อยากได้สภาเดี่ยว อยากยุบวุฒิสภา ก็ต้องสมัครสว. ปี 2567!

แนวคิดสภาเดี่ยว ที่ต้องการยุบวุฒิสภาและให้เหลือเพียงสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมล่าสุดในปี 2562 เมื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญ “รื้อระบอบประยุทธ์” ของกลุ่ม Resolution ที่มีแนวคิดให้ประเทศไทยไม่ต้องมีวุฒิสภาอีกต่อไป มีเพียงสส. เท่านั้นในการทำหน้าที่นิติบัญญัติ  

อย่างไรก็ตามการยุบวุฒิสภาให้มีสภาเดียวไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เนื่องจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกว่าถูกคว่ำโดยรัฐสภาที่มี สว.เป็นเสียงสำคัญ ดังนั้นการเลือกสว. ชุดใหม่ในปี 2567 จึงเป็นโอกาสสำคัญสำหรับผู้มีแนวคิดดังกล่าวในการเข้าไปผลักดันให้ระบบสภาเดี่ยวเกิดขึ้นจริง

การมีอยู่ของวุฒิสภาถูกบรรจุเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 หมวด 7 ว่าด้วยรัฐสภา ดังนั้นการจะยกเลิกวุฒิสภาจึงต้องใช้ช่องทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 256

สำหรับขั้นตอนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 กำหนดให้ประชาชน 50,000 รายชื่อ, ครม., สส., และ สว. เป็นผู้เสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ในแง่นี้จึงหมายความว่าการริเริ่มแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ไม่มีสว. อีกต่อไปสามารถเริ่มได้จากสว. เองได้ด้วย

จากนั้นในขั้นตอนลงมติรับหลักการหรือวาระหนึ่ง รัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องใช้เสียงของสว. ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสว. ทั้งหมด และในขั้นตอนวาระสามใช้เสียงของสว. หนึ่งในสามของจำนวนสว. ทั้งหมดอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ถูกนำขึ้นทูลเกล้าฯ และบังคับใช้ต่อไป

ดังนั้น สว.ชุดใหม่จำนวน 200 คน ทำให้การใช้เสียงเห็นชอบหนึ่งในสามจะต้องใช้เสียงของสว. ประมาณ 67 เสียง

ด้วยเหตุนี้ การทำให้เกิดระบบสภาเดี่ยวจำเป็นต้องอาศัยอำนาจของสว. ชุดใหม่มาออกเสียงเห็นชอบ ประชาชนที่ต้องการยุบวุฒิสภาจึงอาจเข้าไปสมัครเข้าไปเป็นสว. ในปี 2567เพื่อผลักดันแนวคิดนี้ได้ เนื่องจากการเลือกสว. ชุดใหม่ไม่ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าคูหาไปเลือกผู้สมัครเหมือนการเลือกตั้งสส. แต่ใช้ระบบเลือกกันเองระหว่างผู้สมัครด้วยกัน หากสว. ชุดใหม่ไม่ได้มีแนวคิดที่จะ “ยุบตัวเอง” ถึงหนึ่งในสามของวุฒิสภา ระบบสภาเดี่ยวก็จะไม่เกิดขึ้นโดยเร็วอย่างแน่นอน

อ่านคุณสมบัติของผู้ต้องการลงสมัครสว. และวิธีการสมัครสว. ชุดใหม่ได้ที่: https://www.ilaw.or.th/articles/16805 

ค้นหาข้อมูลผู้สมัครสว. หรือประกาศตัวเป็นผู้สมัครสว. ได้ที่: https://senate67.com/