บทความมีการแก้ไขเนื้อหาเพิ่มเติม วันที่ 10 มกราคม 2568
วันที่ 24 กันยายน 2567 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567 หรือกฎหมาย #สมรสเท่าเทียม ซึ่งมีเนื้อหารับรองการสมรสระหว่างบุคคล โดยไม่จำกัดเฉพาะชาย-หญิง อีกต่อไป โดยกฎหมายนี้จะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้น 120 นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา หมายความว่า หากมีผู้ประสงค์จะไปจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายใหม่ จะยังไม่สามารถทำได้ทันทีระหว่างที่กฎหมายเพิ่งประกาศใช้ ต้องรอให้ “พ้น” 120 วัน โดยหลักการนับระยะเวลาบังคับใช้กฎหมาย คณะกรรมการกฤษฎีกาเคยชี้แจงว่าต้องนับวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นวันที่หนึ่ง วันที่ครบ 120 วัน จะเป็นวันที่ 21 มกราคม 2568 ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม 2568 เป็นต้นไป กฎหมายแพ่งใหม่จึงจะมีผลใช้บังคับ
อย่างไรก็ดี กระทรวงมหาดไทยซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักชี้แจงว่าพร้อมเปิดให้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายใหม่ วันที่ 23 มกราคม 2568 เนื่องจากยึดแนวทางการนับระยะเวลาบังคับใช้กฎหมายตามศาลยุติธรรม ที่ไม่นับวันแรกรวมเข้าด้วยกัน แต่เริ่มนับวันที่หนึ่งในวันถัดไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/3
นอกจากการแก้ไขใจความหลักของการสมรสจากชาย-หญิง เป็น บุคคล เปลี่ยนถ้อยคำที่บ่งชี้เพศอย่างคำว่า สามี-ภริยา เป็น คู่สมรส ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) ฉบับแก้ไขใหม่เพื่อรับรองสิทธิสมรสเท่าเทียม ยังแก้ไขอายุขั้นต่ำสำหรับการหมั้นและการสมรส จาก 17 ปีบริบูรณ์ เป็น 18 ปีบริบูรณ์ และกำหนดรับรองสิทธิของคู่สมรสที่จดทะเบียนตามกฎหมายใหม่ มีสิทธิตามกฎหมายอื่นๆ ที่รับรองสิทธิของสามี-ภริยา ตามกฎหมายแพ่งเดิม
บุคคลสองฝ่ายหมั้น-สมรสได้ ปรับอายุขั้นต่ำการหมั้น-สมรส จาก 17 ปีเป็น 18 ปี
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เดิม | ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แก้ไขใหม่ #สมรสเท่าเทียม | |
การหมั้น-การสมรส | ชาย-หญิง | บุคคล-บุคคล |
อายุขั้นต่ำที่สามารถทำการหมั้น-การสมรสได้ (กรณีหมั้น/สมรสขณะอายุต่ำกว่า 20 ปี ต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดา) | 17 ปี | 18 ปี |
สมรสกับคนต่างชาติโดยใช้กฎหมายไทย | ทำได้เฉพาะคู่สมรส ชาย-หญิง | ทำได้ |
การรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน | / | / |
สิทธิในการรับมรดกคู่สมรสในฐานะทายาทโดยธรรม | / | / |
สิทธิในการใช้นามสกุลคู่สมรส | / | / |
การให้ความยินยอมในการรักษาพยาบาลกรณีคู่สมรสอยู่ในสภาวะให้ความยินยอมไม่ได้ | / | / |
สิทธิประโยชน์ในทางภาษี เช่น การลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา | / | / |
เดิมใน ป.พ.พ. กำหนดให้การหมั้น (มาตรา 1435) รวมถึงการสมรส (มาตรา 1448) ทำได้ระหว่างชายและหญิง ที่มีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ โดยผู้เยาว์ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ กล่าวคือ อายุไม่ถึง 20 ปีบริบูรณ์ และยังไม่เคยจดทะเบียนสมรสมาก่อน หากประสงค์จะทำการหมั้นหรือการสมรส จะต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดาหรือผู้รับบุตรบุญธรรรมก่อน (มาตรา 1436) อย่างไรก็ดี ในกฎหมายสมรสเท่าเทียม นอกจากจะแก้ไขเรื่องสำคัญ คือ จากการหมั้นหรือการสมรสที่ทำได้เฉพาะ “ชาย-หญิง” เป็น “บุคคลสองฝ่าย” แล้ว ยังปรับอายุขั้นต่ำในการหมั้นและการสมรสจาก 17 ปีเป็น 18 ปีบริบูรณ์ ทั้งนี้ หากมีเหตุอันสมควร ศาลก็สามารถอนุญาตให้บุคคลสมรสก่อนอายุ 18 ปีได้ เช่น มีฝ่ายหนึ่งที่ตั้งครรภ์ก่อนอายุ 18 ปีและประสงค์จะทำการสมรสกับอีกฝ่าย
โดยการแก้ไขอายุขั้นต่ำในการหมั้นและการสมรส มีเหตุผลเบื้องหลัง คือ ให้เกณฑ์อายุให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กที่กำหนดให้ “เด็ก” คือบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี การที่ป.พ.พ. เดิมกำหนดให้ผู้ที่อายุต่ำกว่า 18 ปีจดทะเบียนสมรสได้ อีกนัยหนึ่งก็เป็นเหมือนการให้เด็ก (ตามความหมายของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก) สามารถสมรสได้
สำหรับข้อห้ามเกี่ยวกับการสมรส ยังคงไว้ตามเดิม คือ
- บุคคลวิกลจริตหรือบุคคลที่ศาลสั่งเป็นคนไร้ความสามารถ ไม่สามารถสมรสได้ (มาตรา 1449)
- ห้ามสมรสกับญาติสืบสายโลหิตโดยตรงขึ้นไปหรือลงมา พี่น้องร่วมบิดามารดา หรือร่วมแต่บิดาหรือมารดา ความเป็นญาตินี้คำนึงตามสายโลหิต ไม่คำนึงว่าจะเป็นญาติโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ (มาตรา 1450)
- ห้ามผู้รับบุตรบุญธรรมสมรสกับบุตรบุญธรรม (มาตรา 1451) หากผู้รับบุตรบุญธรรมสมรสกับบุตรบุญธรรม การรับบุตรบุญธรรมย่อมเป็นอันยกเลิกไป (มาตรา 1498/32)
- ห้ามบุคคลสมรสขณะที่มีคู่สมรสอยู่แล้ว (ห้ามสมรสซ้อน) (มาตรา 1452)
นอกจากข้อห้ามข้างต้นแล้ว กฎหมายยังกำหนดให้การสมรสจะต้องทำโดยที่บุคคลสองคน “ยินยอม” เป็นคู่สมรสกันด้วย และต้องแสดงความยินยอมโดยเปิดเผยต่อนายทะเบียน (มาตรา 1458) โดยการสมรสกับบุคคลวิกลจริตหรือบุคคลที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ ตามมาตรา 1449 การสมรสกับญาติ ตามมาตรา 1450 การสมรสซ้อน ตามมาตรา 1452 และการสมรส ตามมาตรา 1458 เป็นโมฆะ (มาตรา 1495) คู่สมรสเอง บิดามารดา หรือผู้สืบสันดานของคู่สมรส สามารถร้องขอต่อศาลเพื่อให้พิพากษาว่าการสมรสนั้นเป็นโมฆะได้ (มาตรา 1496 วรรคสอง)
ดังนั้น หากคู่สมรสไม่ได้ยินยอมอยู่ร่วมกัน หรือแอบแฝงจดทะเบียนเพื่อเอาสิทธิประโยชน์หรือสวัสดิการของรัฐ ก็จะส่งผลให้การสมรสนั้นเป็นโมฆะ ผลของการสมรสที่เป็นโมฆะ คือ ไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างคู่สมรสนั้น ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดมีหรือได้มาไม่ว่าก่อนหรือหลังการสมรสก็ยังเป็นของฝ่ายนั้น ส่วนบรรดาทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันให้แบ่งคนละครึ่ง เว้นแต่ศาลจะพิจารณาจากปัจจัยอื่นประกอบ เช่น ฐานะ ภาระในการเลี้ยงชีพ
คนไทยสมรสกับชาวต่างชาติตามกฎหมายไทยได้
ก่อนที่จะมีการแก้ไข ป.พ.พ. เพื่อรับรองสมรสเท่าเทียม ผู้มีความหลากหลายทางเพศที่มีคู่รักเป็นชาวต่างชาติหลายกรณีที่ไม่สามารถจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายไทยได้ แม้ ป.พ.พ. เดิมจะรับรองการสมรสกับคนต่างชาติ (มาตรา 1459) แต่ก็ยังอยู่ภายใต้เงื่อนไขว่าการสมรสจะต้องทำระหว่าง “ชาย-หญิง” เท่านั้น ทำให้ต้องไปจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายต่างประเทศในประเทศที่รับรองสมรสเท่าเทียมหรือมีกฎหมายคู่ชีวิต เมื่อป.พ.พ. แก้ไขใหม่บังคับใช้ บุคคลที่ประสงค์จะจดทะเบียนสมรสกับชาวต่างชาติสามารถจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายไทยได้ โดยการสมรสกับชาวต่างชาติสามารถทำได้ที่ภายในประเทศไทย คือ จดทะเบียนสมรสที่ที่ว่าการอำเภอหรือสำนักงานเขตในกรุงเทพมหานคร หรือทำในต่างประเทศ ณ สถานทูตไทยหรือสถานกงสุลใหญ่ไทยในต่างประเทศ
แบ่งสินส่วนตัว-สินสมรส จัดการสินสมรสต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่าย
สำหรับประเด็นการจัดการทรัพย์สินระหว่างคู่สมรส ยังคงหลักการตาม ป.พ.พ. เดิมไว้ โดยหลักการคือ ถ้าคู่สมรสไม่ได้ทำสัญญาเรื่องทรัพย์สินไว้ก่อนสมรส การจัดการทรัพย์สินจะใช้หลักการตามกฎหมาย โดนแบ่งแยกทรัพย์สินออกเป็นสองประเภท คือ
- สินส่วนตัว เป็นทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรส เครื่องใช้สอยส่วนตัว เครื่องประกอบอาชีพ ทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างการสมรสโดยการรับมรดกหรือโดยการให้โดยเสน่หา และของหมั้น
- สินสมรส คือทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส หรือทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือโดยการให้เป็นหนังสือ ซึ่งระบุว่ายกให้เป็นสินสมรส และดอกผลของสินส่วนตัว
ถ้าเป็นสินส่วนตัว คู่สมรสฝ่ายหนึ่งสามารถจัดการทรัพย์สินของตัวเองได้ตามปกติ แต่สินสมรสเป็นเจ้าของร่วมกันและต้องจัดการทรัพย์สินร่วมกัน การขายหรือจัดการสินสมรสต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่าย
รับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ คู่สมรสฝ่ายหนึ่งตาย อีกฝ่ายมีสิทธิได้รับมรดก
ป.พ.พ. เดิม กำหนดหลักการรับบุตรบุญธรรมว่า ฝั่งผู้รับบุตรบุญธรรม ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี ถึงจะรับบุตรบุญธรรมได้ และต้องมีอายุแก่กว่าบุตรบุญธรรมอย่างน้อย 15 ปี (มาตรา 1598/19) หากผู้รับบุตรบุญธรรมหรือผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมมีคู่สมรสอยู่แล้ว ต้องได้รับความยินยอมจากจากคู่สมรสก่อน (มาตรา 1598/25) ในกรณีที่ฝั่งบุตรบุญธรรมเป็นผู้เยาว์ จะเป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่นอีกไม่ได้ เว้นแต่คู่สมรสของผู้รับบุตรบุญธรรม อีกนัยคือ คู่สมรสสามารถรับผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ (มาตรา 1598/26 วรรคแรก) ซึ่งในป.พ.พ. แก้ไขใหม่ไม่ได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักการนี้ เท่ากับว่าคู่สมรสไม่ว่าเพศใด ก็สามารถรับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้
นอกจากนี้ สถานะความเป็น “คู่สมรส” ยังส่งผลต่อเรื่องสิทธิในการรับมรดกของคู่สมรสอีกฝ่ายที่เสียชีวิตด้วย ป.พ.พ. กำหนดให้คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ เป็นทายาทมีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย กฎหมายสมรสเท่าเทียม ไม่ได้แก้ไขเรื่องนี้ เท่ากับว่าคู่สมรสไม่ว่าเพศใดก็มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายได้ ยกเว้นแต่ผู้ตายจะทำพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น
ฟ้องหย่าได้หากเลี้ยงดูผู้อื่นฉันชู้ ฟ้องค่าทดแทนจากชู้ได้ไม่จำกัดเงื่อนไขเรื่องเพศ
ตามป.พ.พ. เดิมกำหนดให้การสิ้นสุดการสมรสหรือที่เรียกสั้นๆ ว่า การหย่า สามารถเกิดได้จากความสมัครใจของคู่สมรสเองหรือเกิดจากคำพิพากษา ซึ่งการฟ้องหย่าต้องมีเหตุที่สามารถฟ้องหย่าได้ด้วย เช่น สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ ซึ่งหากศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุว่าอีกฝ่ายเลี้ยงดูผู้อื่นฉันสามีภริยา หรือมีชู้ ในป.พ.พ. มาตรา 1523 เดิม กำหนดให้ภริยาหรือสามี มีสิทธิได้รับค่าทดแทนจาก (1) สามีหรือภริยา (2) หญิงอื่นหรือชู้ นอกจากนี้ สามีจะเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งล่วงเกินภริยาไปในทำนองชู้สาวก็ได้ และภริยาจะเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวก็ได้
อย่างไรก็ดี ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 13/2567 ว่าบทบัญญัติดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องจากบัญญัติสิทธิในการเรียกค่าทดแทนของสามีและภริยาไว้ต่างกัน ฝั่งสามีสามารถเรียกค่าทดแทนจาก “ผู้ซึ่ง” ล่วงเกินภริยา ซึ่งถ้อยคำดังกล่าวไม่ได้จำกัดว่าเป็นเพศใด ขณะที่ฝั่งภริยา มีสิทธิเรียกค่าทดแทนจาก “หญิง ที่เข้ามามีสัมพันธ์กับสามีเท่านั้น ทำให้ไม่สามารถเรียกค่าทดแทนจากบุคคลที่เป็นเพศชายหรือบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศที่เข้ามามีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับสามี บทบัญญัติดังกล่าวเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมด้วยความแตกต่างในเรื่องเพศ ขัดต่อหลักความเสมอภาค ขัดรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 27 โดยศาลรัฐธรรมนูญกำหนดผลให้คำวินิจฉัยมีผลเมื่อพ้น 360 วัน นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย
ประจวบเหมาะกัน ในป.พ.พ. แก้ไขใหม่ ได้แก้ไขถ้อยคำที่ระบุเพศเจาะจงในส่วนของเหตุหย่าและการฟ้องชู้ได้โดยไม่มีเงื่อนไขเรื่องเพศของฝั่งผู้ที่มามีความสัมพันธ์กับคู่สมรสอีกต่อไป โดยส่วนของเหตุหย่า มาตรา 1516 (1) หากคู่สมรสฝ่ายหนึ่งอุปการะเลี้ยงดู “ผู้อื่น” ฉันคู่สมรส เป็นชู้หรือมีชู้ ร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ คู่สมรสอีกฝ่ายฟ้องหย่าได้ หากศาลพิพากษาให้หย่า คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งและจากผู้ซึ่งได้รับการอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่อง หรือผู้ซึ่งเป็นเหตุแห่งการหย่า (มาตรา 1523) โดยสรุปคือ ในกฎหมายสมรสเท่าเทียม แก้ไขคำจาก “ผู้ซึ่งล่วงเกินสามี/ภริยา” เป็นผู้ซึ่งล่วงเกิน “คู่สมรส” และไม่มีเงื่อนไขด้านพฤติการณ์ที่ต่างกันระหว่างฝ่ายสามี-ภริยา เพื่อให้ครอบคลุมทุกเพศตามหลักการของกฎหมายสมรสเท่าเทียม
สมรสเท่าเทียม คู่สมรสมีสิทธิ-ได้รับประโยชน์ตามกฎหมายอื่นๆ
นอกจากสิทธิ หน้าที่ และความสัมพันธ์ตามที่ ป.พ.พ. กำหนด เช่น สิทธิในการรับมรดก สถานะความเป็น “คู่สมรส” ยังเชื่อมโยงกับสิทธิหน้าที่รวมไปถึงประโยชน์อื่นๆ ที่คู่สมรสจะได้รับตามกฎหมาย เดิมในกฎหมายหลายฉบับกำหนดรับรองสิทธิ หน้าที่ หรือให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้เป็น “สามี-ภริยา” เมื่อมีการแก้ไข ป.พ.พ. เปลี่ยนถ้อยคำจากสามี-ภริยา เป็น “คู่สมรส” ก็มีประเด็นว่าการรับรองสิทธิของคู่สมรสที่ไม่ใช่คู่ชาย-หญิงตามระบบกฎหมายเดิมจะเป็นอย่างไร
ในป.พ.พ. แก้ไขใหม่ ได้กำหนดแก้ไขปัญหาตรงนี้ไว้ด้วยการระบุว่า บรรดากฎหมายอื่นๆ ที่อ้างถึงสามี-ภริยา ให้ถือว่าอ้างถึงคู่สมรสตามกฎหมายสมรสเท่าเทียมนี้ด้วย แต่ก็มีข้อยกเว้นว่า ไม่รวมถึงกรณีที่กฎหมายเหล่านั้นกำหนดสิทธิ หน้าที่ สถานะทางกฎหมาย หรือเรื่องอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับสามี-ภริยา ไว้แตกต่างกัน
ดังนั้น หากคู่สมรสใดที่ไปจดทะเบียนสมรสเมื่อป.พ.พ. แก้ไขใหม่ที่รับรองสมรสเท่าเทียมมีผลใช้บังคับแล้ว ก็จะมีสิทธิ หน้าที่ หรือได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายอื่นๆ ที่บัญญัติถึงสิทธิของ “คู่สมรส” หรือ “สามี-ภริยา” ไว้
ตัวอย่างเช่น
- สิทธิในการใช้นามสกุลของคู่สมรส : พระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ. 2505 มาตรา 15 กำหนดให้คู่สมรสมีสิทธิใช้นามสกุลของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ หรือจะใช้นามสกุลเดิมของตัวเองได้ นอกจากนี้ คู่สมรสอาจใช้นามสกุลของคู่สมรสอีกฝ่ายเป็นชื่อกลางได้ถ้าหากได้รับความยินยอม (มาตรา 6 วรรคท้าย)
- สิทธิในการให้ความยินยอมรักษาพยาบาล : พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 8 กำหนดหลักการให้ความยินยอมในการรักษาพยาบาล กรณีที่ผู้ป่วยไม่อยู่ในสภาวะที่จะรับทราบข้อมูลสุขภาพเพื่อตัดสินใจรักษาพยาบาล จะต้องแจ้งให้ทายาทโดยธรรมตาม ป.พ.พ. ก่อน ซึ่งคู่สมรสก็เป็นทายาทโดยธรรมตามกฎหมายด้วย (มาตรา 1629 วรรคสอง) นอกจากนี้ในพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ. 2551 มาตรา 21 วรรคสาม กำหนดว่ากรณีที่ผู้ป่วยขาดความสามารถในการตัดสินใจให้ความยินยอมบำบัดรักษา คู่สมรส บุพการี ผู้สืบสันดาน ฯลฯ สามารถให้ความยินยอมเป็นหนังสือแทนผู้ป่วยได้
- สิทธิในการบรรจุเป็นข้าราชการกรณีคู่สมรสเสียชีวิตจากการรบหรือการปฏิบัติหน้าที่ : พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการทหาร พ.ศ. 2521 มาตรา 10/1 กำหนดให้บุตร หรือคู่สมรสที่ไม่ได้สมรสใหม่ หรือบิดามารดาของข้าราชการทหารที่เสียชีวิตเนื่องจากการรบหรือการปฏิบัติหน้าที่ อาจะได้รับสิทธิในการบรรจุหรือแต่งตั้งเป็นข้าราชการทหาร พนักงาน หรือลูกจ้างในหน่วยงานของกระทรวงกลาโหม
- สิทธิประโยชน์ตามกฎหมายประกันสังคม
- ค่าทดแทนกรณีผู้ประกันตนเสียชีวิต พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ .2533 มาตรา 73 กำหนดให้ต้องจ่ายเงินค่าทำศพ เงินสงเคราะห์ ให้แก่สามีภริยา บิดามารดา หรือบุตรของผู้ประกันตนประโยชน์ทดแทนกรณีตนเองหรือภริยาคลอดบุตร (มาตรา 65) เช่น ค่าตรวจและรับฝากครรภ์ ค่าบำบัดทางการแพทย์ ฯลฯ (มาตรา 66) เงินสงเคราะห์บุตรกรณีผู้ประกันตนเสียชีวิต มาตรา 75 จัตวา กำหนดให้จ่ายต่อสามีภริยาที่เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตร
- บำนาญชราภาพ กรณีผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบมาไม่น้อยกว่า 180 เดือน จะมีสิทธิได้รับบำนาญชราภาพหลังอายุครบ 55 ปี หรือหลังสถานะความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุด แต่ถ้าจ่ายไม่ครบ 180 เดือน จะได้รับเป็นบำเหน็จชราภาพแทน (มาตรา 77 ทวิ) กรณีที่ผู้ประกันตนตายภายใน 60 เดือนนับแต่เดือนที่มีสิทธิได้รับบำนาญชราภาพ บุตร สามี-ภริยา บิดามารดา จะมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ
- สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี
- เงินที่ได้รับโดยเสน่หาจากคู่สมรส เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 20 ล้านบาทตลอดปีภาษี ไม่ต้องคำนวณรวมเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (มาตรา 42 (27) ประมวลรัษฎากร) ลดหย่อนภาษีคู่สมรส 60,000 บาท (มาตรา 47 (1)(ข) ประมวลรัษฎากร)
- ยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีมรดกที่คู่สมรสได้รับจากเจ้ามรดก : พระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 มาตรา 3 (2) กำหนดให้กฎหมายนี้ไม่ใช้บังคับแก่กรณีมรดกที่คู่สมรสของเจ้ามรดกได้รับจากเจ้ามรดก เท่ากับว่าหากเป็นมรดกที่ได้รับมาจากคู่สมรสที่เสียชีวิตไป ก็ไม่ต้องเสียภาษีมรดก
อย่างไรก็ดี กรณีที่กฎหมายอื่นกำหนดสิทธิ หน้าที่ สถานะทางกฎหมาย หรือเรื่องอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับสามี-ภริยา ไว้แตกต่างกัน คู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายสมรสเท่าเทียมอาจไม่ได้สิทธินั้นในทันที โดยในกฎหมายสมรสเท่าเทียมกำหนดให้ หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบการประเมินผลสัมฤทธิ์ตามกฎหมายแต่ละฉบับนั้น ดำเนินการทบทวนกฎหมายในความรับผิดชอบที่กำหนดเรื่องสิทธิ หน้าที่ สถานะทางกฎหมายของสามี-ภริยา และเสนอผลการทบทวน หากเห็นว่าสมควรแก้ไขเพิ่มเติมก็ต้องเสนอร่างกฎหมายต่อคณะรัฐมนตรีภายใน 180 วันนับแต่วันที่ป.พ.พ. แก้ไขใหม่บังคับใช้ เพื่อแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป