สรุปคำพิพากษาคดีมาตรา 112 เดือนมีนาคม 2567

เดือนมีนาคม 2567 มีคำพิพากษาคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อย่างน้อยหกคดี รวมแล้วมีคดีที่ศาลมีคำพิพากษาแล้ว 134 คดีจากทั้งหมด 301 คดี โดยอัตราโทษสูงสุดยังเป็นคดีของบัสบาส-มงคล ถิระโคตร จำคุกจากการโพสต์เฟซบุ๊ก 25 ข้อความ ทั้งหมดเป็น 75 ปี ลดเหลือ 50 ปี ขณะที่มีจำเลยโทษอัตราสูงเพิ่มอีกหนึ่งคนคือ แม็กกี้ จากการทวีตข้อความที่ศาลมองว่า หมิ่นประมาทกษัตริย์รวม 14 ข้อความ จำคุกข้อความละสามปี รวม 42 ปี ลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือ 21 ปี (ไม่นับรวมโทษตามมาตรา 14(3) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์)  เท่าที่ติดตามข้อมูลได้โทษจำคุกตามมาตรา 112 ของแม็กกี้ถือว่าหนักเป็นอันดับเจ็ด

ไบรท์ ชินวัตรพิพากษาคดี 112 เพิ่มอีกสองรวมโทษ 10 ปี 6 เดือน 

วันที่ 7 มีนาคม 2567 ศาลอาญานัดไบรท์-ชินวัตร จันทร์กระจ่างฟังคำพิพากษาคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กรณีแห่ขันหมากหน้าสน.บางเขนเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2563 คดีนี้มีจำเลยทั้งหมดเจ็ดคน สามในเจ็ดคนถูกดำเนินคดีในข้อหามาตรา 112 ได้แก่ ไบรท์ อานนท์ นำภาและเพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ ระหว่างการสืบพยานโจทก์นัดแรกในวันที่ 5 มีนาคม 2567 ไบรท์เปลี่ยนคำให้การเป็นรับสารภาพและนัดฟังคำพิพากษาอีกสองวันถัดมา

ศาลเห็นว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ลงโทษจำคุกสามปี และข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ ลงโทษปรับ 200 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือหนึ่งปีหกเดือน ปรับ 100 บาท อ่านเพิ่มเติม

วันที่ 12 มีนาคม 2567 เวลา 9.00 น. ศาลอาญานัดไบรท์-ชินวัตร จันทร์กระจ่างฟังคำพากษาคดีมาตรา 112 อีกคดี สืบเนื่องมาจากกรณีที่เขาไปปราศรัยใน #ม็อบ29พฤศจิกา ปลดอาวุธศักดินาไทย เมื่อปี 2563 เดิมมีจำเลยร่วมเช่น สมยศ พฤกษาเกษมสุขและพริษฐ์ ชิวารักษ์ แต่เขากลับคำให้การเป็นรับสารภาพ ศาลจึงแยกคดีนี้ออกจากคดีหลักและมีคำพิพากษาก่อน 

ศาลเห็นว่า มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หมิ่นประมาทกษัตริย์ มาตรา 116 ยุยงปลุกปั่น มาตรา 215 และ 216 ว่าด้วยการมั่วสุมและสั่งให้เลิกการมั่วสุมแล้วไม่เลิก  พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ร.บ.จราจรฯ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงและพ.ร.บ.ความสะอาดฯ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ความผิดฐาน “ร่วมกัน” หมิ่นประมาทกษัตริย์ จำคุกสี่ปี ส่วนความผิดตามมาตรา 116 มาตรา 215 และมาตรา 216 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และพ.ร.บ.จราจรฯ ถือเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 116 จำคุกสองปี ฐานร่วมกันทำการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ให้ปรับเป็นพินัย 200 บาท ฐานกระทำให้ปรากฏด้วยประการใด ๆ ซึ่งข้อความ ภาพ หรือรูปรอยใด ๆ บนถนนสาธารณะ ให้ปรับเป็นพินัย 2,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา นับเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง รวมจำคุกสามปี และปรับเป็นพินัย 1,100 บาท 

สรุปแล้วศาลมีคำพิพากษาคดีมาตรา 112 ของไบรท์รวมห้าคดีคือ คดีที่ศาลอาญากรุงเทพใต้หนึ่งคดีจากการปราศรัยเรียกร้องปล่อยตัวนักโทษการเมืองหน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2565 คดีนี้โทษจำคุกตามมาตรา 112 ศาลให้รอการลงโทษไว้ และศาลอาญาสี่คดี คดีจากการชุมนุม #2ธันวาไปห้าแยกลาดพร้าว เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2563 พิพากษาว่า มีความผิดตามมาตรา 112 และที่เกี่ยวข้อง โทษจำคุกหลังลดแล้วเหลือสามปี การชุมนุม #25พฤศจิกาไปSCB ที่บริเวณหน้าสำนักงานใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2563 พิพากษาว่า มีความผิดตามมาตรา 112 และที่เกี่ยวข้อง โทษจำคุกหลังลดแล้วเหลือสามปี คดีที่หน้าสน.บางเขนจำคุกหนึ่งปีหกเดือน และคดีจากการปราศรัยใน #ม็อบ29พฤศจิกา ปลดอาวุธศักดินาไทย มีความผิดตามมาตรา 112 และที่เกี่ยวข้อง โทษจำคุกหลังลดแล้วเหลือสามปี รวมห้าคดีมีโทษจำคุกสิบปี หกเดือน

แม็กกี้ทวีต 18 ข้อความส่งผลจำคุกยาวนานอีกคดี

วันที่ 14 มีนาคม 2567 เวลา 9.00 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดแม็กกี้ฟังคำพิพากษาคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากกรณีการทวีตข้อความลงบนทวิตเตอร์รวม 18 ข้อความระหว่างเดือนธันวาคม 2565 ถึงเดือนตุลาคม 2566 แบ่งเป็น 14 ข้อความถูกกล่าวหาว่า หมิ่นประมาทกษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และอีกสี่ข้อความเป็นข้อหาตามมาตรา 14(2) ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เธอไม่ได้รับการประกันตัวตั้งแต่ในชั้นสอบสวนจนถึงชั้นพิจารณาคดีในศาลชั้นต้น จนถึงวันพิพากษาเธอถูกคุมขังมาแล้ว 144 วัน คดีนี้แม็กกี้ตัดสินใจให้การรับสารภาพ 

ศาลพิพากษาว่า มีความผิดตามมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(3) จำนวน 14 ข้อความ ลงโทษจำคุกกรรมละสามปี รวม 42 ปี มีความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(2) สี่ข้อความ ลงโทษจำคุกกรรมละสองปี รวมแปดปี รวม 50 ปี รับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือจำคุก 25 ปี

ขนุน ผู้ต้องขังการเมืองคนที่ 45 ไม่ให้ประกันแม้คดีไม่ถึงที่สุด

วันที่ 25 มีนาคม 2567 เวลา 9.00 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดขนุน-สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธฟังคำพิพากษาในคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 คดีนี้สืบเนื่องจากการปราศรัยเมื่อวันที่ 18พฤศจิกายน 2563 มีการชุมนุมที่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อแสดงออกถึงความไม่พอใจต่อการสลายการชุมนุมของตำรวจที่ใช้ความรุนแรงเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 ที่รัฐสภา เกียกกาย จนมีผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก หลังอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องต่อศาลอาญากรุงเทพใต้เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2564 ศาลเคยมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวขนุนระยะหนึ่ง  ศาลพิพากษา ลงโทษจำคุกสามปี การนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาอยู่บ้าง ลดโทษหนึ่งในสามคงจำคุกสองปี ไม่รอลงอาญา ขนุนไม่ได้รับการประกันตัวนับแต่วันพิพากษา จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2567 เป็นเวลาหกวัน

อุทธรณ์พลิกกลับไม่รอลงโทษจำคุกคดีคลิปหยอกแมว

วันที่ 26 มีนาคม 2567 เวลา 9.00 น. ศาลจังหวัดกำแพงเพชรนัดอาร์มฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 คดีนี้เขาถูกกล่าวหาว่า การเผยแพร่คลิปวิดีโอกล่าวถ้อยคำหยอกล้อกับแมวในแอพTikTok โดยมีเนื้อหาพาดพิงสถาบันกษัตริย์  โดยมีผู้ร้องคือ พุทธ พุทธัสสะ ชาวจังหวัดกำแพงเพชร อาร์มที่อาศัยอยู่ที่เกาะพะงันจังหวัดสุราษฎร์ธานี ต้องเดินทางไปสู้คดีที่จังหวัดกำแพงเพชรหลายต่อ จากเกาะพะงันเข้าจังหวัดสุราษฎร์ธานี นั่งรถต่อเข้ากรุงเทพฯ และนั่งรถทัวร์จากกรุงเทพฯ ไปจังหวัดกำแพงเพชร นับคร่าวๆ การเดินทางไปฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์จะเป็นครั้งที่แปดที่เขาต้องเดินทางไกลไปสู้คดี

สำหรับคำพิพากษาในชั้นต้น ศาลจังหวัดกำแพงเพชรพิพากษาจำคุกสามปี แต่เขารับสารภาพจึงลดโทษให้เหลือหนึ่งปีหกเดือน และเนื่องจากเขาไม่เคยกระทำความผิดและมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ศาลจึงให้รอการลงโทษไว้สองปี โดยให้คุมประพฤติหนึ่งปี และทำกิจกรรมสาธารณะประโยชน์เป็นเวลา 12 ชั่วโมง

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า ให้แก้คำพิพากษาของศาลชั้นต้น เป็นไม่ให้รอการลงโทษจำคุกจำเลย โดยให้เหตุผลในลักษณะเดียวกับอุทธรณ์ของอัยการ  พร้อมระบุว่าพฤติการณ์ของจำเลยเป็นเรื่องร้ายแรง แม้ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน หรือจำเลยมีภาระต้องเลี้ยงดูบุคคลในครอบครัวดังปรากฏในรายงานการสืบเสาะและพินิจ จำเลยควรสังวรและตระหนักรู้ก่อนกระทำความผิด เพื่อให้จำเลยหลาบจำและมิให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่บุคคลอื่นที่คิดจะกระทำความผิดเช่นเดียวกับจำเลย กรณีจึงไม่สมควรรอการลงโทษจำคุกแก่จำเลย อาร์มได้รับการประกันตัวระหว่างการฎีกา

วางแนวคดีสาดสีแดงใส่รูป ร. 10 ไม่มีความผิดฐานหมิ่นกษัตริย์

วันที่ 27 มีนาคม 2567 เวลา 9.00 น. ศาลจังหวัดนนทบุรีนัด ‘สมพล’ ฟังคำพิพากษาในคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เขาถูกกล่าวหาว่าปาสีใส่ป้ายพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่สิบ บริเวณทางขึ้นทางด่วนศรีสมาน อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี และยังถูกกล่าวหาว่าถ่ายรูปพระบรมฉายาลักษณ์ที่เปื้อนลงไปในกลุ่มไลน์  ข้อหาตามคำฟ้องได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112ทำให้เสียทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา358 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) และพ.ร.บ.ความสะอาดฯ

คดีนี้ศาลยกฟ้องมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) และลงโทษจำคุกฐานทำให้เสียทรัพย์หนึ่งปี เนื่องจากจำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา จึงลดโทษลงหนึ่งในสาม คงเหลือจำคุกแปดเดือน โดยศาลให้ประกันตัวระหว่างการอุทธรณ์คดี ‘สมพล’ ถูกกล่าวหาจากกการแสดงออกต่อพระบรมฉายาลักษณ์รวมหกคดี  โดยห้าคดีเป็นการปาสีแดงและอีกหนึ่งคดีเป็นการใช้สเปรย์พ่นข้อความ สรุปรวมแล้วมีสี่คดีสาดสีแดงที่ศาลยกฟ้องมาตรา 112  แต่ลงโทษจำคุกและปรับในข้อหาทำให้เสียทรัพย์ และอีกหนึ่งคดีที่มีข้อความแสดงออกศาลลงโทษตามมาตรา 112  

You May Also Like
อ่าน

ย้อนเส้นทางเสรีภาพสื่อของวอยซ์ทีวี หลังประกาศปิดฉาก 15 ปี

ย้อนเส้นทางเสรีภาพสื่อมวลชนของวอยซ์ทีวี ที่เรียกว่า อายุเกือบครึ่งหนึ่งของวอยซ์ทีวีต้องเผชิญกับการคุกคามและปิดกั้นเสรีภาพ
อ่าน

จำคุกทนายอานนท์ 2 ปี 20 วัน กรณีปราศรัยม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์ 2 รวม โทษ 3 คดี 10 ปี 20 วัน

ศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาจำคุกอานนท์ นำภา ในคดีมาตรา 112 และพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการปราศรัยในม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์ 2 รวม 2 ปี 20วัน ปรับฐานใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต 100 บาท