแต่อย่างใด
ย้อนไปเมื่อวันที่ในวันที่ 16 มีนาคม 2564 วิโรจน์ ลักขณาอดิสร ส.ส. พรรคก้าวไกล เดินทางไปยื่นหนังสือข้อมูลของสัญญาที่รัฐบาลไทยทำกับบริษัทแอสตร้าเซเนก้าและสยามไบโอไซเอนซ์ ในการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิดที่สถาบันวัคซีนแห่งชาติ โดยมีรายละเอียดหลักที่ต้องการให้เปิดเผย คือ แผนการส่งมอบวัคซีนว่า บริษัทคู่สัญญานั้นมีพันธะต้องส่งภายในเมื่อใด ในระหว่างการเดินทางไปขอข้อมูล วิโรจน์ต้องเผชิญกับประชาชนกลุ่มหนึ่งที่มาจะโกนโห่ใส่อีกด้วย
นับจนถึงเดือนกรกฎาคม 2564 เมื่อสถานการณ์โควิดระบาด “ระลอกที่ 4” เป็นเวลากว่า 3 เดือนครึ่งแล้วที่ยังไม่ได้รับการรตอบกลับ และสังคมไทยยังไม่เห็นรายละเอียดของสัญญาจัดหา “วัคซีนหลัก” ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญให้ประเทศสามารถหลุดพ้นจากการระบาดของโควิดได้ โดยมีเพียงหนังสือตอบกลับลงวันที่ 14 พฤษภาคมของสถาบันวัคซีนแห่งชาติที่ระบุว่า การเปิดเผยข้อมูลนั้นยังอยู่ในระหว่างการดำเนินการและประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
การขอข้อมูลสัญญาการจัดหาวัคซีนนี้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 ที่รับรองสิทธิในการรับรู้และเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของราชการตามหลัก “เปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้น” ดังนั้น หน่วยงานรัฐจึงมีหน้าที่ต้องเปิดเผยข้อมูลข่าวสารโดยแบ่งเป็นข้อมูลที่จำเป็นต้องเปิดเผยอยู่แล้วในราชกิจจานุเบกษา และข้อมูลที่ต้องเปิดเผยเมื่อได้รับการร้องขอ โดยประชาชนไม่ว่าจะเป็นใครหรือมีส่วนได้ส่วนเสียอย่างไรก็สามารถขอข้อมูลได้ และรัฐมีหน้าที่ต้องจัดให้
อย่างไรก็ตาม กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้กำหนดว่า หน่วยงานของรัฐต้องส่งข้อมูลให้ภายในระยะเวลาเท่าใด ทำให้หลายครั้งหน่วยงานของรัฐได้ใช้ “ช่องโหว่” นี้ในการ “เตะถ่วง” การเปิดเผยข้อมูลในประเด็นที่มีความอ่อนไหวกับผู้มีอำนาจ ตัวอย่างที่เห็นชัด คือ ประเด็นเรื่อง “นาฬิกายืมเพื่อน” ของพลเอกประวิทย์ เรืองสุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เมื่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติไม่รับไต่สวนคดีพลเอกประวิทย์สวมใส่นาฬิกาหรูราคาหลายล้านบาท สำนักข่าว The Matter ได้ใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ขอข้อมูลเกี่ยวข้องกับคดี แต่ ป.ป.ช. ก็เตะถ่วงจนเวลาล่วงเลยไปถึง 6 เดือนถึงจะยอมเปิดเผยเอกสารที่เต็มไปด้วยหน้ากระดาษเปล่าออกมา
แต่สำหรับข้อมูลที่สถาบันวัคซีนแห่งชาติต้องเปิดเผยในกรณีนี้ เป็นเอกสารสัญญาที่จัดทำขึ้นเสร็จเรียบร้อยแล้ว การเปิดเผยข้อมูลไม่จำเป็นต้องจัดทำหรือจัดเรียงชุดข้อมูลขึ้นมาใหม่ จึงควรจะเปิดเผยได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว หรือทันทีที่ได้รับการร้องขอโดยไม่มีข้อยกเว้น
ประเด็นที่ประชาชนชาวไทยกำลังอยากรู้ คือ บริษัท แอสตร้าเซเนก้าและ บริษัทสยามไอโอไซเอนซ์ มีพันธะตามสัญญาต้องจัดส่งวัคซีนมากน้อยเพียงใด ภายในเวลาเท่าใด เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา (2 ก.ค. 64) นายแพทย์ นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เพิ่งออกมายอมรับว่า บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ไม่สามารถจัดส่งวัคซีนตามที่รัฐบาลเคยวางแผนไว้ที่ 10 ล้านโดสต่อเดือนได้ เนื่องจากกำลังการผลิตนั้นยังไม่สามารถทำได้เต็มจำนวนที่ 16 ล้านโดสต่อเดือน และยังต้องแบ่งบางส่วนที่ผลิตได้ไปจัดส่งให้ประเทศอื่นอีกด้วย ทำให้ตอนนี้ไทยมีวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าที่รัฐบาลเคยคาดหมายว่า จะเป็นวัคซีนหลักของประเทศเพียงแค่ 5-6 ล้านโดสต่อเดือนเท่านั้น จนเป็นเหตุให้ต้องสั่งวัคซีนซิโนแวคมาทดแทน ซึ่ง นายแพทย์ นคร กล่าวว่าเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดเรื่องจากสามารถจัดส่งได้ตอนนี้
ข้อมูลจากผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติจึงช่วยยืนยันในขั้นต้นว่า สัญญาที่รัฐบาลทำกับบริษัทแอสตร้าเซเนก้าและสยามไบโอไซเอนซ์นไม่มีการระบุว่าต้องจัดส่งวัคซีนภายในเดือนละเท่าใด มีเพียงการระบุไว้อย่างกว้างๆ ว่าให้จัดส่ง 61 ล้านโดสต่อปีเท่านั้น แผนที่จะฉีดวัคซีน 10 ล้านโดสต่อเดือนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ภายในสิ้นปีนี้จึงอาจจะเป็นแผนการเพียงฝ่ายเดียวของรัฐบาลที่บริษัทเพียงแค่รับรู้และ “ไม่ได้ปฏิเสธ” แต่ไม่มีความจำเป็นต้องจัดส่งให้ทันตามกรอบเวลาแต่อย่างใด
หากพิจารณาในกรณีของต่างประเทศจะเห็นว่า มีการเปิดเผยสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างรัฐบาลกับบริษัทผลิตวัคซีน ให้ประชาชนได้รับรู้ร่วมกัน ซึ่งมีรายละเอียดอย่างชัดเจน สหภาพยุโรปและอังกฤษเคยเปิดเผยสัญญาที่ทำกับบริษัทแอสตร้าเซเนก้า โดยแม้จะเป็นฉบับที่มีขีดฆ่าข้อความบางส่วนที่อ่อนไหวของไป เช่น ราคาของวัคซีน หรือมาตรการลงโทษบริษัทผู้ผลิตหากไม่สามารถทำตามสัญญา แต่ก็มีการเปิดเผยจำนวนและกำหนดการส่งมอบให้สาธารณชนรับรู้
การเปิดเผยรายละเอียดสัญญายังช่วยบอกอีกว่า รัฐบาลไทยร่างสัญญาไว้รัดกุมขนาดไหน ซึ่งจะส่งผลต่ออำนาจต่อรองที่ไทยมีต่อบริษัทแอสตร้าเซเนก้า และบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ด้วย ในกรณีของอังกฤษ รัฐบาลอังกฤษเขียนสัญญาไว้รัดกุมกว่าของสหภาพยุโรป โดยมีข้อความที่ให้อังกฤษสามารถยกเลิกสัญญาหรือปรับแอสตร้าเซเนก้าได้ทันทีถ้าแอสตร้าเซเนก้าหรือบริษัทที่ทำสัญญาผลิตด้วยนั้นกักตุนวัคซีน ในขณะที่สัญญาของสหภาพยุโรปกล่าวเพียงว่า สามารถหยุดการจ่ายเงินช่วยคราวจนกว่าจะหาวิธีอื่นได้เท่านั้น ด้วยเหตุนี้ แอสตร้าเซเนก้าจึงส่งวัคซีนให้กับอังกฤษที่มีอำนาจต่อรองมากกว่าก่อน จนทำให้สหภาพยุโรปไม่พอใจและนำมาสู่การฟ้องร้องบริษัทวัคซีนในท้ายที่สุด
สถานการณ์ในไทยก็ไม่ต่างกับกรณีข้างต้นนัก บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ซึ่งทำสัญญาผลิตวัคซีนกับแอสตร้าเซเนก้าไม่ได้ผลิตวัคซีนเพื่อป้อนให้กับไทยเท่านั้น แต่ยังต้องส่งออกวัคซีนไปประเทศอื่นๆ ที่เป็นคู่สัญญากับแอสตร้าเซเนก้าอีกด้วย อย่างไรก็ดี แอสตร้าเซเนก้าเป็นผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจว่าจะส่งวัคซีนที่ผลิตได้นั้นไปให้ประเทศใด เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา นวลพรรณ ล่ำซำ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรกิตติมศักดิ์ บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ เคยให้สัมภาษณ์กับ The Standard ยืนยันว่า สยามไบโอไซเอนซ์ไม่สามารถ “การันตี” ได้ว่าการจัดส่งวัคซีนจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ จะช้าหรือไม่ เนื่องจากบริษัทเพียงทำหน้าที่เป็นผู้ผลิตเท่านั้น ไม่ได้เป็นผู้จัดสรรวัคซีนแต่อย่างใด
หากถอดบทเรียนจากกรณีของอังกฤษและสหภาพยุโรป ก็มีแนวโน้มว่าประเทศที่มีสัญญาที่รัดกุมที่สุดจะได้รับการจัดสรรจากแอสตร้าเซเนก้ามากที่สุด ดังนั้น หากประเทศอื่นมีสัญญาที่รัดกุมกว่า ไทยที่แม้จะเป็นประเทศผู้ผลิตและลงทุนเงินไปกว่า 600 ล้านบาทให้กับบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ก็อาจจะไม่ได้วัคซีนครบตามเป้า การเปิดเผยสัญญาจึงมีความสำคัญมากเพื่อสาธารณชนจะได้รับรู้ว่า “วัคซีนหลัก” นี้จะมาได้ตามกำหนดหรือไม่นั่นเอง