สนช. แก้ พ.ร.บ.กสทช. อีกครั้ง เปิดทางเอาคลื่นความถี่ขายต่อได้

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. มีนัดพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกํากับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม หรือ ร่าง พ.ร.บ.กสทช. ในวันที่ 18 มกราคม 2561 ซึ่งเป็นการเตรียมแก้กฎหมายของ กสทช. เป็นครั้งที่สองของสภานี้

ร่างกฎหมายกสทช. ฉบับใหม่ มีสาระสำคัญ คือ เพิ่มบทบัญญัติเพื่อการใช้วงโคจรดาวเทียมให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ และแก้ไขเรื่องอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกสทช. ในเรื่องการบริหารจัดการคลื่นความถี่

เพิ่มบทนิยามและภารกิจเกี่ยวกับสิทธิเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมฯ 

ในร่าง พ.ร.บ.กสทช. ฉบับใหม่ มาตรา 3 ได้เพิ่มบทนิยามของคำว่า ‘สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม’ เข้ามา ซึ่งหมายถึง สิทธิที่ประเทศไทยหรือหน่วยงานของรัฐได้รับหรือมีอยู่ในการส่งดาวเทียมเข้าสู่วงโคจรตามข้อบังคับวิทยุของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ

คำว่า สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม ยังถูกสอดแทรกอยู่ในมาตรา มาตรา 11/1 ของร่างกฎหมายฉบับใหม่ โดยให้ กสทช. ทำแผนการบริหารสิทธิเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม ที่จะต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมทั้งหมดที่ประเทศไทยมีอยู่ แนวทางการได้มาและรักษาไว้ซึ่งสิทธิ แนวทางในการสละสิทธิ และแนวทางในการอนุญาตให้ใช้สิทธิดังกล่าว

เตรียมเปิดทางให้คลื่นความถี่บางประเภทไม่ต้องประมูล

ในร่าง พ.ร.บ.กสทช. ฉบับใหม่ มาตรา 10/2 (แก้ไขมาตรา 42 ของ พ.ร.บ.กสทช. ปี 2553) กำหนดให้บางคลื่นความถี่ กสทช. ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการ ‘ประมูล’ เพื่อขออนุญาตใช้งาน ได้แก่ คลื่นความถี่ที่มีเพียงพอต่อการใช้งาน คลื่นความถี่ที่ กสทช. ประกาศกำหนดให้นำไปใช้ในกิจการเพื่อบริการสาธารณะ ความมั่นคงของรัฐ หรือกิจการอื่นที่ไม่แสวงหากำไร  

เปิดทางให้ ‘โอน’ ใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ให้แก่ผู้ประกอบการอื่นได้

ในร่าง พ.ร.บ.กสทช. ฉบับใหม่ มาตรา 10/2 (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 44/3 ของ พ.ร.บ.กสทช. ปี 2553) ระบุว่า ใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เป็นสิทธิเฉพาะตัวจะโอนแก่กันไม่ได้ ‘เว้นแต่ จะได้รับอนุญาตจาก กสทช. และเสียค่าธรรมเนียมการโอน’ ซึ่งรายละเอียดการโอนใบอนุญาตจะเป็นอำนาจของกสทช. ในการออกประกาศในภายหลัง

ทั้งนี้ เมื่อ กสทช. อนุญาตให้มีการโอนใบอนุญาต ให้ กสทช. ออกใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงฯ ให้กับผู้รับโอน ซึ่งต้องเป็นไปตามลักษณะ ประเภท และขอบเขตของใบอนุญาตที่รับโอนมา

เท่ากับเปิดช่องให้เอกชนที่ได้สิทธิใช้งานคลื่นความถี่ตามการจัดสรรของ กสทช. หากไม่ต้องการใช้งานคลื่นดังกล่าวแล้วก็สามารถให้สิทธิกับเอกชนรายอื่นได้ หรือการเอาคลื่นความถี่ไปขายนั่นเอง แต่รายละเอียดวิธีการโอน กสทช. จะยังมีอำนาจกำกับดูแลอยู่ ตามหลักเกณฑ์ที่ยังไม่เห็นชัดเจนในวันนี้

ผู้ที่มีใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่สามารถขอประกอบกิจการได้หลายอย่าง 

ในร่าง พ.ร.บ.กสทช. ฉบับใหม่ มาตรา 14/4 และมาตรา 14/5 กำหนดให้ ผู้ได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สามารถนำคลื่นความถี่ที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายมาประกอบกิจการเพิ่มเติมได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ได้รับจัดสรรคลื่นความถี่หรือใช้คลื่นความถี่เพื่อการประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์หรือกิจการโทรคมนาคมมาก่อนก็ตาม

ทั้งนี้ กสทช. มีอำนาจ ในการออกประกาศเพื่อกำหนดว่ากิจการประเภทใดหรือลักษณะใดสามารถขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการเพิ่มเติมได้

เพิ่มสัดส่วนความถี่ให้ภาคประชาชน ให้ กสทช. เอาคลื่นที่ไม่ได้ใช้คืนได้

ในร่าง พ.ร.บ.กสทช. ฉบับใหม่ มาตรา 10/4 ระบุว่า ต้องจัดให้มีการใช้คลื่นความถี่เพื่อประโยชน์สาธารณะหรือสำหรับภาคประชาชนรวมกันในสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของความสามารถในการส่งสัญญาณที่จะอนุญาตในแต่ละครั้ง ซึ่งเพิ่มขึ้นจากสัดส่วน

ทั้งนี้ ยังระบุอีกว่า เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน ความมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะ ในกรณีที่ไม่มีการใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ที่จัดให้เพื่อประโยชน์สาธารณะหรือสำหรับภาคประชาชน หรือ คลื่นความถี่เพื่อกิจการประเภทอื่นจนพ้นกำหนด 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้มีการประกาศให้ขออนุญาต ให้ กสทช. มีอำนาจนำคลื่นความถี่ดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในกิจการประเภทอื่นได้

โทรฟรี เบอร์ฉุกเฉิน พร้อมรู้ตำแหน่งผู้แจ้งทันที

ในร่าง พ.ร.บ.กสทช. ฉบับใหม่ มาตรา  10/1 กำหนดให้เพื่อหมวดหนึ่งเข้าไปใน พ.ร.บ.กสทช. คือ ให้มีเลขหมายโทรศัพท์ฉุกเฉินแห่งชาติ ที่ถือว่าเป็นเลขหมายสำหรับรับแจ้งเหตุฉุกเฉิน และให้หมายเลขดังกล่าวเป็นของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 

ทั้งนี้ หมายเลขดังกล่าว ประชาชนสามารถโทรหาได้โดยผู้ให้บริการกิจการโทรคมนาคมจะไม่สามารถเรียกเก็บค่าบริการได้ นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการช่วยเหลือหรือระงับเหตุฉุกเฉินสามารถเข้าถึงหรือเปิดเผยพิกัดตำแหน่ง หรือข้อมูลบุคคลของผู้แจ้งหรือผู้ประสบเหตุฉุกเฉินได้

การขอใบอนุญาตและการดำเนินการตามกฎหมายใหม่ให้เริ่มใช้หลังมี พ.ร.ฎ. 

ในร่าง พ.ร.บ.กสทช. ฉบับใหม่ มาตรา 14/7 กำหนดว่า ในระยะเริ่มแรกยังไม่ให้มีการใช้บังคับเรื่องการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่กับการกำกับการประกอบกิจการตามกฎหมายใหม่ จนกว่า กสทช. จะมีความพร้อมในการดำเนินการ และให้เสนอให้มีการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดให้บทบัญญัติดังกล่าวมาบังคับใช้

You May Also Like
อ่าน

รวมตารางกิจกรรม ทำเดินสายอธิบายกติกา ชวนมาร่วมเปลี่ยนสว.

พร้อมแล้ว!! เดินสายทั่วประเทศ ชวนทุกคนมาทำความรู้จักระบบการเลือกสว. ชุดใหม่ จากการ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” อันซับซ้อน มาทำความเข้าใจขั้นตอน วิธีการเลือก ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร รวมถึงช่องทางการมีส่วนร่วมที่ประชาชนสามารถทำได้ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น มาร่วมเปลี่ยนสว. กันเถอะ
ConCourt Judges
อ่าน

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพร้อมหน้า ร่วมยินดีสว. สมชาย แสวงการ รับป.เอก

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ร่วมแสดงความยินดีที่สว. สองคนได้รับปริญญาเอก เรื่องนี้มีที่มาเพราะสมชาย แสวงการ สว. ที่รับปริญญาผ่านการคัดเลือกโดยศาลรัฐธรรมนูญให้มาเรียน และกรรมการสอบเล่มจบก็ไม่ใช่ใครอื่น