ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยอุทธรณ์เก็ท โมกหลวงฯ กรณีขอออกนอกเคหสถานเพื่อทำงานเมื่อปี‘65 

วันที่ 5 มีนาคม 2567 เวลา 9.00 น. ศาลอาญานัดเก็ท-โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง นักกิจกรรมกลุ่มโมกหลวงริมน้ำฟังคำสั่งศาลอุทธรณ์ สืบเนื่องจากระหว่างการปล่อยตัวชั่วคราวเก็ทในคดีมาตรา 112 จากการชุมนุม #ทัวร์มูล่าผัว ภายใต้เงื่อนไขห้ามออกนอกเคหสถาน 24 ชั่วโมง ต่อมาวันที่ 23 พฤศจิกายน 2565 โสภณยื่นคำร้องขอออกนอกเคหสถานเพื่อไปประกอบอาชีพ โดยศาลมีคําสั่งว่า “นัดไต่สวนเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวในวันที่ 15 ธ.ค. 2565 เวลา 10.00 น. แจ้งโจทก์และพนักงานสอบสวนให้เสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเข้าร่วมชุมนุมของจำเลยต่อศาลก่อนหรือในวันนัด ให้นายประกันส่งตัวจำเลยมาศาลในวันนัด คําขออื่นให้ยก ให้ผู้กํากับดูแลมาศาลในวันนั้น” ทำให้วันที่ 28พฤศจิกายน 2565 ทนายจำเลยเข้ายื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้น แต่ศาลไม่รับ จึงยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ 

ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยอุทธรณ์เก็ท โมกหลวงฯ กรณีขอออกนอกเคหสถานเพื่อทำงานเมื่อปี ‘65

ตามคำสั่งวันนี้ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ศาลชั้นต้นได้ปฏิบัติตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลอุทธรณ์จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยและสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

ครอบครัวและมวลชนรอให้กำลังใจคับคั่ง 

คดีนี้สืบเนื่องจากการปราศรัยในการชุมนุม #ทัวร์มูล่าผัว เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2565  ผู้ร้องทุกข์คือ อานนท์ กลิ่นแก้ว สมาชิกกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) ต่อมาวันที่ 1 พฤษภาคม 2565 เก็ทถูกจับกุมตามหมายจับของศาลอาญาและได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 กำหนดระยะเวลาหนึ่งเดือน ภายใต้เงื่อนไขห้ามกระทำการในลักษณะเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหา ห้ามออกนอกเคหสถานเว้นแต่เพื่อการศึกษา หรือรับการรักษาเมื่อเจ็บป่วย และต่อสัญญาประกันเรื่อยมา จนกระทั่งวันที่ 24 สิงหาคม 2566 ศาลอาญามีคำพิพากษาในคดีนี้ระบุว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 พ.ร.บ. ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์จำคุกสามปี ฐานใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกหกเดือน รวมจำคุกสามปี หกเดือน และไม่ได้รับการประกันตัวเรื่อยมา จนถึงวันที่ 5 มีนาคม 2567 เก็ทถูกคุมขังเป็นเวลา 195 วันแล้ว

สำหรับนัดอ่านคำสั่งวันนี้ ครอบครัวและเพื่อนๆมารอให้กำลังใจจำนวนมาก หลายคนเข้าใจว่า เป็นนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เวลา 9.26 น. เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์พาตัวเก็ทมาถึงห้องพิจารณาคดีพร้อมกับจำเลยอีกคนหนึ่งในคดีอื่น โดยทั้งสองถูกใส่กุญแจมือพ่วงกัน ครอบครัวของเก็ทเข้าไปกอด มีเสียงจากประชาชนคนหนึ่งที่มารับรับฟังคำสั่งว่า “พ่อก็สู้มากเลยนะเก็ท”  เวลา 9.34 น. ผู้พิพากษาออกนั่งบัลลังก์และอ่านคำพิพากษาของจำเลยอีกคนหนึ่งก่อน โดยเรียกชื่อของจำเลยรายดังกล่าวโดยไม่ใช้ไมค์ พ่อของเก็ทจึงขอให้ผู้พิพากษาใช้เสียงที่ดังขึ้นกว่านี้ หรือใช้ไมค์เนื่องจากเป็นการยากที่จะได้ยินอย่างทั่วกันว่าผู้พิพากษาพูดว่าอะไร 

ผู้พิพากษาจึงว่า บุคคลที่พูดเมื่อสักครู่คือใคร มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องอย่างไรกับจำเลยที่เรียกชื่อ พ่อของเก็ทจึงตอบไปว่า ตนเป็นบิดาของโสภณ ผู้พิพากษาจึงย้ำถามอีกครั้งว่ามีความสัมพันธ์อย่างไรกับจำเลยที่ผู้พิพากษาขานชื่อ และกล่าวต่อว่า “ถ้ามากเรื่องก็เชิญออกไปข้างนอก” ด้านเอกชัย หงส์กังวานที่มาร่วมรับฟังได้พูดขึ้นเพื่อช่วยพ่อของเก็ทชี้แจงกับผู้พิพากษา ผู้พิพากษาถามกลับมาว่า “เสื้อแดงคือใคร มาทำไม” เอกชัยจึงอธิบายว่าตนเป็นเพื่อนของจำเลย ผู้พิพากษาจึงกล่าวว่า “เชิญเสื้อแดง[เอกชัย]ออกไปข้างนอก” เนื่องจากไม่เกี่ยวข้องกับจำเลย เอกชัยกล่าวถึงเรื่องการพิจารณาคดีโดยเปิดเผย ทั้งพ่อของเก็ทและเอกชัยยังคงอยู่ฟังคำสั่งได้จนเสร็จสิ้น

ต่อมามีผู้สังเกตการณ์ยืนจดบันทึกการพิจารณาคดี ผู้พิพากษาถามว่า จดอะไรและให้นำสมุดที่จดอยู่ไปให้ผู้พิพากษาที่หน้าบัลลังก์  ถามถึงความเกี่ยวข้องระหว่างจำเลยกับเธอ และมีคำถามต่อการจดรายละเอียดการพิจารณาคดี เช่น  “มาจากไหน เป็นทนายไหม เป็นทนายเป็นทนายมากี่ปี รู้กระบวนการพิจารณาในศาลไหม เดี๋ยวศาลจะแจ้งมารยาททนายความดีไหม” และ“การจะทำอะไรมันต้องให้ความเคารพสถานที่ คือถ้าจะจดก็ต้องขออนุญาต ด้วยมารยาทเนี่ยไปบ้านใคร ก็ต้องขออนุญาตเจ้าของบ้าน” 

หนึ่งปีสามเดือนผ่านไป ศาลอุทธรณ์ยกข้อกฎหมาย ไม่วินิจฉัยคำอุทธรณ์ขอออกเคหสถาน

เวลา 10.15 น. ศาลเริ่มอ่านคำสั่งระบุว่า วันที่ 16 กันยายน 2565 ทนายความได้เข้ายื่นคำร้องขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่งประกัน เนื่องจากศาลอนุญาตปล่อยชั่วคราวจนถึงวันที่ 20 กันยายน 2565 เป็นอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยต่อไปโดยไม่มีกำหนดระยะเวลา หรืออนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจนกว่าคดีจะถึงที่สุด และขอให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่งห้ามออกนอกเคหสถาน จากเดิมมีกำหนด 24 ชั่วโมง เปลี่ยนเป็นมีกำหนดระยะเวลาช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งตามที่ศาลเห็นสมควร เนื่องจากจำเลยมีความจำเป็นที่จะต้องออกนอกเคหสถานเพื่อสมัครงานหารายได้และฝึกฝนความรู้เพิ่มประสบการณ์ในสายวิชาชีพ ต่อมาศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโสภณเป็นเวลาสามเดือน และยกคำร้องในส่วนที่ขอให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่งห้ามออกนอกเคหสถาน

วันที่ 23 พฤศจิกายน 2565 โสภณยื่นคำร้องขอออกนอกเคหสถานเพื่อไปประกอบอาชีพ ต่อมาศาลได้มีคําสั่งว่า “นัดไต่สวนเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวในวันที่ 15 ธ.ค. 2565 เวลา 10.00 น. แจ้งโจทก์และพนักงานสอบสวนให้เสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเข้าร่วมชุมนุมของจำเลยต่อศาลก่อนหรือในวันนัด ให้นายประกันส่งตัวจำเลยมาศาลในวันนัด คําขออื่นให้ยก* [เน้นโดยผู้เขียน] ให้ผู้กํากับดูแลมาศาลในวันนั้น” ทำให้วันที่ 28 พฤศจิกายน 2565 ทนายจำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ ระบุว่า คําสั่งดังกล่าวเป็นคําสั่งที่ไม่เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192เป็นการต้องห้ามตามกฎหมาย และเป็นคําสั่งที่นอกจากจะเกินไปจากคําขอของจำเลยแล้ว ยังเป็นคําสั่งที่ขาดเหตุผลที่เกี่ยวกับการยกคําร้องที่จำเลยขออนุญาตออกไปทำงานประกอบอาชีพ ซึ่งเป็นเนื้อหาหลักในคําร้องขอของจำเลย จึงขอให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา และมีคําสั่งอนุญาตให้จำเลยออกนอกเคหสถานได้ตามคําร้องของจำเลย และยกคําสั่งที่เกินคําขอของศาลอาญาด้วย

ต่อมาศาลอาญามีคำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยส่งให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา ส่วนของคำสั่งระบุว่า ตามคำร้องลงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2565 เมื่อความปรากฏว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีความแพ่ง มาตรา 27 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีความอาญา มาตรา 15 จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยต่อคำสั่งที่ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2565 ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

หลักจากอ่านคำสั่งศาลอุทธรณ์ พ่อของเก็ทขอให้ศาลช่วยอธิบายอีกครั้งว่าคำสั่งดังกล่าวหมายความว่าอย่างไร เนื่องจากตนยังไม่ค่อยเข้าใจ ผู้พิพากษาอธิบายว่า ให้คัดถ่ายสำเนาคำสั่งมาอ่าน พ่อของเก็ทจึงถามอีกครั้งว่า วันนี้ไม่มีคำพิพากษาใช่หรือไม่ ผู้พิพากษาตอบกลับว่า “ถามทนายท่านสิครับ” จากนั้นอธิบายอีกว่า คำสั่งกับคำพิพากษาไม่ใช่สิ่งเดียวกัน เมื่อกระบวนการเสร็จสิ้นเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์นำตัวเก็ทออกไป ครอบครัวและเพื่อนต่างเข้าไปให้กำลังใจ กล่าวลากับเก็ทตลอดเส้นทางก่อนที่เขาจะกอดลากับครอบครัวในนาทีสุดท้ายและพูดว่า “เป็นกำลังใจให้ทุกคนนะ” 

ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ระบุว่า “ในกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรม หรือที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนในเรื่องการเขียน และการยื่นหรือการส่งคำคู่ความหรือเอกสารอื่น ๆ หรือในการพิจารณาคดี การพิจารณาพยานหลักฐานหรือการบังคับคดี เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อคู่ความฝ่ายที่เสียหายเนื่องจากการที่มิได้ปฏิบัติเช่นว่านั้น ยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ให้ศาลมีอำนาจที่จะสั่งให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสียทั้งหมดหรือบางส่วนหรือสั่งแก้ไขหรือมีคำสั่งในเรื่องนั้นอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามที่ศาลเห็นสมควร”

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ระบุว่า “วิธีพิจารณาข้อใดซึ่งประมวลกฎหมายนี้มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะให้นำบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับเท่าที่พอจะใช้บังคับได้”

You May Also Like
อ่าน

นัดฟังคำพิพากษาคดีมาตรา 112 เดือนพฤษภาคม 2567

เดือนพฤษภาคม 2567 ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวมสิบคดี แบ่งเป็นคำพิพากษาศาลชั้นต้นแปดคดี ศาลอุทธรณ์และฎีกาอย่างละหนึ่งคดี
อ่าน

ย้อนเส้นทางเสรีภาพสื่อของวอยซ์ทีวี หลังประกาศปิดฉาก 15 ปี

ย้อนเส้นทางเสรีภาพสื่อมวลชนของวอยซ์ทีวี ที่เรียกว่า อายุเกือบครึ่งหนึ่งของวอยซ์ทีวีต้องเผชิญกับการคุกคามและปิดกั้นเสรีภาพ