ร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ (ฉบับประชาชน): ผู้สูงอายุทุกคนต้องได้รับบำนาญถ้วนหน้า

ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายของคำว่า "บำนาญ" ว่าเป็น "เงินตอบแทนที่ได้รับราชการหรือทำงานมาเป็นเวลานาน ซึ่งจ่ายเป็นรายเดือนจนตลอดชีวิตเมื่อออกจากงาน"  
 
คำว่า บำนาญเป็นที่คุ้นเคยกันดีกับเงินตอบแทนของข้าราชการหลังเกษียณ แต่ในความเป็นจริงประเทศไทยมีระบบบำนาญในหลายรูปแบบ เช่น การจ่ายเป็นเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุทุกคน การจ่ายบำเหน็จบำนาญให้ข้าราชการ ข้าราชการส่วนท้องถิ่น กองทุนของครูโรงเรียนเอกชน กองทุนการออมแห่งชาติ หรือกองทุนบำนาญภายใต้กฎหมายประกันสังคม โดยเป้าหมายของบำนาญก็เพื่อเป็นหลักประกันทางรายได้สำหรับผู้สูงอายุ และมีความหมายกว้างกว่าคนที่ทำงานในระบบราชการเท่านั้น
 
อย่างไรก็ดี ปัญหาของประเทศไทย คือ หลักประกันที่มีอยู่นั้นไม่เพียงพอต่อการเป็นหลักประกันทางรายได้และยังมีความเหลื่อมล้ำ คนที่ประกอบอาชีพต่างๆ จะได้รับเงินจากรัฐเมื่ออายุเลยวัยทำงานแล้วในอัตราที่แตกต่างกันอยู่มาก อีกทั้งการจ่ายเงินของภาครัฐยังมีลักษณะเป็นการสงเคราะห์มากกว่าการเป็น "สวัสดิการพื้นฐาน" ที่ประชาชนทุกคนพึงได้รับ
 
ด้วยเหตุนี้ ภาคประชาชนในนามเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ จึงพยายามผลักดันร่างกฎหมาย "พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ" เพื่อยกระดับให้ประชาชนทุกคนเมื่ออายุถึง 60 ปี จะมีสิทธิได้รับบำนาญแห่งชาติอย่างเสมอภาคกัน และให้คณะกรรมการที่ประกอบไปด้วยภาคประชาชนจากกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ผู้สูงอายุ เด็กและสตรี คนพิการ ฯลฯ คอยกำกับทิศทาง เช่น ช่วยพิจารณาจัดสรรงบประมาณและทำแผนแม่บทเปลี่ยนเงินสงเคราะห์ต่างๆ ที่ซ้ำซ้อนมาพัฒนาระบบสวัสดิการถ้วนหน้า
 
อายุ 60 ขึ้นไป ต้องได้รับบำนาญแห่งชาติทุกคน
 
ในมาตรา 3 ของร่างกฎหมายบำนาญแห่งชาติ ให้ความหมายของคำว่า "บำนาญแห่งชาติ" ว่า เงินรายเดือนเป็นบำนาญพื้นฐานที่รัฐต้องจัดให้แก่ผู้มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป เพื่อเป็นหลักประกันรายได้โดยมีจำนวนไม่ต่ำกว่าเส้นความยากจนที่กำหนดโดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
 
ในมาตรา 5 ของร่างกฎหมายยังกำหนดให้บุคคลทุกคนที่มีอายุ 60 ปีให้ได้รับบำนาญแห่งชาติ และการมีสิทธิได้รับบำนาญตามร่างกฎหมายนี้จะไม่ตัดสิทธิประโยชน์ของผู้สูงอายุที่ได้รับบำนาญตามกฎหมายอื่นหรือตามมติคณะรัฐมนตรี
 
และร่างกฎหมายในมาตรา 6 ยังกำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐในการจัดให้มีบำนาญแห่งชาติ ที่ต้องพิจารณากำหนดอัตราบำนาญแห่งชาติทุกสามปี และในมาตรา 23 ยังกำหนดด้วยว่า ในกรณีที่รัฐจ่ายเงินบำนาญพื้นฐานล่าช้า ไม่ครบถ้วน รัฐต้องจ่ายเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี จนกว่าจะจ่ายครบถ้วน
 
ทั้งนี้ ในบทเฉพาะกาลของร่างกฎหมายดังกล่าวในมาตรา 25 กำหนดให้คณะกรรมการประกาศปรับเปลี่ยนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้เป็นบำนาญแห่งชาติภายใน 180 วัน หลังพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ หรือ เปลี่ยนเงินจ่ายเบี้ยยังชีพเดือนละ 600-1,000 บาท เป็น 3,000 บาทขึ้นไปต่อเดือนอ้างอิงตามเส้นความจน
 
ตั้งคณะกรรมการกลางกำหนดแผนแม่บท-จัดสรรงบให้เพียงพอ
 
เพื่อให้การจ่ายบำนาญแห่งชาติเป็นไปได้โดยสะดวก เพียงพอ ร่างกฎหมายบำนาญแห่งชาติในมาตรา 7 กำหนดให้มีคณะกรรมการกลางเรียกว่า คณะกรรมการบำนาญแห่งชาติ ประกอบไปด้วย
 
(1) นายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรีที่นายกฯ มอบหมายคนหนึ่งเป็นประธานกรรมการ
(2) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
(3) ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
(4) ผู้แทนองค์กรเอกชนซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่มิใช่แสวงหาผลกำไรในด้านดังต่อไปนี้ด้านละหนึ่งคน
 
(ก) ด้านผู้ใช้แรงงาน
(ข) ด้านผู้สูงอายุ
(ค) ด้านเด็กและเยาวชน
(ง) ด้านสตรี
(จ) ด้านชาติพันธุ์และชนกลุ่มน้อย
(ฉ) ด้านคนพิการ
(ช) ด้านเกษตรกร
(ซ) ด้านผู้ป่วยเรื้อรัง
(ฌ) ด้านชุมชนแออัด
(ญ) ด้านสิทธิมนุษยชน
(ฎ) ด้านกองทุนการออมของชุมชน
 
(5) ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 2 คนซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์และผลงานเป็นที่ยอมรับด้านเศรษฐศาสตร์ด้านรัฐสวัสดิการ 
 
ซึ่งอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการชุดดังกล่าวโดยหลัก ก็คือ การกำหนดนโยบายบำนาญและจัดทำแผนแม่บทบำนาญแห่งชาติที่เป็นธรรมและยั่งยืน สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร เศรษฐกิจ และสังคม และมีหน้าที่พิจารณาอนุมัติแผนงบประมาณประจำปีเพื่อจ่ายบำนาญแห่งชาติ รวมถึงเป็นคนกำหนดวิธีการจ่ายบำนาญแห่งชาติให้สะดวกสะบายและครอบคลุมประชาชนทุกคน
 
นอกจากนี้ คณะกรรมการชุดดังกล่าวต้องส่งเสริม สนับสนุน และประสานการบูรณาการข้อมูลของระบบบำนาญทุกระบบ รวมทั้งข้อมูลประชาชนที่ไม่อยู่ในระบบบำนาญ อีกทั้ง ต้องสรุปสถานการณ์ ปัญหาและอุปสรรค และผลการดำเนินงานให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาและรายงานให้สภาผู้แทนราษฎรทราบ
 
ทั้งนี้ ตามบทเฉพาะกาล มาตรา 24 ของร่างกฎหมายกำหนดให้ระหว่างที่ยังไม่มีคณะกรรมการตามร่างกฎหมายนี้ ให้คณะกรรมการประกอบด้วยปลัดกระทรวงการคลัง เลขาธิการสภาพัฒน์ฯ และให้ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจและการคลังเป็นกรรมการและเลขานุกการ พร้อมแต่งตั้งข้าราชการของสำนักงานเศรษฐกิจการคลังจำนวนไม่เกิน 2 คน เป็นผู้ช่วยเลขานุการและทำหน้าที่สรรหาคณะกรรมการจากองค์กรภาคประชาชนและผู้ทรงคุณวุฒิให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับตั้งแต่กฎหมายมีผลใช้บังคับ
 
ตั้งสำนักงานทำฐานข้อมูลผู้ได้รับบำนาญให้ถูกต้องทันต่อสถานการณ์
 
เพื่อให้คณะกรรมการตามร่างกฎหมายดังกล่าวทำงานได้โดยสะดวก ร่างกฎหมายมาตรา 19 กำหนดให้กระทรวงการคลังจัดให้มีสำนักงานในกระทรวงการคลังที่เรียกว่า สำนักงานบำนาญแห่งชาติ (สบช.) เป็นหน่วยงานของรัฐที่มีฐานะเป็นนิติบุคคลอยู่ภายใต้กำกับของกระทรวงการคลัง
 
โดยมีหน้าที่จัดทำบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิรับบำนาญแห่งชาติที่เป็นจริง มีฐานข้อมูลที่ทันต่อสถานการณ์ ครบถ้วน และเป็นผู้รับผิดชอบจัดทำฐานข้อมูลระบบบำนาญกลาง และประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลประชากรอันเป็นประโยชน์ต่อการจัดทำแผ่นแม่บทบำนาญแห่งชาติ
 
อย่างไรก็ดี ในการเดินทางของร่างกฎหมายฉบับนี้ ยังมีขั้นตอนที่เป็นอุปสรรคขวางอยู่ข้างหน้า เพราะร่างกฎหมายนี้เป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการเงิน ก่อนเสนอเข้าสู่การพิจารณาต้องให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับรองก่อนว่า จะอนุมัติให้ใช้งบประมาณไปตามแนวคิดบำนาญแห่งชาติ หากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เห็นว่า แนวคิดของกฎหมายนี้ไม่สอดคล้องกับแนวทางของพรรคพลังประชารัฐที่ได้หาเสียงไว้ก็อาจไม่ลงนามรับรอง ทำให้ข้อเสนอจากภาคประชาชนเป็นหมันได้
 
สำหรับผู้ที่เห็นด้วยและต้องการช่วยกันสนุบสนุนการเสนอร่างกฎหมายนี้ สามารถ มีส่วนร่วมได้ ตามขั้นตอน ดังนี้
 
1. ดาวน์โหลดแบบฟอร์มเพื่อลงชื่อได้ ตามลิงก์นี้ https://joo.gl/ZDUA เพื่อ
2. พิมพ์แบบฟอร์มออกมากรอกรายละเอียดให้ครบ (แต่ยังไม่ต้องใส่วันที่ เพราะช่วงนี้กำลังรวบรวมรายชื่อ เอาไว้ได้วันแน่นอนทางแอดมินค่อยใส่วันที่ทีเดียว)
3. แนบสำเนาบัตรประชาชน และเซ็นรับรองสำเนาถูกต้อง พร้อมลายเซ็นผู้สนับสนุน (อย่าลืมขีดคร่อมสำเนาบัตรว่าใช้สำหรับ (ร่าง) กฎหมายบำนาญแห่งชาติ เท่านั้น)
4.ใส่ซองติดแสตมป์ส่งมาที่ “เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ 48/282-3 ซ.รามคำแหง 104 ถ.รามคำแหง แขวงสะพานสูง เขตสะพานสูง กทม. 10240”