ชวนสังเกตการณ์คดีไผ่ จตุภัทร์ฟ้อง NSO ให้หยุดใช้เพกาซัส-ชดใช้ค่าเสียหาย

3-5 กันยายน 2567 เวลา 09.30 น. ศาลแพ่งรัชดา ห้องพิจารณาคดีที่ 608 นัดสืบพยานโจทก์ในคดีที่ไผ่-จตุภัทร์ บุญภัทรรักษาเป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลย NSO Group บริษัทสัญชาติอิสราเอลที่เป็นผู้ผลิต ผู้จำหน่ายและพัฒนาสปายแวร์เพกาซัส ฐานละเมิดจากการใช้เทคโนโลยีขโมยข้อมูลในโทรศัพท์มือถือ โดยเรียกค่าเสียหาย 2,500,000 บาทและขอให้ศาลสั่ง NSO ให้หยุดใช้สปายแวร์เพกาซัสละเมิดความเป็นส่วนตัวของพลเมืองไทย

สปายแวร์เพกาซัส เป็นหนึ่งในเครื่องมือในการจารกรรมข้อมูลทางไซเบอร์ที่ยากในการตรวจจับ สิ่งที่ทำให้เทคโนโลยีชนิดนี้มีความแตกต่างคือการใช้วิธีการสอดแนมแบบไร้การคลิก (Zero-Click) คือไม่จำเป็นต้องเข้าถึงโทรศัพท์ของเป้าหมายแต่อย่างใด เป้าหมายไม่จำเป็นต้องเชื่อมต่อโทรศัพท์เข้ากับสายต่อใดๆ แค่มีเพียงหมายเลขโทรศัพท์ของเป้าหมายก็สามารถเจาะระบบเป้าหมายได้ทันที 

ตามคำฟ้องของไผ่-จตุภัทร์ ระบุว่า หลังจากที่ขายสิทธิการใช้งานให้แก่รัฐบาลต่างๆ แล้ว NSO Group ยังมีหน้าที่ให้การดูแล ควบคุมการใช้งานสปายแวร์ดังกล่าวกับบุคคลเป้าหมาย โดยเมื่อรัฐบาลที่ซื้อสปายแวร์ดังกล่าวระบุตัวเป้าหมายแล้ว NSO Group เป็นผู้ที่ควบคุมเพื่อทำการเจาะระบบ สอดแนมบุคคลเป้าหมาย ทำสำเนาข้อมูลและส่งให้กับหน่วยงานของรัฐอีกทอดหนึ่ง

ในประเทศไทย หลังการจัดซื้อแล้ว NSO Group ยังทำหน้าที่อบรมการใช้งานให้เจ้าหน้าที่ของรัฐในการใช้กับโจทก์ และมีการตรวจสอบพบสปายแวร์ดังกล่าวตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2557 ระหว่างการชุมนุมทางการเมืองปี 2563-2564 มีการใช้สปายแวร์สอดส่องนักกิจกรรม นักวิชาการ นักการเมืองและผู้ทำงานในภาคประชาสังคมอย่างน้อย 35 คน ในส่วนของไผ่ จตุภัทร์ เกิดขึ้นระหว่างเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม 2564 อย่างน้อยสามครั้ง โดยเป็นช่วงที่เกี่ยวเนื่องกับการเตรียมการการชุมนุม การกระทำของ NSO Group ในการผลิต พัฒนา จำหน่ายต่อรัฐและควบคุมเพื่อให้ได้ข้อมูลของโจทก์เป็นการละเมิดต่อเสรีภาพที่ประกันไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และหลักการระหว่างประเทศ

ศาลนัดสืบพยานโจทก์ตั้งแต่วันที่ 3-5 กันยายน 2567 มีพยานเข้าเบิกความตามวันที่ดังนี้

๐ 3 กันยายน 2567 : จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา โจทก์และยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน

๐ 4 กันยายน 2567 : วรัญญุตา ยันอินทร์ นักคอมพิวเตอร์ สุธาวัลย์ ชั้นประเสริฐ มูลนิธิสิทธิทางดิจิทัลและฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

๐ 5 กันยายน 2567 : ผศ. ปริยกร ปุสวิโร อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

ประชาชนทั่วไปที่สนใจฟังคำเบิกความของพยานโจทก์สามารถเข้าร่วมสังเกตการณ์การสืบพยานได้วันที่ 3-5 กันยายน 2567 ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 608 ศาลแพ่งรัชดา เวลา 09.30 น. เป็นต้นไป

📍ร่วมรณรงค์

JOIN : ILAW CLUB

ช่องทางการติดตาม

FACEBOOK PAGE

วิดีโอแนะนำ