ประชาชนผู้ไม่มีสิทธิเลือก สว. อาจจะเข้าสังเกตการณ์การเลือก สว. ได้ หากเจ้าหน้าที่อนุญาต

สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดพิเศษที่ถูกแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแแห่งชาติที่ดำแหน่งมาตั้งแต่ปี 2562 กำลังจะหมดวาระในวันที่ 11 พฤษภาคม 2567 นี้ ในการเลือก สว. ชุดถัดไปนั้นมีวิธีการเลือกที่ซับซ้อนและมีข้อกำหนดที่สำคัญที่ทำให้การเลือก สว. 2567 ไม่เหมือนการเลือกตั้งทั่วไป คือ กำหนดให้ผู้สมัครต้องอายุ 40 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และผู้มีสิทธิเลือก สว. ได้ต้องเป็นผู้สมัครด้วย แต่ถ้าหากประชาชนที่อายุไม่ถึง 40 ปีบริบูรณ์ อยากจะมีส่วนร่วม เช่น ช่วยจับตาการเลือก ส.ว. 2567 ด้วยการไปสังเกตการณ์การเลือก สว. กฎหมายเลือกตั้ง สว. นั้นไม่ได้เปิดช่องให้ใช้สิทธิในการเข้าสังเกตการณ์การเลือก สว. ไว้เป็นเรื่องทั่วไป โดยคนที่สนใจจะเข้าร่วมสังเกตการณ์การเลือก สว. จะต้องขออนุญาตจากผู้มีอำนาจก่อน

ตามกฎหมายเลือก สว. ไม่อนุญาตให้บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าเขตเลือก สว. ยกเว้นได้รับอนุญาตจากผู้มีอำนาจในการจัดการเลือกตั้ง

จากการตรวจสอบกฎหมายเลือก สว. ทั้งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 (พ.ร.ป.สว. ฯ) และระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 (ระเบียบ กกต. การเลือก สว.) พบว่า พ.ร.ป.สว. ฯ กำหนดไว้ในมาตรา 37 ว่า “ในระหว่างการดําเนินการเลือกตามมาตรา 40 มาตรา 41 หรือมาตรา 42 ห้ามมิให้ผู้ใดซึ่งมิใช่ผู้สมัครเข้าไปในสถานที่เลือก เว้นแต่จะเป็นผู้ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับการเลือก หรือผู้ซึ่งได้รับอนุญาตจากกรรมการ ผู้อํานวยการการเลือกระดับประเทศ ผู้อํานวยการการเลือกระดับจังหวัดหรือผู้อํานวยการการเลือกระดับอําเภอ แล้วแต่กรณี” นั่นหมายความว่าหากเราเป็นประชาชนทั่วไปผู้ไม่มีสิทธิเลือก สว. ครั้งนี้ การจะเข้าไปในพื้นที่เขตเลือกตั้งนั้นต้องได้รับอนุญาตจาก กรรมการ ผู้อํานวยการการเลือกระดับประเทศ ผู้อํานวยการการเลือกระดับจังหวัดหรือผู้อํานวยการการเลือกระดับอําเภอ

ในขณะเดียวกัน ผู้สมัคร สว. แม้จะเข้าไปอยู่ในพื้นที่ได้ แต่ยังมีเงื่อนไขตามมาตรา 38 ของกฎหมายฉบับเดียวกับที่ให้ผู้สมัครที่อยู่พื้นที่เลือก สว. ห้ามพกอุปกรณ์สื่อสาร และบันทึกภาพหรือเสียงเข้าไปด้วย ซึ่งหากบุคคลทั่วไปได้รับอนุญาตให้เข้าไปสังเกตการณ์การเลือก สว. ก็ไม่แน่ว่าอาจจะต้องปฏิบัติตามด้วยหรือไม่

หากมีการฝ่าฝืนกฎหมายด้วยด้วยการเข้าไปในสถานที่เลือก สว. โดยไม่ได้รับอนุญาตหรือพกอุปกรณ์สื่อสารเข้าไปในสถานที่เลือก ในมาตรา 71 ของพ.ร.ป. สว. ฯ กำหนดโทษผู้ฝ่าฝืนอาจจะมีโทษจำคุกสูงสุดถึงหกเดือน และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้คณะกรรมการการเลือกตั้งยังไม่ได้กำหนดวิธีการเพื่อขออนุญาตเข้าพื้นที่เลือก สว. และขออนุญาตให้ใช้อุปกรณ์การสื่อสาร และบันทึกภาพและเสียงว่าต้องปฏิบัติอย่างไร ดังนั้น หากประชาชนผู้ไม่มีสิทธิลงสมัครและเลือก สว. หากสนใจเข้าไปสังเกตการณ์การเลือก สว. สามารถขออนุญาตจากกรรมการ ผู้อํานวยการการเลือกระดับประเทศ ผู้อํานวยการการเลือกระดับจังหวัดหรือผู้อํานวยการการเลือกระดับอําเภอ ในการขอเข้าพื้นที่การเลือก สว.

You May Also Like
อ่าน

ส่องเล่มจบป.เอก สว. สมชาย แสวงการ พบคัดลอกงานคนอื่นหลายจุด

พบว่าดุษฎีนิพนธ์ของ สว. สมชาย แสวงการ มีการคัดลอกข้อความจากหลากหลายแห่ง ซึ่งในหลายจุดเป็นการคัดลอกและวางข้อความในผลงานตัวเอง เหมือนต้นทางทุกตัวอักษร
อ่าน

รวมตารางกิจกรรม ทำเดินสายอธิบายกติกา ชวนมาร่วมเปลี่ยนสว.

พร้อมแล้ว!! เดินสายทั่วประเทศ ชวนทุกคนมาทำความรู้จักระบบการเลือกสว. ชุดใหม่ จากการ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” อันซับซ้อน มาทำความเข้าใจขั้นตอน วิธีการเลือก ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร รวมถึงช่องทางการมีส่วนร่วมที่ประชาชนสามารถทำได้ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น มาร่วมเปลี่ยนสว. กันเถอะ