ย้อนเส้นทางเสรีภาพสื่อของวอยซ์ทีวี หลังประกาศปิดฉาก 15 ปี

26 เมษายน 2567 วอยซ์ทีวีประกาศอำลาผู้ชมหลังออกอากาศมาตั้งแต่ปี 2552 หรือเป็นเวลา 15 ปี ชวนย้อนเส้นทางเสรีภาพสื่อมวลชนของวอยซ์ทีวี ที่เรียกว่า อายุเกือบครึ่งหนึ่งของวอยซ์ทีวีต้องเผชิญกับการคุกคามและปิดกั้นเสรีภาพ

ปี 2557 หลังการยึดอำนาจของคสช.วอยซ์ ทีวีต้องเผชิญกับการจำกัดเสรีภาพในการนำเสนอเนื้อหาอย่างหนักหน่วง วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คสช. ควบคุมการออกอากาศของสื่อทั่วประเทศ อย่างไรก็ดีในวันถัดมา คสช. จึงผ่อนคลายให้สื่อต่างๆเริ่มทยอยออกอากาศได้ ยกเว้นวอยซ์ ทีวี เป็นเพียงสถานีโทรทัศน์ระบบดิจิตอลสถานีเดียวที่ไม่ได้กลับมาออกอากาศ เงื่อนไขที่จะกลับมาออกอากาศได้คือต้องลงนามในบันทึกข้อตกลง ระหว่างสถานีกับ กสทช. แล้ว ส่งผลให้ วอยซ์ ทีวี ต้องทำบันทึกข้อตกลงกับกสทช. งดเว้นการนำเสนอเนื้อหาที่ขัดต่อประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 และ 103/2557 และมีหน้าที่เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารตามที่ได้รับแจ้งจาก คสช. หากฝ่าฝืนอาจถูกพิจารณาถอนใบอนุญาตทันที ทำให้ขอบเขตของเนื้อหาที่ต้องห้ามออกอากาศกว้างขวางมากขึ้น และกลายเป็นสถานีที่ถูกกสทช.สั่งลงโทษมากที่สุดคือ 24 ครั้งจาก 59 ครั้ง มีตั้งแต่การตักเตือน ระงับการออกอากาศตั้งแต่ 3-15 วันและระงับการดำเนินรายการของพิธีกรรายบุคคล 

เรื่อยมาในการชุมนุมปี 2563 สื่อและขบวนการเคลื่อนไหวมีความสัมพันธ์ในลักษณะเอื้ออาศัยซึ่งกันและกัน สื่อมีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่ข่าวสารการชุมนุมต่อสาธารณะเพื่อขยายขอบเขตการรับรู้เกี่ยวกับข้อเรียกร้องของขบวนการเคลื่อนไหวให้กว้างขวางขึ้น วอยซ์ทีวีเป็นหนึ่งในผู้ดำเนินบทบาทนี้ ท่ามกลางกระแสสูงของการชุมนุม ประชาชนมีความต้องการทราบข่าวเรื่องการชุมนุมมากขึ้น โดยวอยซ์ ทีวีเน้นการไลฟ์สดเนื้อหาการชุมนุม การไลฟ์เป็นเหตุให้สื่อตกเป็นเป้าหมายของการคุกคามเสรีภาพสื่อ ในเดือนกันยายน 2563 กลุ่มไทยภักดีเข้าแจ้งความอานนท์ นำภา และวอยซ์ ทีวีจากการไลฟ์สดเผยแพร่การปราศรัย #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร

อย่างไรก็ตามวอยซ์ทีวียังมีการไลฟ์สดรายงานข่าวอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่ง 15 ตุลาคม 2563 รัฐบาลออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพมหานครอ้างเหตุการชุมนุมเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ตามมาด้วยคำสั่งหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ห้ามการเสนอข่าวหรือข้อมูลอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือความสงบเรียบร้อย มีการระบุชื่อสื่อ 4 เจ้า ได้แก่ วอยซ์ทีวี ประชาไท เดอะรีพอร์ตเตอร์ และ เดอะสแตนดาร์ด โดยมอบหมายให้กสทช.และกระทรวงดิจิทัลฯพิจารณา สถานการณ์ในปี 2563 ไม่เหมือนกับช่วงการรัฐประหารที่เมื่อมีคำสั่งลงโทษสื่อแล้ว สื่อต้องต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว แต่ครั้งนี้สื่อมีกำลังสนับสนุนสำคัญอย่างประชาชน นำไปสู่แฮชแท็กรณรงค์อย่าง #Saveสื่อเสรี และ #หยุดคุกคามสื่อ ต่อมากระทรวงดิจิทัลฯได้ยื่นคำร้องต่อศาลให้มีคำสั่งปิดช่องทางการเผยแพร่ของวอยซ์ทีวี แต่วันที่ 21 ตุลาคม 2563 ศาลปัดตกและอ้างถึงเสรีภาพสื่อตามรัฐธรรมนูญ 2560 

ปี 2564 ระหว่างตำรวจใช้กำลังปราบปรามผู้ชุมนุมด้วยความรุนแรง วอยซ์ทีวียังคงรายงานข่าวในพื้นที่อย่างแข็งขัน ภาพถ่ายหลายใบเป็นประจักษ์พยานของความรุนแรงที่เกิดขึ้น และเวลานี้เองที่ช่างภาพของวอยซ์ทีวีต้องเป็นเหยื่อความรุนแรงเสียเอง ถูกกระสุนไม่ทราบชนิดจากปืน FN 303 เข้าที่นิ้วเท้าเมื่อวันที่29 ตุลาคม 2564

You May Also Like
อ่าน

นัดฟังคำพิพากษาคดีมาตรา 112 เดือนพฤษภาคม 2567

เดือนพฤษภาคม 2567 ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวมสิบคดี แบ่งเป็นคำพิพากษาศาลชั้นต้นแปดคดี ศาลอุทธรณ์และฎีกาอย่างละหนึ่งคดี
อ่าน

จำคุกทนายอานนท์ 2 ปี 20 วัน กรณีปราศรัยม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์ 2 รวม โทษ 3 คดี 10 ปี 20 วัน

ศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาจำคุกอานนท์ นำภา ในคดีมาตรา 112 และพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการปราศรัยในม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์ 2 รวม 2 ปี 20วัน ปรับฐานใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต 100 บาท