รับมือโควิดที่สหรัฐฯ: ซานฟรานซิสโกรับมือรวดเร็ว เร่งเยียวยา ชาวประชาเชื่อมั่น

มนพร ศรีศุทธยานนท์
นักศึกษาปริญญาโท

 

ซานฟรานซิสโกปิดเมืองเร็วเพื่อลดความเสี่ยง

เราอยู่ที่เมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย ช่วงเดือนมกราคม 2563 เราเดินทางกลับซานฟรานซิสโกหลังจากมาทำธุระที่เมืองไทย ตอนนั้นที่นี่ยังไม่มีคนติดเชื้อ แต่รัฐบาลท้องถิ่นก็ตระหนักดีว่าเมืองนี้เป็นเมืองที่มีนักศึกษาและนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางเข้าออกอยู่ตลอดเวลา ประกอบกับมีการคาดการณ์กันว่าในกรณีที่เลวร้ายที่สุด อาจมีผู้ติดเชื้อในมลรัฐแคลิฟอร์เนียสูงถึง 56% ของประชากร ซึ่งการบริการจัดการด้านสาธารณสุขอาจไม่สามารถรองรับผู้ป่วยได้และจะมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก นโยบายปิดเมืองจึงถูกนำมาใช้เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว

นโยบายปิดเมือง ให้คนกักตัวอยู่บ้านของที่นี่เรียกว่า เชลเตอร์อิมพีช (Shelter impeach) เริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม 2563 รัฐบาลเมืองขอความร่วมมือให้ประชาชนอยู่กับบ้าน งดการเดินทางที่ไม่จำเป็นทั้งหมดเพื่อจำกัดการระบาดของไวรัส การใช้นโยบายนี้ไม่ได้มีการประกาศห้ามออกจากบ้าน (curfew) แต่ก็มีการขอความร่วมมือให้ทุกคนลดการติดต่อกับคนที่ไม่ได้อยู่อาศัยด้วยกันเป็นปกติ ร้านอาหารยังคงเปิดให้บริการแต่เฉพาะซื้อกลับบ้านหรือให้ไปส่งที่บ้าน กิจการที่เป็นการรวมตัวของคนหมู่มากในที่จำกัดเช่น โรงหนัง ร้านเสริมสวย หรือผับบาร์ถูกสั่งปิด นอกจากนี้ก็มีการห้ามเดินทางด้วยรถยนต์เข้าเมืองซานฟรานซิสโกด้วย

ช่วงที่ประกาศใช้เชลเตอร์ อิมพีชเมนท์ใหม่ๆ คนก็ไปกักตุนสินค้ากันบ้าง เราคิดว่ามีคนอเมริกันส่วนหนึ่งที่เชื่อเรื่องวันสิ้นโลกอยู่แล้วพอมีอะไรแบบนี้ก็เลยไปกักตุนสินค้ากัน แต่ถึงกระนั้นสินค้าจำเป็นก็ยังพอหาซื้อได้รวมถึงหน้ากากอนามัยและเจลล้างมือ เรื่องหน้ากากนี่คนที่ตื่นตัวใส่แรกๆ เป็นพวกคนจีน ส่วนคนอเมริกันตอนแรกก็ไม่ใส่กันแต่พอองค์การอนามัยโลกแนะนำให้ปกปิดใบหน้า คนอเมริกันก็เริ่มทำตามแต่ส่วนใหญ่เขาก็ใส่เป็นพวกหน้ากากผ้า บางคนก็แค่เอาผ้าโพกหัวหรือเสื้อเก่าๆ มาปิดใบหน้า คนอเมริกันคิดว่าการปกปิดใบหน้าแค่นี้ก็เพียงพอแล้ว ส่วนหน้ากากอนามัยควรเก็บไว้ให้บุคลากรทางการแพทย์ใช้   

สำหรับมาตรการของห้างร้านที่น่าสนใจ ได้แก่ การจำกัดจำนวนผู้ใช้บริการในเวลาเดียวกันเพื่อไม่ให้มีคนไปแออัดในพื้นที่มากเกินไป นอกจากนั้นทางร้านก็มีสิทธิปฏิเสธไม่ให้ผู้ที่ไม่สวมหน้ากากหรือปกปิดใบหน้าใช้บริการด้วย ตอนเราไปซื้อของใช้ที่ห้างก็เจอเรื่องตลกอันหนึ่งคือ ในขณะที่เบียร์ยี่ห้ออื่นๆ มีคนกวาดซื้อไป เบียร์โคโรนากลับเหลืออยู่เกือบเต็มชั้นคล้ายๆ กับว่าคนไม่กล้ากินกันเพราะชื่อไปพ้องกับไวรัส

เท่าที่เราเห็นประชาชนประมาณ 80% ก็ปฏิบัติตามมาตรการของทางการนะ คงเป็นเพราะพวกเขาเชื่อมั่นในตัวผู้บริหารทั้งระดับเมืองและผู้ว่าการรัฐ บางคนแม้จะบ่นด้วยความไม่พอใจแต่ก็ปฏิบัติตามเพราะถือว่าเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อส่วนรวม 

 

ผลกระทบของการปิดเมืองและมาตรการรองรับ

เมื่อมาตรการปิดเมืองถูกนำมาใช้ ผลกระทบทางเศรษฐกิจก็เป็นสิ่งที่ตามมา พนักงานร้านเสริมสวย ผับบาร์ ต้องขาดรายได้ ร้านอาหารแม้จะยังให้บริการได้แต่ก็ต้องลดจำนวนพนักงานเพราะเหลือแค่บริการห่อกลับบ้านและส่งถึงบ้านเท่านั้น นอกจากนั้นเมื่อรัฐมีนโยบายให้ประชาชนอยู่บ้าน ค่าสาธารณูปโภคค่าน้ำค่าไฟก็สูงขึ้นสวนทางกับรายได้ของประชาชนที่หดหาย แต่เท่าที่เราทราบเมืองซานฟรานซิสโกก็เตรียมรับมือปัญหาเศรษฐกิจที่ว่าได้ดีระดับหนึ่งเลยนะ

อย่างเช่นมีการรณรงค์ให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์งดเว้นการเก็บค่าเช่าบ้าน นอกจากมาตรการรองรับระดับเมืองหรือระดับมลรัฐแล้ว รัฐบาลกลางเองก็ออกมาตรการจ่ายเงินเยียวยาประชาชนด้วยเช่นกัน โดยจ่ายเงินแก่ผู้ที่เสียภาษีให้รัฐไม่ต่ำกว่า 5 ปี คนละ 1,200 ดอลลาร์หรือประมาณสามหมื่นบาทโดยเงินดังกล่าวถูกโอนเข้าบัญชีของผู้เสียภาษีโดยตรงไม่ต้องลงทะเบียนใดๆ ชาวต่างชาติที่มีใบอนุญาตทำงานถูกต้องและเสียภาษีให้รัฐตามเกณฑ์ก็มีสิทธิได้รับเงินก้อนนี้ด้วย ตัวเราเองยังไม่ได้ทำงานจึงไม่ได้เงินส่วนนี้