กฎหมายกองทุนยุติธรรมกับหกปัญหาที่หลงเหลือก่อนบังคับใช้จริง

ต้องยอมรับความจริงที่ว่า ฐานะทางเศรษฐกิจคือตัวแปรหนึ่งที่จะกำหนดชะตากรรมของผู้ถูกตั้งข้อหา นั้นก็เพราะว่า ตลอดเส้นทางของกระบวนการยุติธรรมล้วนมีค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นค่าเดินทาง  ค่าจ้างทนายความ ค่าธรรมเนียมศาล หรือแม้แต่ค่าประกันตัว และด้วยเหตุนี้ ภาคประชาชนจึงพยายามจะผลักดันให้มีกฎหมายกองทุนยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพเพื่อแทนที่กองทุนเดิมที่เป็นเพียงระเบียบของกระทรวงยุติธรรม
อย่างไรก็ดี ร่างกฎหมายดังกล่าวก็ถูกบรรจุอยู่ในการพิจารณาของ รัฐบาล คสช. อีกทั้ง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ยังลงมติเห็นชอบเพื่อให้บังคับใช้เป็นกฎหมายตั้งแต่วันที่ 3 กันยายน 2558 (รอครบ 180 วัน หลังจากประกาศราชกิจจานุเบกษาถึงจะมีผลบังคับใช้จริง) ซึ่งสาระสำคัญของกฎหมายก็คือ ให้มีกองทุนยุติธรรมขึ้นเป็นกองทุนสำหรับประชาชนที่ต้องการขอรับความช่วยเหลือเรื่องค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี การขอประกันตัว หรือเยียวยาช่วยเหลือผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิ หรือการขอความช่วยเหลือทางกฎหมาย เป็นต้น (อ่านสรุปสาระสำคัญ)
แต่กฎหมายฉบับที่ผ่านออกจาก สนช. นั้นก็ส่วนที่แตกต่างจากร่างกฎหมายของภาคประชาชนอยู่หลายประเด็น และบางประเด็นก็สร้างปัญหาให้ประชาชนในการขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรม ดังนี้
หนึ่ง คนไร้ญาติ คนไม่มีงานทำ ฟรีแลนซ์ อาจขอเงินกองทุนมาประกันตัวไม่ได้
ตามพ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม ฉบับที่เพิ่งผ่านสนช. กำหนดว่า  ผู้ต้องหาหรือจำเลยผู้ประสงค์จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวต้องทำหนังสือสัญญากับกองทุนว่า หากกองทุนต้องชำระเงินค่าปรับเพราะผู้ต้องหาหรือจำเลยผิดสัญญาประกันไม่ว่าจำนวนเท่าใดก็ตาม ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะต้องชดใช้เงินให้แก่กองทุนจนครบถ้วน อีกทั้ง ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะต้องนำสามีภริยา บุพการี ผู้สืบสันดาน ญาติใกล้ชิด ผู้บังคับบัญชาหรือนายจ้าง มาเป็นผู้ค้ำประกันด้วย โดบในการขอปล่อยตัวชั่วคราวนั้นกำหนดให้กองทุนหรือบุคคลที่ได้รับมอบหมายเป็นคนดำเนินการ และต้องแนบสำเนาสัญญาค้ำประกันประกอบคำร้องไปด้วย
ปัญหาและอุปสรรคของผู้ขอรับความช่วยเหลือในการขอประกันตัวก็คือ ต้องให้คู่สมรส พ่อแม่ ลูก ญาติ หรือหัวหน้างาน คนใดคนหนึ่งมาลงนามเป็นผู้ค้ำประกันให้ได้เสียก่อน จึงมีปัญหาว่า หากเป็นคนไร้ญาติ คนไม่มีงานทำ หรือประกอบอาชีพอิสระจะมีสิทธิได้รับการช่วยเหลือดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร ซึ่งประชาชนคงได้แต่จับตาดูว่าระเบียบหลักเกณฑ์ที่ร่างขึ้นต่อไปว่าการบังคับใช้กฎหมายจะมีรายละเอียดอย่างไร
สอง ไม่กำหนดระยะเวลาการพิจารณาขอรับความช่วยเหลือเอาไว้ในชั้นพระราชบัญญัติ
อาจจะกล่าวได้ว่า พ.ร.บ.กองทุนยุติธรรมของ สนช. นั้น ค่อนข้างจะให้ดุลยพินิจกับเจ้าหน้าที่ในการตัดสินใจมากกว่าการวางหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนแน่นอน หรือ มีหลายประเด็นที่ค่อนข้างจะใช้ระบบ “อัตวิสัย” เช่น การไม่กำหนดระยะเวลาในการพิจารณาของคณะกรรมการหรืออนุกรรมการเอาไว้ในกฎหมาย ว่าจะต้องต้องตัดสินใจว่าจะให้การช่วยเหลือกรณีใดกรณีหรือไม่ภายในกี่วัน กล่าวคือ ระยะเวลความรวดเร็วของการพิจารณาเป็นสิ่งที่ประชาชนไม่สามารถคาดหมายได้
ประเด็นนี้ก็แตกต่างไปจากร่างกฎหมายฉบับภาคประชาชนที่กำหนดระยะเวลาการพิจารณาขอรับความช่วยเหลือเอาไว้ในชั้นพระราชบัญญัติเลยว่า ต้องแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ยื่นคำร้องทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันยื่นคำขอ เว้นแต่มีเหตุจำเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงได้ให้แจ้งเหตุจำเป็นนั้นต่อผู้ยื่นคำร้องโดยเร็ว
สาม หลักเกณฑ์ที่ใช้พิจารณาให้การช่วยเหลืออาจให้คณะกรรมการตัดสินความผิดล่วงหน้าแทนศาล
ในกฎหมายกองทุนยุติธรรมฉบับ สนช. กำหนดหลักเกณฑ์ในการช่วยเหลือไว้ว่า ให้คำนึงถึงข้อเท็จจริงและพฤติกรรมของผู้ขอรับความช่วยเหลือ และในกรณีการขอปล่อยตัวชั่วคราวก็ให้คำนึงถึงข้อเท็จจริงและพฤติกรรมของผู้ขอความช่วยเหลือด้วยว่า หากได้รับการปล่อยตัวแล้วจะหลบหนี หรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน และก่อเหตุภยันอันตรายหรือไม่
ทั้งนี้ ข้อพิจารณาดังกล่าว เป็นหน้าที่ของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม ทั้งพนักงานสอบสวน อัยการ และศาล ที่ต้องพิจารณาอยู่แล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีความอาญาในมาตรา 108 เช่น ก่อนจะมีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราว ต้องพิจารณาเกี่ยวกับความหนักเบาแห่งข้อหาพยานหลักฐานที่ปรากฏแล้วมีเพียงใด พฤติการณ์ต่างๆ แห่งคดีเป็นอย่างไร  เชื่อถือผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันได้เพียงใด ผู้ต้องหาหรือจำเลยน่าจะหลบหนีหรือไม่ และจะมีภัยอันตรายหรือความเสียหายที่จะเกิดจากการปล่อยชั่วคราวเพียงใดหรือไม่ ดังนั้น จึงไม่ใช่หน้าที่ของคณะกรรมการที่พิจารณาให้การช่วยเหลือด้านทุนทรัพย์ จะต้องไปตัดสินล่วงหน้าในประเด็นดังกล่าว
นอกจากนี้ ยังมีตัวอย่างกรณีที่คณะกรรมการเคยตัดสินล่วงหน้าและผิดพลาดมาแล้ว ทำให้ผู้ขอรับความช่วยเหลือไม่ได้รับสิทธิและไม่เป็นธรรม อย่างกรณี สำนักข่าวภูเก็ตหวานถูกกองทัพเรือฟ้องหมิ่นประมาท ซึ่งผู้ต้องหาได้ทำเรื่องขอเงินช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรม (ภายใต้ระเบียบเดิมของกระทรวงยุติธรรม) แต่คณะกรรมการกองทุนได้ก้าวล่วงไปวินิจฉัยข้อเท็จจริงแทนศาล ซึ่งมีบันทึกของคณะกรรมการผู้พิจารณาไว้ส่วนหนึ่งว่า
“ไม่อนุมัติเงินกองทุนยุติธรรมเนื่องจาก ข้อมูลข่าวสารที่ผู้ขอรับการสนับสนุนในฐานะเจ้าของเว็บไซต์และผู้สื่อข่าวนำเสนอเผยแพร่ต่อสาธารณะชนนั้น เป็นข้อมูลข่าวสารที่เป็นความเท็จ..”
นอกจากการตัดสินล่วงหน้าแทนศาล คำวินิจฉัยดังกล่าวยังผิดอีกด้วย เพราะท้ายที่สุดศาลพิพากษาคดีดังกล่าวให้ “ยกฟ้อง” เนื่องจากข้อความที่สำนักข่าวภูเก็ตหวานเผยแพร่นั้นคัดลอกมาโดยตรงจากรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือและได้รับการยอมรับทั่วโลก ซึ่งตลอดกระบวนการพิจารณาคดีผู้ต้องหาต้องจัดหาค่าใช้จ่ายด้วยตนเอง ดังนั้นการให้คณะกรรมการกองทุนพิจารณาให้ความช่วยเหลือด้วยหลักเกณฑ์ดังกล่าวจึงอาจก่อให้เกิดส่งผลเสียหายในลักษณะเดียวกันอีกก็ได้
สี่ คณะกรรมการกองทุนยุติธรรมยังขาดสมดุลระหว่างภาครัฐกับประชาชน
พ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม ฉบับที่เพิ่งประกาศใช้ไป กำหนดให้คณะกรรมการกองทุนยุติธรรมซึ่งมีหน้าที่หลักในการตัดสินทุกประเด็น ทั้ง หลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือประชาชน หรือการแต่งตั้งอนุกรรมการกองทุนยุติธรรมประจำจังหวัด ประกอบไปด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม, ปลัดกระทรวงยุติธรรม, ผู้แทนจากกระทรวงการคลัง, สำนักงบประมาณ, สำนักงานศาลยุติธรรม, สำนักงานอัยการสูงสุด, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, สภาทนายความ และผู้แทนจากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ รวมเป็นเก้าคน และมีผู้ทรงคุณวุฒิที่หกคน ซึ่งมาจากการแต่งตั้งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
จากสัดส่วนที่มาของคณะกรรมการชุดดังกล่าว นั้นมีตัวแทนของส่วนราชการมากกว่ากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ทำให้ทุกการลงมติของคณะกรรมการจะมีข้าราชการเป็นเสียงส่วนมากอยู่เสมอ ซึ่งหากดูเปรียบเทียบกับร่างกฎหมายกองทุนยุติธรรมที่จัดทำโดยภาคประชาชน จะเห็นขอแตกต่างของตัวแทนคณะกรรมการ เพราะร่างฉบับภาคประชาชนพยายามกำหนดให้คณะกรรมการมีสัดส่วนตัวแทนทั้งจากภาครัฐและภาคประชาชนเท่าๆกัน และให้นำผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการส่งเงินเป็นรายรับของกองทุนเข้ามาเป็นองค์ประกอบของคณะกรรมการด้วย
ผลที่ตามมาของการที่สัดส่วนคณะกรรมการเสียงข้างมากเป็นข้าราชการก็คือ การผลักดันหรือขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นั้นจะมาจากแนวคิดของระบบราชการเป็นหลัก ทั้งที่ ร่างกฎหมายของภาคประชาชนมีเจตนารมณ์ที่จะยกระดับกองทุนยุติธรรมจากเดิมที่เป็นเพียงหน่วยงานภายใต้กระทรวงยุติธรรม ให้เป็นหน่วยงานที่มีความเป็นอิสระ แต่การกำหนดให้คณะกรรมการส่วนใหญ่เป็นข้าราชการก็เท่ากับว่า มอบการตัดสินใจการให้ความช่วยเหลือในกระบวนการยุติธรรมไว้ในระบบเดิมเหมือนที่เคยเป็นมา นั่นคือ การให้ความช่วยเหลือเป็นเรื่อง “อัตวิสัย” นั้นเอง
ห้า การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการประจำจังหวัดไม่มีที่นั่งให้ตัวแทนประชาชนในพื้นที่
พ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม ให้อำนาจคณะกรรมการกองทุนยุติธรรมในการแต่งตั้งอนุกรรมการกองทุนยุติธรรมประจำจังหวัด โดยหวังให้อำนาจการพิจารณาการให้ความช่วยเหลือนั้นทั่วถึงในทุกพื้นที่ทุกจังหวัด แต่กฎหมายไม่ได้กำหนดสัดส่วนและที่มา ของอนุกรรมการจังหวัดอย่างชัดเจน กำหนดเพียงให้หัวหน้าหน่วยงานในจังหวัดที่สังกัดกระทรวงยุติธรรม เป็นอนุกรรมการและเลขานุการโดยตำแหน่ง ดังนั้น ตำแหน่งอนุกรรมที่เหลือจะมาจากความเห็นชอบของคณะกรรมการกลางทั้งหมด
จากประสบการณ์ที่ผ่านมา อ้างอิงตามคำสั่งคณะกรรมการบริหารกองทุนยุติธรรมฉบับที่ 7/2558 เรื่อง การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกองทุนยุติธรรมประจำจังหวัด จะพบว่า ที่มาของอนุกรรมการล้วนแล้วแต่เป็นบุคคลในส่วนราชการแทบทั้งสิ้น อย่างเช่น ผู้ว่าหรือรองผู้ว่าราชการจังหวัด อัยการจังหวัด ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด ผู้อำนวยการศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด คลังจังหวัด และยุติธรรมจังหวัด เป็นต้น แต่สัดส่วนของตัวแทนประชาชนมีแค่ ผู้แทนเครือข่ายยุติธรรมชุมชน และผู้ทรงคุณวุฒิเท่านั้น
ดังนั้น หากอนุกรรมการเป็นตัวแทนของระบบราชการทั้งหมด ขาดจุดร่วมกับประชาชนและขาดสำนึกรับผิดชอบต่อประชาชนในพื้นที่ ซึ่งขัดต่อหลักการกระจายอำนาจที่ต้องการให้มีผู้แทนซึ่งยึดโยงกับคนในพื้นที่เข้าไปตัดสินใจ ท้ายที่สุดก็จะเกิดปัญหาเรื่องประสิทธิภาพในการตอบสนองความต้องการของคนในพื้นที่ไม่ต่างจากที่สถานการณ์ผ่านมา
หก ขาดช่องทางร้องเรียนหรืออุทธรณ์กรณีที่การพิจารณาให้การช่วยเหลือนั้นไม่เป็นธรรมให้ชัดเจน
เนื่องจากกฎหมายได้กำหนดหลักเกณฑ์การขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรมเอาไว้ ในทางปฏิบัติจึงเป็นได้ว่าอาจมีผู้ได้รับการพิจารณาอย่างไม่เป็นธรรม หรือไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ แต่พ.ร.บ.กองทุนยุติธรรมฉบับนี้ก็ไม่ได้กำหนดวิธีการร้องเรียนหรืออุทธรณ์กรณีที่การพิจารณาให้การช่วยเหลือนั้นไม่เป็นธรรมหรือไม่ถูกต้องเอาไว้ เท่ากับว่าหากมีการพิจารณาที่ผิดพลาดหรือทุจริต ประชาชนต้องพึ่งพาระบบกระบวนการยุติธรรมปกติ คือ ขอให้ศาลปกครองให้เข้ามาวินิจฉัย และถ้าต้องการเอาผิดกับคณะกรรมการหรืออนุกรรมการก็ต้องไปฟ้องเอาผิดเรื่องความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ซึ่งขั้นตอนที่กล่าวมานั้นก็มีระยะเวลาและไม่ได้ทำให้การช่วยเหลือนั้นเป็นธรรมหรือมีความรวดเร็วขึ้นแต่ประการใด
ที่สำคัญ คือ ประชาชนที่มาขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรมแล้วไม่ได้รับ คงไม่มีต้นทุนพอที่จะไปดำเนินกระบวนการยุติธรรมเอาผิดกับคณะกรรมการกองทุนยุติธรรมต่อโดยลำพังของตัวเองได้
———————————————————-
จากปัญหาที่ได้กล่าวมา ความหวังของรัฐบาลที่จะสร้างระบบให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงความยุติธรรมจะสำเร็จหรือไม่ คงยังตอบไม่ได้ตอนนี้และต้องรอดูกันต่อไป เพราะถ้าผู้มีอำนาจมองไม่เห็นประเด็นปัญหาที่หลงเหลืออยู่ ก็เท่ากับว่าปัญหาเหล่านี้จะไม่มีวันได้รับการแก้ไข อย่างไรก็ดี ทางออกของปัญหาต่างๆ ก็ยังคงต้องจับตาดูที่ “ระเบียบต่างๆ ตามพระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรม” ที่คณะกรรมการกองทุนยุติธรรมจะจัดทำขึ้นหลังจากนี้ ภาคประชาชนคงทำได้เพียงเรียกร้องกระบวนการมีส่วนร่วมในขั้นตอนการจัดทำระเบียบต่างๆ ด้วย 
รวมไปถึงการเรียกร้องให้รัฐต้องเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วม เสนอแนะ ติติง คัดค้าน ต่อร่างกฎหมายอื่นๆ อีกหลายฉบับที่กำลังถูกพิจารณาอยู่ในสภา เพื่อป้องกันไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีก
ไฟล์แนบ