ส่องเล่มจบป.เอก สว. สมชาย แสวงการ พบคัดลอกงานคนอื่นหลายจุด

สมชาย แสวงการ เป็นสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ที่มีบทบาทในสภาและหน้าข่าวบ่อยครั้ง ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา อดีตผู้สื่อข่าวก้าวกระโดดในหน้าที่การงานและการศึกษา นอกจากจะได้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ตั้งขึ้นหลังการรัฐประหารทั้งสองครั้งในปี 2549 และ 2557 รวมถึงเป็น สว. สรรหาถึงสองสมัย ในปี 2551 และปี 2554 ด้านวิชาการ ก็มีความก้าวหน้าไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ปี 2565 สมชายยังสำเร็จการศึกษาดุษฎีบัณฑิตหรือปริญญาเอก ได้เป็นถึง “ดอกเตอร์” ด้วย

อย่างไรก็ตาม เส้นทางการเรียนปริญญาเอกของสมชายอาจดูง่ายกว่านักศึกษาคนอื่น เนื่องจากมีการพบว่าดุษฎีนิพนธ์ซึ่งเป็นส่วนสำคัญอันขาดไม่ได้ในการเป็นดอกเตอร์นั้นมีการคัดลอกข้อความจากหลากหลายแห่ง ซึ่งในหลายจุดเป็นการคัดลอกและวางข้อความในผลงานตัวเอง เหมือนต้นทางทุกตัวอักษร

สว. แต่งตั้ง วิจัยที่มา สว.

สมชายสำเร็จการศึกษาปริญญาเอกในปี 2565 จากหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารกระบวนการยุติธรรม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเลือกทำดุษฎีนิพนธ์ในหัวข้อ “รูปแบบและวิธีการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย” โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาคือ ศาสตราจารย์ อุดม รัฐอมฤต  หนึ่งในคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 2560 (กรธ.) ชุดมีชัย ฤชุพันธุ์ ปัจจุบันอุดมเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ได้รับมติเห็นชอบโดยวุฒิสภาที่มีสมชายเป็นสมาชิก

งานวิจัยยาว 264 หน้า (รวมภาคผนวกและประวัติผู้เขียนที่มีความยาวสองหน้า) สำรวจที่มาของ สว. ทั้งในต่างประเทศและในประวัติศาสตร์ไทยที่ผ่านมา โดยผู้เขียนเห็นว่า สว. ระบบ “เลือกกันเอง” ตามรัฐธรรมนูญ 2560 นั้น “เป็นแนวทางที่มีความเป็นไปได้” แต่ก็ยังมีความเห็นเพิ่มเติม เช่น เสนอให้ผู้สมัครในกลุ่มเลือกกันเองแทนการเลือกไขว้ หรือให้มีกลุ่มอาชีพผู้เชี่ยวชาญเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย

ลอกงานสถาบันพระปกเกล้า

เมื่อตรวจสอบดุษฎีนิพนธ์ของสมชาย พบว่ามีข้อความหลายท่อนตอนที่เหมือนกับงานวิชาการอื่น ๆ ที่หัวข้อคล้ายกัน ที่เด่นชัดที่สุดคือหนังสือของสถาบันพระปกเกล้า “รูปแบบการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาของประเทศไทย” เขียนโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภูมิ มูลศิลป์ และชมพูนุท ตั้งถาวร ตีพิมพ์ในปี 2558 ซึ่งดุษฎีนิพนธ์ของสมชายมีข้อความที่เหมือนกันมากกว่า 30 หน้า

ตั้งแต่หน้า 38 ในดุษฎีนิพนธ์ของสมชาย หัวข้อ 2.3.1 “กลุ่มที่หนึ่ง: กลุ่มประเทศที่กำหนดให้ความเป็นตัวแทนของวุฒิสภายึดโยงกับพื้นที่” ไปจนถึงหน้า 64 ซึ่งเป็นหน้าสุดท้ายของบทที่สอง มีเนื้อหาตรงกับหน้าที่ 77-115 ของหนังสือสถาบันพระปกเกล้า ในหน้า 38 ของดุษฎีนิพนธ์ของสมชายถึงกับลอกเอาเชิงอรรถของหน้า 77 ในหนังสือสถาบันพระปกเกล้ามาทั้งหมด

รูปแบบการลอกนั้นไม่ได้มีแค่การลอกทางตรงเท่านั้น ในหน้า 80 ของหนังสือสถาบันพระปกเกล้า มีเชิงอรรถขนาดยาวที่อธิบายพลวัตของฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติในระบอบประธานาธิบดี งานวิจัยของสมชายก็ยกเอาเชิงอรรถทั้งหมดนี้มาใส่ในเนื้อหาในหน้า 40-41

ลอกทั้งหมดโดยแค่ใส่อ้างอิง

นอกจากการคัดลอกแบบไม่อ้างอิงผลงานต้นทางแล้ว ยังพบว่าในบางส่วนของดุษฎีนิพนธ์ของสมชาย มีการใส่เชิงอรรถงานที่อ้างอิงเอาไว้ แต่กลับคัดลอกข้อความทั้งหมดแทนที่จะสรุปแนวคิดและเขียนใหม่เป็นภาษาของตัวเองเพื่อป้องกันการคัดลอกผลงาน

ยกตัวอย่างเช่น ในหน้า 65 ของดุษฎีนิพนธ์ หัวข้อ “รูปแบบและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาประเทศอังกฤษ” ห้าบรรทัดแรกของเนื้อหาเหมือนกับเนื้อหาส่วนแรกของงาน “สภาขุนนางอังกฤษ” ที่เขียนโดยปณิธัศร์ ปทุมวัฒน์ ตีพิมพ์เมื่อปี 2558 ในวารสารจุลนิติของ สว. เอง แม้ว่าจะมีการใส่เชิงอรรถถึงงานของปณิธัศร์ไว้ด้านล่าง แต่เนื้อหาก็เหมือนเกือบทั้งหมด หรือในหน้าที่ 66 ของดุษฎีนิพนธ์ก็มีการคัดลอกเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับ Parliament Act 1911 จากงานของปณิธัศร์มาไว้ด้วยอีกเช่นกัน

ยังพบอีกว่ามีการคัดลอกเนื้อหาในหน้า 72-73 จากหน้าที่ 117-119 ในวิทยานิพนธ์ของวัชรพล โรจนวงรัตน์ “รูปแบบวิธีการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาที่เหมาะสมกับอำนาจหน้าที่วุฒิสภาแห่งราชอาณาจักรไทย” ซึ่งตีพิมพ์ในปี 2560 โดยมีการใส่เชิงอรรถไว้ด้านล่าง แต่ก็มีเนื้อหาเหมือนกันคำต่อคำ

ลอกงาน iLaw

ดุษฎีนิพนธ์ของสมชายมีการอ้างถึงงานของ iLaw ด้วย โดยเป็นบทความ “รวมข้อมูล 250 สว. ‘แต่งตั้ง: กลไกหลักสืบทอดอำนาจจากยุค คสช.’” ซึ่งมีการอ้างถึงสถิติของ สว. ที่ถูกแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่าประกอบด้วยบุคคลที่เคยรับตำแหน่งในยุค คสช. โดยมีเนื้อหาเหมือนกันทุกคำ ไม่มีการปรับเปลี่ยนคำใหม่ เพียงแต่มีการตัดรายชื่อของ สว. ที่บทความยกตัวอย่างให้เห็นเท่านั้น เช่น ปรีชา จันทร์โอชา, อภิรัชต์ คงสมพงษ์, พรทิพย์ โรจนสุนันท์, คำนูณ สิทธิสมาน, วัลลภ ตังคณานุรักษ์

พบเพิ่ม! ดุษฎีนิพนธ์ สว. สมชาย ลอกไชยันต์ ไชยพร (อัปเดต 22 เมษายน 2567)

นอกจากนี้ การตรวจสอบเพิ่มเติมหลังการเปิดเผยว่าดุษฎีนิพนธ์ สว. สมชายมีการคัดลอกจากผลงานอื่นและมีการแก้ไข ยังพบด้วยว่ามีการคัดลอกบทความของไชยันต์ ไชยพร เรื่อง วิกฤตการเมืองมาจากรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ให้ ส.ว.ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งมีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีจริงหรือ ?  (ตอนที่หนึ่ง) ตีพิมพ์ในโพสต์ทูเดย์ โดยมีการใส่เชิงอรรถเอาไว้ แต่หลายช่วงตอนของดุษฎีนิพนธ์หน้า 151-152 กลับมีข้อความเหมือนกับบทความของไชยันต์รวมแล้วกว่า 40 บรรทัด แม้จะเกริ่นนำว่าเป็นการ “สรุป” สิ่งที่ไชยันต์เขียนในโพสต์ทูเดย์ก็ตาม

Wikipedia ก็โดนด้วย ข้อความเหมือน ไม่มีอ้างอิง (อัปเดต 24 เมษายน 2567)

การตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่ามีข้อความที่คัดลอกมาจากแหล่งข้อมูลอื่นเพิ่มเติม โดยเฉพาะจากบทความในเว็บไซต์ Wikipedia มาอย่างน้อยห้าจุดโดยไม่มีการอ้างอิง ได้แก่

1.     หน้า 24-25 ของดุษฎีนิพนธ์ คัดลอกจากบทความ “นิติธรรม” ในส่วนความสับสนระหว่างหลักนิติรัฐและนิติธรรม https://th.wikipedia.org/wiki/นิติธรรม 

2.     หน้า 33 ของดุษฎีนิพนธ์ คัดลอกจากบทความ “ระบบรัฐสภา” ในส่วนคำอธิบายระบบรัฐสภา https://th.wikipedia.org/wiki/ระบบรัฐสภา

3.     หน้า 34-35 ของดุษฎีนิพนธ์ คัดลอกจากบทความ “ระบบสภาเดียว” ในส่วนของแนวความคิดในหมู่ประเทศที่นิยมสภาเดียว https://th.wikipedia.org/wiki/ระบบสภาเดียว

4.     หน้า 35 ของดุษฎีนิพนธ์ คัดลอกจากบทความ “ระบบสองสภา” ในส่วนคำอธิบายและทฤษฎีของระบบสองสภา https://th.wikipedia.org/wiki/ระบบสองสภา

5.     หน้า 105 ของดุษฎีนิพนธ์ คัดลอกจากบทความ “วุฒิสภาฝรั่งเศส” ในส่วนข้อมูลของวุฒิสภาฝรั่งเศส https://th.wikipedia.org/wiki/วุฒิสภาฝรั่งเศส นอกจากนี้ ในส่วนต่อมาของหน้า 106 ยังมีข้อความเรื่องที่มาของสมาชิกวุฒิสภาฝรั่งเศสที่เหมือนกับหน้าที่ 16 ของหนังสือ “โครงการศึกษาวิเคราะห์ เรื่องที่มาและอํานาจหน้าที่ของวุฒิสภาที่เหมาะสมกับประเทศไทย” โดยมานิต จุมปา และคณะ ในกรณีหลังนี้มีการใส่เชิงอรรถเอาไว้แต่ข้อความเหมือนกัน

You May Also Like
อ่าน

รวมตารางกิจกรรม ทำเดินสายอธิบายกติกา ชวนมาร่วมเปลี่ยนสว.

พร้อมแล้ว!! เดินสายทั่วประเทศ ชวนทุกคนมาทำความรู้จักระบบการเลือกสว. ชุดใหม่ จากการ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” อันซับซ้อน มาทำความเข้าใจขั้นตอน วิธีการเลือก ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร รวมถึงช่องทางการมีส่วนร่วมที่ประชาชนสามารถทำได้ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น มาร่วมเปลี่ยนสว. กันเถอะ
ConCourt Judges
อ่าน

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพร้อมหน้า ร่วมยินดีสว. สมชาย แสวงการ รับป.เอก

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ร่วมแสดงความยินดีที่สว. สองคนได้รับปริญญาเอก เรื่องนี้มีที่มาเพราะสมชาย แสวงการ สว. ที่รับปริญญาผ่านการคัดเลือกโดยศาลรัฐธรรมนูญให้มาเรียน และกรรมการสอบเล่มจบก็ไม่ใช่ใครอื่น