สมัคร-เพื่อ-โหวต สว. 67 ช่วยดูระบบ ขวางการฮั้ว อายุไม่ถึงชวนครอบครัวมาสมัคร

17 มีนาคม 2567 เครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ (Constitution Advocacy Alliance : CALL) จัดงาน “5 คูหา เปลี่ยนประเทศไทย: ปฏิทินแห่งความหวังสู่รัฐธรรมนูญใหม่” ชวนพูดคุย ทำความเข้าใจเกี่ยวกับเส้นทางสู่การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ที่จะมีสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดใหม่ จากการเลือกกันเอง 200 คน เป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญของเส้นทางการร่างรัฐธรรมนูญ

ภายในงาน มีกิจกรรมสร้างความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับ สว. 2567 และวงเสวนา “Senate for Change สว. เพื่อการเปลี่ยนแปลง” ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกับ

๐ พนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.)
๐ ปุรวิชญ์ วัฒนสุข อาจารย์ประจำสาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
๐ สุพีชา เบาทิพย์ ผู้ก่อตั้งและผู้ประสานงานกลุ่มทำทาง ผู้ผลักดันสิทธิในการเข้าถึงการยุติการตั้งครรภ์
๐ อรรถพล ศรีชิษณุวรานนท์ ผู้จัดการศูนย์การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการพุทธมณฑลและผู้ผลักดันสิทธิของคนพิการ

สว. มีไว้ทำไม : แม้มี สว. ใหม่ แต่อำนาจแทบไม่ต่างจาก 250 สว.

ปุรวิชญ์ วัฒนสุข อาจารย์ประจำสาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายถึงเหตุผลของการมีวุฒิสภาว่า ตามทฤษฎี วุฒิสภาเป็นสภาที่สอง มีหน้าที่ไตร่ตรองร่างกฎหมายว่าดีหรือไม่ดี เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการออกกฎหมาย เพื่อ ตรวจสอบถ่วงดุลของสภาเพื่อลดการเกิดระบบเสียงข้างมากลากไป และไม่ให้เกิดสภาวะทรราชเสียงข้างมาก

สำหรับ สว. ของประเทศไทย มีไว้ทำไม ปุณวิชญ์มองว่า สว. มีบทบาทเป็นผู้รักษาอำนาจเดิม ส่วนของ สว. ชุดพิเศษ 250 คน ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มีอำนาจเยอะมาก หนึ่งในนั้นคือ อำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งอำนาจส่วนนี้มาจากคำถามพ่วงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 นอกจากนี้ สว. ยังมีอำนาจที่สำคัญคือ ให้ความเห็นชอบองค์กรอิสระ กล่าวคือ สว. เป็นผู้ตัดสินว่าองค์กรอิสระในอนาคตจะหน้าตาเป็นยังไง

พนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีต สสร. ระบุว่า หากมอง สว. ชุดพิเศษ 250 คน มีอำนาจหลักสามเรื่อง คือ การเลือกนายกฯ การพิจารณาร่างกฎหมายปฎิรูปโดยมีอำนาจในการพิจารณาร่างกฎหมายปฏิรูปเท่าเทียมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) และสุดท้ายคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากว่าสว. ชุดใหม่เข้าไป ก็มีอำนาจเหมือนสว. ชุดพิเศษที่กำลังจะหมดอำนาจ แทบจะไม่มีอะไรแตกต่างเลย แค่ไม่มีอำนาจในการเลือกนายกฯ เท่านั้น

สว. 67 ที่มาแบบใหม่ ยืนหนึ่งในโลกไม่มีใครเหมือน

สำหรับ สว. 200 คน ที่มาจากการ “เลือกกันเอง” ปุรวิชญ์อธิบายว่าระบบแบบนี้ไม่มีประเทศไหนที่ทำ ไม่มีระบบที่ต้องเสียเงินก่อนจึงจะได้ใช้สิทธิเลือก ที่ใกล้เคียงกับระบบเลือกกันเองของไทย น่าจะมีแค่สาธารณรัฐไอร์แลนด์ ที่สว. 60 คน มีที่มาด้วยระบบผสม จากสามทาง คือ

1) นายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง 11 คน
2) มหาวิทยาลัยเก่าแก่สองอันดับมีโควตาหกคน เช่น ศิษย์เก่า
3) มาจากกลุ่มอาชีพห้าด้าน 43 คน แต่ละด้านจะกำหนดจำนวนที่นั่งไว้ แต่ไม่ใช่ใครก็ได้ที่จะสมัครได้ ผู้ที่สมัคร สว. ไอร์แลนด์ได้ ต้องได้รับการเสนอชื่อจากองค์กรวิชาชีพ หรือหากเสนอชื่อตัวเอง ต้องได้รับการรับรองจากสมาชิกรัฐสภา ซึ่งยึดโยงกับประชาชน

ปุรวิชญ์มองว่า การเลือก สว. ในปี 2567 มีกระบวนการที่ซับซ้อนมากเกินไป คนมีสิทธิเลือกและคนสมัครรับเลือกตั้งเป็นคนเดียวกัน โดย ต้องจ่ายเงินเพื่อให้ได้สิทธิโหวต สิ่งนี้ดูลักลั่นในตัวเอง ซึ่งนำมาซึ่งปัญหาต่อไปว่า ท้ายที่สุดแล้ว สว.เป็นตัวแทนของใคร แล้วเราจะได้คนที่มีความหลากหลายทางความคิดจริงๆ หรือ

ระบบ “เลือกกันเอง” เอื้อคนดัง-มีเงิน-มีเวลา-มีเส้นสาย

พนัส ทัศนียานนท์ แสดงความเห็นว่า ระบบการเลือกกันเอง เอื้อ​​ให้บุคคลที่มีเงิน มีเครือข่าย สามารถส่งคนเข้าไปเลือกคนของเขาเอง แล้วก็กำจัดคนอื่นออก ซึ่งกลายเป็นเรื่องน่ากังวลใจ และถูกเน้นย้ำข้อกังวลใจเพิ่มเติม จากการที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกมาเตือนว่าห้ามฮั้วกัน คำถามที่เกิดขึ้นต่อมาคือ แล้วถ้าฮั้วกันจริงๆ กกต. จะทำอย่างไร

ด้านปุรวิชญ์ตั้งคำถามว่า กลุ่ม สว. 20 กลุ่มนั้น ไม่รู้ว่าแบ่งบนพื้นฐานอะไร เหมือนเป็นผลลัพท์ของการแบ่งแบบเอาสะดวก ให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม โดยมี “กลุ่มอื่นๆ” มากวาดให้ครอบคลุมทั้งหมด แต่หากมองให้ลึกไปถึงมุมมองผู้ออกแบบกฎหมาย พยายามออกแบบให้มีตัวแทนความหลากหลายทางความคิดทางสังคม โดยตั้งใจจะให้มีความซับซ้อนตั้งแต่แรก เพื่อให้มีคนหลากหลายประกอบเข้าด้วยกัน และปุรวิชญ์ยังเห็นว่า การเลือกตั้งที่ดี มันควรจะง่าย ไม่ควรเทคนิคมาก เพราะยิ่งยากมันจะยิ่งจำกัดไว้เฉพาะสำหรับคนบางกลุ่มเท่านั้น

ขณะที่ สุพีชญา เบาทิพย์ ผู้ก่อตั้งและผู้ประสานงานกลุ่มทำทาง ผู้ผลักดันสิทธิในการเข้าถึงการยุติการตั้งครรภ์ เสริมว่า ระบบเลือกกันเองมีความซับซ้อน และใช้ต้องสติอย่างมาก ไม่แน่ใจว่าจะเกิดความผิดพลาดได้มากน้อยเพียงใด รวมไปถึง มีข้อน่ากังวลว่าจะเป็นพื้นที่แห่งการใช้เงิน ซึ่งนำไปสู่ความไม่แน่ใจว่าจะได้ สว. ที่มีความรู้ความสามารถในเรื่องนั้นจริงๆ หรือไม่ ในส่วนของการเริ่มต้นคนที่โหวตได้จะต้องมีเงินมีเวลาสมัครเข้ามา

สุพีชญายังเสริมอีกว่า ผู้หญิงที่ทำแท้งก็เป็นสว. ได้ คิดว่ามนุษย์ทุกคนมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ไม่ว่าจะเป็นใคร ก็เป็นคนเท่ากัน นี่คือสิ่งที่อยากจะให้เกิดขึ้นใน สว. ชุดหน้า และในฐานะที่เป็นคนที่ไม่ได้มีเครือข่ายมากมาย ก็มีความกังวล แต่ก็คิดว่าจะต้องสู้และหาทางที่จะทำให้คนที่อยู่ฝั่งประชาธิปไตยได้เข้าไปมีส่วนร่วม

อรรถพล ศรีชิษณุวรานนท์ ผู้จัดการศูนย์การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการพุทธมณฑลและผู้ผลักดันสิทธิของคนพิการ กล่าวว่า กติกาการเลือกเข้าใจยาก ในการทดลองระบบของกกต. พอแบ่งสายเลือกไขว้ข้ามกลุ่ม ยิ่งจำนวนคนที่จะต้องเลือกมากขึ้น ก็มีโอกาสที่จะเกิดบัตรเสีย มีเวลาให้เตรียมตัวน้อยมาก และพอคนเข้าไปสมัครเยอะๆ ข้อมูลผู้สมัครและวิสัยทัศน์ เราจะอ่านหมดได้อย่างไร

นอกจากนี้ อรรถพลยังชี้ถึงปัญหาของการจัดกลุ่ม การนำกลุ่มคนบางกลุ่มมารวมกัน เช่น กลุ่มคนพิการ ชาติพันธุ์ และผู้สูงอายุ อยู่ในกลุ่มเดียว ทำให้มีคนหลายประเภทที่ถูกอัดอยู่ในกลุ่มเดียวกัน คำถามที่เกิดต่อมาคือ หากคนแบบใดแบบหนึ่งเป็นผู้ได้คะแนนมีโอกาสเข้ารอบระดับอำเภอ-จังหวัด ทั้งหมดเลย เช่น คนที่ได้เป็นตัวแทนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหมด แล้วคนพิการทำอย่างไร ผู้สูงอายุทำอย่างไร ระบบนี้จะได้ตัวแทนของกลุ่มคนนั้นๆ เข้าไปจริงหรือไม่ จะมีปัญหาตามมาหรือเปล่า

เสียงจากว่าที่ผู้ลงสมัคร สว. : เดินหน้าดันเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ

สำหรับประเด็นว่า หากลงสมัคร สว. และได้เป็นสว. จะทำอะไร พนัส ทัศนียานนท์ แสดงความเห็นว่า จะเข้าไปแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะ รัฐธรรมนูญคือพัฒนาการของความคิดของกลุ่มคนที่ไม่เคยเชื่อมั่นในการปกครองประชาธิปไตย แต่กลับกลายเป็นว่าได้เข้ามามีบทบาทผูกขาดในการเขียนรัฐธรรมนูญของประเทศ รัฐธรรมนูญ 2560 มีเนื้อในมันไม่ใช่ประชาธิปไตย ประชาชนไม่เคยมีอำนาจตามประชาธิปไตย จึงอยากเข้าไปทำให้อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนคนไทยให้สำเร็จสักที

สุพีชญา ระบุว่า ในฐานะของคนคนหนึ่งที่ชินกับการที่ต้องสู้กับคนที่ไม่เห็นด้วย ในมุมมองมองว่า แค่การแบ่งกลุ่มอาชีพก็ล้าหลังแล้ว เช่น กลุ่มสตรี อะไรคือสตรี ระบบการแบ่งแบบนี้มันล้าหลังไปแล้ว และการสมัครในครั้งนี้คือ ผู้ลงสมัคร สว. จะต้องสะสมความเข้าใจในเรื่องต่างๆให้กับประชาชน และ การตระหนักในประเด็นที่จะพูดถึงและต้องการให้คนเข้าใจเพิ่มขึ้นในประเด็นนั้นๆ

อรรถพล เสริมว่าเขาจะลงสมัคร สว. ในกลุ่มคนพิการแน่นอน สิ่งหวังที่หวังคือ ฝันเห็นสว. ที่ไม่ใช่แบบที่เราเคยเห็น เป็นสว.ที่ยึดโยงได้ ซึ่งมันเป็นความหวังที่เล็กมาก ถ้ามีหวังนี้ได้เข้าไปจริงๆ มีสี่อย่างที่ตั้งใจจะทำ ได้แก่

  • พร้อมที่จะยกมือให้กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะต้องมี สสร. มาจากการเลือกตั้ง
  • จะร่วมกลั่นกรองกฎหาย บนหลักประชาธิปไตย
  • ตรวจสอบการทำงานของสส. และรัฐสภา
  • ให้ความเห็นชอบในการเลือกตัวแทนองค์กรอิสระ

สมัคร-เพื่อ-โหวต สว. 67 ช่วยดูระบบ ขวางการฮั้ว อายุไม่ถึงชวนครอบครัวมาสมัคร

ปุรวิชญ์ แนะนำสำหรับคนอายุไม่ถึง 40 ปีว่าสามารถสร้างความรับรู้ได้ว่าทำไมสว. ถึงสำคัญ และจากที่เห็นกติกานั้นมีความซับซ้อน แต่อย่างไรก็ตาม นี่ก็เป็นโอกาส ด้านพนัส เสริมว่า การรับรู้นั้นสำคัญมากๆ ถ้าคนในครอบครัวใด สามารลงสมัครได้ อยากให้มาสมัครเป็นโหวตเตอร์ ก็ควรที่จะสนับสนุน ส่งเสริม เพื่อให้การฮั้วกันมันน้อยลง มันเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน ที่จะป้องกันไม่ให้เกิดความชอบมาพากลเกิดขึ้น

สุพีชญา กล่าวว่า อย่าคิดว่าตัวเองไม่ดีพอ ไม่เก่งพอ โดยเฉพาะผู้หญิง คนมักจะวางมาตรฐานไว้เยอะไป ผู้หญิงถูกตัดสินตลอดเวลา เราอย่าให้การวางมาตรฐานมาหยุดเรา เรามีคุณค่า ลุกขึ้นมาสร้างความเปลี่ยนแปลง

You May Also Like
อ่าน

รวมตารางกิจกรรม ทำเดินสายอธิบายกติกา ชวนมาร่วมเปลี่ยนสว.

พร้อมแล้ว!! เดินสายทั่วประเทศ ชวนทุกคนมาทำความรู้จักระบบการเลือกสว. ชุดใหม่ จากการ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” อันซับซ้อน มาทำความเข้าใจขั้นตอน วิธีการเลือก ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร รวมถึงช่องทางการมีส่วนร่วมที่ประชาชนสามารถทำได้ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น มาร่วมเปลี่ยนสว. กันเถอะ
อ่าน

อยากสมัคร สว. 67 ดูด่วน กกต. ออกระเบียบ สร้างเงื่อนไขการแนะนำตัวผู้สมัคร

กกต. ออกระเบียบการแนะนำตัวผู้สมัคร สว. 67 วางเงื่อนไขในการแนะนำตัวของผู้สมัครอย่างเข้มข้น โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 27 เมษายน 2567 เป็นต้นไป