ตารางนัดฟังคำพิพากษาคดีมาตรา 112 เดือนมีนาคม 2567 

แคมเปญนิรโทษกรรมประชาชน 14 วันในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 จบลงไปแล้ว แต่คดีมาตรา 112 ยังคงดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ มีความเป็นไปได้ที่จะมีคนทยอยเข้าเรือนจำมากขึ้นจากคดีมาตรา 112 มากขึ้น จนถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 มีคดีมาตรา 112 อย่างน้อย 290 คดี ในจำนวนนี้ศาลมีคำพิพากษาแล้ว 126 คดี โดยในเดือนนี้ศาลนัดฟังคำพิพากษาเก้าคดี

ทุกคนสามารถร่วมกันแสดงออกถึงความเป็นส่วนหนึ่งกับจำเลยทุกคดีได้ด้วยการผูกโบว์ขาวเป็นสัญลักษณ์ในวันที่มีนัดอ่านคำพิพากษา และสามารถเข้าร่วมรับฟังการอ่านคำพิพากษาได้ที่ศาลต่างๆ ตามวันและเวลาที่มีการนัดหมาย เพื่อให้คนที่กำลังเผชิญหน้ากับคำตัดสินอยู่ได้รู้ว่าในหนทางที่ยาวไกลของการต่อสู้ พวกเขาไม่ได้เดินอยู่ลำพัง

วันที่ 5 มีนาคม 2567  เวลา 9.00 น. ศาลอาญานัดเก็ท-โสภณ สุรฤทธิ์ธำรงฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีหมายเลขดำที่ อ.1447/2565 เก็ทเป็นนักศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาลที่ออกมาเคลื่อนไหวในกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ เขาถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 รวมสี่คดี สำหรับคดีนี้เป็นเหตุจากการชุมนุม #ทัวร์มูล่าผัว ที่ออกมาทำกิจกรรมเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2565 มีผู้ร้องทุกข์คือ อานนท์ กลิ่นแก้ว สมาชิกศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) 

วันที่ 24 สิงหาคม 2566 ศาลอาญาพิพากษาว่า เขามีความผิดระบุว่า ข้อความปราศรัยของจำเลยเกี่ยวกับการทำบุญของรัชกาลที่สิบและราชินีไม่เป็นความจริง เป็นการใส่ความโดยประการที่น่าจะทำให้รัชกาลที่ 10 และราชินีทรงเสื่อมเสียพระเกียรติยศ ถูกดูหมิ่น หรือเกลียดชัง ลงโทษจำคุกสามปี และลงโทษจำคุกหกเดือนในข้อหาใช้เครื่องขยายเสียง ซึ่งข้อหานี้โทษตามกฎหมาย มีเพียงโทษปรับไม่เกิน 200 บาท รวมจำคุกสามปีหกเดือน  เขาไม่ได้รับการประกันตัวนับแต่นั้น จนถึงวันที่ 4 มีนาคม 2567 เก็ทถูกคุมขังมาแล้ว 194 วัน 

วันที่ 12 มีนาคม 2567 เวลา 9.00 น. ศาลอาญานัดไบรท์-ชินวัตร จันทร์กระจ่างฟังคำพากษาคดีหมายเลขดำที่ อ.2948/2564 คดีนี้สืบเนื่องมาจากกรณีที่เขาไปปราศรัยใน #ม็อบ29พฤศจิกา ปลดอาวุธศักดินาไทย เมื่อปี 2563 เดิมมีจำเลยร่วมเช่น สมยศ พฤกษาเกษมสุขและพริษฐ์ ชิวารักษ์ แต่เขากลับคำให้การเป็นรับสารภาพ ศาลจึงแยกคดีนี้ออกจากคดีหลักและมีคำพิพากษาก่อนเขาเป็นนักกิจกรรมและเคยเคลื่อนไหวร่วมกับกลุ่มราษฎรและคนรุ่นใหม่นนทบุรี  และถูกดำเนินคดีมาตรา 112 รวมเจ็ดคดี 

ศาลมีคำพิพากษาแล้วสามคดีคือ คดีที่ศาลอาญากรุงเทพใต้หนึ่งคดีจากการปราศรัยเรียกร้องปล่อยตัวนักโทษการเมืองหน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2565 คดีนี้โทษจำคุกตามมาตรา 112 ศาลให้รอการลงโทษไว้และศาลอาญาสองคดี คดีจากการชุมนุม #2ธันวาไปห้าแยกลาดพร้าว เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2563 พิพากษาว่า มีความผิดตามมาตรา 112 และที่เกี่ยวข้อง โทษจำคุกหลังลดแล้วเหลือสามปี และการชุมนุม #25พฤศจิกาไปSCB ที่บริเวณหน้าสำนักงานใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2563 พิพากษาว่า มีความผิดตามมาตรา 112 และที่เกี่ยวข้อง โทษจำคุกหลังลดแล้วเหลือสามปี

วันที่ 14 มีนาคม 2567 เวลา 9.00 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดแม็กกี้ฟังคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อ.66/2567 จากกรณีการทวีตข้อความลงบนทวิตเตอร์รวม 18 ข้อความระหว่างเดือนธันวาคม 2565 ถึงเดือนตุลาคม 2566 แบ่งเป็น 14 ข้อความถูกกล่าวหาว่า หมิ่นประมาทกษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และอีก 4 ข้อความเป็นข้อหาตามมาตรา 14(2) ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 

แม็กกี้เป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศชาวยโสธร ก่อนถูกจับกุมเธอทำงานเป็นฟรีแลนซ์ตามห้างสรรพสินค้า วันที่ 20 ตุลาคม 2566 เธอถูกตำรวจนอกเครื่องแบบจับกุมที่อาคารอินเตอร์เชนจ์ ตามบันทึกการจับกุมโดยสรุปว่า ระหว่างที่ตำรวจลงพื้นที่สืบสวนพบผู้ต้องหา จึงแสดงตัวและสอบถาม โดยอ้างว่า ผู้ต้องหารับว่า เป็นผู้ใช้บัญชีทวิตเตอร์ดังกล่าวจริง เปิดโทรศัพท์ให้ตำรวจดูและพบว่า เธอมีหมายจับในคดีลักทรัพย์อยู่จึงนำตัวมาที่สน.ทองหล่อ ตามคำบอกเล่าของแม็กกี้ระบุว่า ไม่ได้หมายจับในคดีมาตรา 112 

เธอไม่ได้รับการประกันตัวตั้งแต่ในชั้นสอบสวนจนถึงชั้นพิจารณาคดีในศาลชั้นต้น จนถึงวันที่ 13 มีนาคม 2567 ถือถูกคุมขังมาแล้ว 143 วัน คดีนี้แม็กกี้ตัดสินใจให้การรับสารภาพ 

วันที่ 25 มีนาคม 2567 เวลา 9.00 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดขนุน-สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธและจัสติน-ชูเกียรติ แสงวงค์ฟังคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อ.841/2564 คดีนี้สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 18พฤศจิกายน 2563 มีการชุมนุมที่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อแสดงออกถึงความไม่พอใจต่อการสลายการชุมนุมของตำรวจที่ใช้ความรุนแรงเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 ที่รัฐสภา เกียกกาย จนมีผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก คดีนี้หลังอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องต่อศาลอาญากรุงเทพใต้เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2564 ศาลเคยมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวขนุน ขณะที่จัสตินถูกคุมขังในคดีมาตรา 112 คดีอื่นอยู่ก่อนแล้ว

เนื้อหาการปราศรัยของขนุนกล่าวถึงการบทบาทของกษัตริย์ที่มีต่อระบอบประชาธิปไตยของไทย บทบาทที่เกี่ยวข้องกับการเมือง การโอนย้ายกองทัพเป็นของส่วนพระองค์ สถานะของประชาชนที่สัมพันธ์กับสถาบันกษัตริย์ ส่วนจัสตินเรียกร้องให้กษัตริย์ประพฤติตัวดีขึ้น

วันที่ 26 มีนาคม 2567

เวลา 9.00 น. ศาลจังหวัดปทุมธานีนัด ‘สมพล’ ฟังคำพิพากษาอุทธรณ์ในคดีหมายเลขดำที่ อ.478/2565จากการปาสีใส่ป้ายพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่สิบจำนวนสามแห่งในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี โดยถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ทำให้เสียทรัพย์ที่มีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 และพ.ร.บ.ความสะอาดฯ วันที่ 28 มีนาคม 2566 ศาลยกฟ้องข้อหาตามมาตรา 112 เห็นว่าจำเลยมีเจตนามุ่งทำลายทรัพย์สินของผู้อื่นเท่านั้น แต่ลงโทษในข้อหาตามมาตรา 360 จำคุกกระทงละหนึ่งปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง คงจำคุกกระทงละ 6 เดือน รวมจำคุก 18 เดือน ไม่รอการลงโทษ 

สมพลถูกกล่าวหาจากกการแสดงออกต่อพระบรมฉายาลักษณ์รวมหกคดี โดยมีคำพิพากษาในชั้นต้นแล้วสี่คดี สามคดีศาลยกฟ้องมาตรา 112 แต่ลงโทษจำคุกและปรับในข้อหาอื่น และอีกหนึ่งคดีศาลลงโทษตามมาตรา 112

เวลา 9.00 น. ศาลอาญานัดแอมมี่-ไชยอมร แก้ววิบูลพันธุ์และปูน-ธนพัฒน์ กาเพ็ง ฟังคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่1199/2564 ทั้งสองถูกกล่าวหาตามมาตรา 112 จากการเผาพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ที่ป้ายเรือนจำกลางคลองเปรม มีภาพขณะเกิดเหตุเพลิงไหม้เผยแพร่บนเฟซบุ๊กที่เจ้าหน้าที่เชื่อว่า อยู่ในความดูแลของแอมมี่ ตามคำฟ้องระบุว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำอันไม่สมควรล่วงละเมิด เป็นการแสดงออกด้วยประการใดว่าจะทำให้เสียหายในทางใดๆ ไม่ว่าจะเป็นภยันตรายแก่ร่างกายทรัพย์สินสิทธิเสรีภาพหรือชื่อเสียงเกียรติคุณอันไม่ใช่การใช้สิทธิตามปกตินิยมนับเป็นการแสดงอาฆาตมาดร้ายดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2564 เขาถูกจับกุมในชั้นสอบสวนและถูกคุมตัวในเรือนจำเรื่อยมาจนถึงวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 จึงได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว

เวลา 9.00 น. ศาลจังหวัดกำแพงเพชรนัดอาร์มฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีหมายเลขดำที่ อ.318/2566 คดีนี้เขาถูกกล่าวหาว่า การเผยแพร่คลิปวิดีโอกล่าวถ้อยคำหยอกล้อกับแมวในแอพTikTok โดยมีเนื้อหาพาดพิงสถาบันกษัตริย์  โดยมีผู้ร้องคือ พุทธ พุทธัสสะ ชาวจังหวัดกำแพงเพชร อาร์มที่อาศัยอยู่ที่เกาะพะงันจังหวัดสุราษฎร์ธานี ต้องเดินทางไปสู้คดีที่จังหวัดกำแพงเพชรหลายต่อ จากเกาะพะงันเข้าจังหวัดสุราษฎร์ธานี นั่งรถต่อเข้ากรุงเทพฯ และนั่งรถทัวร์จากกรุงเทพฯ ไปจังหวัดกำแพงเพชร นับคร่าวๆ การเดินทางไปฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์จะเป็นครั้งที่แปดที่เขาต้องเดินทางไกลไปสู้คดี

สำหรับคำพิพากษาในชั้นต้น ศาลจังหวัดกำแพงเพชรพิพากษาจำคุกสามปี แต่เขารับสารภาพจึงลดโทษให้เหลือหนึ่งปีหกเดือน และเนื่องจากเขาไม่เคยกระทำความผิดและมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ศาลจึงให้รอการลงโทษไว้สองปี โดยให้คุมประพฤติหนึ่งปี และทำกิจกรรมสาธารณะประโยชน์เป็นเวลา 12 ชั่วโมง

วันที่ 27 มีนาคม 2567 เวลา 9.00 น. ศาลจังหวัดนนทบุรีนัด ‘สมพล’ ฟังคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อ.507/2565 เขาถูกกล่าวหาว่าปาสีใส่ป้ายพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่สิบ บริเวณทางขึ้นทางด่วนศรีสมาน อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี และยังถูกกล่าวหาว่าถ่ายรูปพระบรมฉายาลักษณ์ที่เปื้อนลงไปในกลุ่มไลน์ คดีนี้จึงเป็นคดีที่ห้าที่เขาจะทราบผลพิพากษาของศาลชั้นต้น

วันที่ 28 มีนาคม 2567 เวลา 9.00 น. ศาลอาญานัดไมค์-ภานุพงศ์ จาดนอกฟังคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อ.2380/2564 โดยเป็นเหตุสืบเนื่องจากการชุมนุม #ราษฎรสาส์น ที่หน้าศาลหลักเมืองเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 มีการเชิญชวนประชาชนเขียนจดหมายส่งถึงรัชกาลที่สิบ วันนั้นเขาเขียนข้อความลงเพจเฟซบุ๊กโดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับการตั้งคำถามต่อพระมหากษัตริย์และติด #ราษฎรสาส์น  ผู้ร้องทุกข์ในคดีนี้คือ แน่งน้อย อัศวกิตติกร ประธานศูนย์ช่วยเหลือทางกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิดทางสังคมออนไลน์ (ศชอ.) โดยหลังอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องเขาเคยไม่ได้รับการประกันตัวอยู่ระยะหนึ่ง

You May Also Like
อ่าน

นัดฟังคำพิพากษาคดีมาตรา 112 เดือนพฤษภาคม 2567

เดือนพฤษภาคม 2567 ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวมสิบคดี แบ่งเป็นคำพิพากษาศาลชั้นต้นแปดคดี ศาลอุทธรณ์และฎีกาอย่างละหนึ่งคดี
อ่าน

ย้อนเส้นทางเสรีภาพสื่อของวอยซ์ทีวี หลังประกาศปิดฉาก 15 ปี

ย้อนเส้นทางเสรีภาพสื่อมวลชนของวอยซ์ทีวี ที่เรียกว่า อายุเกือบครึ่งหนึ่งของวอยซ์ทีวีต้องเผชิญกับการคุกคามและปิดกั้นเสรีภาพ