สมัครให้เยอะๆ และช่วยกระจายข้อมูล ประชาชนมีส่วนร่วมได้กับการเลือกสว.67

สนามการคัดเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในปี 2567 มีความท้าทายมากเพราะวิธีการที่จะใช้คัดเลือกที่ไม่เคยใช้มาก่อนที่ใดในโลก และกำลังจะทดลองจัดขึ้นเป็นครั้งแรก โดยอาจเรียกระบบนี้แบบสั้นๆ ได้ว่า เป็นระบบ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” ในหมู่ผู้สมัคร ซึ่งไม่ใช่การเลือกตั้งที่ประชาชนทั่วไปมีสิทธิออกเสียงและมีส่วนร่วมในการตัดสิน ระบบเช่นนี้หากประชาชนในวงกว้างไม่ได้พยายามเข้าไปมีส่วนร่วมด้วยก็จะทำให้พื้นที่การคัดเลือกสว. กลายเป็นเพียงพื้นที่ของคนมีอำนาจ มีเครือข่าย มีทรัพยากร ที่ส่งคนของตัวเองเข้าไปแข่งขันกันเป็น สว. ชุดต่อไป

แม้ว่าหลังปี 2567 สว. จะไม่มีอำนาจในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีแล้ว แต่ก็ยังมีอำนาจสำคัญ คือ การลงมติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ยังต้องอาศัยเสียงของสว. อย่างน้อยหนึ่งในสาม และการลงมติอนุมัติให้บุคลมาดำรงตำแหน่งเป็นศาลรัฐธรรมนูญหรือกรรมการในองค์กรอิสระ ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ สว. ก็ต้องพิจารณาออกกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ และกฎหมายที่เป็น “กฎหมายปฏิรูป” จะได้ลงมติร่วมกันกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) รวมทั้งยังมีอำนาจอภิปราย ตั้งกระทู้ถาม เพื่อตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล

ระบบการคัดเลือกสว. ชุดต่อไปแบบ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” มีความซับซ้อนและสับสน การออกแบบให้ผู้สมัครต้องจับสลากเพื่อแบ่งสายและเลือกไขว้ข้ามกลุ่มทำให้วางแผนคาดการณ์ใดๆ ล่วงหน้าไม่ได้ ข้อเสียของระบบนี้ คือ ทำให้ผู้ผ่านการคัดเลือกไม่ได้เป็นตัวแทนที่แท้จริงของคนกลุ่มใดเลย แต่ก็กลายเป็นข้อดี คือ สำหรับผู้ที่มีอิทธิพลเส้นสายและอิทธิพลทางการเงิน ก็ไม่ง่ายที่จะเอาเปรียบผู้สมัครคนอื่นได้ เพราะไม่อาจวางแผนล่วงหน้าได้ว่า ใครจะมีสิทธิลงคะแนนให้ใครบ้าง ระบบนี้จึงยังเปิดกว้างให้ผลลัพธ์สุดท้ายออกมาได้หลากหลาย และการมีส่วนร่วมของประชาชนมีความหมายกับผลลัพธ์ได้มาก

ทำความเข้าใจระบบการเลือกสว. โดยละเอียดได้ คลิกที่นี่

กระบวนการของ “ผู้สมัคร” ต้องสมัครเท่านั้นเพื่อจะเป็น เพื่อจะโหวต เพื่อจะจับตา

การเปิดรับสมัครผู้เข้ารับการคัดเลือกเป็น สว. คาดหมายว่าจะเริ่มขึ้นช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2567 และการคัดเลือกระดับอำเภอน่าจะเกิดขึ้นช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2567 จนกระทั่งเสร็จสิ้นและทราบผลว่าใครได้เป็น สว. ชุดต่อไปในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม 2567 ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้ประชาชนสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้อย่างเต็มที่ คือ การสมัครเข้าร่วมการคัดเลือก และเข้าสู่กระบวนการในทุกๆ ขั้นตอน

ซึ่งการ “สมัคร” เข้าสู่การคัดเลือกสว. ในปี 2567 ไม่ใช่เพียงการสมัครเพื่อรับเลือกตั้งเหมือน สส. แต่ระบบนี้เป็นออกแบบมาสำหรับ “ผู้สมัคร” จริงๆ การสมัครสว. จึงมีความหมายได้อย่างน้อยสามประการ

1) สมัครเพื่อเป็น
ผู้ที่มีความประสงค์จะดำรงตำแหน่งเป็นสว. ในชุดต่อไประหว่างปี 2567-2572 ย่อมต้องสมัครเข้ารับการคัดเลือกครั้งนี้ เริ่มจากการเลือกในระดับอำเภอ ซึ่งผู้ที่พร้อมจะเข้าไปเป็นสว. ต้องได้รับการคัดเลือกขั้นต้นเป็นห้าอันดับแรกจากกลุ่มอาชีพที่ตัวเองสมัครก่อน และไปจับสลากแบ่งสายเพื่อเลือกไขว้กับผู้สมัครจากกลุ่มอาชีพอื่นๆ ในสายเดียวกันเพื่อให้เหลือสามอันดับแรกเข้าสู่ระดับจังหวัด ก่อนจะทำกระบวนการเลือกซ้ำอีกครั้งในระดับจังหวัด และระดับประเทศ ซึ่งต้องอาศัยเสียงสนับสนุนจากผู้สมัครในกลุ่มอาชีพเดียวกันทุกระดับที่อาจไม่รู้จักกันมาก่อน และยังต้องอาศัยเสียงสนับสนุนจากผู้สมัครในกลุ่มอาชีพอื่นๆ ที่จับสลากมาอยู่ในสายเดียวกันทั้งสามรอบด้วย 

สำหรับผู้ที่พร้อมจะสมัครเพื่อเข้าไปเป็นสว. จึงอาจต้องเร่งประกาศตัวและแนะนำตัวให้ผู้สมัครคนอื่นๆ รู้จักโดยเร็ว เพราะหากรอถึงวันที่จะลงคะแนนอาจจะแนะนำตัวให้ผู้สมัครคนอื่นรู้จักได้ไม่ทัน

2) สมัครเพื่อโหวต
ผู้ที่ไม่ได้ประสงค์จะดำรงตำแหน่งเป็นสว. เองจริงๆ แต่อยากมีส่วนร่วมและอยากมีสิทธิออกเสียงเลือกคนที่จะมาดำรงตำแหน่งเป็นสว. ก็จะต้องสมัครเข้ากระบวนการคัดเลือกเช่นกัน เพราะระบบนี้ออกแบบมาให้ “เลือกกันเอง” ในหมู่ผู้สมัคร จึงต้องสมัครเข้าไปเท่านั้นเพื่อจะมีสิทธิลงคะแนน เริ่มจากการลงคะแนนเลือกกันเองระหว่างผู้สมัครในกลุ่มอาชีพเดียวกันในระดับอำเภอก่อน คนที่ได้รับการคัดเลือกขั้นต้นจึงได้สิทธิไปเลือกไขว้กับผู้สมัครจากกลุ่มอาชีพอื่นๆ หากผ่านการคัดเลือกก็จะมีโอกาสได้ลงคะแนนในระดับจังหวัด และระดับประเทศต่อไป ผู้สมัครหนึ่งคนที่ผ่านเข้ารอบทุกรอบอาจมีสิทธิได้ออกเสียงมากที่สุดถึง 42 เสียง เพื่อเลือกผู้สมัครจากทั้งในกลุ่มตัวเองและกลุ่มอื่นๆ และเป็นส่วนสำคัญในการตัดสินว่า ใครจะได้เป็นสว. ชุดต่อไป ยิ่งมีประชาชนธรรมดาสมัครเข้าไปเพื่อโหวตอย่างอิสระจำนวนมาก คนที่เจตนาไม่ดีที่จะซื้อเสียงหรือจัดตั้งคนไปเลือกตัวเองก็จะทำงานได้ยากขึ้นหรือพ่ายแพ้เสียงประชาชนไปเลย

สำหรับผู้ที่ต้องการจะมีส่วนร่วมเลือกคนที่จะมาเป็นสว.ชุดต่อไป จึงต้องเตรียมสถานะของตัวให้พร้อม เตรียมจองวันว่าง และเตรียมเอกสารที่จำเป็น เพื่อที่จะสมัครเข้าไปลงคะแนนให้ได้มากที่สุดและมีส่วนร่วมตัดสินใจได้มากที่สุด

3) สมัครเพื่อจับตา
ผู้ที่ต้องการเห็นความโปร่งใสในกระบวนการคัดเลือกสว. ชุดต่อไป ต้องการที่จะช่วยทำให้การคัดเลือก การลงคะแนน การนับคะแนน การประกาศผล เป็นไปอย่างถูกต้อง ป้องกันความผิดพลาดหรือป้องกันการทุจริต มีโอกาสเดียวที่สามารถช่วยกันเป็นหูเป็นตาได้ คือ การสมัครเข้าร่วมกระบวนการ เพราะผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในสถานที่เลือกเลย เฉพาะผู้สมัครเท่านั้นที่จะเข้าไปได้ และจะต้องฝากเครื่องมือสื่อสารหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไว้ด้านนอก หลักการนี้มีขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้มีการ “แจกโพย” หรือไม่ให้มี “หัวคะแนน” มาแทรกแซงการตัดสินใจของผู้สมัคร แต่ก็มีข้อเสีย คือ ทำให้สาธารณชนจับตาดูการทำงานของ กกต. ไม่ได้ หากมีความผิดปกติเกิดขึ้นจากการทำงานของกกต. หรือจากฝ่ายผู้สมัครเองก็จะไม่มีผู้สังเกตการณ์ที่คอยตรวจสอบ วิธีการเดียว คือ ต้องมีผู้สมัครจำนวนมากซึ่งนั่งอยู่ในสถานที่เลือกที่จะสามารถเป็นพยานบุคคลบอกเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ ยิ่งมี “สายตา” คอยสอดส่องอยู่จำนวนมากการทุจริตก็ยิ่งจะทำได้ยากยิ่งขึ้น

สำหรับผู้ที่ต้องการให้กระบวนการเลือกสว. ชุดต่อไปโปร่งใสและเป็นธรรม จึงต้องเตรียมสมัครเข้าร่วมกระบวนการ เพื่อเป็นหูเป็นตาคอยสอดส่องกระบวนการ และหากพบเห็นความผิดปกติก็นำมาเปิดเผยต่อสาธารณะ หรือส่งเรื่องร้องเรียนให้ถูกช่องทาง

อย่างไรก็ดีไม่ใช่ทุกคนที่สามารถสมัครเข้าร่วมกระบวนการนี้ได้ เพราะคุณสมบัติของผู้สมัครสว. มีข้อจำกัดเยอะ เริ่มตั้งแต่ “อายุ” ผู้สมัครต้องมีอายุ 40 ปีขึ้นไป ต้องมีประสบการณ์ในกลุ่มอาชีพ 10 ปีขึ้นไป ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการสมัคร 2,500 บาท ต้องไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง ไม่เป็นข้าราชการหรือพนักงานของรัฐ ไม่เป็นผู้ถือหุ้นสื่อมวลชน ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย ไม่ติดยาเสพติด ไม่มีบุพการี คู่สมรส บุตร ลงสมัครพร้อมกันในการคัดเลือกสว. ครั้งนี้ ฯลฯ ทำให้จำนวนของผู้ที่มีสิทธิสมัครเข้าร่วมกระบวนการได้เหลือน้อยลงมาก และเป็นสนามสำคัญของ “พี่ๆ” ที่จะเป็นตัวแทนเข้าไปทำหน้าที่ในสนามนี้แทน “เยาวชน” ที่ยังอายุไม่ถึงเกณฑ์

ดูรายละเอียดคุณสมบัติผู้สมัครสว. ได้โดย คลิกที่นี่

อายุไม่ถึงก็มีส่วนร่วมได้ ช่วยกันส่งตัวแทนผู้สมัครอย่างน้อยบ้านละหนึ่งคน

แม้คนไทยจำนวนหลายล้านคนจะถูก “กันออก” จากระบบการคัดเลือกสว. ไม่ให้มีส่วนร่วมในฐานะผู้สมัครได้ แต่ทุกคนยังสามารถทำอะไรได้อีกหลายอย่างเพื่อมีส่วนร่วมในกระบวนการสำคัญที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ ตัวอย่างเช่น

1) หาตัวแทนผู้สมัครบ้านละหนึ่งคน

เนื่องจากคุณสมบัติต้องห้ามของผู้สมัครเขียนไว้ชัดเจนแล้วว่า ห้ามทุกคนลงสมัครสว. พร้อมกันกับสมาชิกในครอบครัว รวมทั้งบุพการี หมายถึง พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ตามกฎหมาย คู่สมรสตามกฎหมาย และบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย (ไม่รวมพี่น้องหรือญาติคนอื่นๆ) ซึ่งกติกานี้เขียนขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้สมัครหนึ่งคนจัดการให้สมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัวไปสมัครพร้อมกันเพื่อลงคะแนนเลือกตัวเอง ดังนั้น หากสมาชิกในครอบครัวเดียวกันมีความประสงค์จะลงสมัครพร้อมหลายคน ไม่ว่าจะสมัครเพื่อจะเป็นสว. หรือสมัครเพื่อโหวต หรือสมัครเพื่อจับตา จึงต้องพูดคุยตกลงกันส่งตัวแทนไปสมัครได้เพียงหนึ่งคน

ผู้สมัครหนึ่งคนจึงมีสถานะคล้ายกับเป็น “ตัวแทนของครอบครัว” ที่จะเข้าไปทำหน้าที่สำคัญ ทั้งการลงคะแนน การจับตา หรือการทำหน้าที่เป็นสว. หากได้รับเลือก สมาชิกคนอื่นในครอบครัวที่อาจไม่มีคุณสมบัติและสมัครไม่ได้ ก็สามารถนำข้อมูลไปเปิดบทสนทนาระหว่างกันภายในครอบครัวและส่งตัวแทนของครอบครัวไปลงสมัครสว. หนึ่งคนในรอบนี้เพื่อใช้สิทธิแทนคนที่สมัครไม่ได้ โดยสมาชิกในครอบครัวอาจจะช่วยกันทำการบ้านศึกษาข้อมูลของผู้สมัครคนอื่นๆ ว่าควรจะตัดสินใจลงคะแนนอย่างไร หรือช่วยกันรวบรวมค่าธรรมเนียมการสมัครให้ครบ 2,500 บาท ก็ได้

2) ส่งต่อข้อมูลไปยังผู้มีสิทธิทุกคน

ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมและช่วยกันทำให้การคัดเลือกสว. มีความเชื่อมโยงกับประชาชนให้ได้มากที่สุดโดยการช่วยส่งต่อข้อมูลให้ประชาชนเข้าใจกระบวนการที่กำลังจะเกิดขึ้นและชวนทุกคนเข้าไปสมัครกันให้มากที่สุด ไม่ว่าจะมีอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างไร ซึ่งการส่งต่อข้อมูลอาจทำโดยการแชร์บนโซเชียลมีเดียก็ได้ หรือหากจะให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น ประชาชนทุกคนสามารถช่วยกันนำใบปลิวคำอธิบายอย่างย่อถึงกระบวนการคัดเลือกสว. ไปแจกจ่ายให้กับคนใกล้ชิดทั้งเพื่อนที่ทำงาน เพื่อนที่สถานศึกษา หรือผู้คนในละแวกบ้านให้มีความเข้าใจตรงกันได้ โดยสามารถดาวน์โหลดและจัดพิมพ์ใบปลิวด้วยตัวเองได้โดยคลิกที่นี่ หรือหากพบเจอคนที่มีคุณสมบัติและสนใจสมัครเป็นสว. ก็สามารถส่งลิงก์คู่มือการสมัครแบบละเอียด  หรือจัดพิมพ์ด้วยตัวเองและนำไปแจกจ่ายให้ถึงมือกลุ่มเป้าหมายได้ด้วย

นอกจากนี้ ทุกคนสามารถให้ข้อมูลและให้คำปรึกษาผู้ที่สนใจสมัครสว. ได้โดยอาศัยช่องทางเว็บไซต์ senate67.com เป็นศูนย์กลาง ซึ่งเว็บไซต์นี้จะมีระบบการ “ตรวจสอบคุณสมบัติ” สามารถให้ผู้สนใจทุกคนเข้าไปกรอกคุณสมบัติตัวเองได้ทุกที่ทุกเวลา และระบบของเว็บไซต์จะให้คำตอบว่า ผู้สนใจแต่ละคนมีคุณสมบัติครบถ้วนหรือไม่และสามารถลงสมัครในกลุ่มอาชีพใดที่อำเภอใดได้บ้าง หากยังมีคุณสมบัติไม่ครบระบบก็จะให้คำแนะนำว่า จะต้องเตรียมตัวอย่างไรต่อไป นอกจากนี้บนเว็บไซต์ยังมีพื้นที่สำหรับให้ผู้ที่พร้อมสมัครสว. มา “ประกาศตัว” ได้เองเพื่อให้ผู้ที่สนใจคนอื่นๆ เข้าไปดูข้อมูลและพิจารณาได้ด้วยตัวเองว่าควรจะลงสมัครกลุ่มอาชีพใด ที่อำเภอใด เพื่อไปออกเสียงเลือกใครได้บ้าง

ทุกคนจึงสามารถใช้เว็บไซต์ senate67.com เป็นเครื่องมือหลักและ “เปิดคลินิก” ให้ข้อมูลและคำแนะนำกับผู้ที่สนใจสมัครสว. ได้เองทุกที่ทุกเวลา หากใครรู้จักคนใกล้ตัวที่มีคุณสมบัติสามารถสมัครสว. ได้ หรือมีพื้นที่ที่สามารถทำกิจกรรมเพื่อให้คำแนะนำกับผู้สนใจได้ ก็สามารถออกแบบกิจกรรม และใชัเว็บไซต์แห่งนี้เป็นเครื่องมือกลางในการสื่อสารข้อมูลความรู้และทำกิจกรรมกับคนในวงกว้างได้ด้วยตัวเองตามรูปแบบที่ถนัดและเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย

3) ดูถ่ายทอดสด ดูกล้องวงจรปิด จับตาความผิดปกติ

แม้ว่าในกระบวนการคัดเลือกสว. จะห้ามไม่ให้ประชาชนทั่วไปที่ไม่ใช่ผู้สมัครเข้าไปในสถานที่เลือกทำให้การจับตาความโปร่งใสทำได้ยาก แต่ในระเบียบของกกต. ยังกำหนดให้ กกต. มีหน้าที่ในการบันทึกวิดีโอของกระบวนการคัดเลือกไว้ตลอดเวลา ซึ่งไฟล์วิดีโอนั้นต้องเก็บรักษาไว้ ดังนั้น หากผู้สมัครที่เข้าร่วมกระบวนการออกมาเล่าถึงปัญหาความไม่ปกติที่เกิดขึ้น ประชาชนทั่วไปก็สามารถติดต่อขอดูภาพวิดีโอจากกล้องวงจรปิดในพื้นที่ที่มีข้อสงสัยได้ และกกต. มีหน้าที่ต้องเปิดเผยเพื่อให้เกิดความโปร่งใส หากทุกคนช่วยกันตรวจสอบจับตาด้วยช่องทางนี้ก็จะทำให้คนที่ทุจริตถูกจับได้และไม่สามารถเป็นสว. ได้

จากการพูดคุยกับเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้ข้อมูลว่า สำนักงานยังมีงบประมาณไม่พอสำหรับการจัดถ่ายทอดสดการคัดเลือกในระดับอำเภอทุกพื้นที่ แต่จะพยายามให้มีการถ่ายทอดสดการคัดเลือกในระดับจังหวัดทุกจังหวัดและระดับประเทศ ประชาชนจึงยังสามารถช่วยกันติดตามว่า พื้นที่ใดจะมีการถ่ายทอดสดการเลือกสว. ผ่านช่องทางใด และช่วยกันจับตาผ่านการติดตามการถ่ายทอดสดด้วยก็ได้ หากพบเห็นความผิดปกติใดก็สามารถรายงานความผิดปกติได้ตามช่องทางของ We Watch ที่หมายเลขโทรศัพท์ 021143189

สำหรับประชาชนที่พร้อมเป็นอาสาสมัคร สามารถเข้าถึงเอกสารและข้อมูลที่จำเป็นได้

• แผ่นพับอธิบายกระบวนการเลือก สว. อย่างย่อ
ขนาดสองหน้ากระดาษ คลิกเพื่อดาวน์โหลดได้ที่นี่
หรือถ้าอยากได้เวอร์ชั่นที่พิมพ์เสร็จแล้ว กรอกข้อมูลเพื่อขอรับเอกสารได้ที่นี่

• คู่มือผู้สมัครความยาว 16 หน้า
ซึ่งมีขั้นตอน รายละเอียด เอกสารที่จำเป็นต้องใช้ เหมาะสำหรับคนที่กำลังเตรียมตัวลงสมัครสว. แต่ยังไม่รู้ว่าต้องทำอะไรหรือต้องเตรียมตัวอย่างไร
คลิกเพื่อดาวน์โหลดได้ที่นี่

คู่มืออาสาสมัครให้คำปรึกษาผู้ที่เตรียมตัวลงสมัคร
ทั้งการตรวจสอบคุณสมบัติ และการประกาศตัวผู้สมัครทางเว็บไซต์ Senate67.com
คลิกเพื่อดาวน์โหลดได้ที่นี่

• Power Point สำหรับนำเสนอกระบวนการเลือก สว.
และกติกาเบื้องต้นสำหรับผู้เตรียมลงสมัคร
คลิกเพื่อดาวน์โหลดที่นี่

• ถ้าต้องการภาพกราฟฟิก
เพื่อไปใช้รณรงค์สื่อสารกับคนอื่นต่อ เช่น โปสเตอร์ โลโก้ อินโฟกราฟฟิก
คลิกเพื่อเข้าไปดูภาพและดาวน์โหลดได้ที่นี่

• ถ้าสนใจเป็นอาสาสมัคร
แต่ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นทำคนเดียวได้อย่างไร เข้ามาในกลุ่มไลน์เพื่อชวนเพื่อนๆ ไปลงมือทำ หรือรอไปช่วยเพื่อนๆ ที่มาชวนกันทำได้ คลิกเข้ากลุ่มได้ที่นี่

You May Also Like
อ่าน

รวมตารางกิจกรรม ทำเดินสายอธิบายกติกา ชวนมาร่วมเปลี่ยนสว.

พร้อมแล้ว!! เดินสายทั่วประเทศ ชวนทุกคนมาทำความรู้จักระบบการเลือกสว. ชุดใหม่ จากการ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” อันซับซ้อน มาทำความเข้าใจขั้นตอน วิธีการเลือก ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร รวมถึงช่องทางการมีส่วนร่วมที่ประชาชนสามารถทำได้ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น มาร่วมเปลี่ยนสว. กันเถอะ
อ่าน

อยากสมัคร สว. 67 ดูด่วน กกต. ออกระเบียบ สร้างเงื่อนไขการแนะนำตัวผู้สมัคร

กกต. ออกระเบียบการแนะนำตัวผู้สมัคร สว. 67 วางเงื่อนไขในการแนะนำตัวของผู้สมัครอย่างเข้มข้น โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 27 เมษายน 2567 เป็นต้นไป