ศาลรธน. มีมติ 5 : 4 ฟันเศรษฐาพ้นตำแหน่งนายกฯ ปมตั้ง “พิชิต ชื่นบาน” เป็น รมต.

14 สิงหาคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 5 ต่อ 4 ให้เศรษฐา ทวีสิน พ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากขาดคุณสมบัติ ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง จากปมทูลเกล้าฯ แต่งตั้งพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีทั้งที่พิชิตเคยต้องคำพิพากษาจำคุกหกเดือนฐานละเมิดอำนาจศาล  ศาลรัฐธรรมนูญแจงว่า เศรษฐา ทวีสินย่อมรู้หรือควรรู้ได้ว่าพิชิต ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามในการเป็นรัฐมนตรี แต่ยังดึงดันเสนอชื่อให้เป็นรัฐมนตรี รวมถึงการไปพบทักษิณ ชินวัตรก่อนเสนอชื่อ ทำให้เศรษฐา มีพฤติกรรมขาดความซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์และฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง 

ผลของคดีนี้ เมื่อเศรษฐาขาดคุณสมบัติ ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีจึงสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) และยังส่งผลสืบเรื่องให้รัฐมนตรีต้องพ้นตำแหน่งทั้งคณะตามมาตรา 167 วรรคหนึ่ง (1) โดยให้นำมาตรา 168 วรรคหนึ่ง (1) มาใช้บังคับกับการปฏิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งต่อไป

มาตรฐานทางจริยธรรม-คำปรารภรัฐธรรมนูญมัดแน่นต้านคนไม่มีคุณธรรม

ศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งบัลลังก์ในเวลา 15.00 น. แถลงคำวินิจฉัยในคดีที่ 40 สว. ยื่นคำร้องผ่านประธานวุฒิสภาให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้ถอดถอนเศรษฐา ทวีสิน กรณีที่เศรษฐาเคยทูลเกล้าฯ แต่งตั้งให้ พิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งที่รู้อยู่แล้วหรือควรรู้ว่าพิชิตขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ เนื่องจากพิชิตเคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกฐานละเมิดอำนาจศาลจากกรณีหิ้วถุงขนมใส่เงินสดสองล้านบาทไปมอบให้เจ้าหน้าที่ธุรการศาลในช่วงที่มีการพิจารณาคดีที่ดินรัชดา ของทักษิณ ชินวัตร ในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

การที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาในคดีนี้มีที่มาจากกลุ่ม 40 สว. ชุดพิเศษ ที่อ้างว่าการที่พิชิตเคยถูกศาลฎีกามีคำสั่งให้จำคุกหกเดือนฐานละเมิดอำนาจศาล ถือว่าพิชิตเป็นบุคคลที่กระทำการอันไม่ซื่อสัตย์สุจริตและมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) และ (5) เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีทั้งของเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะต้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบ มาตรา 160 (4) และ (5)

นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมอบหมายให้ จิรนิติ หะวานนท์ วิรุฬห์ แสงเทียน อุดม สิทธิวิรัชธรรม และปัญญา อุดชาชน เป็นผู้อ่านคำวินิจฉัย โดยศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย แจกแจงตามประเด็นได้ ดังนี้

รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 160 กำหนดคุณสมบัติของรัฐมนตรี (4) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และ (5) ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง และมาตรา 170 (1) บัญญัติว่า ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเมื่อ (4) คือขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160

สำหรับประเด็นมาตรฐานทางจริยธรรมตามมาตรา 160 (5) นั้น ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 219 วรรคสอง กำหนดให้นำมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระรวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและหัวหน้าหน่วยธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ 2561 มาใช้บังคับแก่คณะรัฐมนตรีด้วย โดยมาตรฐานจริยธรรมที่ศาลรัฐธรรมนูญยกมาพิจารณานั้นอยู่ในหมวด 1 มาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นอุดมการณ์ หมวด 2 มาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นค่านิยมหลัก และหมวด 3 จริยธรรมทั่วไป โดยมีข้อที่ศาลยกขึ้นพิจารณามาดังต่อไปนี้

ข้อ 7 กำหนดว่าประโยชน์ของประเทศชาติเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตน

ข้อ 8 กำหนดว่าต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ เพื่อตนเอง หรือผู้อื่น หรือมีพฤติการณ์ที่รู้เห็นหรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ

ข้อ 11 กำหนดว่า ไม่กระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม ไม่ว่าโดยตรงหรือทางอ้อม

ข้อ 17 กำหนดว่า ไม่กระทำการอันใดที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่ง

ข้อ 19 กำหนดว่า ไม่คบหาสมาคมกับคู่กรณี ผู้ประพฤติผิดกฎหมาย ผู้มีอิทธิพลหรือผู้มีความประพฤติหรือผู้มีชื่อเสียงในทางเสื่อมเสีย อันอาจกระทบกระเทือนต่อความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนในการปฏิบัติหน้าที่

โดยศาลยังยกข้อ 27 วรรคหนึ่งซึ่งกำหนดว่า “การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม ในหมวดหนึ่ง ให้ถือว่ามีลักษณะร้ายแรง” และวรรคสองกำหนดว่า “การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมในหมวด 2 และหมวด 3 จะถือว่ามีลักษณะร้ายแรงหรือไม่ ให้พิจารณาถึงพฤติกรรมของการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติ เจตนาและความร้ายแรงของความเสียหายที่เกิดจากการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัตินั้น”

นอกจากมาตรฐานทางจริยธรรมแล้วยังมีคำปรารภของรัฐธรรมว่า รัฐธรรมนูญนี้วางกลไกป้องกัน ตรวจสอบและขจัดการทุจริต และประพฤติมิชอบ ที่เข้มงวด เด็ดขาด เพื่อมิให้ผู้บริหารที่ปราศจากคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาลเข้ามามีอำนาจในการปกครองบ้านเมือง หรือใช้อำนาจตามอำเภอใจ จึงบัญญัติคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีไว้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170  เป็นคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามเพิ่มเติมจากลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 

ผู้ที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต้องสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง รวมทั้งต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 (7) และ (8) คือไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทความผิดลหุโทษหรือความผิดฐานหมิ่นประมาท และ ไม่เป็นผู้เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุกระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 186 หรือมาตรา 187 มาแล้วยังไม่ถึงสองปีนับถึงวันแต่งตั้ง สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ต้องการให้บุคคลที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี จะต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติสูงกว่าบุคคลที่จะเป็น สส. เนื่องจากรัฐมนตรีเป็นผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานทางบริหารและทางการปกครองประเทศ

ชี้เศรษฐาต้องรับผิดชอบต่อการเสนอชื่อพิชิต

ความแตกต่างระหว่างคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (4) และ (5) นั้น รัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) เป็นกรณีความซื่อสัตย์ในภาพรวมทั่วไปของบุคคลที่ปรากฎต่อสังคม ส่วนกรณีตามมาตรา 160 (5) เป็นกรณีเฉพาะเจาะจงที่กำหนดไว้ในมาตรฐานทางจริยธรรม การพิจารณาว่าบุคคลใดมีคุณสมบัติตามมาตรา 160 (4) และ (5) เป็นดุลพินิจของนายกรัฐมนตรี จะต้องเป็นผู้พิจารณาในฐานะผู้รับผิดชอบในการนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งบุคคลเป็นรัฐมนตรี และเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการดังกล่าว โดยผู้รับสนองพระบรมราชโองการจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในกิจการที่ตนลงนามรับสนองพระบรมราชโองการนั้นเสมอ เพราะมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยตามที่มีผู้ถวายคำแนะนำ ความรับผิดชอบดังกล่าวประกอบด้วย 3 ประการคือ ความรับผิดชอบในความถูกต้องตามแบบพิธีหรือกระบวนการได้มาโดยถูกต้องและสมบูรณ์ ความรับผิดชอบในข้อความของเอกสารที่นำขึ้นกราบบังคมทูลฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และความรับผิดชอบในสารัตถะที่ถูกต้องและความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายในการบริหารราชการแผ่นดิน

ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้ถูกร้องที่ 2 (พิชิต ชื่นบาน) เคยต้องโทษตามคำสั่งศาลฎีกา ที่ 4599/2551 ที่วินิจฉัยว่า เสมียนทนายความที่ทำงานประสานงานให้พิชิต ชื่นบาน นำถุงกระดาษใส่เงินสดมอบให้เจ้าหน้าที่ของศาลฎีกาโดยที่รู้หรือควรรู้ว่าภายในถุงกระดาษนั้นมีเงินสดอยู่ และพิชิต มีพฤติการณ์ที่เชื่อได้ว่ามีส่วนรู้เห็นในการกระทำดังกล่าวด้วยในลักษณะเป็นตัวการร่วม โดยมีเจตนาจูงใจให้เจ้าหน้าที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กระทำการอันไม่ชอบด้วยหน้าที่ที่อาจเชื่อมโยงไปเป็นประโยชน์แก่จำเลยในคดีหมายเลขดำที่ อม. 1/2550 ซึ่งเป็นลูกความของพิชิต การกระทำดังกล่าวเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31 (1)  และมาตรา 33 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และน่าจะมีมูลความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144  หรือ หรือความผิดอื่นต่อเจ้าพนักงาน พิชิต ชื่นบาน ซึ่งประกอบอาชีพทนายความหรือที่ปรึกษากฎหมายย่อมตระหนักดีว่าการกระทำดังกล่าวจะทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่สถาบันศาลยุติธรรมและจะส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือและความศรัทธาในการทำหน้าที่ของบุคลากรในอำนาจตุลาการ จึงสั่งลงโทษสถานหนักให้จำคุก พิชิต ชื่นบาน หกเดือน

ในเดือนกันยายน 2552 คณะกรรมการมรรยาททนายความ สภาทนายความ ยังเห็นว่าการที่พิชิตถูกลงโทษในคดีละเมิดอำนาจศาลตามคำสั่งศาลฎีกาข้างต้นเป็นการกระทำที่ไม่เคารพยำเกรงอำนาจศาล ทำให้เสื่อมเสียอำนาจศาลหรือผู้พิพากษาและกระทบต่อความเชื่อมั่นของกระบวนการยุติธรรมไทย เป็นการกระทำผิดตามข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนาย พ.ศ.2529 ข้อ 6 และข้อ 18 โดยลบชื่อพิชิต ออกจากทะเบียนทนายความ 

ชี้เศรษฐาต้องรู้หรือควรรู้ว่าพิชิตมีลักษณะต้องห้าม


ศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าในคำร้องของฝั่งผู้ร้อง (ประธานวุฒิสภา) ระบุว่า เศรษฐาต้องรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าพิชิตขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีหรือไม่ แม้ว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาจะมีความเห็นว่าการถูกลงโทษตามคำสั่งศาลให้จำคุกในกรณีดังกล่าวได้พ้นโทษเกิน 10 ปีแล้ว ไม่เป็นลักษณะต้องห้ามตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ แต่ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาดังกล่าว เป็นการให้ความเห็นเฉพาะกรณีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (6) ประกอบมาตรา 98 (7) มาตรา 160 (7) เท่านั้น ไม่รวมถึงมาตรา 160 (4) (5)

จากการไต่สวนเลขาธิการคณะรัฐมนตรีพบว่าก่อนจะนำชื่อบุคคลที่จะได้รับการโปรดกล้าฯ เป็นรัฐมนตรีขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อให้ทรงโปรเกล้าฯ นั้น จะต้องมีกระบวนการขั้นตอนในการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของบุคคลนั้นอย่างละเอียดแล้ว ศาลพิจารณากระบวนการตรวจสอบดังกล่าวแล้วเป็นที่แน่ชัดว่านายกรัฐมนตรีจะย่อมต้องทราบถึงคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของพิชิต ชื่นบาน จากกระบวนการตรวจสอบของสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ข้อเท็จริงดังกล่าวข้างต้นจึงรับฟังได้ว่านายกรัฐมนตรีได้รู้หรือควรรู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติการณ์ของพิชิต ตามที่ถูกกล่าวหาว่าอาจมีลักษณะต้องห้ามก่อนที่จะเสนอแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรี

เศรษฐารู้อยู่แล้วว่าขาดคุณสมบัติแต่ยังเสนอชื่อพิชิตเป็นรัฐมนตรี

ข้อพิจารณาต่อไปมีว่าเมื่อนายกรัฐมนตรีรู้หรือควรรู้ว่าพิชิตมีลักษณะต้องห้ามแล้ว แต่ยังคงเสนอให้พิชิตเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นกรณีที่เศรษฐาเป็นผู้ที่ไม่มีความซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ ศาลเห็นว่าการถูกลงโทษให้จำคุกและการถูกลบชื่อออกจากทะเบียนทนายความเพราะมีพฤติการณ์ผิดมรรยาททนายความ เป็นการทำให้เสื่อมเสียแก่สถาบันและวิชาชีพทนายความ เป็นการเสื่อมเสียแก่ต่อศักดิ์ศรีและเกียรติคุณของทนายความอย่างมาก เป็นการแสดงความเป็นผู้ที่ไม่ซื่อสัตย์สุจริตหรือไม่ เพราะความหมายของคำว่า “ความซื่อสัตย์” และ “ความสุจริต” ไม่ได้เป็นเพียงเพื่อทุจริตหรือประพฤติไม่ชอบเท่านั้น แต่ยังจะต้องทำให้เกิดความเชื่อมั่นศรัทธาได้ ซึ่งต้องเป็นการกระทำให้วิญญูชนทั่วไปที่ทราบพฤติการณ์ยอมรับว่าเป็นการกระทำที่ซื่อสัตย์สุจริตหรือไม่

เมื่อพิชิตมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) การที่เศรษฐาเสนอชื่อพิชิตขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีย่อมเป็นการปฏิบัติไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเพราะเสนอชื่อคนที่ไม่สมควรเป็นรัฐมนตรีให้เป็นรัฐมนตรี แม้เศรษฐาจะกล่าวอ้างว่าตนมีภูมิหลังจากการประกอบธุรกิจ มีประสบการณ์ทางการเมืองที่จำกัด ไม่มีความรู้ทางด้านรัฐศาสตร์หรือนิติศาสตร์ เป็นข้ออ้างที่รับฟังไม่ได้ เพราะนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดในฝ่ายบริหารทุกการตัดสินใจมีผลกระทบต่อบ้านเมืองจึงต้องมีความรับผิดชอบในทุกการกระทำประกอบกับหลักเกณฑ์ในการพิจารณาเกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริตและความน่าเชื่อถือหรือไว้วางใจต่อสาธารณชนนั้นเป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ประจักษ์ชัดในลักษณะภาวะวิสัย ไม่ใช่ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับข้อกฎหมายที่จะต้องใช้ความรู้ความชำนาญ วุฒิการศึกษา หรือประสบการณ์ทำงานโดยเฉพาะ เพียงความตระหนักรู้ถึงมาตรฐานเยี่ยงวิญญูชนหรือบุคคลทั่วไปในสังคมก็เพียงพอต่อการวินิจฉัยได้แล้ว

การที่นายกรัฐมนตรีจะเสนอแต่งตั้งบุคคลใดให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีนั้นไม่ได้อาศัยเพียงแต่ความเพียงพอใจส่วนตนโดยแท้ เพราะนอกจากคณะมนตรีซึ่งเป็นฝ่ายบริหารจะต้องได้รับความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎรตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นมุขในแบบรัฐสภาแล้ว คณะรัฐมนตรีซึ่งหมายถึงนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีแต่ละคนจะต้องได้รับความเชื่อถือจากประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบันมีเจตนารมณ์ในการไม่ให้บุคคลที่ปราศจากคุณธรรมจริยธรรมและธรรมาภิบาลเข้ามามีอำนาจในการบริหารปกครองบ้านเมืองตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ดังนั้นแม้นายกรัฐมนตรีจะเสนอแต่งตั้งบุคคลที่ตนให้ความไว้วางใจและเห็นว่ามีความรู้ความสามารถตามที่ตนเห็นสมควร บุคคลนั้นยังจะต้องมีความน่าเชื่อถือจากสาธารณชนตามมาตรฐานวิญญูชนด้วย ดังนั้นเศรษฐา ทวีสินจะเป็นผู้ที่ขาดความซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์ตามมาตรา 160 (4) 

ศาลโยงการพบทักษิณ-พิชิต เป็นการขัดจริยธรรมอย่างร้ายแรง

ข้อที่ผู้ร้องกล่าวอ้างว่าเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรงอันเป็นลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (5) โดยกล่าวหาว่าเศรษฐาไปพบบุคคล (ทักษิณ ชินวัตร) ซึ่งพิชิตเป็นหัวหน้าทนายความประจำตัว จึงเป็นมูลเหตุจูงใจให้เศรษฐา เอื้อประโยชน์ให้แก่บุคคลดังกล่าวและหลังจากเศรษฐาเข้าพบบุคคลดังกล่าวแล้ว เศรษฐานำคำกราบบังคมทูลเพื่อเสนอให้พิชิตเป็นรัฐมนตรี เป็นพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าเศรษฐาไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์และฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง รวมทั้งรู้เห็นหรือยินยอมให้พิชิตหรือผู้อื่นใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของเศรษฐาเพื่อให้ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีโดยไม่ชอบ เป็นการกระทำที่ถือเอาประโยชน์ส่วนตนเหนือกว่าประโยชน์ของประเทศชาติและเป็นการขัดกันของประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม ทั้งนี้ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม เป็นการก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี  เป็นการสมคบสมาคมกับผู้มีความประพฤติหรือผู้มีชื่อเสียงในทางเสื่อมเสียอันอาจกระทบกระเทือนต่อความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนต่อการปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี ขัดต่อมาตรฐานจริยธรรมฯ 2561 ข้อ 7, 8, 11, 17 และ 19 ซึ่งรัฐธรรมนูญมาตรา 219  บังคับให้ใช้แก่รัฐมนตรีด้วย เศรษฐาจึงมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 (5) 

5 ต่อ 4 ฟันเศรษฐาพ้นจากตำแหน่ง เหตุขาดความซื่อสัตย์-ขาดจริยธรรม

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติโดยเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 วินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 167 (1) ประกอบมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) เนื่องจากไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ขาดคุณสมบัติตามมาตรา 160 (4) และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง อันมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 (5) เมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) แล้ว รัฐมนตรีต้องพ้นตำแหน่งทั้งคณะตามมาตรา 167 วรรคหนึ่ง (1) โดยให้นำมาตรา 168 วรรคหนึ่ง (1) มาใช้บังคับกับการ ปฏิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งต่อไป

โดยคณะตุลาการสียงข้างมากห้าคน ที่เห็นว่าเศรษฐาทวีสินต้องพ้นจากตำแหน่งในข้อกล่าวหานี้ ได้แก่ ปัญญา อุดชาชน อุดม สิทธิวิรัชธรรม วิรุฬห์ แสงเทียน จิรนิติ หะวานนท์ และนายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ ในขณะที่เสียงข้างน้อยสี่คนที่เห็นว่าเศรษฐา ทวีสินไม่ต้องพ้นจากตำแหน่งในข้อกล่าวหานี้ ได้แก่ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ นภดล เทพพิทักษ์ อุดม รัฐอมฤต และสุเมธ รอยกุลเจริญ

📍ร่วมรณรงค์

JOIN : ILAW CLUB

ช่องทางการติดตาม

FACEBOOK PAGE

วิดีโอแนะนำ

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage