5 คูหา เปลี่ยนประเทศไทย: ปฏิทินแห่งความหวังสู่รัฐธรรมนูญใหม่

17 มีนาคม 2567 ณ ห้อง ร. 103 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) เครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ (Constitutional Advocacy Alliance : CALL) จัดงานเสวนา “5 คูหา เปลี่ยนประเทศไทย: ปฏิทินแห่งความหวังสู่รัฐธรรมนูญใหม่” ชวนมองไปข้างหน้า เดินหน้าเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีกระบวนการอย่างไร ประชาชนจะทำอะไรได้บ้าง

5 คูหา : ปฏิทินแห่งความหวัง สู่รัฐธรรมนูญใหม่

เริ่มต้นจาก ณัชปกร นามเมือง ในหัวข้อ “5 คูหา ปฏิทินแห่งความหวัง สู่รัฐธรรมนูญใหม่” ณัชปกรชวนย้อนดูปัญหาของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ยังคงเป็นอุปสรรคต่อการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ และหนทางทั้งห้าในการที่จะข้ามผ่านปัญหาเหล่านั้นและเริ่มเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ได้ 

ณัชปกรเริ่มอธิบายว่า ในการเลือกตั้งปี 2566 ที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยบอกว่าประเทศไทยอยู่ในวิกฤตรัฐธรรมนูญ ซึ่งแตกออกเป็นสามประเด็น

1.รัฐธรรมนูญที่สิทธิเสรีภาพของประชาชนถดถอย

2. รัฐธรรมนูญที่เป็นปฏิปักษ์กับเสียงข้างมากของประชาชน

3. รัฐธรรมนูญที่ขาดความชอบธรรมและนำไปสู่ความขัดแย้ง

รัฐธรรมนูญที่สิทธิเสรีภาพของประชาชนถดถอย

รัฐธรรมนูญ 2560 เปลี่ยนสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้เป็นหน้าที่ของรัฐ ซึ่งเคยถูกมองว่าเป็นจุดแข็ง กลับกลายเป็นสิ่งที่รัฐทำได้แต่ประชาชนทำไมไ่ด้ และทำให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี เช่น การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสาธารณะที่ถูกเปลี่ยนเป็นหน้าที่ของรัฐ  แปลว่ารัฐต้องทำแน่นอน เมื่อปีที่ผ่านมา ศาลปกครองสูงสุดพึ่งสั่งให้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) เปิดเผยกรณีนาฬิกายืมเพื่อนว่าทำไมถึงไม่ตรวจสอบ ทุกวันนี้ ปปช. ก็ไม่เปิดเผย และต้องใช้ภาษีประชาชนจ่ายค่าปรับจนถึงทุกวันนี้ ยอมจ่ายค่าปรับแต่ไม่ยอมเปิดเผยข้อมูล นี่ถือเป็นหนึ่งเรื่องที่ทำให้เห็นว่าหน้าที่ของรัฐไม่ได้ผล 

ณัชปกรยังยกตัวอย่างอีกว่า ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นต้นมา เคยกำหนดให้ประชาชนมีสิทธิในการตั้งทนายความ แต่ในรัฐธรรมนูญ 2560 เปลี่ยนจากสิทธิเป็นหน้าที่แทน ซึ่งทำให้การตีความเปลี่ยนแปลง เช่นเดียวกับประเด็นค่าแรงที่ประชาชนไม่มีสิทธิกำกับว่าควรจะเหมาะสมที่เท่าใด แต่กลายเป็นหน้าที่ของรัฐ

รัฐธรรมนูญ 2560 เปลี่ยนสถานะของระบบรัฐสวัสดิการให้การเป็นการสงเคราะห์ ในรัฐธรรมนูญ 2540 ระบุว่าประชาชนมีสิทธิในการได้รับสวัสดิการ ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2560 เติมบริบทความเป็นผู้ยากไร้เข้าไปในกฎหมาย ทำให้รัฐสวัสดิการถ้วนหน้าไม่ได้ถูกบรรจุอยู่ในรัฐธรรมนนูญ 

รัฐธรรมนูญ 2560 ยังขยายความมั่นคงให้สามารถเป็นเหตุในการจำกัดสิทธิเสรีภาพได้ จึงมีการตีคำว่า “ความมั่นคง” แบบกว้างและจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้แคบๆ 

รัฐธรรมนูญที่เป็นปฏิปักษ์กับเสียงข้างมากของประชาชน

สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดพิเศษ 250 คน ที่มีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) นอกจากอำนาจนี้ สว. ที่มีนัยสำคัญในการเมืองไทยยังคงมีอีก ได้แก่ การแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระหนึ่งและวาระสามจะต้องได้รับเสียง สว. หนึ่งในสาม ต่อให้สส. ทั้ง 500 คน ลงมติเห็นชอบกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าไม่มีเสียง สว. สนับสนุนก็ไม่สามารถแก้รัฐธรรมนูญได้ เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดกติกาไว้เช่นนั้น และอำนาจตามกฎหมายปฏิรูป เดิมการพิจารณากฎหมายจะพิจารณาแยกสองสภา แต่รัฐธรรมนูญ 2560 สร้างทางด่วนในการเสนอกฎหมายปฏิรูปประเทศ หากตีความกฎหมายใดๆ ว่าเป็นการปฏิรูปประเทศอาจมีการใช้อำนาจนี้ในการดึงการพิจารณาให้ สว. มีส่วนร่วมด้วย หากใครคุม สว. ได้ ก็เท่ากับคุมการพิจารณากฎหมายได้ ทำให้จากเดิมต้องพิจารณา โดย สส. 500 คน ต้องรวม สว. เข้าไปด้วยเป็น 750 คน

แม้ว่า 11 พฤษภาคม 2567 สว. จะหมดอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญแล้ว แต่ สว. ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังคงมีอำนาจในการแต่งตั้งศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญอีกด้วย ทุกตำแหน่งในศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระจำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจาก สว. ก่อน ซึ่งผู้ดำรงตำแหน่งเหล่านี้ถูกแต่งตั้งมาทั้งสิ้นด้วย สว. ชุดพิเศษ ที่ถูกแต่งตั้งมาจาก คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อีกที

มากกว่าไปกว่านั้น ทุกรัฐบาลไม่ว่าจะออกนโยบายอะไรก็ตาม จะถูกโยงไปข้องเกี่ยวกับแผนยุทธศาสตร์ชาติที่ยังคงบังคับใช้อยู่ แม้ว่าจะเปลี่ยนชื่อจากประยุทธ์เป็นเศรษฐา ถ้ารัฐบาลไม่ทำตาม สว. มีสิทธิที่จะไปร้อง ปปช. และศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจถูกยื่นไปให้ศาลฎีกาและอาจทำให้คณะรัฐมนตรีทั้งคณะอาจถูกตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิตอีกด้วย

รัฐธรรมนูญที่ขาดความชอบธรรมและนำไปสู่ความขัดแย้ง

ย้อนกลับไปตอนร่างรัฐธรรมนูญ มีชัย ฤชุพันธ์ ผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ถูกแต่งตั้งมาจากคณะรัฐประหาร จึงพูดได้อย่างเต็มปากว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้ถูกร่างจากประชาชน และในการทำประชามติ แม้ว่าจะถูกอ้างว่าชอบธรรม แต่ก็เป็นการมัดมือชก เพราะเคยมีการพูดว่า ลองโหวตโนสิ ครั้งหน้าจะร่างใหม่ให้แรงกว่าเดิม ซึ่งก็อาจทำให้หลายคนคิดว่าโหวตรับไปก่อนให้มันสามารถมีการเลือกตั้งและค่อยแก้รัฐธรรมนูญได้ 

นอกจากนี้ การทำประชามติในครั้งนั้นไม่ได้เสรีและเป็นธรรม ทำให้นอกจากเนื้อหาของรัฐธรรมนูญที่มีปัญหาแล้ว ยังมีที่มาของรัฐธรรมนูญที่มีปัญหาอย่างหนักอีกด้วย 

หากยังมีใครถามว่ารัฐธรรมนูญ 2560 มีปัญหาอย่างไร ตั้งแต่ปี 2562 ที่ผ่านมาเคยมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหารัฐธรรมนูญ 2560 ที่ พีรพันธ์ สาลีรัฐวิภาค และวิรัตน์ รัตนเศรษฐเคยเป็นประธานมาทั้งสองครั้ง ดังนั้นวันนี้จึงควรที่จะหยุดถามได้แล้วว่ารัฐธรรมนูญ 2560 มีปัญหาอะไรบ้าง รวมถึงกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่อีกด้วย 

กำแพงสามด่าน สู่การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่

รัฐธรรมนูญ 2560 วางกำแพงในการขัดขวางการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่อยู่สามด่าน 

ด่านแรกคือการต้องได้รับเสียง สว. หนึ่งในสาม ซึ่งในปี 2562 – 2566 เราเคยมีการเสนอแก้รัฐธรรมนูญห้าครั้ง จาก 26 ข้อเสนอ ซึ่งตกหมดเลย ยกเว้นการแก้รัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นเพราะพรรคพลังประชารัฐเห็นด้วยกับการเปลี่ยนระบบเลือกตั้งในครั้งนั้น แต่การแก้เรื่องสิทธิเสรีภาพ การตัดอำนาจ สว. รวมถึงพรรคภูมิใจไทยเคยเสนอให้มีการกำหนดรายได้พื้นฐานถ้วนหน้าก็ตกเช่นกันเพราะไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจาก สว. 

ด่านที่สองคือการต้องได้รับเสียงจากพรรคที่ไม่ได้เป็นประธานสภา หรือรองประธานสภา หรือคณะรัฐมนตรี ซึ่งคือพรรคฝ่ายค้าน แม้ในสภาวะปัจจุบันพรรคก้าวไกลจะเป็นฝ่านค้านก็ไม่น่ากังวลเพราะมีจุดยืนในการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่เช่นกัน

ด่านที่สามจำเป็นต้องมีการทำประชามติก่อน ซึ่งจะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ต้องแก้ไขมาตรา 256 ก่อน ซึ่งจะแก้ไขมาตรา 256 ได้ ต้องทำประชามติก่อน นี่คือกำแพงสามด่านที่ต้องผ่านถึงจะทำให้แก้รัฐธรรมนูญได้ 

ความหวังยังคงเลือนลาง 

แม้ว่าจะมีการแลนด์สไลด์ของพรรคที่มีจุดยืนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญและทำให้เรามีความหวังในการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ วันที่ 22 พฤษภาคม 2566 เคยมีการลงนามจัดตั้งรัฐบาลผ่านการจัดทำ MOU แต่ปรากฎว่าพอมีการเสนอชื่อพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ต่อรัฐสภา และถูกโหวตไม่ผ่าน นำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลใหม่โดยไม่มีก้าวไกล พรรคเพื่อไทยย้ำว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรกจะมีการพูดคุยเรื่องรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และเดิมเคยสนับสนุนการให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งก็เปลี่ยนเป็นมาจากการจัดตั้งแทน

ในการแถลงนโยบายของ เศรษฐา ทวีสิน นายกฯ ต่อรัฐสภาว่าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น โดยไม่แก้ไขหมวดพระมหากษัตริย์ แต่ก็ไม่ได้มีพูดเรื่อง สสร. หรือ การทำประชามติ หลังจากนั้น 13 กันยายน 2566 การประชุมคณะรัฐมนตรีก็ไม่มีเรื่องการทำประชามติแต่อย่างใด แต่นายกฯ กลับไปออกคำสั่งให้มีการทำคณะกรรมการศึกษาการทำประชามติขึ้นมาแทน ซึ่งใช้เวลากว่าสองถึงสามอาทิตย์ในการแต่งตั้งกรรมการ

25 ธันวาคม 2566 คณะกรรมการชุดดังกล่าวก็เคาะว่าจะมีการทำประชามติสามครั้ง โดยกำหนดให้ใช้คำถามว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องไม่แก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 อ้างว่ามีการท้วงจากหลายฝ่ายว่าไม่สมควรให้มีการแก้หมวดทั่วไปและหมวดพระมหากษัตริย์ การตั้งคำถามประชามติแบบนี้จะทำให้การตีความคำถามในการทำประชามติก็ยิ่งมีปัญหามากยิ่งขึ้น 

หลังจากนั้น ชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เสนอให้รัฐสภาลดจำนวนครั้งในการทำประชามติลงเหลือสองครั้ง แต่ประธานรัฐสภากลับปัตดกเพราะอ้างว่าอาจขัดต่อคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ จึงทำให้พรรคเพื่อไทยตัดสินใจเสนอญัตติด่วนในการเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินใหม่ ซึ่งจะทำให้เป็นการยืดระยะเวลาในการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ออกไปอีก 

กลายเป็นว่าความหวังในการมีรัฐบาลใหม่ เพื่อเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังคงเลือนลางอยู่เช่นเดิม

5 คูหา สู่รัฐธรรมนูญใหม่ 

จากปัญหาทั้งหมดที่กล่าวมาควรเลิกรอความหวังจากรัฐบาลที่จะกำหนดปฏิทินในการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงอยากชวนประชาชนปักหมุดความหวังอันใหม่ห้าคูหาประกอบไปด้วยอะไรบ้าง มีดังนี้ 

คูหาที่หนึ่ง ประชามติครั้งที่ศูนย์ : รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 256 กำหนดไว้ว่าต้องทำประชามติก่อน จะมีหรือไม่มีก็ได้ แต่จำเป็นต้องมีคำถามที่ดี ถ้าคำถามไม่ดีหรือกำกวมไม่จำเป็นต้องทำก็ได้ 

คูหาที่สอง การเลือก สว. ชุดใหม่ : หากว่าเรามี สว. ที่เป็นตัวแทนของประชาชนและมีจุดยืนในการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะทำให้การเขียนรัฐธรรมนูญมีความหวังมากขึ้น 

คูหาที่สาม ประชามติครั้งที่หนึ่ง : หากมีการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจำเป็นต้องมีการทำประชามติก่อนเพื่อกำหนดว่า สสร. จะมีเนื้อหาอย่างไร

คูหาที่สี่ การเลือกตั้ง สสร. : ไปรณรงค์เลือก สสร. ที่จะเข้าไปร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะต้องเลือก สว. ที่มีแนวทางที่เราต้องการ

คูหาที่ห้า ประชามติครั้งที่สอง : การทำประชามติครั้งสุดท้ายคือการทำประชามติเพื่อเห็นชอบกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ สสร. ร่างขึ้น

เส้นทางการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเกิดขึ้นได้ด้วยห้าคูหานี้เท่านั้น ไม่ว่ารัฐบาลจะทำอย่างไร พูดอย่างไร ต้องดูว่ารัฐบาลจะเดินตามคูหาเหล่านี้หรือไม่ เส้นทางข้างหน้ามันอาจจะไม่ง่าย แต่สิ่งที่เคยเกิดขึ้นคือ การล่ารายชื่อรัฐธรรมนูญที่ได้รายชื่อเป็นแสน หรือแคมเปญ Conforall ที่ใช้เวลาไม่ถึงสัปดาห์ก็ได้เป็นแสนชื่อ ปาฏิหาริย์อยู่ในมือของพวกเรา เราต้องร่วมกันทำปาฏิหาริย์นี้ให้สำเร็จ

ประชามติครั้งที่ศูนย์ เดิมพันสูงการเมืองไทย

ผู้เสวนาคนที่สองคือ ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือ “มายด์” ในหัวข้อ “ประชามติครั้งที่ศูนย์ เดิมพันสูงการเมืองไทย” ภัสราวลี อธิบายกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง 2566 จนมาถึงคำถามประชามติที่ล็อกไม่ให้สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) แตะหมวด 1 หมวด 2 พร้อมทั้งชวนภาคประชาชนร่วมกันเฝ้าระวังว่ารัฐบาลจะมีทิศทางกับการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างไรในอนาคต

คำสัญญาช่วงเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาล

ย้อนกลับไปตอนช่วงหาเสียงเลือกตั้ง แต่ละพรรคการเมืองก็มีนโยบายโดยเฉพาะนโยบายหลักในการแก้ไขรัฐธรรมนูญรวมถึงพรรคเพื่อไทย ช่วงหาเสียงเลือกตั้งภาคประชาชนก็ดูแล้วว่ามีหลายพรรคที่อยากแก้ไขรัฐธรรมนูญ อย่างพรรคเพื่อไทยก็เน้นย้ำชัดเจนว่าอยากมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มี สสร. มาจากประชาชน 

ในวันเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 เมื่อเห็นผลการเลือกตั้งพวกเราก็มีความหวัง เพราะพรรคการเมืองที่ได้ที่นั่งในสภาเป็นอันดับหนึ่งและอันดับสองต่างก็มีนโยบายในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และยังมีจุดยืนว่า สสร. ต้องมาจากการเลือกตั้งอีกด้วย แต่สุดท้ายสถานการณ์ก็เปลี่ยนไปเมื่อการจัดตั้งรัฐบาลแปดพรรคร่วมยุติลงทำให้ความหวังเลือนลางลง เพราะใน MOU ฉบับดังกล่าวมีการระบุเรื่องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ไว้ด้วย

ต่อมา วันที่ 2 สิงหาคม 2566 พรรคเพื่อไทยฉีก MOU แปดพรรค และเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่โดยไม่มีพรรคก้าวไกล แต่ก็มีการตั้งคำมั่นว่าจะมีการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นภารกิจสำคัญเพื่อแก้ไขวิกฤตประเทศ โดยจะใช้มติคณะรัฐมนตรีครั้งแรกในการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญและให้มีการจัดตั้ง สสร.เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จรัฐบาลจะคืนอำนาจให้ประชาชนเพื่อให้ได้มีการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงชวนตั้งคำถามว่า หากเขาเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลใหม่โดยยึดถือคำมั่นเหล่านี้ เรายังจะมีความหวังกับเรื่องรัฐธรรมนูญอยู่หรือไม่ ตอนแรกเราอาจจะมีความหวัง แต่สุดท้ายก็ตกลงตัดสินไปจับมือกับพรรคภูมิใจไทยและพรรคร่วมรัฐบาลเดิม ความหวังในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็สลายหายไป เพราะเรารู้อยู่แล้วว่าพรรคร่วมรัฐบาลเดิมนั้นไม่ต้องการให้มีรัฐธรรมนูญใหม่แต่อย่างใด รวมถึงการแก้ไขทุกหมวดทุกมาตราด้วย

ความหวังในการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่สลายหายไป ? 

ความฝันที่จะมีรัฐธรรมนูญใหม่ที่จะร่างใหม่ทั้งฉบับจึงหายไปจากการที่พรรคเพื่อไทยไปร่วมรัฐบาลกับขั้วรัฐบาลเดิม จึงทำให้ภาคประชาชนต้องลุกขึ้นมาร่วมกันในแคมเปญ Conforall ล่ารายชื่อขั้นต่ำ 50,000 รายชื่อในการเสนอคำถามประชามติ ในตอนนั้นพวกเราได้เสนอคำถามว่า ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ และมี สสร. มาจากการเลือกตั้ง 100% เพื่อยืนยันว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะมาจากประชาชนจริงๆ เรากังวลว่าคำถามที่จะเกิดจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีจะพยายามป้องกันไม่ให้มีการแก้ไขทั้งฉบับหรือไม่ จึงทำให้การทำแคมเปญของพวกเราสำคัญมาก การล่ารายชื่ออย่างเต็มที่แม้จะมีอุปสรรคที่คณะกรรมการการเลือกตั้งเพิ่งมาบอกในช่วงท้ายแคมเปญว่าจะล่ารายชื่ออออนไลน์ไม่ได้ ภายในห้าวันแต่ท้ายที่สุดก็ได้รายชื่อมากว่าสองแสนรายชื่อ

คณะรัฐมนตรียังคงอยู่ในขั้นตอนเดิมๆ แม้จะเคยบอกว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งแรกจะเคาะคำถามประชามติเพื่อเดินหน้าเลย แต่ในความเป็นจริงกลับไม่เกิดขึ้น กลายเป็นเคาะตั้งคณะกรรมการศึกษาขึ้นมาอีกชั้นนึงแทน แม้จะมีคนอ้างว่าการทำประชามติมีความคิดเห็นที่หลากหลายจึงต้องตั้งคณะกรรมการศึกษา แต่ก็มีคนมองว่ารัฐบาลนี้ต้องการยื้อเวลาหรือไม่ เราก็สงสัยว่าคณะกรรมการชุดนั้นจะใช้เวลานานเท่าใด ก็พบว่าใช้เวลากว่าสามเดือน ซึ่งในระหว่างนั้นก็ได้มีการเชิญพวกเราเข้าไปประชุมในคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติด้วย ซึ่งให้เวลาพวกเราพูดคนละสองนาที ลองนึกภาพว่าจะเป็นอย่างไรเมื่อมีเวลาเพียงแค่สองนาที

นอกจาการรับฟังความคิดเห็นในช่วงนั้นแล้ว เราก็ยังทำแคมเปญควบคู่กับคณะกรรมการชุดนั้น ปักธงส่งต่อ สสร. เลือกตั้งเพื่อยืนยันจุดยืนว่า คำถามประชามติที่ดีรัฐธรรมนูญจะต้องเขียนใหม่ได้ทั้งฉบับ และมี สสร. มาจากการเลือกตั้งจากประชาชนเท่านั้น เราก็ได้มีการเชิญคณะกรรมศึกษาประชามติเข้ามาในกิจกรรมของพวกเราด้วย 

แต่สุดท้ายผลของศึกษาของคณะกรรมการชุดนี้ก็กลายเป็นคำถามแบบเดิม เป็นคำถามที่เรากังวลมาตั้งแต่แรกที่รัฐบาลเพื่อไทยรวมพลังข้ามขั้วกับขั้วรัฐบาลเดิม ซึ่งจะยิ่งสร้างความสับสนและทำให้กระบวนการรัฐธรรมนูญไม่เดินหน้า นอกจากคำถามประชามติที่ล็อกไม่ให้แก้หมวด 1 หมวด 2 แล้วก็ยังมีประเด็นปัญหาว่าเราจะได้ทำประชามติหรือไม่ หากทำแล้วจะได้ทำกี่ครั้ง 

อำนาจอยู่ในมือนายกฯ เศรษฐา

ในวันนี้คณะรัฐมนตรี มีคำถามประชามติที่ต้องพิจารณาอยู่อย่างน้อยสองชุด ชุดแรกคือคำถามของภาคประชาชนที่เคยเสนอไป ชุดที่สองคือคำถามของคณะกรรมการประชามติที่ระบุว่าล็อกไม่ให้ สสร. แตะหมวด 1 หมวด 2 ไว้ เราได้ยื่นหนังสือเพื่อขอพบกับเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ผู้มีอำนาจเต็มในการพิจารณาคำถามนี้ ซึ่งมีสมคิด เชื้อคง มารับหนังสือและระบุว่าจะติดต่อกลับภายหลัง แต่เมื่อรับหนังสือไปแล้วจนถึงวันนี้ ก็ยังไม่มีการนัดพบ เห็นว่านายกฯ ไปหลายที่ แต่พวกเราก็ยังไม่ได้พบนายกฯ จนถึงตอนนี้ ประชามติเป็นเรื่องสำคัญ หากมีคำถามที่มีปัญหาจะยิ่งกลายเป็นอุปสรรคในกระบวนการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ 

ช่วงเดือนมกราคม 2566 ชูศักดิ์ ศิรินิล แถลงแนวทางในการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยการทำประชามติเพียงสองครั้ง และยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 โดยแก้ไขให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยมี สสร. มาจากประชาชน นอกจากนี้ก็ยังมีการยื่นเสนอแก้พ.ร.บ. ประชามติฯ ซึ่งเดิมต้องใช้เสียงข้างมากสองชั้น (double majority) ให้เหลือเพียงเสียงข้างมากปกติ หากกระบวนการของพรรคเพื่อไทยในส่วนนี้เราก็ไม่จำเป็นต้องมีคูหาที่หนึ่ง (ประชามติครั้งที่ศูนย์) แต่ก็เป็นไปได้ว่าญัตติของพรรคเพื่อไทยจะตกเสียก่อน ซึ่งก็เป็นความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นในขณะนี้ 

นอกจากนี้ก็ 15 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมาพรรคก้าวไกลก็ได้ยื่นแก้ มาตรา 256 เช่นเดียวกัน โดยร่างที่พรรคก้าวไกลเสนอ กำหนดให้ สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง 200 คน โดยแบ่งเป็น 100 คนมาจากเขต และอีก 100 คนมาจากระบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งจะทำให้ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะถูกกลับมาพูดถึงอีกครั้ง 

จับตารัฐบาลและส่งเสียงเท่านั้นคือทางออก

ทั้งหมดคือภาพรวมของสถานการณ์การทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เกิดขึ้น ซึ่งขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะเอาอย่างไร ประชาชนจำเป็นต้องเฝ้าระวัง ถ้ากระบวนการจัดทำประชามติเกิด ต้องให้ความสำคัญกับคำถามประชามติ ถ้าล็อกหมวด 1 หมวด 2 จะนำไปสู่ความสับสนและทำให้การเขียนรัฐธรรมนูญถูกล็อกยาว เพราะคำถามแบบนี้จะทำให้มีสองประเด็นในคำถามเดียว ประเด็นแรกคือการล็อกหมวด 1 หมวด 2 และประเด็นที่สองคือการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่

สมมุติว่ามีคนอยากได้รัฐธรรมนูญใหม่ แต่ไม่เห็นด้วยกับการล็อกหมวด 1 หมวด 2 จะต้องกาในบัตรประชามติอย่างไร หากกาว่าไม่เห็นด้วยเพราะอยากให้ สสร. สามารถเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ได้ทั้งฉบับ ก็จะกลายเป็นถูกนับรวมว่าไม่ได้ต้องการการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ กรณีแบบนี้อาจสร้างความสับสนในสังคม และอาจสร้างความขัดแย้งหากหมวด 1 หมวด 2 ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นแทน 

จึงอยากชวนย้อนมาดูคำถามของ Conforall ที่เรียบง่ายและชัดเจนที่สุด ซึ่งจะรับประกันได้ว่ากระบวนการนี้จะยึดโยงกับการมีส่วนร่วมของประชาชน เราจึงจำเป็นต้องเฝ้าระวังว่ารัฐบาลกำลังจะไปทางไหน จะนำสิ่งต่างๆ ไปสู่ทางตันหรือไม่ 

ภัสราวลีทิ้งท้ายว่า ยังเชื่อว่ารัฐบาลชุดนี้อยากแก้ไขรัฐธรรมนนูญ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น พวกเราต้องเฝ้าระวังและต้องส่งเสียงของพวกเราอยู่เสมอว่าการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องเขียนได้ทั้งฉบับ และต้องมี สสร. มาจากการเลือกตั้ง

#SenateforAll สว.ใหม่ อนาคตใหม่ เพื่อไทยทุกคน

ผู้เสวนาคนที่สาม ยิ่งชัพ อัชฌานนท์ อภิปรายในหัวข้อ “#SenateforAll สว.ใหม่ อนาคตใหม่ เพื่อไทยทุกคน” เล่ากระบวนการสมัครและการเลือก สว. ชุดใหม่ ที่จะมีขึ้นในช่วงพฤษภาคม 2567 

11 พฤษภาคม 2567 เดินหน้าสู่ยุคใหม่

หลังจากเก้าปีภายใต้รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา และห้าปีภายใต้ สว. ชุดพิเศษ เรากำลังเดินหน้าเข้าสู่ยุคใหม่และความท้าทายใหม่ ทุกวันนี้พวกเราทำอะไรไมไ่ด้ สำหรับคนที่เคยคาดหวังให้กับคนรุ่นใหม่ในการเปลี่ยนแปลงประเทศ ในยุคนี้ไม่ใช่หน้าที่ของเด็กๆ แต่เป็นหน้าที่ของพี่ๆ ป้าๆ ลุงๆ ทุกท่านให้มาร่วมกันเป็นทั้งผู้เล่นและผู้สังเกตุการณ์

11 พฤษภาคม 2567 จะเป็นวันที่ สว. ชุดพิเศษหมดวาระ หลังจากนั้นจะต้องมีการประกาศพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ให้มีการเลือก สว. ชุดใหม่ ซึ่งจะสามารถทำได้เร็วสุดภายในวันที่ 12 พฤษภาคม 2567 แต่จะช้าหรือเร็วก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลเพื่อไทย ทั้งนี้ก็ไม่เห็นความจำเป็นจะต้องประกาศช้า หลังจากที่ สว. ชุดพิเศษหมดวาระลงก็ประกาศวันที่ 12 พฤษภาคม 2567 ได้เลย

สว. 67 แบ่งกลุ่มอาชีพ-เลือกกันเอง

ที่มา สว. ชุดใหม่นี้ ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ประชาชนไม่ได้เข้าคูหาและลงคะแนนเลือกผู้สมัครเหมือนการเลือกตั้วทั่วไป แต่กระบวนการนี้เป็นกระบวนการที่ออกแบบมาตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งไม่เคยถูกใช้มาก่อนทั้งในประเทศไทยและในโลก โดยกลุ่มอาชีพแบ่งออกเป็น 20 กลุ่มที่ยังคงมีปัญหาชวนให้สงสัยถึงความเหมาะสม

ในการแบ่งอาชีพออกเป็น 20 กลุ่ม ในบางกลุ่มเช่น กลุ่มบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม กลุ่มสาธารณสุข หรือกลุ่มการศึกษา เป็นกลุ่มที่เข้าใจได้เพราะแบ่งตามสายอาชีพนั้นๆ แต่ในบางกลุ่มกับจัดให้หลายอาชีพหรือหลายอัตลักษณ์มารวมอยู่ในกลุ่มเดียวกันแบบงงๆ นอกจากนี้ยังชวนดูการแบ่งกลุ่มให้ลูกจ้างที่มีมากกว่า 20 ล้านให้คนสังกัดอยู่ภายในกลุ่มเดียว ในขณะที่กลุ่มนายจ้างต่างๆ เช่น กลุ่ม SMEs กลุ่มผู้ประกอบกิจการอื่น และกลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรม ถูกกำหนดให้มีได้ถึงสามกลุ่ม

วิธีการคัดเลือก สว. 2567

เมื่อพูดถึงการเลือกในระดับต่าง ๆ แล้ว หากผู้สมัครคนใดเข้ารอบไปถึงระดับประเทศจะเท่ากับว่า ผู้สมัครคนนั้นมีสิทธิในการโหวตได้มากถึง 42 โหวต แต่อำนาจในการโหวตนี้มีเพียงแค่ผู้สมัครเท่านั้นที่ทำได้ หากไม่ได้สมัครก็จะมีสิทธิเพียงแค่รอลุ้น รอดู และรอด่า แต่ถ้าสมัครเข้าไปนอกจากจะได้ไปสังเกตการณ์แล้วยังสามารถเข้าไปเลือกบุคคลที่เราคิดว่าสมควรจะได้เป็น สว. จริงๆ อีกด้วย 

สว. 67 เป็นตัวแทนของใคร?

ต่อให้คุณเป็นผู้มีอิทธิพลในจังหวัด ก็อาจจะไม่ได้รับเลือกเพราะต้องไปสู้ต่อในระดับประเทศ สุดท้ายแล้วการเลือกในระดับต่างๆ ไม่ได้เป็นเครื่องชี้วัดว่าคุณเป็นตัวแทนของระดับนั้นๆ เมื่อถามว่าหากคุณไม่ได้เป็นตัวแทนของพื้นที่ในระดับต่างๆ จะถือเป็นตัวแทนของอาชีพเหล่านั้นหรือไม่? ก็จะเห็นได้ว่าการเลือก สว. ไม่ได้มีเพียงแค่ระบบการเลือกกันเองภายในกลุ่มอาชีพ ยังมีการเลือกไขว้ที่เปิดโอกาสให้กลุ่มอาชีพอื่นเข้ามาเลือกเราด้วย ดังนั้นก็คงไม่ใช่ตัวแทนของกลุ่มอาชีพและพื้นที่ในคราวเดียวกัน

ดังนั้นระบบนี้จะทำให้ สว. จะเป็นตัวแทนของกลุ่มคนที่ 

  • มีอายุ : อย่างน้อยก็อายุ 40 ปีขึ้นไป 
  • มีเงิน : ต้องจ่ายค่าสมัคร 2,500 บาท รวมถึงต้องมีค่าเดินทางเพื่อไปร่วมเลือกในระดับต่างๆ
  • มีเวลา : เพราะการเลือกใช้อย่างน้อยสามวัน ในการเลือกอำเภอ-จังหวัด-ประเทศ รวมถึงวันที่ไปรับใบสมัครและยื่นใบสมัครอีกสองวันด้วย รวมแล้วอาจจะต้องใช้เวลาสี่ถึงห้าวัน
  • มีเพื่อน : เพราะต้องอาศัยกลุ่มคนเดียวกันที่มีอายุ มีเงิน และมีเวลามาร่วมกันเลือกให้เราได้เป็น สว.

ทุกวันนี้ จะมีคนกลุ่มที่อยากสมัครไปเพื่อไปเป็น สว. ที่จะรักษาอำนาจของเผด็จการให้คงไว้ดังเดิม เขาอาจจะมีเงินที่จ่ายให้เพื่อนๆ ของพวกเขาไปลงสมัคร เขาอาจจะมีเครือข่ายเยอะในกลุ่มอาชีพเดียวกัน เราอาจจะคิดว่าคงจะมีคนกลุ่มนี้เยอะ แต่อย่าลืมว่าการเลือกไขว้จะต้องจับสลากกันมาเลือก คนที่อยากจะเป็นให้ตายก็อาจจะไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วจะต้องซื้อกี่เสียง ซื้อกี่ระดับ ถึงจะได้เป็น

สิ่งที่เราต้องการในวันนี้ คือ อยากให้มีผู้สมัครที่ซื้อไม่ได้ ผู้สมัครที่มีอุดมการณ์หนักแน่น เชื่อในหัวใจของตัวเอง หากคุณอยากเห็น สว. ชุดหน้าเป็นยังไง คุณต้องสมัครไปเลือกและต้องไปเลือกคนอื่นที่คุณเห็นว่าควรจะเป็น สว. จึงต้องขอร้องพี่ๆ เพราะน้องๆ ไม่สามารถสมัครได้ เกมนี้เขาไม่ให้คนรุ่นใหม่เล่น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพึ่งพวกพี่ๆ ถ้าท่านหนักแน่นเงินก็ซื้อท่านไม่ได้ ถ้าท่านเป็นแบบนั้น ถ้าคนเป็นหมื่นเป็นแสนเป็นแบบนั้น สุดท้ายเราก็จะได้ สว. ที่เป็นตัวแทนของพวกเรา

การเลือก สว. ไม่ใช่การเลือกตั้ง แต่เราต้องทำให้มันคล้ายให้ได้มากที่สุด 

พวกเราทุกคนสามารถทำให้มันคล้ายการเลือกตั้งได้ ถ้าพวกเราที่มีคุณสมบัติถึงสามารถเข้าไปร่วมกันสมัครให้ได้มากที่สุด อย่างน้อยกระบวนการนี้ก็จะทำให้ประชาชนได้มีโอกาสมีส่วนร่วมกับการเลือก สว. มากยิ่งขึ้น 

เราอยากเห็นการสมัคร สว. โดยการส่งหนึ่งบ้านหนึ่งผู้สมัคร ช่วยกันตามหาตัวแทนครอบครัวที่จะร่วมกันสมัครเพื่อโหวต สำหรับใครที่อายุไม่ถึงมาช่วยกันตามหาผู้สมัคร ถ้าท่านสมัครได้หรือพบว่ามีใครที่สมัครได้ รบกวนต้องไปสมัครเลย อย่าไปคิดว่าสมัครแล้วต้องเป็น แต่ท่านต้องไปสมัครเพื่อเป็นตัวแทนของคนอีกเป็นล้านที่ไม่สามารถสมัครได้ นอกจากท่านจะไปสมัครเพื่อไปโหวตแทนพวกเราเป็นล้านคนแล้ว ขอรบกวนให้ท่านไปช่วยดูให้หน่อย เพราะคนนอกห้ามเข้าไปจับตาการเลือกตั้ง พวกเราเข้าไปไม่ได้ คนเดียวที่เข้าไปได้ แล้วดูว่าการเลือกตั้งมันเป็นธรรมมั้ย นับคะแนนถูกมั้ย คือผู้สมัครเท่านั้น 

เราจะมีเว็บไซต์ senate67.com เพื่อเป็นพื้นที่ตรงกลางให้คนเข้ามาเช็กคุณสมบัติของตัวเองได้และสามารถให้ท่านที่สมัครสามารถเข้าไปแนะนำตัวในฐานะผู้สมัครได้ และจะมีการจัดระบบข้อมูลให้ท่านดูได้ว่าใครสมัครที่ไหนบ้าง เพราะการประกาศบัญชีรายชื่อของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังไม่รู้ว่าจะดำเนินการอย่างไร อาจจะดูไม่ทันก็ได้ ดังนั้นเว็บไซต์นี้จึงเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะชวนท่านมาประกาศตัวและดูว่าใครสมัครที่ไหนบ้าง


ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย ไม่เข้าไปมีส่วนร่วมเลย คนที่จะเป็น สว. ชุดใหม่ ก็จะไม่ได้เป็นตัวแทนของใครเลย ไม่ได้เป็นตัวแทนของกลุ่มอาชีพ หรือพื้นที่ หรือของพวกเรา และเลวร้ายที่สุดก็อาจจะเป็นคนที่ซื้อได้ ในอนาคตเราอาจจะมีการเสนอแก้รัฐธรรมนูญเข้าไปอีก และเราจะก็ไปไหนไม่ได้ ถ้ายังมี สว. แบบเดิม ถ้าอยากให้ห้าปีข้างหน้าเรามีโอกาสแก้รัฐธรรมนูญบ้าง อย่างน้อยก็ไป สมัครเพื่อโหวต

You May Also Like
อ่าน

ส่องเล่มจบป.เอก สว. สมชาย แสวงการ พบคัดลอกงานคนอื่นหลายจุด

พบว่าดุษฎีนิพนธ์ของ สว. สมชาย แสวงการ มีการคัดลอกข้อความจากหลากหลายแห่ง ซึ่งในหลายจุดเป็นการคัดลอกและวางข้อความในผลงานตัวเอง เหมือนต้นทางทุกตัวอักษร
อ่าน

เป็น สว. เงินเดือนเท่าไหร่? ได้สวัสดิการ-สิทธิประโยชน์อะไรบ้าง?

สว. 2567 แม้ไม่มีอำนาจเลือกนายกฯ เหมือน สว. ชุดพิเศษ แต่มีอำนาจอื่นๆ เต็มมือ พร้อมกับเงินเดือนหลักแสน และสวัสดิการ สิทธิประโยชน์อีกเพียบ