11 พ.ค. 67 เปิด “คลินิก” ให้คำปรึกษาผู้เตรียมสมัครสว. ก่อนออกพ.ร.ฎ.

งานนี้เนื้อๆ เน้นๆ พวกเราเตรียมพร้อมให้บริการอย่างเต็มที่ เตรียมตอบทุกประเด็นข้อสงสัย เตรียมตอบทุกคำถามที่ยังไม่แน่ใจ จึงขอเชิญพี่ๆ ที่อายุ 40 ปีขึ้นไปมาเจอกันในการเปิดคลินิกครั้งใหญ่ สำหรับให้คำปรึกษาผู้เตรียมลงสมัคร #สว67 ซึ่งน่าจะเป็นกิจกรรมสุดท้ายก่อนการออกพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสว. ชุดต่อไป

ในงานเสวนา PRIDI Talks #25: เก่าไปใหม่มา : สว. ชุดใหม่ อนาคตประชาธิปไตย อนาคตประเทศไทย ซึ่งจัดโดยสถาบันปรีดี พนมยงค์ วันที่ 11 พฤษภาคม 2567 เวลา 12.00 – 17.00 น. ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ นอกจากกิจกรรมเสวนาในหอประชุมแล้ว ยังมีนิทรรศการแสดงข้อมูลที่เรียบเรียงจากผลงานตลอดระยะเวลาห้าปีของ สว. ชุดพิเศษที่มาจาก คสช. ซึ่งกำลังจะหมดอายุไป และยังมีพื้นที่สำหรับการแสดงความคิดเห็นแบบไม่ต้องแสดงตัวสำหรับผู้ที่เตรียมสมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็น สว. ชุดต่อไป

นอกจากนี้พื้นที่บริเวณใต้หอประชุมศรีบูรพา จะจัดทำเป็น “คลินิก” หรือการเปิดโต๊ะเพื่อพูดคุย ให้คำปรึกษา และตอบคำถามผู้ที่กำลังเตรียมลงสมัครวุฒิสมาชิกชุดต่อไป #สว67 โดยทีมงานจาก iLaw จะพาทุกคนใช้ระบบของเว็บไซต์ senate67.com ซึ่งจะสามารถช่วยเหลือผู้เตรียมตัวสมัครทุกคนได้ ดังนี้

1) ช่วยตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้นว่า ใครมีคุณสมบัติครบหรือไม่ หรือยังติดข้อห้าม ซึ่งจะต้องจัดการแก้ไขให้ทันก่อนสมัครได้ด้วยวิธีใดบ้าง

2) ช่วยตรวจสอบเอกสารหลักฐานที่จะต้องใช้ในวันสมัคร วิธีการไปขอรับใบสมัคร วิธีการกรอกเอกสารสมัคร และหลักฐานต่างๆ ที่ต้องใช้แสดง

3) ช่วยให้ผู้ที่พร้อมประกาศจุดยืนของตัวเองผ่านเว็บไซต์ seante67.com ให้สาธารณะได้รับรู้ แบบไม่ต้องเปิดเผยตัวเองและไม่ฝ่าฝืนระเบียบการแนะนำตัวฯ

4) ช่วยให้ผู้ที่จะลงสมัครมีโอกาสได้สำรวจและศึกษาจุดยืนของผู้สมัครคนอื่นๆ ที่อาจลงสมัครในกลุ่มเดียวกันหรืออำเภอเดียวกัน

พร้อมรับฟรี! ใบปลิวความรู้เรื่องระบบการเลือกสว. และ “คู่มือผู้สมัคร” ฉบับเข้าใจง่ายที่ iLaw ศึกษาและจัดทำขึ้นเอง

งานนี้เหมาะเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่เตรียมลงสมัครรับการคัดเลือกเป็น สว. ชุดต่อไป หรือผู้ที่กำลังสนใจแต่กำลังหาความรู้เพิ่ม หรือผู้ที่เห็นความสำคัญแล้วแต่ยังไม่แน่ใจว่าตัวเองจะลงสมัครดีหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมตัวสมัครเพื่อเป็นสว. ชุดต่อไป หรือสมัครเพื่อไปใช้สิทธิโหวต หรือสมัครเพื่อเข้าร่วมการจับตากระบวนการ ก็แวะมาเจอกันได้ และนี่อาจะเป็นงานใหญ่ครั้งสุดท้ายก่อนที่สื่อมวลชนจะต้องเงียบลงเพราะหมดเวลาการนำเสนอข้อมูลผู้สมัคร 

ทีมงานได้ติดตามศึกษาข้อมูล ข้อกฎหมาย ระเบียบวิธีการต่างๆ มาอย่างดีตลอด 2-3 เดือนที่ผ่านมาและพร้อมให้บริการตอบคำถามทุกคนเท่าที่ตอบได้ อย่างไรก็ดี สำหรับคำถามข้อสงสัยที่เป็นปัญหาเทคนิคทางกฎหมายที่ต้องขึ้นอยู่กับการตีความของผู้มีอำนาจ เช่น ตำแหน่งงานใดที่ถือเป็นลูกจ้างของรัฐบ้าง, ตำแหน่งงานใดบ้างที่ถือเป็นการดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง, การถือหุ้นในบริษัทในอัตราส่วนที่น้อยมากๆ จะนับเป็นการ “ถือหุ้นสื่อ” ที่ต้องห้ามหรือไม่ ฯลฯ คำถามเหล่านี้กกต. ไม่เคยชี้แจงแนวทางการตีความให้ชัดทำให้ยังหาบรรทัดฐานที่ชัดเจนไม่ได้ และนายอำเภอที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบคุณสมบัติแต่ละคนอาจตีความแตกต่างกันออกไป เราไม่สามารถ “ฟันธง” ให้ได้ทุกกรณีเพราะความเห็นของเราอาจแตกต่างจากผู้มีอำนาจแต่ละคน