ดูการเลือก สว. ชุดใหม่! กระทรวงมหาดไทยดูแลเลือกระดับอำเภอ-จังหวัด

สมาชิกวุฒิสภาชุดปัจจุบันทั้ง 250 คนกำลังจะหมดวาระลงในเดือนพฤษภาคมปี 2567 พร้อมอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 อย่างไรก็ตาม สว. ชุดใหม่ทั้ง 200 คนที่จะมาจากระบบ “เลือกกันเอง” ยังมีอำนาจอื่นๆ ครบ เช่น ให้ความเห็นชอบต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การเห็นชอบหรือให้คำแนะเพื่อแต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ตรวจสอบฝ่ายบริหาร และกลั่นกรองร่างกฎหมายต่างๆ ตามเดิม

ดังนั้นกระบวนการคัดเลือก สว. ชุดใหม่จึงยังมีความสำคัญต่อระบบการเมืองไทยหลังหมดยุครัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยเฉพาะเมื่อสังคมไทยกำลังจะมีการผลักดันร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งตลอดปีนี้ไปจนถึงอีกหนึ่งปีข้างหน้า การมี สว. ที่ให้ความสำคัญต่อพัฒนาการด้านประชาธิปไตยจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง

อย่างไรก็ตาม ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 (ระเบียบ กกต. การเลือกสว. ฯ) ระบุว่า การเลือก สว. ชุดใหม่ครั้งนี้จะไม่ได้มีเพียง กกต. เท่านั้นที่มีบทบาทกับการเลือก แต่ยังมีกระทรวงมหาดไทยที่มีบทบาทสำคัญกับการจัดการเลือกครั้งนี้อีกด้วย

มหาดไทยดูแลการเลือก สว. ระดับอำเภอ-จังหวัด กกต. เป็นประธานการเลือกตั้งแค่ระดับประเทศ

ระเบียบ กกต. การเลือกสว. ฯ หมวด 1 ผู้ดำเนินการเกี่ยวกับการเลือก ข้อ 7 ถึงข้อ 11 ระบุชัดเจนถึงบุคคลที่จะต้องดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการ ประกอบไปด้วยหลายหน่วยงานร่วมมือกัน มีอำนาจและหน้าที่ในการจัดการเลือก สว. ทั้งระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศ ให้เกิดขึ้นได้อย่างเรียบร้อย

ข้อสังเกตสำคัญ คือ ในการเลือก สว. ระดับอำเภอและระดับจังหวัด ข้าราชการของกระทรวงมหาดไทยจะดำรงตำแหน่งเป็นคณะกรรมการโดยอัตโนมัติ ยกเว้นในการเลือกระดับประเทศที่ประธาน กกต. จะเป็นประธานกรรมการ

ระเบียบ กกต. การเลือกสว. ฯ ข้อ 7 ระบุให้การเลือก สว. ในระดับอำเภอประกอบไปด้วยคณะกรรมการจำนวนเจ็ดตำแหน่งดังต่อไปนี้

  1. นายอำเภอ เป็นประธานคณะกรรมการ
  2. หัวหน้าส่วนราชการประจำอำเภอ จำนวนสามคน เป็นกรรมการ โดยมีนายอำเภอเป็นผู้แต่งตั้ง
  3. ผู้ทรงคุณวุฒิในเขตอำเภอ จำนวนสองคน เป็นกรรมการ
  4. เจ้าหน้าที่ของสำนักงาน กกต. หรือข้าราชการประจำอำเภอ เป็นกรรมการและเลขานุการ โดยมีผู้อำนวยการ กกต. ประจำจังหวัดเป็นผู้แต่งตั้ง

สำหรับกรรมการการเลือก สว. ระดับอำเภอ ของกรุงเทพมหานคร มีจำนวนเจ็ดตำแหน่ง ประกอบด้วย

1. ผู้อำนวยการเขต เป็นประธานกรรมการ

2. ข้าราชการกรุงเทพมหานครในเขตนั้น จำนวนสามคน เป็นกรรมการ โดยมีผู้อำนวยการเขตเป็นผู้แต่งตั้ง

3. ผู้ทรงคุณวุฒิในเขต จำนวนสองคน เป็นกรรมการ

4. เจ้าหน้าที่ของสำนักงาน กกต. หรือข้าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร เป็นกรรมการและเลขานุการ

ระเบียบ กกต. การเลือกสว. ฯ ข้อ 9 ระบุให้การเลือก สว. ในระดับจังหวัดประกอบไปด้วยคณะกรรมการจำนวนเจ็ดตำแหน่งดังต่อไปนี้

  1. ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานคณะกรรมการ
  2. หัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัด หรือบุคลากรสถาบันอุดมศึกษาในจังหวัดนั้นๆ จำนวนสามคน เป็นกรรมการ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นคนแต่งตั้ง
  3. ผู้ทรงคุณวุฒิในจังหวัดจำนวนสองคน เป็นกรรมการ
  4. ผอ.กกต ประจำจังหวัด เป็นกรรมการและเลขานุการ

สำหรับกรรมการการเลือก สว. ระดับจังหวัด ของกรุงเทพมหานคร มีจำนวนเจ็ดตำแหน่ง ประกอบด้วย

1. ปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานคณะกรรมการ

2. ข้าราชการกรุงเทพมหานครหรือบุคลากรสถาบันอุดมศึกษาของรัฐในกรุงเทพฯ จำนวนสามคน ที่ปลัดกรุงเทพมหานครเป็นผู้แต่งตั้ง

3. ผู้ทรงคุณวุฒิในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวนสองคน

4. ผอ.กกต ประจำกรุงเทพมหานคร เป็นกรรมการและเลขานุการ

ระเบียบ กกต. การเลือกสว. ฯ ข้อ 11 ระบุให้การเลือก สว. ในระดับประเทศ ให้คณะกรรมการการเลือก สว.ระดับประเทศ ประกอบด้วยตำแหน่งดังต่อไปนี้

  1. ประธาน กกต. เป็นประธานคณะกรรมการ
  2. กรรมการ กกต. เป็นกรรมการ
  3. เลขาธิการ กกต. เป็นเลขานุการ

เจ้าหน้าที่ช่วยปฏิบัติงาน แต่งตั้งมาทั้งหมด

การเลือก สว. ไม่ได้มีแค่คณะกรรมการข้างต้นเท่านั้น แต่ยังประกอบไปด้วยพนักงานเจ้าหน้าที่อีกจำนวนหนึ่งคอยช่วยคณะกรรมการในการจัดการเลือก สว. ทั้งสามระดับ โดยพวกเขามีหน้าที่รับลงทะเบียนผู้สมัคร สว. ตรวจสอบเอกสาร จัดทำบัญชีรายชื่อผู้สมัคร จัดเตรียมสถานที่และอุปกรณ์ จัดทำประกาศและการนับคะแนน รวมถึงหน้าที่อื่นๆ ที่ได้รับการมอบหมายอีกด้วย

ระเบียบ กกต. การเลือกสว. ฯ ข้อ 24 (1) ระบุว่า ให้คณะกรรมการระดับอำเภอแต่งตั้งบุคคลที่มีภูมิลำเนาอยู่ในระดับอำเภอเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือการทำงานของคณะกรรมการ จำนวนไม่เกิน 20 คน โดยมีบุคลากรจากสำนักทะเบียนอำเภอหรือสำนักทะเบียนท้องถิ่นรวมอยู่ด้วย ขณะเดียวกันหากเป็นการเลือก สว. ระดับอำเภอของกรุงเทพฯ ให้มีการแต่งตั้งได้ไม่เกินห้าคน

ระเบียบ กกต. การเลือกสว. ฯ ข้อ 24 (2) ระบุว่า ก่อนวันเลือก สว. ระดับจังหวัดเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 20 วัน ให้คณะกรรมการระดับจังหวัดแต่งตั้งบุคคลที่มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัด เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือการทำงานของคณะกรรมการ โดยต้องมีบุคลากรจากสำนักทะเบียนจังหวัดหรือศูนย์บริหารการทะเบียนภาคสาขาจังหวัดรวมอยู่ด้วย

อย่างไรก็ตาม แต่ละจังหวัดจะมีจำนวนเจ้าหน้าที่ซึ่งคณะกรรมการระดับจังหวัดสามารถแต่งตั้งได้ไม่เท่ากัน ดังนี้

  1. จังหวัดที่มีอำเภอน้อยกว่า 10 อำเภอ แต่งตั้งได้ไม่เกิน 10 คน
  2. จังหวัดที่มีอำเภอตั้งแต่ 10 อำเภอ แต่ไม่ถึง 20 อำเภอ แต่งตั้งได้ไม่เกิน 15 คน
  3. จังหวัดที่มีอำเภอตั้งแต่ 20 อำเภอ แต่ไม่ถึง 30 อำเภอ แต่งตั้งได้ไม่เกิน 20 คน
  4. จังหวัดที่มีอำเภอตั้งแต่ 30 อำเภอ แต่ไม่ถึง 40 อำเภอ แต่งตั้งได้ไม่เกิน 25 คน
  5. จังหวัดที่มีอำเภอตั้งแต่ 40 อำเภอขึ้นไป สามารถแต่งตั้งได้ไม่เกิน 30 คน

ระเบียบ กกต. การเลือกสว. ฯ ข้อ 25 ระบุว่า ก่อนวันเลือก สว. ระดับประเทศเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 20 วัน ให้คณะกรรมการแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงานไม่น้อยกว่า 45 คน โดยต้องมีบุคลากรจากศูนย์บริหารการทะเบียนภาคหรือสำนักบริหารการทะเบียนไม่น้อยกว่าห้าคนรวมอยู่ด้วย 

นอกจากคณะกรรมการ และพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งถูกแต่งตั้งมาช่วยงานแล้ว ระเบียบ กกต. การเลือกสว. ฯ ยังระบุให้มี “คณะกรรมการประจำสถานที่เลือก” ในการเลือกแต่ละระดับเอาไว้ด้วย ดังนี้

ระเบียบ กกต. การเลือกสว. ฯ ข้อ 28 ระบุว่า ก่อนการเลือก สว. ในแต่ละระดับไม่น้อยกว่าห้าวัน ให้คณะกรรมการแต่ละระดับแต่งตั้งบุคคลขึ้นมาเป็นคณะกรรมการประจำสถานที่เลือก ดังต่อไปนี้

  1. การเลือกระดับอำเภอ ให้มีประธานคณะกรรมการสถานที่เลือกหนึ่งคน และกรรมการของแต่ละกลุ่ม สว. ที่มีผู้สมัครเข้ามา กลุ่มละสามคน ยกเว้นในกรณีที่มีผู้สมัครของกลุ่มใดเกิน 50 คน ให้เพิ่มจำนวนกรรมการประจำกลุ่มเข้าไปหนึ่งคนต่อผู้สมัครที่เพิ่มขึ้นทุก 50 คน
  2. การเลือกระดับจังหวัด ให้มีประธานคณะกรรมการสถานที่เลือกหนึ่งคน และกรรมการของแต่ละกลุ่มดังนี้
  3. การเลือกระดับประเทศ ให้มีประธานคณะกรรมการสถานที่เลือกหนึ่งคน และกรรมการของแต่ละกลุ่มเป็นจำนวนเจ็ดคน

สำหรับหน้าที่และอำนาจของกรรมการประจำสถานที่เลือก เช่น การทำหน้าที่รับรายงานตัวผู้สมัครและเก็บเครื่องมือสื่อสารผู้สมัคร ดำเนินการนับคะแนนในการเลือกบุคคลกลุ่มเดียวกัน ช่วยเหลือการจับสลากแบ่งสาย เป็นต้น

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

You May Also Like
อ่าน

ส่องเล่มจบป.เอก สว. สมชาย แสวงการ พบคัดลอกงานคนอื่นหลายจุด

พบว่าดุษฎีนิพนธ์ของ สว. สมชาย แสวงการ มีการคัดลอกข้อความจากหลากหลายแห่ง ซึ่งในหลายจุดเป็นการคัดลอกและวางข้อความในผลงานตัวเอง เหมือนต้นทางทุกตัวอักษร
อ่าน

เป็น สว. เงินเดือนเท่าไหร่? ได้สวัสดิการ-สิทธิประโยชน์อะไรบ้าง?

สว. 2567 แม้ไม่มีอำนาจเลือกนายกฯ เหมือน สว. ชุดพิเศษ แต่มีอำนาจอื่นๆ เต็มมือ พร้อมกับเงินเดือนหลักแสน และสวัสดิการ สิทธิประโยชน์อีกเพียบ