รู้หรือไม่ คำสั่ง คสช. ที่ 72/2557
ตั้งคณะกรรมการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษฯ มีหัวหน้า คสช. เป็นประธาน เอง
เหตุเพราะรัฐบาลมีเจตจำนงอย่างแรงกล้าที่จะส่งเสริมการค้าและสนับสนุนให้มีการลงทุนเพิ่ม การแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กพน.) จึงได้ถือกำเนิดขึ้น โดยวันที่ 19 มิถุนายน 2557 คสช. จึงออกคำสั่ง คสช. ที่ 72/2557
ซึ่งกำหนดสาระสำคัญไว้ว่า ให้หัวหน้า คสช. หรือรองหัวหน้า คสช. ดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการ ซึ่งมีอำนาจโดยตรงในการพิจารณาให้ความเห็นและนำเสนอนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ รวมถึงร่างแผนแม่บทในโครงการต่างๆ
ยิ่งไปกว่านั้นยังสามารถใช้อำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานได้ตามสมควร อีกทั้งยังให้สำนักงานคณะกรรมการการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) อำนวยความสะดวกในการเบิกจ่ายเบี้ยประชุมตามพระราชกฤษฎีกาเบี้ยประชุมกรรมการ พ.ศ. 2557 และแก้ไขเพิ่มเติม ให้แก่คณะกรรมการนโยบายฯ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงานเฉพาะกิจ ที่ได้ดำเนินโครงการต่างๆ
ต่อมาวันที่ 28 กรกฎาคม 2557 หัวหน้า คสช.ยังได้ออกประกาศเพิ่มอีกฉบับ คือ คำสั่ง คสช. ที่ 109/2557 ว่าด้วยเรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยคำสั่งฉบับนี้ได้ประกาศให้ พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองหัวหน้าคสช. และหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คสช. ดำรงตำแหน่งกรรมการ และพลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คสช. ดำรงตำแหน่งกรรมการ
รู้หรือไม่ คำสั่งหัวหน้า คสช. 3/2559
'เซ็ตซีโร่' ผังเมืองในเขตเศรษฐกิจพิเศษ เปิดทางโรงงานอุตสาหกรรม
'ผังเมือง' ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งในการบริหารจัดการพื้นที่ของแต่ละจังหวัดว่า จะมีการใช้สอยพื้นที่อย่างไร พื้นที่ไหนจะเป็นพื้นที่ธุรกิจ ที่อยู่อาศัย ทำเกษตรกรรม หรือพื้นที่อุตสาหกรรม ซึ่งกระบวนการได้มาซึ่งผังเมือง กฎหมายจะกำหนดขั้นตอนสำคัญประการหนึ่งคือ การมีส่วนร่วม เพื่อให้การใช้สอยพื้นที่นั้นสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่จริงๆ
แต่การมาของ คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2559 ซึ่งออกตามอำนาจในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวฯ ปี 2557 ในวันที่ 20 มกราคม 2559 ทำให้ผังเมืองถูก 'เซ็ตซีโร่' หรือหมายถึง การงดเว้นกฎหมายผังเมืองเดิม และให้มีการจัดทำผังเมืองใหม่ให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลคสช.
โดยสาระสำคัญของคำสั่งดังกล่าวคือ การยกเว้นการบังคับใช้กฎกระทรวงผังเมืองรวมฯ หรือ ผังเมือง และ กฎกระทรวงเกี่ยวกับบริเวณห้ามก่อสร้างอาคาร ใน 10 เขตเศรษฐกิจพิเศษ อย่างเช่น จังหวัดตราด สระแก้ว หนองคาย นครพนม และมุกดาหาร เป็นต้น โดยในระหว่างที่งดเว้นให้ใช้ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องกำหนดบริเวณห้ามก่อสร้างอาคารและประกาศกรมโยธาธิการเรื่องหลักเกณฑ์การใช้ทรัพย์สินไปพลาง จนกว่าจะมีการออกกฎกระทรวงเรื่องผังเมืองรวมหรือกฎกระทรวงหรือข้อบัญญัติท้องถิ่นเรื่องการห้ามก่อสร้างอาคารฉบับใหม่ที่สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษออกมา
มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ตั้งข้อสังเกตว่า ในทางปฏิบัติคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับนี้จะช่วยเปิดทางให้รัฐสามารถลดข้อจำกัดตามกฎหมายเกี่ยวกับผังเมืองที่บังคับใช้อยู่ก่อนในพื้นที่จะที่กำหนดเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษซึ่งอาจไม่เอื้อต่อการสร้างหรือจัดสรรพื้นที่เพื่อการอุตสาหกรรม ในระหว่างที่รอการกฎกระทรวงฉบับใหม่ การกำหนดให้นำประกาศกระทรวงมาบังคับใช้ชั่วคราวยังเอื้อให้ภาครัฐสามารถกำหนดกฎเกณฑ์ชั่วคราวซึ่งอาจเอื้อต่อการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษได้อย่างรวดเร็วเนื่องจากการออกประกาศกระทรวงไม่มีกฎเกณฑ์บังคับเกี่ยวกับการรับฟังความเห็นหรือการมีส่วนร่วมของประชาชนเหมือนการออกกฎกระทรวง
รู้หรือไม่? คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2559
'ฉีก' ผังเมืองชั่วคราว เปิดทางเอกชนตั้งโรงไฟฟ้าขยะได้อย่างอิสระ
การมาของคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2559 ซึ่งออกตามอำนาจในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวฯ ปี 2557 ในวันที่ 20 มกราคม 2559 ทำให้ผังเมืองถูก 'ฉีก' เป็นการชั่วคราว หรือหมายถึง การงดเว้นการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยผังเมืองเพื่อเปิดทางให้ประกอบกิจการบางประเภท เช่น โรงงานผลิตก๊าซชีวภาพ โรงบำบัดน้ำเสีย เตาเผาขยะ โรงงานคัดแยกและฝังกลบสิ่งปฏิกูล หรือ หลุมฝังกลบขยะ โดยไม่ต้องคำนึงถึงการกำหนดโซนผังเมืองก่อนหน้าจะมีคำสั่งดังกล่าวเป็นระยะเวลา 1 ปี
มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ตั้งข้อสังเกตว่า ในทางปฏิบัติอาจส่งผลให้ผู้ประกอบการกิจการต่างๆตามประกาศนี้สามารถขออนุญาตดำเนินกิจการในสถานที่ใดๆได้ทั่วประเทศโดยไม่ต้องคำนึงถึงข้อจำกัดเกี่ยวกับสถานที่ตั้งหรือกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ซึ่งข้อสังเกตดังกล่าวสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่การขออนุญาตและอนุมัติการตั้งโรงไฟฟ้าขยะหรือเตาเผาขยะสูงขึ้นเกือบ 2 เท่าตัวในระยะเวลา 1 ปี โดยโรงงานเหล่านี้จะได้รับการคุ้มครองตามคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 4/2559 ไม่สามารถเพิกถอนใบขออนุญาตได้แม้ไม่ถูกต้องตามผังเมือง
รู้หรือไม่ คำสั่งหัวหน้า คสช. 9/2559
ลัดคิวให้เอกชนประมูลงานก่อน ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมทีหลัง
การทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เป็นหนึ่งในมาตรการที่กำหนดขึ้นเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมจากโครงการพัฒนาต่างๆ เพราะจะทำให้การดำเนินโครงการเป็นไปด้วยความรอบคอบ มีการตรวจสอบถ่วงดุลด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ว่าโครงการพัฒนาจะไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระดับที่ร้ายแรงเกินไป
7 มีนาคม 2559 หัวหน้า คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งฉบับที่ที่ 9/2559 โดยมีสาระสำคัญ คือ การแก้ไข กฎหมายสิ่งแวดล้อม โดยให้หน่วยงานขอ ครม. อนุมัติคัดเลือกเอกชนมาดำเนินโครงการจำเป็นเร่งด่วนได้ก่อน แม้ยังไม่ทราบผลการพิจารณารายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม แต่ทั้งนี้ หน่วยงานราชการหรือรัฐวิสาหกิจจะสามารถทำได้เพียงขั้นตอนของประกวดราคาหาผู้รับผิดชอบโครงการเท่านั้น จะยังไม่สามารถทำข้อตกลงหรือเซ็นสัญญาได้จนกว่าจะมีผลการพิจารณารายงานออกมา
สมนึก จงมีวศิน นักวิชาการชุมชนอิสระ ตั้งข้อสังเกตว่า การแก้ไขกฎหมายในครั้งนี้จะเป็นการทำลายธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมทั้งหมดของประเทศ และชุมชนกำลังถูก ‘มัดมือชก’
สมนึก กล่าวว่า “การที่ EIA ยังไม่เสร็จ แต่ไปจัดจ้าง จัดประมูล หรือจัดทำสัญญาไว้ก่อนรอเซ็น พอกฎหมายบังคับแล้ว มันเป็นกฎหมายระเบียบพัสดุ มีเรื่องของระเบียบบังคับ เพราะฉะนั้นถ้าเกินกำหนดเอกชนสามารถฟ้องกลับได้ พอเอกชนจะฟ้อง ก็ต้องไปบีบทาง คชก. สผ. (คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) ให้ต้องรีบอนุมัติ EIA"
RELATED POSTS
No related posts