ความเคลื่อนไหวจากซอกหลืบ : คนไทยพลัดถิ่นร้องแก้ไข พ.ร.บ.สัญชาติ

 

คนไทยพลัดถิ่น คือ กลุ่มคนไทยที่เคยอาศัยอยู่ในจังหวัดมะริด ทวาย ตะนาวศรี ซึ่งเดิมเป็นเขตแดนไทย แต่หลังจากอังกฤษปักปันเขตแดนระหว่างไทยกับพม่า หมู่บ้านของคนไทยกลุ่มนี้ถูกกำหนดให้อยู่ในเขตประเทศพม่า โดยรัฐบาลพม่าก็ไม่ได้ยอมรับให้เป็นพลเมืองพม่า คนกลุ่มนี้ยังมีวิถีชีวิต การใช้ภาษาสื่อสารเป็นภาษาไทยสำเนียงภาคใต้ มีประเพณีและวัฒนธรรมแบบคนไทยภาคใต้

ประมาณ 40 ปีที่แล้ว ในช่วงที่รัฐบาลพม่าทำสงครามกับชาติพันธุ์ในพม่า คนไทยกลุ่มนี้ได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม ถูกกดขี่ รังแก คนจำนวนหนึ่งจึงโยกย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่กับญาติพี่น้องในประเทศไทย แต่ทว่าคนกลุ่มนี้ไม่ได้รับการรับรองว่าเป็นคนไทย ไม่ได้รับสัญชาติไทย ซ้ำร้ายบางคนยังเข้าข่ายว่าเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย

การกลับมาอยู่อาศัยในประเทศไทยโดยไม่มีสัญชาติ ไม่มีบัตรประชาชน ทำให้ถูกจำกัดสิทธิทุกด้าน ไม่สามารถเดินทางออกนอกชุมชนที่อาศัยอยู่ได้ ไม่มีสิทธิแจ้งเกิด ไม่มีสิทธิแจ้งตาย หากถูกเอารัดเอาเปรียบก็ไม่มีสิทธิแจ้งความ ไม่ได้รับสวัสดิการขั้นพื้นฐานทุกด้าน มีความยากลำบากในการเข้ารักษา พยาบาล สมัครงานไม่ได้เพราะไม่มีบัตรประชาชน ทำงานได้เพียงการเป็นแรงงานไร้ฝีมือ ถูกกดหรือถูกโกงค่าแรงเป็นประจำ

ประมาณการว่า มีคนไทยถิ่นพลัดที่เดินทางกลับเข้ามาอยู่เมืองไทย บริเวณจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง พังงา ฯลฯ ประมาณ 20,000 คน และนอกจากคนไทยพลัดถิ่นกลุ่มนี้แล้ว ยังมีคนไทยพลัดถิ่นกระจายอยู่ในจังหวัดอื่นๆ ตามชายแดนประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งลาว กัมพูชา และมาเลเซีย

วันที่ 13 มกราคม 2554 กลุ่มคนไทยพลัดถิ่น รวมตัวกันในนามเครือข่ายแก้ปัญหาการคืนสัญชาติคนไทย ประมาณ 500 คน ร่วมกันเดินเท้าธรรมยาตราจากด่านสิงขรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มายังหน้ารัฐสภาในกรุงเทพมหานคร ใช้เวลารวม 14 วัน เพื่อเรียกร้องสิ่งที่พวกเขาควรจะได้รับ

ข้อเรียกร้องของกิจกรรมในครั้งนี้ กล่าวง่ายๆ คือ เรียกร้องขอสัญชาติ ขอการยอมรับจากรัฐว่าพวกเขาก็เป็นคนไทยที่มีสิทธิเท่าเทียมกับคนไทยคนอื่นๆ ทุกประการ ผ่านข้อเรียกร้อง 3 ประการ คือ

1. ให้รัฐบาลเร่งรัด นำร่างพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่…) พ.ศ. ….. เข้าพิจารณาในสภาฯ ให้ทันประชุมสมัยนี้

2. ตั้งคณะกรรมการยกร่างกฎกระทรวง ว่าด้วย “การพิสูจน์และรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น” ตามแนวทางพระราชบัญญัติ ดังกล่าว

3. ตั้งคณะกรรมการสำรวจตรวจสอบ แก้ไข ข้อมูล คนไทยพลัดถิ่น ในพื้นที่ต่างๆ โดยการมีส่วนร่วมของเครือข่ายการแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 


 

พระราชบัญญัติสัญชาติ ที่กลุ่มคนไทยพลัดถิ่นเรียกร้อง ที่จริงแล้วคือ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508 ที่เดิมกำหนดวิธีการได้สัญชาติไทยไว้สองประการ คือ ได้สัญชาติโดยการเกิดในประเทศไทย หรือเกิดจากพ่อแม่คนไทย และการแปลงสัญชาติเท่านั้น แต่ไม่มีบทบัญญัติรับรองการได้สถานะของคนไทยพลัดถิ่น ว่าจะได้สถานะตามกฎหมายได้อย่างไร และจัดอยู่ในสถานะใด

ดังนั้น ร่างพระราชบัญญัติสัญชาติที่กลุ่มคนไทยพลัดถิ่นเรียกร้องให้รัฐสภาเร่งพิจารณาในทันการประชุมสมัยนี้จึงมีเนื้อหาที่สำคัญ คือ ให้เพิ่มข้อความลงในพ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2508 ต่อจากมาตรา 9 เป็นมาตรา 9/1 มีสาระสำคัญคือ ให้คนไทยพลัดถิ่นที่อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทย และลูกหลานของคนไทยพลัดถิ่นได้สัญชาติไทย เสมือนว่าได้สัญชาติไทยมาโดยการเกิด

แต่ในรายละเอียดวิธีการพิสูจน์ว่าบุคคลใดถือเป็นคนไทยพลัดถิ่นที่ได้รับสิทธิในมาตรา 9/1 นี้ หลักเกณฑ์คุณสมบัติของผู้ได้รับสิทธิ และการจัดตั้งคณะกรรมการมาทำหน้าที่ ยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ทำให้ร่างพระราชบัญญัติสัญชาติ ที่จะถูกผลักดันเข้ารัฐสภาในสมัยประชุมที่จะถึงนี้ มีแตกต่างกัน ถึง 3 ร่าง ดังนี้
 

1.  ร่างฉบับสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) หรือร่างฉบับรัฐบาลซึ่งจะใช้เป็นร่างหลักในการประชุมรัฐสภา กำหนดให้ 'คนไทยพลัดถิ่น' คือ บุคคลเชื้อสายไทยที่อยู่ในบังคับของต่างประเทศ แต่ไม่ได้สัญชาติต่างประเทศ และอพยพเข้ามาอยู่ในเประทศไทยเป็นเวลานาน โดยได้รับการสำรวจจัดทำทะเบียนราษฎร และให้ คณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นมีปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน ตัวแทนจากองค์กรต่างๆ และผู้เชี่ยวชาญอีกเจ็ดคน 

2. ร่างฉบับคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และ การมีส่วนร่วมของประชาชน โดยท่านจุมพฏ บุญใหญ่ เป็นประธานคณะทำงาน กำหนดให้ 'คนไทยพลัดถิ่น' คือ คนไทยที่ต้องกลายเป็นคนในบังคับของต่างประเทศ การขอสัญชาติไทยต้องพิสูจน์ว่าเกิดในราชอาณาจักรไทย หรือสืบเชื้อสายมาจากคนไทย มีหลักฐานในทะเบียนราษฎร คณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นแต่งตั้งโดยรัฐมนตรีั และให้มีนักวิชาการ ผู้แทนภาคประชาชนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง
  

3.  ร่างฉบับภาคประชาสังคม ยกร่างโดยอาจารย์วีนัส สีสุข กำหนดให้ 'คนไทยพลัดถิ่น' คือ บุคคลเชื้อสายไทยที่อยู่ในบังคับของต่างประเทศ แต่ไม่ได้สัญชาติต่างประเทศ และอพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทย ไม่ได้กำหนดเรื่องหลักฐานในทะเบียนราษฎร รวมถึงลูกหลานของบุคคลเหล่านั้น ให้ถือว่ามีสัญชาติไทยโดยการเกิด คณะกรรมการที่ทำหน้า้ ที่พิสูจน์และรับรองการเป็นบุคคลที่มีเชื้อสายไทย มีปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน

จะัเห็นว่า ร่างทั้งสามฉบับยังมีรายละเอียดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการได้สิทธิของคนไทยพลัดถิ่นที่แตกต่างกันอยู่ และยังขึ้นอยู่กับรายละเอียดในทางปฏิบัติที่คณะกรรมการจะกำหนดต่อไป ซึ่งไม่ว่าสุดท้ายแล้วร่างฉบับไหนที่ผ่านการพิจารณาของสภา แต่สำหรับคนไทยพลัดถิ่นกับการรอคอยวันที่พวกเขาจะได้รับสถานะตามกฎหมาย ข้อเรียกร้องของพวกเขาจึงมีแค่ ขอให้ ให้รัฐบาลเร่งรัดนำร่างพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่…) พ.ศ. ….. เข้าพิจารณาในสภาฯ ให้ทันประชุมสมัยนี้เท่านั้น

จากการเรียกร้องหน้ารัฐสภาเมื่อเดือนมกราคม 2554 นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้ตกปากรับคำว่าจะเร่งรัดกฎหมายเข้าสู่สภา แม้ว่าผลสุดท้ายในขั้นตอนการตรากฎหมายนั้นยังไม่แน่ชัด ไม่มีผู้ใดรู้ว่าจะเป็นร่างใดร่างหนึ่งในสามร่างนี้ที่รัฐสภาเห็นชอบ หรืออาจจะถูกดัดแปลงไปอีกบ้าง ไม่มีผู้ใดรู้ว่าเมื่อกฎหมายผ่านออกมาแล้ว สถานะกับสิทธิตามกฎหมายของพวกเขาจะเป็นเช่นไร กระทั่งไม่มีผู้ใดรู้ได้ว่า รัฐบาลจะทำตามเจตนาที่ได้ให้ไว้กับพวกเขาที่หน้่ารัฐสภาหรือไม่

แต่อย่างน้อยการเคลื่อนไหวครั้งนี้ก็น่าจะทำให้ผู้คนส่วนที่เหลือของประเทศ ทั้งที่มีสัญชาติไทย สัญชาติอื่น หรือไม่มีสัญชาติเพราะเหตุต่างๆ ได้รู้จักคำว่า "คนไทยพลัดถิ่น" ได้รับรู้เรื่องราวที่เคยหลบอยู่ในซอกมุมเล็กๆ รับรู้ความเดือดร้อนของพวกเขาที่เป็น "คนไทย" แท้ๆ ด้วยกัน และรับรู้การมีตัวตนอยู่ของพวกเขา

แม้วันนี้จะยังไม่มีสถานะในทางกฎหมาย แต่ก็ได้ประกาศสถานะการมีอยู่ในความเป็นจริงเรียบร้อยแล้ว

 

 

 

 

 

ที่มาภาพ และข้อมูล เฟซบุ๊คไทยพลัดถิ่น