เครือข่ายภาคประชาชนรวมตัวเรียกร้องไปยังรัฐบาลขอให้หยุดการผลักดันร่างพ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทุกฉบับ หยุดนโยบายซื้อขายสิทธิการปล่อยก๊าซคาร์บอน ที่ไม่ได้ช่วยลดโลกร้อนได้จริง แต่เป็นการละเมิดสิทธิประชาชนตัวเล็กตัวน้อย และเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กำหนดแนวทางการพัฒนาที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจในการตัดสินใจ
14 ตุลาคม 2567 เครือข่ายประชาชนเสริมสร้างความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศและหยุดคาร์บอนเครดิตร่วมกันจัดเวที “หยุดวิกฤติโลกเดือดที่ต้นเหตุ” บริเวณหน้าอาคารสหประชาชาติ ถนนราชดำเนิน โดยมีหลายเครือข่ายเข้าร่วมและปักหลักค้างคืนที่บริเวณเกาะกลางถนน ก่อนยื่นหนังสือให้สหประชาชาติ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเรียกร้องนโยบายจากรัฐบาลในการดูแลสิ่งแวดล้อมและหยุดปัญหาวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเป็นธรรมกับประชาชนทุกคน
สำหรับสถานการณ์ที่ทำให้เกิดการชุมนุมในวันนี้เนื่องจากวิกฤต “โลกเดือด” เป็นวิกฤตที่ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อสิทธิชุมชน สิทธิเกษตรกร สิทธิกลุ่มชนพื้นเมือง กลุ่มชาติพันธุ์และสิทธิมนุษยชน คนจนหรือคนที่เข้าถึงโอกาสได้น้อย ได้รับผลกระทบโดยตรงกว่าคนรวยที่เป็นต้นเหตุของการใช้ทรัพยากรและปล่อยก๊าซเรือนกระจก ขณะที่กำลังมีนโยบายการซื้อขาย “คาร์บอนเครดิต” หรือ สิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโดยการจ่ายเงินเพื่อซื้อสิทธิและจ่ายเงินสนับสนุนให้ใช้พื้นที่บางแห่งเป็นพื้นที่สำหรับการปลูกป่าเพื่อชดเชย
ข้อเรียกร้องของเครือข่ายภาคประชาชน เช่น ผลักดันให้มีการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ให้แล้วเสร็จภายในรัฐบาลนี้ โดยยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี นโยบายป่าไม้แห่งชาติ แผนพลังงานชาติ แผนพัฒนาเกษตรแปลงใหญ่ เขตเศรษฐกิจพิเศษ และนโยบายต่างๆ ที่ส่งเสริมการเพิ่มพื้นที่สีเขียวแบบจอมปลอม ที่นำมาสู่การเร่งเร้าวิกฤตโลกเดือด ทั้งนี้เพื่อรับรองว่ารัฐบาลจะมีภาระรับผิด(accountability)ในการจัดการกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ให้หยุดกฎหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทุกฉบับที่สนับสนุนกลไกตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอน ซึ่งเป็นวาทกรรมแก้โลกเดือดแบบจอมปลอม และการใช้เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอนใต้ดินและใต้ทะเลซึ่งเป็นการ “ฟอกเขียว” สร้างความชอบธรรมให้กับอุตสาหกรรม
คัดค้านร่างพ.ร.บ.ที่มีเรื่องคาร์บอนเครดิต ยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ชาติ
เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ กล่าวว่า กรมโลกร้อนกำลังเสนอร่างพ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นฉบับเดียวกับที่พรรคพลังประชารัฐเคยเสนอตอนที่เป็นหัวหน้ารัฐบาลอยู่ โดยมีหลักการที่จะให้ซื้อขายคาร์บอนเครดิตกันจนชั่วฟ้าดินสลายจนในแผนที่ไม่มีประเทศไทยอยู่ ส่วนพรรคประชาชนมีร่างอีกฉบับหนึ่ง ซึ่งอาจจะดูดีที่สุด แต่ก็ยังไม่ดีพอ เพราะทุกฉบับยังให้มีการค้าขายคาร์บอนเครดิต ร่างของพรรคประชาชนก็จะหยุดการค้าขายคาร์บอนเครดิตในปี 2578 ซึ่งจะทำให้เกิดการไล่ล่ายึดที่ดินของชาวบ้านอย่างมหาศาล อยากเสนอให้พรรคประชาชนเอาเรื่องคาร์บอนเครดิตออกไปจากร่างกฎหมายเสีย
ร่างกฎหมายของหน่วยงานรัฐ มีทั้งระบบสมัครใจที่บริษัทจะจ่ายเงินให้ปลูกป่า และมีทั้งระบบการบังคับให้ต้องซื้อขายสิทธิการปล่อยคาร์บอนเครดิต แปลว่าจะกำหนดให้บริษัทขนาดใหญ่แต่ละแห่งจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เท่าไร ซึ่งแปลว่า ถ้าใครปล่อยก๊าซไม่ถึงก็สามารถขายสิทธินี้ให้คนอื่นมาซื้อไปแล้วปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินกว่าที่กำหนดไว้ได้ หรือถ้าหาซื้อสิทธิไม่ได้ ก็สามารถไปเอาเครดิตจากการจ่ายเงินให้ปลูกป่าโดยสมัครใจมาชดเชยก็ได้ แสดงว่าเป็นระบบที่เปิดโอกาสให้แหล่งกำเนิดปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ถูกกฎหมายจงได้ แทนที่จะมุ่งหาทางให้แหล่งกำเนิดลดการปล่อยก๊าซ
“สำหรับคนเล็กคนน้อยอย่างพวกเราถ้ากฎหมายนี้จะออกมาจริงๆ ก็ต้องตาต่อตาฟันต่อฟัน ใครจะไปยอมที่จะเสียที่ดินทำกินของตัวเองเพื่อให้เอาไปปลูกต้นไม้ได้” เลิศศักดิ์ กล่าว
สุภาภรณ์ มาลัยลอย มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า โครงการขนาดใหญ่ทั้งหลาย เช่น แลนบริดจ์ภาคใต้ เขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นผลมาจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่เอื้อให้กลุ่มทุนขนาดใหญ่ก็เข้ามาแย่งชิงทรัพยากรโดยที่ก่อนหน้านี้รัฐธรรมนูญยังเอื้อให้ประชาชนต่อสู้เรียกร้องสิทธิได้อยู่บ้าง แต่เมื่อมีคสช. เข้ามาก็ปิดกลไกที่สนับสนุนประชาชนไปเลย และเขียนเรื่องแผนพัฒนาไว้ในยุทธศาสตร์ชาติบังคับให้ทุกรัฐบาลต้องทำตาม จนมีเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC และมีกฎหมายลูกต่างๆ ตามมาที่เร่งรัดได้รวดเร็ว โดยไม่รู้ว่ามีการประเมินหรือไม่ว่า โครงการเหล่านี้จะก่อให้เกิดโลกร้อนมากขนาดไหน
“ป่าชายเลนมีอยู่แล้ว ป่าชุมชนก็มีอยู่แล้ว แต่พอรัฐไปทำความตกลงร่วมมือกับบริษัทขนาดใหญ่ เอาเงินมาให้ชุมชนแล้วบอกว่า จะลดโลกร้อน จะลดได้ยังไงในเมื่อมีป่าอยู่เท่าเดิม” สุภาภรณ์ วิจารณ์ระบบคาร์บอนเครดิต ซึ้อขายสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
สุภาภรณ์เสนอว่า ทางออกของสถานการณ์สิ่งแวดล้อมตอนนี้ คือ ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติในรัฐธรรมนูญและเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กระจายอำนาจให้ประชาชนกำหนดทิศทางการพัฒนาด้วยตนเองและกำหนดการจัดการทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ได้โดยให้มีอำนาจในการจัดการไม่ใช่แค่มีส่วนร่วม สำหรับทิศทางการพัฒนาต้องไม่ใช่แค่มุ่งหมายพัฒนาในมิติอุตสาหกรรมอย่างเดียวและวัดด้วยตัวเลข GDP แต่ต้องกำกับการบริโภคที่ล้นเกิน และต้องมีตัวชี้วัดว่า คุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ดีขึ้นหรือไม่ สิ่งแวดล้อมจะคงอยู่อย่างยั่งยื่นได้อย่างไร
ธารา บัวคำศรี กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า บริษัท ปตท.สผ. ปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณหนึ่งพันล้านตัน นับที่ลงทุนในต่างประเทศด้วย ถ้าจะพยายามซื้อคาร์บอนเครดิตต้องซื้อป่า 266 ล้านไร่ หรือคิดเป็นพื้นที่ประมาณ 82% ของประเทศไทยเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซของบริษัทเดียว ก็เท่ากับไม่มีพื้นที่จะอยู่กัน นี่คือยักษ์ใหญ่ของห่วงโซ่การปล่อยคาร์บอนสู่อากาศ ด้วยระบบคาร์บอนเครดิตแบบนี้ถ้าเรามีโลกสักสามใบก็ยังไม่มีพื้นที่พอจะมีป่ามาชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนทั้งหมดได้
แผนยุทธศาสตร์ชาติของ คสช. มีเรื่องโลกร้อนและเรื่องพลังงานที่เขียนเอาไว้หมดแต่เขียนขึ้นมาโดยคนไม่กี่คน โดยกลุ่มทุนพลังงานมาอยู่เบื้องหลังของนโยบายพลังงานของประเทศ ก่อนหน้าที่จะมีคสช. เรามีนโยบายสนับสนุนส่งเสริมการกระจายระบบพลังงานหมุนเวียนที่มีการมีส่วนร่วมกว่านี้ ไม่ใช่การผูกขาดแบบจะไปปักกังหันลมที่ไหนก็ได้ กลุ่มทุนพลังงานยังมีบทบาทในการกำหนดนโยบายคาร์บอนเครดิตที่กลุ่มทุนนี้ไม่ยอมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่แล้วพยายามเอาโอกาสในการซื้อสิทธิการปล่อยก๊าซระหว่างประเทศมาชดเชยการปล่อยก๊าซเกินโควต้าของตัวเอง
คนจนไม่มีทางเลือก ได้รับผลกระทบโดยตรง
ณัฐวุฒิ กรมภักดี เครือข่ายคนไร้บ้านจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า เมื่อพูดถึงปัญหาโลกร้อน ไม่อยากให้เรามองว่าเป็นเพียงปัญหาของสภาพภูมิอากาศ แต่เป็นปัญหาของคนด้วย เพราะเมื่อโลกร้อนขึ้นคนกลุ่มเล็กๆ นายทุนที่ร่ำรวยสามารถเปิดแอร์และอยู่ในห้องแอร์ได้ คนที่เป็นต้นเหตุของโลกร้อนไม่ต้องเดือดร้อนกับปัญหา แต่คนจนนั้นไม่มีทางเลือก และได้รับผลกระทบโดยตรง ที่ชุมชุนคนริมทางรถไฟจ.ขอนแก่น ในวันที่อากาศร้อนมากๆ คนไร้บ้านต้องหลบร้อนเข้าไปอยู่ใต้ถุนที่มีน้ำขังและมีขยะเน่าเหม็น
ณัฐวุฒิ เสนอว่า การแก้ปัญหาโลกที่ร้อนขึ้นไม่ควรอนุญาตให้นายทุนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเอาเงินไปจ้างคนปลูกต้นไม้เท่านั้น แต่ต้องคิดเป็นระบบ คิดถึงคนที่ได้รับผลกระทบจริงๆ คิดถึงการออกแบบเมืองด้วย และให้ประชาชนมีส่วนร่วม ในรัฐธรรมนูญควรจะเขียนเปิดพื้นที่ให้ประชาชนออกแบบการแก้ปัญหาโลกร้อนร่วมกันได้
กนกพร ดิศฐกระจันทร์ เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก จังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่า ในอดีตพื้นที่สุพรรณบุรีเป็นพื้นที่น้ำหลาก คือ น้ำมาประมาณเดือนครึ่งแล้วน้ำก็ไป แต่ในปัจจุบันน้ำท่วมหกเดือนมาสามปีติดๆ แล้ว แต่ไม่มีข่าวว่า ที่ตำบลบางเลนมีน้ำท่วม ทั้งที่น้ำมาตั้งแต่เดือนสิงหาคมแล้ว เกษตรกรก็ต้องปรับตัวเอาข้าวที่ไม่มีคุณภาพมาปลูกซึ่งปลูกแค่ 90 วันก็เก็บเกี่ยวได้ เพราะต้องรีบ ทำให้เรามีข้าวไม่มีคุณภาพ
ภาวะโลกร้อนนี้ส่งผลกระทบต่อการผลิตอาหาร และห่วงโซ่ของการผลิตอาหาร เกษตรกรก็รับรู้ได้ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นเนื่องจากปลูกข้าวได้ผลผลิตน้อยลง จากเดิมได้ประมาณไร่ละหนึ่งตัน แต่เมื่ออากาศร้อนมากข้าวไม่ติดดอก ผลผลิตลดลงเหลือไร่ละ 600 กิโลกรัม
ตอนนี้มีนโยบายเครดิตคาร์บอนที่จะให้เงินกับเกษตรกร โดยบอกว่า อย่าเผาฟาง ทั้งที่เกษตรกรเผาน้อยมากเพราะเกษตรกรก็จะเอาฟางไปขายโดยไม่ต้องเผาและไม่ต้องมีใครมาบอก นโยบายที่โทษแต่เกษตรกรว่าเผาฟางแล้วเป็นปัญหาของการปล่อยก๊าซคาร์บอนนั้นไม่มีงานวิจัยหรือไม่มีการทำข้อมูล เพราะคนทำนโยบายการคิดแต่จะเอาเงินเข้ากระเป๋า คนเล็กคนน้อยไม่ได้ประโยชน์อะไร
ลดโลกร้อนต้องใช้นโยบายที่สอดคล้องกับวิถีชุมชน
สุรภา บุตรวงศ์ สมัชชาคนจนเขื่อนหัวนา จากจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า พี่น้องที่อีสานเมื่อก่อนไม่มีเขื่อนก็อยู่ได้สุขสบาย ในหน้าร้อนอากาศก็ไม่ร้อนเท่าวันนี้ อากาศจะชุ่มเย็นไม่อบอ้าว แต่ทุกวันนี้หน้าร้อนคนอีสานอยู่ไม่ได้เพราะร้อนมาก เมื่อก่อนหน้าหนาวจะหนาวมากจนต้องไปอยู่ในกองฟางให้อบอุ่นร่างกาย แต่ทุกวันนี้หน้าหนาวก็ต้องเปิดพัดลม ชาวบ้านคนอีสานไม่รู้เรื่องว่าความร้อนเกิดจากอะไร ตั้งแต่อยู่มาห้าสิบปีไม่เคยรู้สึกว่าอากาศร้อนขนาดนี้ ไม่เคยเห็นน้ำท่วมมากขนาดนี้
ทุกวันนี้พี่น้องคนอีสานที่เคยมีรายได้จากป่าบุ่มป่าทามไม่สามารถมีรายได้ ลูกหลานต้องมาหางานในกรุงเทพ ผลผลิตทางเกษตร เช่น มะม่วง มะปราง ที่เป็นผลไม้ตามฤดูกาลออกมาแต่ละต้นไม่กี่ลูกแทบจะไม่ได้กินเลย รัฐบาลเอานโยบายมาเสนอให้แต่ไม่สอดคล้องกับเรา เช่น พอน้ำท่วมก็ให้เลี้ยงปลา พอแล้งก็ให้ปลูกพืชชนิดอื่น เราไม่ได้ต้องการการพัฒนาที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตในชุมชนของเราซึ่งมีอาหาร มีน้ำ มีปลา มีข้าว สมบูรณ์อยู่แล้ว
รัฐบาลควรส่งเสริมการลดสภาวะโลกร้อนให้สอดคล้องกับชุมชน ควรถามชาวบ้านว่าชาวบ้านต้องการแบบไหนเพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตที่มีมาตั้งแต่ปู่ย่าตายาย ควรใช้นโยบายที่รักษาทรัพยากรธรรมชาติที่เกิดขึ้นเอง ส่งเสริมให้ชาวบ้านอยู่ได้ตามวิถีของตัวเอง ไม่ใช่การสร้างอะไรขึ้นใหม่โดยมือของคน การสร้างเขื่อนก็เห็นมีแต่จะการสัมปทานให้นายทุนไปดูดทราย ถ้าจะพยายามสร้างอะไรด้วยมือของคนก็มีแต่จะเพิ่มปัญหาและร้อนขึ้นไม่มีที่สิ้นสุด
จงดี มินขุนทด กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทดต่อต้านเหมืองแร่โปแตซ กล่าวว่า บ้านของเราเป็นพื้นที่การเกษตรที่มีโฉนด ชาวบ้านมีที่ทำกินเป็นของตัวเอง แต่มาวันหนึ่งมีเหมืองแร่เกิดขึ้นบนผืนดินของเรา ทำให้แหล่งน้ำใช่ไม่ได้ แผ่นดินที่เคยปลูกข้าวได้ก็มีแผ่นเกลือขึ้นหนาเป็นนิ้ว ซึ่งเกิดขึ้นจากน้ำมือของมนุษย์ ไม่ได้เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ นี่เกิดขึ้นจากนโยบายของรัฐที่มาหลอกเราว่าวันหนึ่งเราจะได้ใช้ปุ๋ยราคาถูก แต่ตอนนี้ปุ๋ยยังไม่มี มีแต่ธรรมชาติที่พังทลายไปแล้ว มาวันนี้ยังมีนโยบายคาร์บอนเครดิตเหมือนมากดทับเราอีกครั้ง เราขอไม่รับทั้งเหมืองแร่โปแตซและนโยบายคาร์บอนเครดิต